|
"เคพีเอ็น ออโตโมทีฟ" ลุยตลาดหุ้น26ม.ค.นี้
ผู้จัดการรายวัน(25 มกราคม 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
"เคพีเอ็น ออโตโมทีฟ" เตรียมเข้าเทรดในตลาดหุ้นเป็นรายที่สองของปี 26 ม.ค.นี้ในหมวดยานยนต์ หลังระดมทุนกว่า 300 ล้านบาท รองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรม
นางสาวโสภาวดี เลิศมนัสชัย รองผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า คณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้อนุมัติรับหุ้นสามัญจำนวน 100,000,000 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 5.00 บาท ของบริษัท เคพีเอ็น ออโตโมทีฟ จำกัด (มหาชน) เข้าจดทะเบียนในกลุ่มวัตถุดิบและสินค้าอุตสาหกรรมหมวดยานยนต์และเริ่มซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ตั้งแต่วันที่ 26 ม.ค.48 เป็นต้นไป ใช้ชื่อย่อว่า "KPN"
"KPN เป็นบริษัทจดทะเบียนลำดับที่ 2 ของปีนี้ ซึ่งทั้ง 2 บริษัทจดทะเบียนที่เข้าใหม่เป็นบริษัทที่อยู่ในหมวดยานยนต์ เช่นเดียวกัน สะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพในการเติบโตของอุตสาหกรรม และความน่าสนใจของตลาดทุนในฐานะแหล่งระดมทุนที่รองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ของประเทศ ในขณะเดียวกัน การเข้ามาจดทะเบียนของธุรกิจในหมวดนี้เพิ่มมากขึ้น จะทำให้ผู้ลงทุนมีทางเลือกที่จะลงทุนในสินค้าคุณภาพมากขึ้นด้วย ปัจจุบันมูลค่าตลาดรวมของหมวดยานยนต์คิดเป็นประมาณ 41,000 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 0.86 ของมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดรวม" นางสาวโสภาวดีกล่าว
ปัจจุบันมีทุนจดทะเบียนเรียกชำระแล้ว 500,000,000 บาท ประกอบด้วยหุ้นสามัญเดิม 77,358,626 หุ้น หุ้นสามัญเพิ่มทุน 22,641,374 หุ้น รวม 100,000,000 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 5 บาท
ในระหว่างวันที่ 17-19 ม.ค. 48 KPN ได้เสนอขายหุ้นเพิ่มทุนแก่ประชาชนทั่วไปครั้งแรก จำนวน 22.5 ล้านหุ้น ราคาหุ้นละ 15 บาท มีอัตราส่วน ราคาต่อกำไรต่อหุ้น (P/E Ratio) ที่ 10.35 เท่า เปรียบเทียบกับค่า P/E Ratio ของหุ้นในหมวดยานยนต์ ซึ่งมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 13.98 เท่า
นอกจากนี้ ได้เสนอขายหุ้นเพิ่มทุนแก่ผู้บริหาร คณะกรรมการ และพนักงาน จำนวน 141,374 หุ้น ราคาหุ้นละ 12.75 บาท และมีการจัดสรรหุ้นส่วนเกิน (green shoe option) จำนวน 3,358,626 หุ้น คิดเป็นร้อยละ 14.6 ของจำนวนหุ้นที่เสนอขายในครั้งนี้ ซึ่งจะช่วยรักษาเสถียรภาพของระดับราคาหุ้น โดยมีบริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด (มหาชน) เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน
ทั้งนี้ บริษัทมีนโยบายที่จะนำเงินที่ได้จากการระดมทุน 320 ล้านบาท ไปซื้อเครื่องจักรและอุปกรณ์ เพื่อขยายกำลังการผลิตในธุรกิจผลิตชิ้นส่วนทุบขึ้นรูป และธุรกิจผลิตชิ้นส่วนพลาสติก ชำระคืนเงินกู้สถาบันการเงินบางส่วน รวมถึงสำรองไว้เป็นเงินทุนหมุนเวียน นอกจากนี้ ยังมีโครงการขยายสาขา เคพีเอ็น พลัสในปี 2548 และ 49 สำหรับนโยบายจ่ายเงินปันผล KPN มีนโยบายจ่ายปันผลไม่ต่ำกว่าร้อยละ 40 ของกำไรสุทธิหลังหักภาษีและสำรองตามกฎหมาย
KPN และบริษัทย่อยประกอบธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมยานยนต์ ได้แก่ การผลิตและจำหน่ายชิ้นส่วนโลหะทุบขึ้นรูป และชิ้นส่วนพลาสติก เพื่อใช้เป็นส่วนประกอบรถยนต์ รถจักรยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องใช้ในครัวเรือน รวมไปถึงธุรกิจแฟรนไชส์ค้าอะไหล่และอุปกรณ์ตกแต่งรถจักรยานยนต์ ธุรกิจคลังสินค้าและกระจายสินค้าครบวงจร มีผู้ถือหุ้นใหญ่คือ ครอบครัวณรงค์เดช ถือหุ้นในสัดส่วนรวม 60.27% ของทุนเรียกชำระแล้วหลังไอพีโอ
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|