บตท.ออกบอนด์CMOมี.ค.


ผู้จัดการรายวัน(24 มกราคม 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

บตท.ออกบอนด์-MBS ล็อตใหม่ 1,000 ล้านบาท พร้อมเตรียมออกตราสารซีเอ็มโอครั้งแรกในเมืองไทย มี.ค.นี้ หลังจากแปลงสินทรัพย์เป็นทุนบอนด์ MBS ครั้งแรกเมื่อปลายปีก่อน ประกาศเป้าหมายกวาด 2 หมื่นล้านในปี 2550 หากแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยปรับขึ้นเร็ว กดดันสถาบันการเงินขายพอร์ตสินเชื่อให้ บตท.

บรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย (Se-condary Mortgage Corporation) หรือ บตท. เดินหน้าออกตราสารหนี้ Collateralized Mortgage Obligation หรือ CMO หลังจากที่ก่อนหน้านี้ออกตราสารหนี้ Mortgage-Backed Securities หรือ MBS ซึ่งเป็นการแปลงสินทรัพย์เป็นทุน (Securitization) ที่ยากที่สุด และถือเป็น การออก CMO ครั้งแรกในเมืองไทย

นายสิริวัฒน์ พรหมบุรี กรรมการและผู้จัดการ บรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย (บตท.) เปิดเผยว่า บตท.จะมีการออกตราสารหนี้หนุนโดยเงินกู้ที่อยู่อาศัย Mortgage-Backed Securities (MBS) เพื่อเสนอขายแก่นักลงทุนสถาบัน มูลค่า 1,000 ล้านบาท ซึ่งอายุ 1 ปี, 2 ปี ภายในเดือนนี้ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการที่ปรึกษาสรุปผลซึ่งนับเป็นการออกครั้งที่ 2 ของประเทศไทย จากเมื่อ 22 พ.ย.47 ที่บตท.ได้มีการออก MBS มูลค่า 600 ล้านบาท มีอายุ 1 ปี และมีอัตราดอกเบี้ยที่ 2.95%

นอกจากนี้ ในเดือน มี.ค. จะมีการออกตราสารหนี้ CMO ซึ่งในประเทศไทยยังไม่มีใครทำ เพราะเป็นการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ที่ยากที่สุด ในด้านการออกแบบสินค้าที่จะทำให้นักลงทุนเข้ามาลงทุน

ทั้งนี้ CMO เป็นตราสารที่คล้ายคลึงกับ Collateralized Bond Obligation (CBO) ซึ่งเป็นการ นำเอาตราสารหนี้จำนวนหนึ่งมาผูกรวมกันแล้วแปลงให้เป็นหลักทรัพย์ หรือที่เรียกกันย่อๆ ว่า CBOs เพื่อขายต่อให้กับนักลงทุนอีกต่อไป ข้อดีของ CBOs ก็คือ หลักทรัพย์ที่สามารถแบ่งออกได้เป็นหลายหลักทรัพย์ที่มีการจัดลำดับความน่าเชื่อถือต่างกัน หรือที่เรียกกันว่า tranches และนักลงทุนก็สามารถเลือกลงทุนใน tranches ที่เหมาะกับความต้องการทั้งในเรื่องอัตราผลตอบแทนและความเสี่ยงแต่แทนที่จะควบรวมตราสารหนี้ ตราสารที่ถูกนำมาควบรวมให้เป็นหลักทรัพย์ เพื่อนำมาขายต่อให้นักลงทุนอีกต่อไปเป็นเงินกู้ระยะยาวเพื่อที่อยู่อาศัย

"เป็นเรื่องที่ท้าทายและบตท.ก็มีความรู้ในเรื่องดังกล่าว แม้ในต่างประเทศได้มีการทำ CMO กันแล้วก็ตาม แต่ก็ไม่สามารถนำมาใช้ในประเทศไทยได้ เนื่องเพราะกฎหมายในการควบคุมในการออกหลักทรัพย์ดังกล่าวมีความแตกต่างกัน นอกจากนี้ยังมีเรื่องของระเบียบเรื่องภาษี และวัฒนธรรมในการลงทุนก็แตกต่างกัน บตท.จึงต้องมีการปรับให้เหมาะสมกับนักลงทุนไทย และประเทศไทย" นายสิริวัฒน์ กล่าว

ทั้งนี้ บตท.ก่อตั้งขึ้นโดยพระราชกำหนดบรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย พ.ศ.2540 เป็นองค์กรของรัฐมีฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจประเภทสถาบันการเงิน สังกัดกระทรวงการคลัง ตั้งขึ้นเพื่อแก้ปัญหาธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่กำลังซบเซาและกระตุ้น เพื่อให้เกิดการขยายสินเชื่อที่อยู่อาศัยในวงกว้าง

บตท.จัดตั้งโดยมีทุนจดทะเบียนแรกเริ่ม 1,000 ล้านบาท ขึ้นเพื่อเป็นตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย กล่าวคือ การที่สถาบันการเงินต่างๆ ซึ่งเป็นผู้ปล่อยกู้ให้แก่ประชาชนโดยตรงเรียกว่า ตลาดแรก (Primary Market) ได้นำเอาเงินกู้ที่อยู่อาศัยนั้นมาขายต่อให้กับสถาบันการเงินที่จัดตั้งขึ้นมาตามกฎหมายไทย ก็คือ บตท. เพื่อรับซื้อเงินกู้ที่อยู่อาศัย เพื่อเป็นการลงทุนหรือนำไปแปลงเป็นหลักทรัพย์ขายต่อ ออกไป

สำหรับธุรกรรมหลักของบตท.มีอยู่ 2 ลักษณะ คือ 1) การรับซื้อเงินกู้ที่อยู่อาศัยเพื่อการลงทุน โดยบตท.จะดำเนินการซื้อเงินกู้ที่อยู่อาศัยที่มีคุณภาพจากสถาบันการเงินในตลาดแรก เช่น ธนาคารอาคาร สงเคราะห์ ธนาคารพาณิชย์ บริษัทเงินทุน เพื่อเป็นการลงทุน โดยถือเป็นสินทรัพย์ของบตท.เอง 2) การทำธุรกรรมแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ (Securitization)

นายสิริวัฒน์ กล่าวว่า บตท.ตั้งขึ้นมาในปี 2540 ปีแรกมีกำไรจากการนำเงินทุนฝากรับดอกเบี้ย จากนั้นรายได้ในส่วนนี้ก็ทยอยลดลงไปเรื่อยๆ จนถึงปัจจุบัน ช่วงแรกๆ ไม่สามารถทำธุรกรรมใดๆ จนกระทั่งในเวลาต่อมามีธุรกรรมมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการรับฝากเงิน การออกตราสารหนี้ หรือการระดมทุน การแปลงสินทรัพย์เป็นทุน โดยที่ผ่านมา บตท.มีผลกำไรทุกปี

นอกจากนี้ บตท.จะมีการรับฝากเงินจากนิติ บุคคลมากขึ้น โดยการขยายจำนวนลูกค้าให้มากขึ้น

นายสิริวัฒน์ กล่าวอีกว่า กลางปี 2548 อาจเข้าสู่ภาวะสมดุลกล่าวคือ ธนาคารพาณิชย์ต้องมีการแย่งเงินฝากกันก่อน และคาดว่าในปี 2549-50 จึงอาจจะเกิดแรงกดดันให้สถาบันการเงินอยากขายเงินกู้ ออกมา ขณะเดียวกัน บตท.ก็สามารถควบคุมค่าใช้จ่ายในระดับที่จะทำให้บตท.สามารถพัฒนาและขยายตลาดได้

"ปีที่แล้วประกาศจะฟันดิ้งให้ได้ 20,000 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะสามารถออกตราสารหนี้ได้ครบใน ปี 2550 หากดอกเบี้ยมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นเร็ว กดดันให้มีคนขายพอร์ตสินเชื่อออกมาล็อตใหญ่ จะทำให้บตท.สามารถทำได้ตามเป้าที่วางไว้ ขณะนี้บตท.ปล่อย สินเชื่อได้เดือนละ 300 ล้านบาท ซึ่งในปี 2547 บตท.ได้มีการปล่อยสินเชื่อไปแล้วจำนวน 3,000 ล้านบาท ส่วนในปี 2548 จะสามารถปล่อยได้ 4,500 ล้านบาท" นายสิริวัฒน์

นอกจากนี้ บตท.มีแผนที่จะมีการปล่อยสินเชื่อ และขยายเครือข่ายธุรกิจร่วมกับพันธมิตร สถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ คือ บริษัท อิออน จำกัด (มหาชน) หรือ EAON และธนาคารพาณิชย์ คือ ธนาคารกรุงไทย ส่วนบริษัทประกันภัยขณะนี้ยังไม่สรุปว่าจะเป็น บริษัท กรุงไทยพาณิชย์ประกันภัย หรือบริษัท เทเวศประกันภัย

"การปล่อยสินเชื่อของ บตท. ประชาชนสามารถจะกำหนดอัตราดอกเบี้ยได้ ซึ่งมีระยะเวลา 3 ปี 5 ปี ละ 7 ปี สามารถที่จะลอยตัวได้ในช่วงที่ประชาชนมองแนวโน้มของอัตราดอกเบี้ยผิด ทำให้มีความเสี่ยงน้อย ดังนั้นการเลือกให้บริการสินเชื่อกับ บตท.ในภาวะที่ดอกเบี้ยมีแนวโน้มขึ้นจะทำให้ประชาชนได้ประโยชน์มากกว่า" นายสิริวัฒน์กล่าว


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.