ไทคอนคลอดกองทุนอสังหาฯมูลค่า1.8พันล.


ผู้จัดการรายวัน(21 มกราคม 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

"ไทคอน" คลอดกองทุนอสังหาฯ ระดมทุนขยายกิจการหนีภาวะดอกเบี้ยช่วงขาขึ้น ดัน 39 โรงงานมูลค่า 1,800 ล้านบาท ประเดิมโครงการ เน้นลงทุนในสินทรัพย์ประเภทโรงงานอุตสาหกรรมให้เช่า คาดผลตอบแทนเฉลี่ยต่อปี 6-8% พร้อมนำเม็ดเงินที่ระดมได้ขยายโรงงานเพิ่ม

นายไว เชง ควน กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทคอน อินดัสเทรียล คอนเน็คชั่น จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า บริษัทอยู่ระหว่างยื่นขออนุมัติจัดตั้งกองทุนอสังหาริมทรัพย์กับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ใช้ชื่อกองทุนว่า "กองทุนอสังหาริมทรัพย์ไทคอน" (TICON Property Fund) โดยมีวัตถุประสงค์การลงทุนในโรงงานอุตสาหกรรมให้เช่าและโกดังสินค้า

กองทุนดังกล่าวจะมีเงินทุนเริ่มต้นประมาณ 1,700-1,800 ล้านบาท โดยมีสินทรัพย์เป็นโรงงานของไทคอนที่มีผู้เช่าเต็ม 100% จำนวน 39 แห่ง ที่ตั้งอยู่ในนิคม/สวนอุตสาหกรรม 5 แห่ง ในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ชลบุรีและระยอง จากจำนวนโรงงานทั้งหมด 232 แห่ง ซึ่งเป็นโรงงานที่ปล่อยเช่าไปแล้ว 140 แห่ง ยังไม่มีผู้เช่า 15 แห่ง ซึ่งใช้เป็นโชว์รูมให้ลูกค้าเข้ามาชมโรงงาน ทำสัญญาเช่าแล้วอยู่ระหว่างการก่อสร้าง 13 แห่ง และอยู่ระหว่างก่อสร้าง 64 แห่ง โดยมีอัตราการเติบโตด้านการขยายพื้นที่เช่าปีละประมาณ 33%

ทั้งนี้ โรงงานทั้ง 39 แห่งดังกล่าวมีมูลค่าทางบัญชี 900 ล้านบาท ซึ่งไทคอนจะได้เงินส่วนต่างเพิ่มอีกเท่าตัวคือ 900 ล้านบาท เพื่อนำไปลงทุนก่อสร้างและขยายโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมต่อไป ปัจจุบันค่าเช่าโรงงานของไทคอนอยู่ในอัตรา 173 บาทต่อตร.ม. โดยไทคอนคาดว่าโรงงานทั้ง 39 แห่งดังกล่าว จะมีรายได้จากค่าเช่าปีละ 180 ล้านบาท โดยขั้นต้นคาดว่า กองทุนรวมจะสามารถสร้างผลตอบแทนได้ที่ประมาณร้อยละ 6-8

"สาเหตุที่เราจัดตั้งกองทุนอสังหาริมทรัพย์ขึ้นมา เนื่องจากต้องการแก้ไขปัญหาทางด้านโครงสร้างทางการเงินของบริษัท เพราะหากต้องการขยายกิจการ ต้องมีการเพิ่มทุนจะส่งผลกระทบต่อราคาหุ้นได้ หรือหากกู้เงินจากแบงก์ก็จะทำให้ต้นทุนการดำเนินกิจการเพิ่มขึ้นจากอัตราดอกเบี้ย ดังนั้น ไทคอนจึงต้องหาวิธีระดมทุนเพื่อไม่ให้กระทบต่อความมั่นคงของบริษัทโดยเม็ดเงินที่ระดมได้นั้นจะนำไปก่อสร้างโรงงานเพิ่มเติม เพราะตลาดยังมีความต้องการอยู่สูงมาก ตามภาวะการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ" นายไว กล่าว

นายไว กล่าวต่อว่า สัดส่วนการลงทุนในกองทุนฯไทคอนจะถือหน่วยลงทุนสูงสุดตามเกณฑ์ของ ก.ล.ต. 33% และภายหลังจากเปิดขายหน่วยลงทุนเป็นครั้งแรก (IPO) บริษัทมีแผนที่จะเข้าซื้อหน่วยลงทุนเพิ่มขึ้นถึง 50% ของจำนวนหน่วยลงทุนที่ขายอยู่ในตลาดทั้งหมด

ทั้งนี้ ภายหลังจากตั้งกองทุนขึ้นมาโครงสร้างรายได้ของบริษัทจะมาจาก 4 ส่วนคือ 1. ค่าบริหารจัดการกองทุนเฉลี่ย 2% จากส่วนต่างผลตอบแทนกองทุน 2. รายได้จากการขายโรงงานให้กับกองทุน 3. รายได้จากเงินปันผลที่ไทคอนถือหน่วยลงทุนในกองทุนดังกล่าว และ 4. รายได้หลักของธุรกิจ คือการให้เช่าโรงงาน

"ในระยะแรกตามข้อตกลงการจัดตั้งกองทุน เราจะเป็นผู้จัดการกองทุนก่อน หลังจากนั้นหากผลตอบแทนจากการบริหารกองทุนออกมาเป็นที่น่าพอใจ ถ้าผู้ถือหน่วยลงทุนมีมติเห็นชอบให้เราบริหารกองทุนต่อ เราก็จะเป็นผู้จัดการกองทุนต่อไป" นายไว กล่าว

สำหรับการจัดตั้งกองทุนนี้ จะเกิดประโยชน์ต่อผู้เกี่ยวข้อง 3 กลุ่ม หลักๆ คือ ประการแรก ไทคอนจะสามารถใช้ประโยชน์จากเงินทุนที่ได้จากการขายโรงงานให้แก่กองทุน เพื่อการขยายธุรกิจต่อไปในอนาคตโดยไม่ต้องทำการเพิ่มทุนประการต่อมา นักลงทุนจะมีโอกาสได้มีส่วนร่วมในการลงทุนในกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ด้วยระดับผลตอบแทนที่ 6-8% ซึ่งนับว่าอยู่ในระดับสูงกว่าเมื่อเทียบกับผลตอบแทนจากเงินฝากเงินทั่วไป

ประการสุดท้าย ไทคอนสามารถนำเงินทุนดังกล่าวมาใช้พัฒนาโรงงานให้แก่ลูกค้าที่ต้องการให้ไทคอนสร้างโรงงานให้เป็นการเฉพาะสำหรับลูกค้า ซึ่งโดยส่วนใหญ่จะเป็นโรงงานขนาดใหญ่ และศูนย์การขนส่งและคลังสินค้าขนาดใหญ่ ซึ่งจะต้องใช้เงินลงทุนสูง

ด้านนายวีระพันธ์ พูลเกษ กรรมการบริษัท ไทคอน อินดัสเทรียล คอนเน็คชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวเสริมว่า บริษัทฯจะยื่นเรื่องขออนุมัติการจัดตั้งกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์กับ ก.ล.ต.ในวันพรุ่งนี้ และจะเสนอขายหน่วยลงทุนในทันทีที่ได้รับอนุมัติ ซึ่งคาดว่าจะไม่เกินเดือนมีนาคม 2548 นี้


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.