วิบากกรรม"เสี่ยตั้ว"เพิ่งเริ่ม


ผู้จัดการรายวัน(21 มกราคม 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

20 ม.ค. 48 เป็นวันที่ต้องบันทึกคดีประวัติศาสตร์ในแวดวงสถาบันการเงินไทย เมื่อ "เกริกเกียรติ ชาลีจันทร์" อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพฯพาณิชย์การ (บีบีซี) ผู้ต้องหาคดียักยอกทรัพย์บีบีซี ถูกศาลอาญากรุงเทพใต้พิพากษาจำคุก 30 ปี และปรับ 3,270 ล้านบาท เป็นโทษเฉพาะ 3 คดี ใน 4 คดี ที่ศาลพิพากษา ส่วนอีก 1 คดี ศาลฯยกฟ้องเนื่องจากขาดอายุความ

ย้อนหลังกลับไปปี 2529 เกริกเกียรติ ซึ่งเป็นลูกหม้อแบงก์ชาติ เข้าไปรับตำแหน่งรองกรรมการผู้จัดการใหญ่บีบีซี แบงก์ที่มารดาของเขาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ก่อนจะขึ้นเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ใน 2 ปีต่อมา และราเกซ สักเสนา ซึ่งสนิทสนมกับนายเกริกเกียรติ (โดยการแนะนำของ "เอกชัย อธิคมนันทะ" ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ 1 ในผู้ต้องหาคดียักยอกทรัพย์บีบีซี) ก็เข้ามาเป็นที่ปรึกษาในปี 2534 ด้วยความเป็นคนหนุ่มและคนรุ่นใหม่ของนายเกริกเกียรติ ที่ว่ากันว่าเชี่ยวชาญธุรกรรมทางการเงินสมัยใหม่ในยุคนั้น จับคู่กับพ่อมดทางการเงินอย่างนายราเกซ ทำให้การบริหารงานของทั้งคู่ยากที่คนภายนอกจะตามทัน ยกเว้นผู้บริหารแบงก์ชาติ

ปี 2538 ตัวเลขหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ปูดออกมาอย่างน่าตกใจคือเพิ่มจาก 1.6 หมื่นล้านบาท ในปี 2536 เป็น 7.8 หมื่นล้านบาทในปี 2538 แต่นั่นเป็นแค่ส่วนหนึ่งที่สร้างปัญหาให้บีบีซี เพราะเชื้อไฟสำคัญที่มิอาจมองข้ามคือ "การเมือง"

อดีตพนักงานของบีบีซีซึ่งใกล้ชิดกับเกริกเกียรติ บอกว่าบีบีซีจะไม่ล่มสลายหากเกริกเกียรติไม่ดึงนักการเมืองเข้ามาลึกเกิน เขาเชื่อว่านักการเมืองดึงบีบีซีเข้าไปเพื่อแย่งชิงอำนาจกันโดยคาดไม่ถึงว่าจะเป็นต้นเหตุนำไปสู่หายนะทางเศรษฐกิจในปี 2540

"ตอนนั้นฐานะของบีบีซีดีกว่าหลายแบงก์ที่อยู่รอดมาถึงปัจจุบัน แต่คุณตั้ว (ชื่อเล่นเกริกเกียรติ) ใจร้อน รีบคบนักการเมืองที่บางคนยังเป็นใหญ่เป็นโตในตอนนี้ หรือกลุ่ม 16 เป็นส่วนหนึ่ง แต่จริงแล้วทุกพรรคเข้ามารุมทึ้ง ยิ่งพอคุณสุเทพ (เทือกสุบรรณ) นำปัญหาไปอภิปรายในสภา ยิ่งทำให้ปัญหาบานปลาย คนแห่ถอนเงินเพราะไม่เชื่อมั่น ในที่สุดแบงก์ชาติต้องเข้ามาแก้ปัญหาแต่กลับหลงทางทำให้บีบีซีต้องปิดตัวลงเป็นแบงก์แรกของประเทศ"

ขณะที่ตามรายงานของแบงก์ชาติพบว่ามีการปล่อยกู้อย่างลับๆ ให้ผู้บริหาร 2 รายใหญ่ของบีบีซีเองคือนายเกริกเกียรติประมาณ 3.6 หมื่นล้าน และนายราเกซ 1.8 หมื่นล้าน เป็นการตั้งบริษัทผีเป็นหลายสิบแห่งเพื่อขอสินเชื่อ ทำให้เอ็นพีแอลของธนาคารเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จนแบงก์ชาติต้องสั่งเพิ่มทุนพร้อมให้กองทุนฟื้นฟูร่วมเพิ่มทุน 4 ครั้ง เป็นจำนวนเงินรวม 3.9 หมื่นล้าน โดยไม่มีการลดทุนก่อน แต่ในที่สุดมิอาจหยุดยั้งปัญหาที่ยากเกินเยียวยานำไป สู่การเข้ายึดและล่มสลายในปี 2539 และกระทบเป็นลูกโซ่ต่อความเชื่อมั่นระบบสถาบันการเงิน จนเกิดวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540

ที่น่าสนใจคือผลการศึกษาของคณะกรรมการศึกษาและเสนอมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการบริการจัดการระบบการเงินของประเทศเพื่อป้องกันการเกิดวิกฤตทางเศรษฐกิจ (ศปร.3) พบว่าการเข้าไปช่วยเหลือบีบีซี ทั้งเพิ่มทุนช่วยเสริมสภาพคล่องและรับซื้อหนี้เสียของกองทุนฟื้ฟูได้ทำให้กองทุนฟื้นฟูเสียหายถึง 1.18 แสนล้าน

ด้านความคืบหน้าด้านคดีความหลังแบงก์ชาติเข้ายึดบีบีซี ก็ได้ทำการฟ้องร้องนายเกริกเกียรติและพวกมาตั้งแต่ปลายปี 2539 เป็นต้นมารวมแล้ว 27 คดี เมื่อวานนี้ (20 ม.ค.) ศาลตัดสิน 4 คดี ยกฟ้อง 1 คดี อีก 3 คดี ศาลพิพากษาจำคุกเกริกเกียรติรวม 30 ปี และปรับเป็นเงิน 3.2 พันล้านบาท

ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศที่ศาลวานนี้ว่า เกริกเกียรติซึ่งผอมซูบซีดเนื่องจากเข้ารับการผ่าตัดเพื่อซ่อมลิ้นหัวใจ เข้ารับฟังการพิพากษาอย่างกระสับกระส่ายตั้งแต่เช้า ก่อนจะเดินทางกลับหลังจากการประกันตัวออกไปในตอนเย็นวันเดียวกัน

ผลที่ศาลตัดสินออกมาบ่งบอกว่าวิบากกรรมครั้งนี้เพิ่งเริ่มต้น การยื้อกระบวนการยุติธรรมมานานเกือบ 8 ปี คงไม่จบลงง่ายๆ


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.