จากนิลส์ ลุมโฮลท์ ถึง นเรศ หอวันกุล ระวัง "ความหวัง" กับตาย!


นิตยสารผู้จัดการ( มกราคม 2532)



กลับสู่หน้าหลัก

ฝ่ายการตลาดมีพนักงานในปี 2531/32 แบ่งเป็นพนักงานในสำนักงานใหญ่ 379 คน สำนักงานสาขาในไทย 404 คน กิจการสมทบ 647 คน และสำนักงานสาขาต่างประเทศ 1,210 คน รวมแล้ว 2,640 คน

ในจำนวนนี้มีฝรั่งอยู่ 2 คนที่เมื่อกล่าวถึงฉัตรชัยแล้วยากนักจะละเลยที่จะไม่กล่าวถึงคนแรกคือ นิลส์ ลุมโฮล์ท

นิลส์ ลุมโฮล์ท เป็นชาวเดนมาร์ก เกิดปีเดียวกับฉัตรชัย คือปี 2475 เข้าทำงานกับเอสเอเอสตั้งแต่ปี 2499 ก่อนมาร่วมงานกับการบินไทยในปี 2507 เขาเป็นผู้จัดการฝ่ายเดินอากาศและเดินเรือทะเล ของเอสเอเอส

ลุมโฮล์ทมาเริ่มงานกับการบินไทยในตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายขายปี 2512 ได้เลื่อนเป็นผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด รองกรรมการผู้จัดการและรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ในปี 2516 และ 2519 ตามลำดับ เมื่อสัญญาความร่วมมือระหว่างเอสเอเอสกับการบินไทยสิ้นสุดในปี 2520 เขาก็ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการใหญ่อาวุโสฝ่ายอุตสาหกิจการบิน

มีคนกล่าวถึงลุมโฮล์ทเหมือนกับฉัตรชัย คือทั้งในแง่บวกและแง่ลบ หลายคนกล่าวว่าลุมโฮล์ทคือผู้ปั้นฉัตรชัยขึ้นมา และอยู่เบื้องหลังที่แท้จริงของการทำงานของฉัตรชัยมาตลอด ฉัตรชัยเป็นเพียง "ตัวเปิด" ให้กับลุมโฮล์ทเท่านั้น และลุมโฮล์ทก็มีความผูกพันด้านผลประโยชน์กับฉัตรชัยในต่างประเทศ

อีกด้านหนึ่ง มีคนมองลุมโฮล์ทว่า บทบาทของลุมโฮล์ทคือการมองว่าตลาดการบินมันจะเติบโตไปข้างหน้าอย่างไร จะไปบุกเบิกตลาดใหม่ที่ไหน และจะดึงผู้โดยสารอย่างไร เขาจะคอยเป็นกุนซือ คอยกระทุ้งให้ฝ่ายการตลาดทำโน่นทำนี่เมื่อเขามองเห็นโอกาสและมีไอเดียใหม่ๆ

เนื่องจากลุมโฮล์ทอยู่ในวงการบินระหว่างชาติมานาน เขาจึงรู้จักระดับบริหารของแอร์ไลน์อื่นมากมาย มีคนกล่าวว่าเมื่อลุมโฮล์ทพบกับคนพวกนี้ เขาก็จะพยายามชวนแอร์ไลน์อื่นมาลงที่ดอนเมือง เพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลางการบิน

ในการบินไทยทุกคนเชื่อว่าลุมโฮล์ทและฉัตรชัยสนิทกันมาก โดยเฉพาะการไปเจรจากับแอร์ไลน์ต่างประเทศ

เขาเป็นคนดูแลการตลาดแต่ต้น แล้วก็มีฉัตรชัยมาเสริมทีหลัง แต่ฉัตรชัยจะแทนลุมโฮล์ทได้ 100% แบบที่ลุมโฮล์ทเคยทำอาจจะไม่ได้ เรื่องการถ่ายทอดความรู้ความสามารถจากเขาก็เป็นเรื่องยากพอสมควร มันอยู่ที่คนไปรับถ่ายทอดด้วย

มีคนบอกว่าลุมโฮล์ทเป็นคนไทยที่ชอบหลอกว่าเป็นฝรั่ง เพราะความจริงแล้ว ในความรู้สึกของคนร่วมงาน ลุมโฮล์ทเป็นคนไทยเสียมากกว่า ลุมโฮล์ทชอบกระแนะกระแหนเอสเอเอส ชอบอยู่เมืองไทย พูดภาษาไทย แล้วก็เป็นโสด

เมื่อคราวโยกย้ายใหญ่ มีคนได้ยินว่าเขารำพึงเบาๆ ว่า "คราวนี้ท่าจะแย่ว่ะ" เดี๋ยวนี้ในตำแหน่งผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายอุตสาหกิจการบิน หน้าที่ของเขาคือ "แล้วแต่ผู้อำนวยการใหญ่จะมอบหมาย"

เฮนริก เหลา เป็นฝรั่งอีกคนที่ต้องกล่าวถึง เขาเป็นชาวสแกนดิเนเวียนที่มาคุมตำแหน่ง PASSENGER SALES ซึ่งมีบทบาทที่จะต้องเกี่ยวพันกับเซลส์และเอเย่นต์ทั่วโลก เขาจะเป็นคนกำหนด "เป้า" ให้กับเซลส์ ซึ่งเซลส์จะต้องทำให้ได้ รวมไปถึงการกำหนดส่วนลด กำหนดราคาตั๋วให้กับเอเย่นต์ ซึ่งเขาจะเป็นคนรวบรวมข้อมูล ความเห็นจากเอเย่นต์ AREA MANAGER และ REGIONAL ก่อนที่จะเสนอให้กับวีพี ตรงจุดนี้ก็เลยมีคนบอกว่าเขาเป็นฝรั่งที่มีอำนาจมาก เสนออะไรฉัตรชัยมักจะเชื่อ

"เขาก็เหมือนลุมโฮล์ทที่เป็นคนไทยเขาไปทุกที มีเมียคนไทยอยู่การบินไทย แล้วก็คงไม่กลับไปหนาวตายที่เมืองนอกแน่ เขาคุมเชลส์ทั่วโลก ลูกเล่นเล่ห์เหลี่ยมตามประสาเซลส์ แล้วขณะเดียวกันก็มีแรงกดดันที่เขาจะต้องให้ได้ตามเป้าให้ได้

ประทิน บูรณบรรพต เป็นผู้อำนวยการฝ่ายวางแผนและพัฒนาการตลาดและรักษาการกองวิจัยการตลาด เคยอยู่ไอบีเอ็มมาก่อน เมื่อมาอยู่การบินไทยใหม่ๆ อยู่ฝ่ายคอมพิวเตอร์แล้วค่อยย้ายมาดูแลงานวิจัยการตลาด เป็นผู้ที่มีบทบาทมากในการกำหนดทิศทางการตลาด อีกทั้งดูแลเรื่องการโฆษณา ประชาสัมพันธ์ การสร้างภาพพจน์ ดูแลหนังสือ "สวัสดี", "กินรี" มีมาดเป็นนักวิชาการ ชอบอภิปราย และเป็นนักพูด ซึ่งไม่ว่าสถานการณ์รอบข้างจะเป็นอย่างไร เขาก็จะรู้สึกมันเป็นเรื่องธรรมดา และพูดแต่แง่ดีเสมอ

"ผมพูดเป็นวิชาการนะ" ประทินย้ำเสมอ

ประทินเป็นคนที่ฉัตรชัยไว้วางใจอย่างมากคนหนึ่ง

ม.ร.ว. ประยูรจันทร์เจริญ จันทรทัต หรือเรียกกันทั่วไปว่า "หญิงเล็ก" ตำแหน่ง MARKETING GENERAL ADMINISTRATION เป็นลูกหม้ออีกคนของการบินไทยและกำลังจะเกษียณในปีนี้ หญิงเล็กเป็นผู้หนึ่งที่เชื่อกันว่าเป็นคนที่มีบทบาทมากในฝ่ายการตลาด เนื่องจากดูแลเรื่องการบริหาร การจัดสรรกำลังคน และเป็นคนเก่าคนแก่ ลูกน้องรักมาก

ช่วงปี 2527 หญิงเล็กสร้างประวัติตัวเองด้านหนึ่งด้วยการขึ้นเงินเดือนตัวเอง 2 ขั้น ในช่วงที่หญิงเล็กได้รับการโปรโมทชั่นไปเป็นผู้อำนวยการฝ่ายบริหารทั่วไป สำนักผู้อำนวยการใหญ่ เรื่องนี้มีการโวยวายกันขึ้น เกิดการสอบสวน ผลปรากฏว่าทำผิดขั้นตอนจริงและมีคำสั่งให้คืนเงินเดือนแต่ไม่ต้องชดใช้ดอกเบี้ย และย้ายกลับคืนมาอยู่ฝ่ายการตลาดในตำแหน่งปัจจุบัน

เป็นอีกคนหนึ่งที่ฉัตรชัยไว้ใจมากๆ

จิตรดี รังควร ลูกหม้อการบินไทยมา 20 ปี เป็นผู้จัดการกองประชาสัมพันธ์ที่กำลังจะเกษียณ ประชาสัมพันธ์เป็นกองที่มีสาวๆ นามสกุลดังของบรรดาทหารชั้นผู้ใหญ่มาอยู่กันมาก และเป็นกองที่ไม่มี "กล่อง" เอาเลย คือพอพ้นจากจิตรดีแล้ว สต๊าฟทุกคนเท่าเทียมกัน เพราะเป็นงานที่ไม่มีอะไรซับซ้อน มีเพียงการแบ่งงานความรับผิดชอบและในภาวะที่การบินไทยมีข่าวไม่ค่อยดีมาตลอด จิตรดีกล่าวว่าถ้าไปตามแก้ข่าวทุกข่าวก็คงไม่ต้องทำอะไรกัน

เนื่องจากทั้งการบินไทยมีกองประชาสัมพันธ์อยู่ที่ฝ่ายการตลาดที่เดียว และที่ผ่านมางานส่วนใหญ่จะหนุนเนื่องงานทางด้านการตลาดมากกว่า

"ทุกวันนี้เขาก็ประชาสัมพันธ์ให้ทั้งบริษัทอยู่แล้ว" คนในแก้ข่าว

แต่ในสายตาของวีระ วีระถึงกับกล่าวว่ากองประชาสัมพันธ์ "สงสัยเป็นฝ่ายประชาสัมพันธ์ขายตั๋วมั๊ง" วีระก็เลยอยากรื้อฟื้นฝ่ายประชาสัมพันธ์ของตัวเองขึ้น โดยขึ้นตรงกับสำนักผู้อำนวยการใหญ่เพื่อประชาสัมพันธ์องค์กรโดยตรง แต่เป็นที่รู้กันว่าวีระตั้งใจให้เป็นที่ตอบปัญาหาสารพันที่คนสงสัยในข่าวลือต่างๆ เสียมากกว่า

"ใครมีความสงสัยอะไรก็ตรงมาถามที่จุดๆ เดียว" วีระ กล่าวแบบชายชาติทหาร!

ในความเห็นของจิตรดีซึ่งกำลังจะเกษียณคือ "ก็แล้วแต่นายจะว่ายังไง ก็ดีทั้งนั้น"

นเรศ หอวัฒนกุล ผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายการตลาดคนใหม่ที่มาแทนฉัตรชัย บุญยะอนันต์ เมื่อ 1 เมษายน 2531 เข้าร่วมงานกับการบินไทยตั้งแต่ 2506 ไต่เต้ามาตั้งแต่เป็นสจ๊วต แล้วโอนมาอยู่การตลาดเมื่อ 2511 มีประสบการณ์ในลอนดอน ซีแอตเทิล เป็นผู้อำนวยการดูแลประเทศไทยและภาคพื้นเอเชียและตะวันออกกลางพร้อมกันไปด้วย

ประวัติการศึกษาเป็นส่วนที่ไม่เคยมีการกล่าวถึง เขาขึ้นมาจ่อตำแหน่งผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายการตลาดเป็นเวลานาน แต่ก็ไม่ได้ขึ้นสักที

"คุณนเรศเป็นคนที่ฉัตรชัยเลือกขึ้นมากับมือ แต่เมื่อจะเสนอแต่งตั้งเป็นทางการ คุณฉัตรชัยกลับเลือกคุณประเสริฐ ลิปิวัฒนาแทน"

เรื่องนี้เป็นเรื่องเดียวที่ประหยัด ดิษยะศรินไม่เห็นด้วยกับฉัตรชัย และยืนกรานที่จะเลือกนเรศ

"ตอนหลังๆ คุณนเรศสนิทกับคุณประหยัดมาก ก็ไม่รู้ไปถูกเส้นกันอย่างไร อาจจะเป็นเพราะได้เดินทางด้วยกันบ่อยในช่วงหลังๆ"

แต่หลายคนก็กล่าวถึงนเรศอย่างชื่นชม เพราะนเรศก้าวมาอย่างเป็นลำดับขั้น ค่อยไต่เต้าขึ้นมา จากลูกหม้อ ความรู้สึกของสต๊าฟแล้ว เขาไม่ได้อยู่ห่างหรือบนหอคอยงาช้างแบบฉัตรชัย และคงเข้าใจความรู้สึกของลูกน้องระดับล่างๆ มากกว่าฉัตรชัย และที่สำคัญ มันอยู่ที่ว่า "ใครก็ได้ที่ไม่ใช่ฉัตรชัย" เพราะอย่างน้อยมันก็หมายถึงความเปลี่ยนแปลงในฝ่ายการตลาดอย่างขนานใหญ่

นเรศเป็นคนที่ไม่แน่ใจแล้วไม่ทำ ไม่ใช่เป็นคน "รุก" อย่างก้าวร้าวแบบฉัตรชัย แผนการตลาดของนเรศอาจสอดคล้องกับความคิดของวีระ ที่อยากให้การขยายตลาดของการบินไทยชะลอตัวลง เพราะที่ผ่านมานั้นอาจจะขยายตัวรวดเร็วเกินไป

"แผนการตลาดมาจากทีมไม่ใช่ผมคนเดียว" นเรศกล่าว

เมื่อมีคนห่วงว่า เส้นสายของฉัตรชัยที่เป็นเอเย่นต์ขายตั๋วให้การบินไทยในต่างประเทศจะ "สโลว์ดาวน์" เพื่อแก้ลำให้กับฉัตรชัย นเรศกล่าวว่า เขาไม่เชื่อที่จะเป็นไปได้คงไม่มีใครอยากจะทุบกระปุกตัวเอง

"ใครทำไม่ได้ตามเป้า ผมก็ย้าย" นเรศกล่าวอย่างไม่แคร์

นเรศไม่เคยกลัวสื่อมวลชน มีคนบอกว่า เพราะนเรศมีบทเรียนจากฉัตรชัยที่ไม่เคยมาสุงสิงกับนักข่าวอย่างกันเอง นเรศจะ "คล่อง" มากกับนักข่าว รู้หลบและรู้หลีก และ "ชิ่ง" อย่างมีศิลป์เมื่อไม่อยากจะสนทนากับใคร

"คุยกับนเรศต้องจับตัวแกไว้ให้ดีๆ" ทั้งสต๊าฟและนักข่าวเห็นพ้องต้องกัน

นเรศ หอวัฒนกุล อาจเป็น "ความหวังใหม่" สำหรับสต๊าฟฝ่ายการตลาดที่ "หมั่นไส้" ฉัตรชัยเต็มแก่ และก็ยัง "สะอาด" ในสายตาคนทั่วไป ทั้งในเรื่องตำแหน่ง การโยกย้าย การปรับเปลี่ยนโครงสร้างและแผนงานใหม่ๆ ถนนทุกสายกำลังมุ่งหน้าสู่นเรศ

บางทีตอนนี้ "ความหวัง" จากคนรอบข้างหลังจากที่ถูกเก็บกดมานาน กำลังทับนเรศจนจุกหายใจไม่ออกอยู่ก็ได้



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.