สำหรับคนที่เกลียดฉัตรชัย จะต้องประณามฉัตรชัยว่า เขาเป็นมังกรผยองที่หลงระเริงในอำนาจจนคิดว่า
"การบินไทย" เป็นของเขาคนเดียว แต่คนที่ชื่นชมในตัวบุรุษผู้นี้ จะต้องบอกว่า
เขาสร้าง "การบินไทย" มาตั้งแต่ยังไม่มีอะไรเลย จนยิ่งใหญ่ทุกวันนี้
น่าจะให้เกียรติเขาบ้าง… ฉัตรชัยในวันนี้คือ "เป้า" แห่งการประเมินและตีค่าที่เจ้าตัวก็คงเครียดแทบกระอัก…!
ภายใต้กระแสความผันผวนและเปลี่ยนแปลงใน "การบินไทย" ม.ร.ว. คึกฤทธิ์
ปราโมช กล่าวกับมนตรี พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ณ บ้านริมปิง
เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2531 ท่ามกลางผู้สื่อข่าวมากหน้าหลายตาว่า เรื่องเครื่องบินดีเลย์เป็นเพราะลูกน้อง
"ตี๋ใหญ่" ไม่พอใจ และเตือนมนตรีว่า อย่าไปยุ่งกับเรื่องภายในการบินไทย
เพราะเป็นเรื่องของ "ตี๋ใหญ่" แห่งการบินไทยกับทหารอากาศ
ความเข้าใจในเรื่องการบินไทยของ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์จะผิดจะถูกอย่างไรก็ตาม
แต่ก็พอสะท้อนให้เห็นถึงภาพของการบินไทยต่อสายตาคนนอกในสถานการณ์ปัจจุบัน
และความเชื่อที่ว่าการบินไทยมีมาเฟีย มี "ตี๋ใหญ่" นักเลงประจำถิ่นคอยดูแลก็ยังเป็นความเชื่อที่เชื่อกันมานาน
และ "ตี๋ใหญ่" ในความหมายของ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ย่อมเข้าใจกันได้ว่าหมายถึงใคร
แต่ "ใคร" ในที่นี้คงขุ่นเคืองสมญา "ตี๋ใหญ่" อย่างสุดประมาณ….
ฉัตรชัย บุญยะอนันต์ มีเชื้อจีนไหหลำ เกิดเมื่อ 6 พฤศจิกายน 2475 ตอนเด็ก
จบชั้นประถมจากอัสสัมชัญแล้วไปต่อไฮสกูลที่เซนต์สตีเว่นส์คอลแลจ ฮ่องกง ฉัตรชัยจบการศึกษาระดับปริญญาตรีทางเศรษฐศาสตร์และการบัญชี
จากมหาวิทยาลัยเวลส์ ประเทศอังกฤษ ปี 2501 และภายหลังยังได้ผ่านการอบรมด้านเทคนิคการบริหารจากอังกฤษ
และจากมหาวิทยาลัยฮาวาร์ด สหรัฐอเมริกา ในปี 2522 อีกด้วย
ฉัตรชัยกลับมาเมืองไทยเมื่ออายุ 26 ปี ด้วยความที่อยู่อังกฤษมานาน กลิ่นอายและมาดความเป็นผู้ดีอังกฤษของเขาไม่เคยเสื่อมคลาย
สำเนียงพูดอังกฤษของเขาดีมากจนแทบไม่ผิดเพี้ยนจากเจ้าของภาษาเลย
ในช่วง 2500 ไม่มีอะไรดีไปกว่าการเข้ารับราชการ ฉัตรชัยเข้ารับราชการตำรวจในสังกัดกองปราบปรามด้านสินค้าหนีภาษี
เป็นตำรวจอยู่ 2 ปี ได้ยศร้อยตำรวจโท แล้วเขาก็ลาออก
ฉัตรชัยมีสายสัมพันธ์กับคนอังกฤษค่อนข้างมาก เขาเริ่มต้นทำงานกับ BOAC สายการบินอังกฤษ
ที่ตอนหลังแปรมาเป็น BRITISH AIRWAYS ในตำแหน่ง STATION OFFICE TRAINEE ที่ลอนดอน
หลังจากนั้นได้รับมอบหมายให้ทำงานด้านการตลาดในหลายทวีป ตั้งแต่ยุโรป แอฟริกา
อเมริกาเหนือ เมื่อ BOAC เข้ามาตั้งสาขาในไทย ฉัตรชัยก็ย้ายกลับบ้าน เป็นเจ้าหน้าที่ด้านพัฒนาการขายให้
BOAC ด้วยความเก่งกาจและผลงานเยี่ยมยอด เขาได้รับการแต่งตั้งเป็น AREA SALES
MANAGER (THAILAND) ชีวิตส่วนตัวของฉัตรชัย เขาแต่งงานกับ SHIRLEY มีลูกสาว
2 คน และมีบ้านพักอยู่ที่อังกฤษ
ฉัตรชัยทำงานกับ BOAC ถึงสิบกว่าปี ประสบการณ์และการเคี่ยวกรำด้านการตลาดจาก
BOAC หล่อหลอมให้ฉัตรชัยเป็นนักการตลาดด้านธุรกิจการบินที่หลายคนต้องจับตา
เพราะในยามนั้นหาคนไทยที่เชี่ยวชาญเรื่องนี้ยากมากๆ
แล้วฉัตรชัยก็ผันตัวเองมาสู่บริษัทการบินไทยในปี 2541 ตามคำชวนของนิลส์
ลุมโฮลท์ ซึ่งขณะนั้นเป็นผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด การบินไทย ฉัตรชัยเข้ามาเป็นรองผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายการตลาด
นั่นก็คือเป็นรองจากลุมโฮลท์นั่นเอง
นับแต่วันนั้นมา ฉัตรชัยในวัยเกือบ 40 ปีได้กลายเป็นตัวจักรสำคัญที่ทำให้การบินไทยก้าวรุดไปข้างหน้า
เพราะฉัตรชัยเข้ามาในฐานะ "มืออาชีพ" ที่จัดเจนในเรื่องการบริหาร
มีความรู้และเชี่ยวชาญเรื่องธุรกิจการบินการขายตั๋วอย่างดี อีกทั้งจิตใจที่ทุ่มเทให้กับงานอย่างมหาศาล
จากตำแหน่งที่เป็นรองจากลุมโฮลท์ ฉัตรชัยก็ขึ้นมาแทนที่ เมื่อลุมโฮลท์เลื่อนขึ้นไปรับตำแหน่งรองกรรมการผู้จัดการในปี
2516 ฉัตรชัยยึดครองเก้าอี้ผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายการตลาดมาเรื่อย แม้กระทั่งฉัตรชัยได้เลื่อนไปเป็นรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่แล้วก็ตาม
ฉัตรชัยก็ยังควบ 2 เก้าอี้ จนเมื่อ 1 เมษายน 2531 ฉัตรชัยจำต้องยกงานในฝ่ายตลาดให้กับนเรศ
หอวัฒนกุล ตนเองจึงเหลือตำแหน่งเดียว แต่มันคือตำแหน่งที่สูงสุดยอดของลูกหม้อการบินไทยแล้ว
ตราบเท่าที่ทหารอากาศยังครองอำนาจอยู่
แม้โดยสถานะ ฉัตรชัย บุญยะอนันต์จะเป็นลูกจ้างรัฐวิสาหกิจ แต่จิตสำนึกของฉัตรชัยไม่ได้เป็นเพียงแค่ลูกจ้างรัฐวิสาหกิจธรรมดา
ที่ทำงานไปวันๆ เพียงเพื่อคงสถานะของตนไว้ แล้วรอปรับเงินเดือนสิ้นปี แต่ฉัตรชัยเป็นนักธุรกิจเต็มตัว
เขาเป็นพ่อค้า รู้วิธีการเจรจาต่อรอง และใจเย็นพอที่จะคอยโอกาส
ในสายตาของคนใกล้ชิด ผู้ร่วมงาน ฉัตรชัยจะเป็นที่ประทับใจพวกเขามากในหลายแง่มุม
หนึ่ง - ฉัตรชัยเป็นคนที่หัวไวมาก เร็วที่จะเรียนรู้สิ่งต่างๆ และสามารถที่ปรับใช้ทันที
สอง - ไม่เคยมองอะไรในแง่ร้าย ถึงแม้ใครจะว่าอย่างไร ฉัตรชัยก็จะไม่ละความพยายาม
"คุณฉัตรชัยไม่เคยท้อเรื่องงานเลย มีกำลังใจดีมาก แม้ว่าช่วงนั้นจะเป็นช่วงที่มืดมนมากๆ
และไม่มีใครคิดว่าจะไปได้ คุณฉัตรชัยก็ยังเชื่ออยู่เสมอว่ามันน่าจะไปได้
ขอให้ลองดู แล้วมันก็ไปได้จริงๆ " คนที่ใกล้ชิดฉัตรชัยเล่า
หลายคนยืนยันว่า ฉัตรชัยเป็นคนไม่ยอมรับคำว่า "NO"
สาม - ฉัตรชัยไม่เคยดุด่าลูกน้อง หรือเกรี้ยวกราด เขาไม่ชอบมานั่งบ่นเรื่องต่างๆ
กับลูกน้อง ถ้าลูกน้องมานั่งบ่น ก็อาจจะถูกถามกลับไปว่า คุณมาพูดแบบนี้แล้วมันเกิดประโยชน์อะไร
คุณเข้าใจปัญหาดีแล้วหรือ ถ้ามีปัญหาก็มาพูดให้เคลียร์เป็นจุด
สี่ - เมื่อฉัตรชัยมอบหมายงานอะไรให้แล้ว ฉัตรชัยจะไม่เข้าไปยุ่งหยุมหยิมในรายละเอียด
รอจนกว่างานจะเสร็จแล้วพิจารณาและเคารพผลงานของลูกน้องผู้นั้น
นั่นคือความประทับใจของคนที่ชื่นชมฉัตรชัย!
ที่สำคัญอีกประการ ฉัตรชัยเป็นคนมีบุคลิกที่ดีมากๆ สูง สง่า น่าเคารพ แต่งตัวประณีตและเป็นคนมีเสน่ห์
"ฉัตรชัยเป็นคนมีเสน่ห์ ถ้าใครได้มีโอกาสใกล้ชิดจะรู้สึก บางทีก็ทำตัวน่ารักน่าเอ็นดู
น่าเรียกใช้ ทำให้มีเสน่ห์ก็ได้ แต่จะร้ายก็ร้ายได้" แหล่งข่าวกล่าว
บางกระแสข่าวกล่าวว่า นอกเหนือสไตล์การทำงานและบุคคลิกส่วนตัวของฉัตรชัยที่ทำให้เขาโดดเด่น
ฉัตรชัยยังมีสายสัมพันธ์ที่ดีกับนายพลกองทัพอากาศบางคนในช่วงที่เขากำลังไต่เต้าอีกด้วย
"ผู้ใหญ่กองทัพอากาศคนนี้เป็นใหญ่ในกองทัพยาวนานมาก ฉัตรชัยสนิทกับครอบครัวท่านดีมาก"
คนในวงการชอบนินทาเปิดเผย
แท้จริงความสำคัญของฉัตรชัยไม่ได้อยู่ที่สไตล์การทำงานหรือ CHARISMA เพียงด้านเดียว
แต่มันอยู่ "หัวโขน" ที่ฉัตรชัยสวมอยู่ เพราะให้พอเหมาะพอเจาะทีเดียวที่ฉัตรชัยเคยเป็นผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายการตลาดนานถึง
17 ปี ซึ่งอาจจะเรียกได้ว่า "หัวใจ" ของการบินพาณิชย์อยู่ที่นี่!
การบินนั้นสิ่งที่สำคัญคือ "เครื่องบิน" แต่ถ้าจะเอา "เครื่องบิน"
มาทำธุรกิจขนส่งผู้โดยสารหรือสินค้าต่างๆ เราอาจจะไม่เห็นความแตกต่างเลย
เพราะผู้ผลิต ผู้ขายเครื่องบินก็มาจากเจ้าเดียวกัน ลักษณะของเครื่องก็เหมือนกัน
แตกต่างแล้วแต่รุ่น ความปลอดภัย สมรรถนะก็เหมือนกัน ผู้ทำธุรกิจแอร์ไลน์จะมี
"เครื่องมือหากิน" ที่เหมือนกัน โดยเฉพาะคู่แข่งที่อยู่ในระดับเดียวกัน
ในภูมิภาคเดียวกันและในกลุ่มเป้าหมายเดียวกัน ความแตกต่างจะมีน้อยมากในเรื่องเครื่องบิน
หรืออาจจะได้เครื่องช้าเร็วกว่ากันเท่านั้น
ดังนั้นปัจจัยที่ทำให้ผู้ทำธุรกิจการบินมีความแตกต่างที่จะดึงดูดผู้โดยสารก็คือ
"การตลาด" ฝ่ายการตลาดจึงมีหน้าที่ปะแป้ง ทาปาก เสริมสวยให้บริษัทการบินของตนดูน่าสนใจ
และมีจุดขายที่แตกต่างจากผู้อื่น อย่างเช่นที่การบินไทยเน้นที่การท่องเที่ยวมาเมืองไทยและวัฒนธรรมประเพณีแบบไทยๆ
ซึ่งออกจะแตกต่างไปจากสายการบินอื่นๆ ทั่วโลก
ประการที่สอง ถ้าจะสรุปให้ง่ายๆ ฝ่ายการตลาดคือฝ่ายที่หาเงินเข้าบริษัท
เป็นเซลส์ เป็นคนวิ่งหาลูกค้า ออกตั๋วโดยสาร ดูแลเอเย่นต์ เป็นสายเลือดไปหล่อเลี่ยงให้บริษัทเจริญเติบโตต่อไปได้
แล้วคนที่หาเงินมาให้บริษัทจะไม่สำคัญไปได้อย่างไร
ประการที่สาม โดยลักษณะการทำงาน ฝ่ายตลาดจะรุกไปข้างหน้า วางแผนคอยตีจุดต่างๆ
จะลุยออกไปข้างหน้าที ก็หันมาถามหน่วยข้างหลังว่าพร้อมไหมเสียที เช่น มองดูลู่ทางแล้วน่าจะบินขั้วโลกเหนือ
เพราะจะทำให้ได้กำไรแน่ๆ ก็จะต้องหันมาถามฝ่ายบินว่า เครื่องเราไหวไหม? นักบินเหนื่อยหรือไม่
แล้วฝ่ายช่างคิดอย่างไร? มีปัญหาในการซ่อมบำรุงเครื่องมากน้อยเพียงใด แล้วถ้าไม่มีเครื่องที่จะบินไปได้
ก็ต้องซื้อเครื่องใหม่ ทีนี้ก็ต้องหันมาถามฝ่ายการเงินว่าเงินในกระปุกมีไหม?
ต้องไปกู้หนี้ยืมสินชาวบ้านหรือไม่ ถ้าทุกคนตอบว่าไม่มีปัญหาและเห็นด้วย
ทุกคนพร้อม นั่นแหละก็ลุยได้
โดยสรุปง่ายๆ แบบนี้ ฝ่ายการตลาดของการบินไทยจึงกลายเป็น "ทัพหน้า"
ไปโดยปริยาย และยิ่งถ้าการบินไทยจะขยายตลาดใน "เชิงรุก" มากขึ้น
เพิ่มเที่ยวบินมากขึ้น เพิ่มจุดบินและบุกเบิกทำเลใหม่ๆ มากขึ้น ฝ่ายการตลาดก็จะยิ่งโดดเด่นมากขึ้น
"ลองมองภาพเปรียบเทียบก็ได้ ขณะที่คุณฉัตรชัยและฝ่ายการตลาดคนอื่นๆ
จัดงานเลี้ยงเปิดเที่ยวบินใหม่อย่างหรูหราตามโรงแรมใหญ่ๆ ดื่มแชมเปญ กินคาร์เวีย
ฝ่ายช่างต้องอยู่กับเครื่องหน้าตามอมแมม ฝ่ายบินก็อยู่บนเครื่องโน่น ฝ่ายการเงินก็ก้มหน้าก้มตาอยู่กับตัวเลข"
บางคนเปรียบเทียบให้ฟัง
แต่นั่นคือ "หัวโขน" ที่ฝ่ายการตลาดต้องเล่น และเมื่อเล่นแล้วก็ต้องเล่นให้ดี
ให้สมศักดิ์ศรีสายการบินของชาติ ถ้าจะหาเงินก็ต้องขายให้ได้ ต้องให้นานาชาติเขาเชื่อถือ
เขายอมรับ
ฉัตรชัยในห้วงเวลา 17 ปีที่ผ่านมาคือผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายการตลาด โดยหน้าที่และบทบาทและลักษณะพิเศษของธุรกิจการบิน
จึงทำให้เขาย่อมดูยิ่งใหญ่เป็นธรรมดา
ฉัตรชัยต้องวางแผนไปข้างหน้า เจรจากับสายการบินอื่น ทั้งเรื่องสิทธิการบิน
เรื่องความร่วมมือ ต้องพบปะผู้นำธุรกิจด้านนี้ ต้องไปพบเอเย่นต์ที่กระจายเครือข่ายไปทั่วโลก
ต้องไปงานเลี้ยงที่จัดอย่างเริดหรู ต้องพบกับสื่อมวลชนโดยเฉพาะกับสื่อมวลชนต่างประเทศ
แล้วแบบนี้ฉัตรชัยจะไม่ดูยิ่งใหญ่ได้อย่างไร เพราะขณะที่ฉัตรชัยอยู่กับการบินไทย
17 ปีในตำแหน่ง "ทัพหน้า" ขณะที่นายพลอากาศจากกองทัพอากาศมาอยู่กันคนละไม่กี่ปี
พอเริ่มเรียนรู้งานก็เกษียณพอดี
ลึกลงไปอีก ถ้ามาดูโครงสร้างของฝ่ายการตลาด ก็จะพบเครือข่ายและอำนาจที่ฉัตรชัยดูแล
(ดูแผนภูมิฝ่ายการตลาด) ฉัตรชัยอยู่ที่ตำแหน่งผู้อำนวยการโดยไม่มีรองหรือผู้ช่วยเป็นเวลานาน
ซึ่งอาจด้วยสาเหตุที่ยังหาคนที่เหมาะสมไม่ได้ในความคิดของฉัตรชัย
ร้านค้าปลอดภาษีที่ทำรายได้ประมาณปีละพันกว่าล้านบาทอยู่ในความดูแลของฉัตรชัย
รวมถึงกองวิจัยการตลาดที่ต้องรวบรวมข้อมูลทางการตลาดทั้งหมด เพื่อวางแผนที่จะรุกไปข้างหน้าและรักษาส่วนแบ่งตลาด
กองโฆษณาที่มีงบโฆษณาปีละ 200 ล้านบาท กองประชาสัมพันธ์ที่มีคนชอบตั้งข้อสังเกตว่า
ทำไมมาขึ้นกับฝ่ายการตลาดเพราะฝ่ายอื่นไม่มีกองนี้ หรือสำนักผู้อำนวยการใหญ่ก็ไม่มีคนรับหน้าที่นี้เป็นตัวเป็นตน
คนก็เลยสรุปให้ว่ากองประชาสัมพันธ์ของฉัตรชัย
ในซีกขวาของแผนภูมิ คือส่วนที่ดูแลเรื่องการขายเป็นหลักใหญ่ มีทั้งฝ่ายที่จะเทรนคนขึ้นมา
สำหรับป้อนคนไปตามจุดต่างๆ และฝ่ายควบคุม ดูแลเอเย่นต์, AREA MANAGER และเซลส์ที่กระจายอยู่ทั่วโลก
ส่วนล่างสุดตรงกลางคือ คาร์โก้ หรือการขนส่งสินค้าทางอากาศ ซึ่งกำลังทวีความสำคัญมากขึ้น
รายได้จากกองนี้เพิ่มขึ้นเป็นลำดับสองรองจากการขนส่งผู้โดยสาร
เครือข่ายและอำนาจของฉัตรชัยคือ "ขุมทองและหน้าตา" ของการบินไทย
ใครบางคนสรุปไว้เช่นนั้น
"จะสรุปแบบนั้นก็ได้ แต่เราก็ต้องดูว่ากว่าที่มันจะเป็นขุมเงินขุมทองขึ้นมาได้
คุณฉัตรชัยแกสร้างจากขี้ดินนะ ไม่ใช่อยู่ๆ แกลอยมานั่ง ทุกอย่างมันค่อยๆ
ก่อรูปขึ้นมา ต้องยอมรับว่าแกเก่งมาก"
ฉัตรชัยและทีมงานฝ่ายการตลาดมีบทบาทอย่างสูง ในการหารายได้เข้าบริษัทในภาวะวิกฤตการณ์ราคาน้ำมันช่วง
2520-2525 ขณะที่สายการบินทั่วโลกอยู่ในสถานการณ์ย่ำแย่ การบินไทยกลับฝ่าฟันมาได้และคงสถานะกำไรมาตลอด
แม้ว่าจะอยู่ในระดับ 30-40 ล้านบาทก็ตาม การบินไทยได้รับการยอมรับว่าเป็นสายการบินที่ดีที่สุดสายหนึ่งในโลก
มีภาพพจน์ที่ดีในสายตาต่างประเทศ เป็นรัฐวิสาหกิจที่ทำรายได้อย่างงดงาม ต่างจากรัฐวิสาหกิจอื่น
ปีงบประมาณ 2529-2530 การบินไทยมีผลกำไรสูงสุดในรอบ 27 ปีของการดำเนินการ
และฉัตรชัยก็ได้ทะยานขึ้นมาสู่จุดสูงสุดในตำแหน่งหน้าที่ของการบินไทยแล้วเช่นเดียวกัน
ในสังคมไทย มีสัจธรรมข้อหนึ่งคือ "ความยิ่งใหญ่เป็นอันตราย" ฉัตรชัยก็ไม่ได้ผ่านพ้นสัจธรรมข้อนี้
ตลอดเวลาที่เขาอยู่ในตำแหน่งวีพี เบื้องหน้าของฉัตรชัยคือรอยยิ้มที่สะอาดสะอ้าน
แต่เบื้องหลังของเขาเต็มไปด้วยรอยแผลที่ผู้คนคอยฟาดฟัน
มี "ข้อกล่าวหา" ฉัตรชัยมากมายตลอดเวลาที่ฉัตรชัยอยู่ที่ฝ่ายการตลาด
หรือแม้ "ข้อกล่าวหา" นั้นจะไม่ได้เกี่ยวกับฉัตรชัยก็ตาม แต่บางทีการกล่าวหานั้นก็สามารถลากโยงไปจนถึงฉัตรชัยจนได้
ถ้าสถานการณ์ขณะนั้นต้องการฉัตรชัยเป็น "เป้า"
"ข้อกล่าวหา" ที่ชอบยัดเยียดให้กับฉัตรชัยมากคือ ฉัตรชัยร่ำรวยผิดปกติ
เพราะก่อนมาบางคนกล่าวว่า บัญชีเงินฝากของเขา "ตัวแดง" ด้วยซ้ำ
แต่เมื่อฉัตรชัยมาอยู่การบินไทย เขากลับร่ำรวยอย่างรวดเร็ว บางคนระบุว่าเป็นร้อยๆ
ล้าน ถ้าโอเว่อร์หน่อยก็ว่าเป็นพันล้าน แถมเผยหมายเลขบัญชีเงินฝากที่ซูริคด้วยซ้ำ!
กรณีเอเย่นต์ขายตั๋วล้ม ก็มีคนกล่าวหาว่าฉัตรชัย "ซูเอี๋ย" กับเอเย่นต์
แต่งตั้งเอเย่นต์อย่างไม่รอบคอบ ปล่อยให้เกิดการ "ล้มแล้วรวย"
ของเอเย่นต์ เนื่องจากฝ่ายการตลาดไปปล่อยหนี้ไว้มากเกินไป และเมื่อฟ้องร้องกัน
การบินไทยก็แทบจะไม่ได้อะไร? กรณีเอเย่นต์ล้มโต๊ะนี้ไล่ดะมาตั้งแต่ลอนดอน
ซิดนีย์ เกาหลีใต้ ฝรั่งเศส อัมสเตอร์ดัม ไปเรื่อย
"ส่วนลดของการขายตั๋ว" ก็เป็นอีกกรณีที่ลือกันมาก เพราะตัวเลขตรงนี้เป็นตัวเลขลับ
รู้กันไม่กี่คน และฉัตรชัยก็มีอำนาจในการอนุมัติส่วนลดอยู่ในมือ ข่าวลือว่าด้วยเรื่องกินใต้โต๊ะจึงเกิดประจำ
ในบางเส้นทางที่มีคนไม่เห็นด้วยที่การบินไทยไปบุกเบิก เช่นที่นิวเมีย ซีแอตเติล
ก็มีการกล่าวหากันว่า วีพีบางคนไปลงทุนซื้อที่ดินหรือมีหุ้นในโรงแรมแถบนั้นคอยท่าอยู่แล้ว
ลักษณะการว่าจ้าง การประมูลเพื่อการลงทุนในธุรกิจใหม่ๆ จะต้องมีข้อครหาตลอดเวลา
เช่น กรณีไปว่าจ้างบริษัทเพอร์ บี. สไลเตอร์ เอเอส (พี่บีเอส) แห่งประเทศเดนมาร์ก
เป็นบริษัทที่ปรึกษาออกแบบและควบคุมการก่อสร้างครัวการบินไทย ทำไปได้ 70%
บริษัทดังกล่าวดันล้มละลาย ก็มีรายการอัดระลอกแรก พอไปจ้างบริษัทเมตริกมาทำให้ต่อจากเดิมก็มี
"อัด" ระลอกสอง คือหาว่ากินหัวคิวชักเปอร์เซนต์ หรือบริษัทดังกล่าวคนที่ถูกกล่าวหามีหุ้นหรือมีกิจการอยู่ด้วย
หรือการประมูลเครื่องบินที่ต้องมีข่าวไม่ดีทุกครั้ง รวมไปถึงงบโฆษณาที่ปีหนึ่งเป็นเงินหลายร้อยล้านบาท
แล้วก็ไปจ้างเอเยนซีที่ออสเตรเลียทำ ก็ถูกโยงใยว่าฉัตรชัยมีเอี่ยวเข้าจนได้
อีกทั้งการที่ฉัตรชัยอยู่มานานมาก ฉัตรชัยจึงมีอำนาจแต่งตั้ง โยกย้ายพนักงานในฝ่ายของตนอย่างเต็มที่
ซึ่งแน่นอนที่ฉัตรชัยจะต้องเลือกคนที่เขาไว้ใจและคิดว่า เขามีความสามารถเพียงพอในสายตาของฉัตรชัยเอง
ทีนี้ก็อยู่ที่การตีความของคนที่เฝ้ามองซึ่งอาจจะตีความว่า ฉัตรชัยเลือกโยกย้ายคนที่ไว้ใจได้ไปรักษาผลประโยชน์ของตนในตลาดต่างประเทศ
ส่วนคนที่เปิดโปงเรื่องอื้อฉาวต่างๆ ก็ไปอยู่เมืองที่ลำบากๆ หน่อย
นอกจากนี้ การที่ฉัตรชัยอยู่ในตำแหน่งผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายการตลาดนานมาก
ทำให้โอกาสที่คนหลังๆ จะไต่เต้าขึ้นมาจึงมีน้อย และนี่เป็นจุดที่คนไม่พอใจฉัตรชัยมากและมีจำนวนไม่น้อย
"ฉัตรชัยเอาแต่ยึดกุมเก้าอี้ ขนาดเขาให้ขึ้นเป็นรองผู้อำนวยการใหญ่ตั้งนาน
ก็ไม่ยอมปล่อยตำแหน่งฝ่ายการตลาดไปง่ายๆ ยังรักษาการอยู่ตั้งหลายปี ไม่ยอมให้คนอื่นขึ้นแล้วเวลาโยกย้ายก็ตัดสินใจคนเดียว
เลือกแต่พวกพ้องที่ตนเองเลือกเข้ามา คนเก่า คนแก่ที่อาวุโสไม่เคยสนใจ แล้วก็สุงสิงแต่ลูกน้องที่อยู่ที่ลอนดอน
ฮ่องกง ที่นั่นพวกเขา" ผู้อาวุโสในการบินไทย ผู้อยู่ตำแหน่งเดิมมา 15
ปีไม่เคยเปลี่ยน เล่าอย่างขมขื่น
สุดท้ายอาจจะงัดระเบียบราชการขึ้นมาแล้วก็จี้เป็นจุดๆ ว่า ฉัตรชัยผิดระเบียบราชการอย่างไรบ้าง
เช่น ลาพักร้อนนานกว่าพนักงานทำให้เกิดอภิสิทธิ์ ออกตั๋วฟรีให้กับตัวเองและครอบครัวแบบตามใจชอบ
มีค่ารถเหมาจ่ายเป็นหมื่นโดยไม่ต้องมีใบเสร็จ
ข่าวหรือ "ข้อกล่าวหา" เหล่านี้มีมากมายและพูดกันซ้ำซาก จนแม้ฉัตรชัยเองถ้าหากอยากจะตามแก้ข่าวก็คงไล่กันไม่หมด
หรือไม่ก็อ่านข่าวต่างๆ จนเซ็งแล้วก็ตั้งหน้าตั้งตาทำงานต่อไป
การสืบค้นว่าเรื่องดังกล่าวจริงหรือไม่เป็นเรื่องที่กระทำได้ยากมาก อีกทั้งเป็นการกล่าวหาที่สะเปะสะปะ
จับเรื่องนั้นมาชนกับเรื่องนี้ และไม่มีหลักฐานใดที่ระบุว่าฉัตรชัยมีเอี่ยวในความผิด
ไม่มีการตั้งคณะกรรมการสอบ ไม่เคยมี ป.ป.ป. เข้ามายุ่ง
แต่สำหรับคนที่เคยใกล้ชิดฉัตรชัยจะกล่าวถึงฉัตรชัยว่า ฉัตรชัยเป็นคนลึกล้ำมาก
จะทำอะไรก็จะทำแบบเหนือเมฆ ถ้าจะหาประโยชน์ ฉัตรชัยก็ไม่มากินเบี้ยใบ้รายทางเล็กๆ
น้อยๆ แบบเรื่องกินหัวคิวเอเย่นต์หรือปล่อยหนี้สูญแน่นอน
"ถ้า…ถ้านะครับ ถ้าคุณฉัตรชัยจะทำนะ ก็ต้องเป็นเรื่องที่อยู่ต่างประเทศ
ไม่ใช่ในประเทศ"
คนที่รู้จักฉัตรชัยดี เปรียบฉัตรชัยเหมือนคนที่อยู่เกาะกลางทะเล โดดเดี่ยวและแร้นแค้น
ดังนั้นคนที่อยู่ในภาวะเช่นนี้จึงเป็นคนที่ดิ้นรน ปากกัดตีนถีบอย่างมาก จะทำอะไรก็เห็นแก่ประโยชน์ของตัวและพวกพ้องเท่านั้น
แต่บางทีถึงที่สุดก็เป็นคนไม่เอาพวก หรือ "รู้จักแต่คูณไม่รู้จักหาร"
ต่างกับภาพที่คนทั่วไปมองว่าฉัตรชัยเป็นคนมีเพื่อนพ้องมาก แต่เอาเข้าจริงคนที่สนิทกับเขามีน้อยมาก
ไม่ว่าเรื่องดังกล่าวจะได้เกิดขึ้นจริงหรือไม่ ผลที่ติดตามมาคือ ความเข้าใจของคนที่ว่า
ฉัตรชัยเป็นมาเฟีย และความไม่ไว้วางใจต่อตัวฉัตรชัยทวีมากขึ้น
โดยเฉพาะคนในกองทัพอากาศ!
อดีตผู้อำนวยการใหญ่คนหนึ่งกล่าวถึงฉัตรชัยว่า "ฉัตรชัยเป็นคนเก่ง
ให้เขาเจรจาอะไรเป็นสำเร็จหมด แต่ผมก็ไม่ค่อยไว้ใจเขา ฉัตรชัยเป็นคนลึกล้ำมาก
ผมรู้ เขาไม่อยากให้ผมเข้าไปยุ่งในฝ่ายการตลาดของเขาหรอก ผมรู้สึกมันเหมือนแดนสนธยา
ฉัตรชัยไม่ใช่คนเหยียบเรือสองแคม แต่เขาเหยียบเรือ 500 แคมนั่นแหละคุณ"
สิ่งแรกที่ผู้อำนวยการคนใหม่เลือกปฏิบัติก่อนเกือบจะทุกคนคือ ดึงเอางานทุกอย่างของฉัตรชัยไป
พร้อมทั้งพยายามจะบอกกับฉัตรชัยไม่ว่าโดยอ้อมและโดยตรงว่า "เรื่องต่างๆ
ที่เกิดขึ้นก่อนที่ผมจะเข้ามาขอให้หยุดแค่นั้น และเริ่มต้นการทำงานที่ดีกันใหม่"
อีกทั้งในช่วงที่การบินไทยเติบโตไม่หยุดยั้ง บารมีของฉัตรชัยก็ดูจะเปล่งประกายข่มผู้อื่นอย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น
ภาพพจน์ของฉัตรชัยคือภาพของการบินไทยอย่างแยกไม่ออก
ช่วงที่ฉัตรชัยควบสองตำแหน่ง ทั้งผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายการตลาดและรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่
ฉัตรชัยกลายเป็นผู้กุมอำนาจมากที่สุดในการบินไทย เรื่องทุกเรื่องต้องผ่านฉัตรชัยทั้งเรื่องนโยบายและงานประจำออฟฟิศ
ROUTINE WORK
ระหว่างผู้บริหารที่ทำงานในองค์กรแห่งหนึ่งถึง 17 ปี รู้เรื่องทุกจุด มีประสบการณ์ด้านธุรกิจการบินกว่าครึ่งค่อนชีวิต
กับนายทหารคนหนึ่งที่ถูกอบรมวิถีทางแบบทหารมาตลอดชีวิต แล้วมาเรียนรู้การทำธุรกิจระดับอินเตอร์เนชั่นแนลล่วงหน้าอย่างเก่งก็สองปี
นำทั้งคู่มาทำงานด้วยกัน
มันเป็นความผกผัน ตีลังกาหัวกลับที่อ่านได้ไม่ยากเย็นว่า ใครกันแน่ที่ "คุมเกม"
แท้จริง
ขณะเดียวกันก็เป็นข้อจำกัดทางการเรียนรู้ด้วย ฝ่ายทหารจะเรียนรู้ได้เร็วมากในฝ่ายช่าง
ฝ่ายบิน ฝ่ายภาคพื้น เพราะเป็นเรื่องที่ทหารเคยสัมผัส เคยแตะต้องมาแล้วทั้งสิ้น
และฝ่ายเหล่านี้มีลำดับ มีขั้นตอนในการปฏิบัติงานที่ชัดเจน
แต่พอทหารมาจับเรื่องตลาด เรื่องธุรกิจ รายการ "เป็นงง" ก็เกิดขึ้น
เพราะความสำคัญของฝ่ายนี้ไม่ใช่อยู่ที่การปฏิบัติงานอย่างไรให้ถูกขั้นตอน
ความสำคัญของมันอยู่ที่จุดหมายคือทำอย่างไรให้ขายได้ แล้วนั้นคือความซับซ้อนที่พลิกแพลงยากอธิบาย
"ก็มันเป็น ART พอเป็น ART ผมก็ไม่รู้จะเริ่มต้นตรงไหนแล้ว" อดีตผู้อำนวยการคนหนึ่งเล่า
เวลาออกงานสังคมโดยเฉพาะงานเลี้ยงของบรรดาสายการบินต่างๆ ฉัตรชัยจะเป็นที่รู้จักมากกว่า
โดดเด่นกว่า ขณะที่นายพลจากกองทัพอากาศดูด้อยไปถนัดใจ ในหลายๆ ครั้งฉัตรชัยก็รู้ตัวเองดี
มีบางคนกล่าวว่า เขาก็พยายามหลีกเลี่ยงที่ต้องออกงานคู่กันเสมอๆ หรือถ้าต้องไป
ก็จะฉากออกมาข้างนอก
ในระดับนานาชาติ ฉัตรชัยเป็นคนที่ WELL-KNOWN มากกว่า ฉัตรชัยมีบทบาทในองค์กรธุรกิจการบินระหว่างประเทศมากมาย
เช่น สมาคมการท่องเที่ยวภาคพื้นแปซิฟิก, ภาคพื้นเอเชีย เป็นประธานกรรมการตัวแทนสายการบิน
(BAR)
ฉัตรชัยมีอำนาจพอที่จะเซ็นอนุมัติตั๋วฟรีได้ แม้ว่าการให้ตั๋วฟรีอาจจะมีระเบียบหรือต้องผ่านขั้นตอนบ้าง
แต่ทุกคนก็คาดว่าถ้าฉัตรชัยเห็นด้วย เรื่องก็ผ่านตลอด เรื่องนี้ทำให้ฉัตรชัยมีสายสัมพันธ์ที่ดีกับผู้ใหญ่ในวงราชการ
และคุณหญิงบางท่านที่อยากไปทำบุญทำกุศลในต่างประเทศ มันเป็นบารมีที่เกิดขึ้นอย่างช่วยไม่ได้
เป็นบารมีที่เห็นได้เป็นใบๆ และเอื้ออำนวยในการเดินทาง
"คุณฉัตรชัยไม่ได้มีอำนาจให้ตั๋วคนเดียว เรื่องต้องผ่านผู้อำนวยการด้วย
และหลายครั้ง การออกตั๋วก็มาจากวีพีท่านอื่นด้วย เช่นที่เผอิญไปงานเลี้ยงแล้วไปออกตั๋วเป็นรางวัลชิงโชค
คุณฉัตรชัยก็ย่อมขัดไม่ได้ที่จะออกตั๋วให้" คนในกล่าว
เป็นที่ยอมรับว่าฉัตรชัยใกล้ชิดกับพลเอกเปรม ติณสูลานนท์มาก ฉัตรชัยมีโอกาสรับใช้ใกล้ชิดพลเอกเปรมทุกครั้งที่พลเอกเปรมเดินทาง
แม้ในบางเที่ยวที่ไม่มีความจำเป็นต้องเดินทางไปด้วย ฉัตรชัยก็ไป แล้วพลเอกเปรมก็ค่อนข้างจะ
"เป็นปลื้ม" เอามากๆ กับการบริการของฉัตรชัย รวมไปถึงความสนิทสนมที่มากเป็นพิเศษกับรักษาการผู้บัญชาการทหารสูงสุดอย่าง
พล.อ. ชวลิต ยงใจยุทธ ที่ช่วงหลายปีมานี้ เดินทางไม่ขาดระยะ และเมื่อมีกระแสข่าวว่า
พล.อ.อ. เกษตร โรจนนิล จะก้าวมาเป็นใหญ่ที่การบินไทยแบบแน่นอน 99.99% ฉัตรชัยก็เทกระเป๋าไปทางเกษตร
แต่คราวนี้ "วื้ด"
"มันก็วื้ดกันทั้งกองทัพอากาศแหละคุณ ทุกวันนี้คุณวรนาถก็ยังโยกย้ายคนของคุณเกษตรอยู่เรื่อยๆ
ทีนี้กรณีคุณฉัตรชัยมันเป็นธรรมดาที่พอจะคาดเดาได้ว่า ใครจะมาบังคับบัญชาก็ต้องเข้าหาตามธรรมเนียมไทยๆ
คุณฉัตรชัยก็เลยถูกมองว่าเป็นสายเกษตร แต่คราวนี้มันพลาด" แหล่งข่าวในวงการทหารกล่าว
แต่สิ่งที่ตามมาคือ คนวง "สีเทา" ค่อนข้างจะหมั่นไส้ฉัตรชัยไม่น้อย
เพราะความที่สนิทชิดเชื้อกับ "สีเขียว" มากเป็นพิเศษในช่วงหลัง
ความเชื่อที่ว่าฉัตรชัยเป็นคนไม่น่าไว้ใจ เป็นคนที่กุมอำนาจแต่เพียงผู้เดียวในการบินไทย
ถูกถ่ายทอดมาเป็นลำดับชั้นในหมู่ทหารอากาศ ซึ่งย้ำอยู่เสมอว่า การบินไทยเป็นของทหารอากาศ
การผูกขาดอำนาจของฉัตรชัยทำให้ยากแก่การควบคุม และไม่เอื้ออำนวยในการถ่ายทอดอำนาจการบริหารแก่คนที่ตนเองไว้ใจ
"การบินไทยเป็นสายเลือดเดียวกับกองทัพอากาศ เหมือนแม่น้ำเจ้าพระยาที่ไหลต่อมาจากปากน้ำโพ
แต่คนอย่างฉัตรชัยคิดว่าการบินไทยเป็นสมบัติส่วนตัว" เป็นคำพูดที่สะท้อนถึงความเชื่อของกองทัพอากาศอย่างดี
การพยายาม "ตีกรอบ" วีพีของการบินไทยมีมานานแล้ว แต่ไม่เคยทำได้ต่อเนื่องหรือขาดตอนเมื่อครบเกษียณและทุกครั้ง
ฉัตรชัย บุญยะอนันต์ไม่เคยพลาดจากการเป็นเป้า!
มีความเป็นไปได้ว่า ที่ฉัตรชัยรอดจากการถูกบอมบ์มาได้ทุกครั้ง เป็นเพราะหนึ่ง
- บารมีของคนชื่อ "เปรม" สอง - ความสามารถและความเก่งกาจด้านการตลาดของฉัตรชัย
ที่แม้แต่กองทัพอากาศก็ต้องยอมรับ และขีดจำกัดในการเรียนรู้ด้านนั้นก็มีอยู่มาก
สาม - ในช่วง 6 เดือนแรก ผู้อำนวยการใหญ่คนใหม่จะดึงงานของฉัตรชัยไป พอพ้น
6 เดือน งานเหล่านั้นก็กลับมาสู่ฉัตรชัยอีก ซึ่งก็มองได้ว่าผู้อำนวยการใหญ่คนนั้นได้ศึกษางานเป็นที่พอใจแล้ว
หรือไม่ก็รับงานเหล่านั้นต่อไปไม่ไหว หรือ สี่ - การทอดเวลาที่เนิ่นนานไป
การประสานประโยชน์และประนีประนอม ทั้งในเรื่องธุรกิจและแนวความคิดการทำธุรกิจก็เป็นไปได้สูงยิ่ง
เรื่องอะไรที่ต้องไปหักโค่นเพราะการบินไทยเป็นเพียงทางผ่านในช่วงไม่กี่ปี
ฉัตรชัย บุญยะอนันต์ ดูเหมือนว่า ยิ่งสูง อาจยิ่งหนาว แต่ยิ่งต้องหนักแน่น!
พล.อ.อ. วีระ กิจจาทร เข้ามาการบินไทยพร้อมกับแผนการล่วงหน้า ข้อมูลที่ได้รับจากคนรายล้อม
เวลาที่มากพอ และที่สำคัญ ความเชื่อมั่น
ฉัตรชัยไม่ได้ถูกย้ายในครั้งนี้ เพราะตำแหน่งของเขาเป็นตำแหน่งสูงที่สุดแล้วรองจากวีระ
แต่สิ่งที่เขาได้รับคือ การลดอำนาจอย่างเฉียบพลัน!!!
วีระลงนามในคำสั่งลงวันที่ 10 พฤศจิกายน 2531 เรื่องการเสนองานเอกสารความว่า
"เพื่อความเหมาะสมในการบริหารงานในปัจจุบัน ให้ทุกหน่วยเสนองานตามหน้าที่ความรับผิดชอบโดยตรงถึงกรรมการผู้อำนวยการใหญ่
(DD) ทั้งนี้งานภายในประเภท ROUTINE และงานร่างเอกสารทั้งปวง อาทิเช่น จดหมาย
ประกาศ คำสั่ง สุนทรพจน์ ฯลฯ ให้เสนอผ่านการตรวจ/แก้ไขของกองสารบรรณ (WX)
ก่อน"
ความหมายของมันก็คือ ให้ฉัตรชัยลอยอยู่เฉยๆ!
แหล่งข่าวกล่าวว่า ระยะแรกฉัตรชัยแทบจะไม่มีโอกาสได้พบกับวีระเลย แม้ห้องทำงานจะอยู่บนชั้น
21 ของตึกการบินไทยเหมือนกันก็ตาม
"เวลาที่วีระเข้าห้องน้ำ เผลอๆ จะมากกว่าที่ฉัตรชัยได้พบกับวีระด้วยซ้ำ"
บรรดาคำสั่งโยกย้ายที่ตามมา ลอยพ้นไปจากฉัตรชัย ฉัตรชัยอาจรู้ล่วงหน้าว่ามีเค้าแห่งการเปลี่ยนแปลงมาบ้าง
แต่ไม่เคยรู้ลึกไปว่า วีระจะทำอะไรเขา"
อนาคัสถูกโยกจากอุ้งมือฉัตรชัยไปอยู่กับวีระ บรรดาลูกน้องของฉัตรชัยที่ฉัตรชัยเรียกใช้ประจำถูกแขวน
บนโต๊ะทำงานของฉัตรชัยและลูกน้องดูสะอาด ไม่รกตาด้วยแฟ้มเอกสารเสนอเซ็นดังแต่ก่อน
การมอบตำแหน่ง "รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่" ให้กับกัปตันอุดม
กฤษณัมพก สืบแทน พล.อ.ท. ณรงค์ ดิถีเพ็ง ก็มิได้ระบุชี้ชัดว่า กัปตันอุดมมาดูแลงานแทน
พล.อ.ท. ณรงค์ เพราะความตั้งใจแต่เดิมที่ตำแหน่งดังกล่าวเกิดขึ้นเพราะการรวม
บดท. พล.อ.ท. ณรงค์มาอยู่ในตำแหน่งนี้ในฐานะเคยเป็นกรรมการผู้อำนวยการของ
บดท. เมื่อ พล.อ.ท. ณรงค์เกษียณ คนจึงคาดว่าตำแหน่งนี้จะยุบไป แต่แล้วกัปตันอุดมจากผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายภาคพื้นก็ขึ้นมาแทน
ทั้งฉัตรชัยและกัปตันอุดมจึงมีศักดิ์ศรีและอำนาจเท่าเทียมกัน ต่างกันอยู่ที่ว่าวีระจะแบ่งงานและมอบหมายให้ทั้งสองอย่างไร
กระแสข่าวแจ้งว่า ฉัตรชัยว่างอยู่เป็นอาทิตย์ๆ ไม่มีงานในการบินไทยผ่านเข้ามาเลย
งานที่ฉัตรชัยทำช่วงนั้นคือ การไปประชุมในฐานะที่เป็นกรรมการขององค์กรต่างๆ
เป็นช่วงเวลาที่ฉัตรชัยดิ่งลงต่ำอย่างน่าใจหาย!!!
วงการชอบดูโหงวเฮ้งกล่าวว่า ฉัตรชัยเป็นคนมีโหงวเฮ้งดี รูปร่างสูงใหญ่ มีพุงแต่ก้นกลับไม่มีคือแบนราบไปหน่อย
"ลักษณะนี้เวลาขึ้น ขึ้นสูงแต่เวลาตก ตกเร็วมากเพราะไม่มีอะไรรองรับ"
คนชอบดูโหงวเฮ้งว่า
ในสถานการณ์ขณะนั้น สิ่งที่ฉัตรชัยตระหนักก็คือว่า เขาอยู่ลอย และโดดเดี่ยวจากคนรอบข้างมากเกินไป
ฐานทางฝ่ายการตลาดถูกโอนไปให้นเรศก่อนหน้านี้แล้ว ส่วนทางพวกวีพีก็กำลังระส่ำระสายจากการโยกย้ายใหญ่
ทางด้านสื่อมวลชน ฉัตรชัยก็มีภาพลบมาตลอด
ฉัตรชัยไม่ค่อยสุงสิงกับสื่อมวลชนไทยมากนัก เพราะด้วยความที่เขาต้องทำงานระดับนานาชาติเสียมากกว่า
ฉัตรชัยจึงค่อนข้างเป็นที่รู้จักในหมู่สื่อมวลชนต่างประเทศมากกว่า ขณะที่ทางด้านวีระ
เมื่อประกาศข่าวโยกย้าย ในวันถัดมา วีระก็จัดแถลงข่าวให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนอย่างดี
ขณะที่ฉัตรชัยยิ่งเก็บตัวมากยิ่งขึ้น
"คุณฉัตรชัยเป็นคนรู้สถานการณ์ ช่วงนี้ไม่ใช่ช่วงที่เขาจะออกมาเปิดตัวหรือแสดงความเห็นอะไรทั้งสิ้น
ยิ่งพูดมากก็ยิ่งเป็นภาพลบ"
แต่วีระก็ค่อนข้าง "อารมณ์เสีย" ทุกครั้งที่มีข่าวออกไปว่า เขากับฉัตรชัยมีเรื่องขัดแย้งกัน
หรือมีข่าวว่าฉัตรชัยเป็นเป้าแห่งการเปลี่ยนแปลง
วีระกล่าวกับนักข่าวในการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม ว่า "ผมไม่ได้ไปบีบให้คุณฉัตรชัยลาออก
ข่าวที่ออกไป ทำให้ผมต้องเรียกคุณฉัตรชัยมาคุย มาปรับความเข้าใจ แล้วทุกวันนี้
ผมก็แบ่งงานให้เขาดูแลงานด้านการตลาด การบริหาร"
เป็นที่รู้กันว่า งานที่ฉัตรชัยได้รับโดยแบ่งกับกัปตันอุดมคือ การดูแลทางด้านนโยบายของฝ่ายการตลาดและการบริหารซึ่งก็คือการ
"ดู" และ "แล" นโยบายเท่านั้นจริงๆ
"ผมไม่เคยเห็นคุณฉัตรชัยเหี่ยวเท่าครั้งนี้มาก่อนเลย" คนใกล้ชิดกล่าวกับ
"ผู้จัดการ"
ฉัตรชัย บุญยะอนันต์ สำหรับคนที่เกลียดชังก็จะกล่าวว่า กรรมตามสนอง หรือไม่ก็สมควรแล้วก็เพราะมีแผลเหวอะหวะออกยังงั้น
หลายคนเห็นด้วย เพราะถ้าไม่ลดอำนาจฉัตรชัย การแก้ไขปัญหาโดยเฉพาะเรื่องทุจริตจะไม่สามารถดำเนินต่อไปได้
การโยกย้ายและลดอำนาจอย่าง "ล้วงลึก" เช่นนี้เท่านั้นที่คลี่คลายการตั้งแก๊งมาเฟียภายในการบินไทยได้
สิ่งที่วีระกล่าวกับคนใกล้ชิดคือ เรื่องที่เขาไม่ชอบมากๆ ก็คือการบริหารของการบินไทยที่ตกอยู่ในมือคนๆ
เดียวมากเกินไป มันถึงเวลาที่ควรจะกระจายอำนาจออกไป อนาคตของการบินไทยไม่ควรฝากไว้กับคนๆ
เดียว
แต่สำหรับคนที่ทำงานมากับฉัตรชัยเป็นสิบปี จะกล่าวถึงฉัตรชัยอีกแง่หนึ่ง
"ฉัตรชัยทำงานร้อยอย่าง พันอย่าง มันก็ต้องมีพลาดกันบ้าง จะหาที่มันเพอร์เฟ็คร้อยเปอร์เซ็นต์ไม่ได้"
ผู้ใหญ่ในกองทัพอากาศที่ก้าวหน้ามากๆ ท่านหนึ่งกล่าวกับ "ผู้จัดการ"
ว่า "สำหรับผมเองต้องมีความคล่องตัวในการบริหาร ต้องมีผู้มีอำนาจว่าที่จะตัดสินใจว่าควรจะลดราคาตั๋วเท่าไหร่ได้ทันที
เพราะว่าธุรกิจการบินมันหั่นราคากันมา แล้วถ้าไม่มอบอำนาจให้คุณฉัตรชัย ให้เขาตัดสินใจทันที
เราก็จะสู้เขาไม่ได้ ก็เพราะมันสู้ใต้โต๊ะกันมาก ก็เมื่อเรามอบให้คุณฉัตรชัยเป็นผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายการตลาดแล้ว
ก็ต้องให้เขาตัดสินใจไป เอะอะจะให้มาเข้าที่ประชุมกรรมการบอร์ดจะให้รู้กันมากๆ
มันก็เจ๊ง ทีนี้ลักษณะการบริหารคือให้อำนาจคุณทำไป ถ้าถูกจับได้ไล่ทัน เขาก็ปลดคุณ
เขาก็ไล่คุณ นี่คือธุรกิจ"
แล้วฝ่ายตรวจสอบการบินไทยอยู่ที่ไหน!
ธาร อัสธีรวัฒน์ ผู้อำนวยการฝ่ายตรวจสอบ กล่าวว่า อำนาจฝ่ายตรวจสอบคือตรวจทุกเรื่อง
ไม่ใช่แค่เรื่องบัญชี แต่ตรวจระบบการทำงานทั้งหมด ตรวจความปลอดภัย ตรวจการก่อสร้างว่าได้มาตรฐานดีหรือไม่
"ก็ตรวจไปเรื่อยๆ มีคำสั่งมาก็ตรวจ ไม่เจอทุจริตก็ไม่ตรวจ" ธารกล่าว
"ไอ้แบบตรวจจับผิดมันโบราณไปแล้ว คือการตรวจแบบนั้นมันไม่ทำให้ก้าวหน้า
คือคุณต้องรู้ว่า การตรวจสอบต้องรู้ว่า ระบบงานมันเป็นอย่างไร แล้วไปดูว่างานของเขาควรเป็นเช่นไร
เขาเฉผิดทางไปจากที่บริษัทวางแนวไว้หรือไม่"
อำนาจของฝ่ายตรวจสอบอยู่แค่ระดับผู้บริหารระดับกลางและล่าง ในส่วนฝ่ายบริหาร
ไม่เกี่ยว
"เรื่องที่มันผ่านฝ่ายบริหารแล้ว แสดงว่า โอเคแล้ว รู้แล้ว ผมไปตรวจสอบอย่างไรมันก็ไม่มีความผิด
ไม่มีประโยชน์เพราะตัวผู้อำนวยการใหญ่อยู่ในฝ่ายบริหารอยู่แล้ว เขารู้ดีว่าผิดถูกอย่างไร
เพราะตรวจแล้วผมก็ต้องรายงานผู้อำนวยการใหญ่"
ประเด็นนี้ชี้ให้เห็นว่า สถานะของวีพีอยู่เหนือการตรวจสอบ การตัดสินการกระทำของวีพีอยู่ที่ตัวผู้อำนวยการใหญ่
ซึ่งทั้งนี้ก็อยู่ที่ ท่านจะได้รับข้อมูล ข่าวสารมาอย่างไร
มีข้อสรุปว่าการที่ธนาคารกรุงเทพเติบโตมาได้ทุกวันนี้ เป็นเพราะการวางรากฐานการตรวจสอบที่แข็งแกร่งและก้าวหน้า
ธนาคารกรุงเทพเป็นธุรกิจค้าเงินที่ต้องอาศัยความเชื่อถือของประชาชน มีพนักงานฝ่ายตรวจสอบ
400 กว่าคน จากจำนวนพนักงาน 26,000 คน ขณะที่การบินไทยเป็นธุรกิจขายบริการ
ระดับอินเตอร์เนชั่นแนล มีพนักงาน 14,000 กว่าคน มีพนักงานฝ่ายตรวจสอบ 33
คน
ตรวจตั้งแต่สากกะเบือยันเรือรบ มีคนทั้งฝ่าย 33 คน!
วีระกล่าวถึงฝ่ายตรวจสอบ เมื่อ "ผู้จัดการ" ถามถึงว่า "ผมเองให้ความสำคัญกับฝ่ายตรวจสอบอยู่ไม่น้อย
ถ้าอำนาจที่มีอยู่ของฝ่ายตรวจสอบยังไม่อาจครอบคลุมไปถึงผู้บริหารระดับสูงๆ
บางทีอาจจะต้องเพิ่มอำนาจให้ครอบคลุมมากขึ้น แต่ที่ตอนนี้ผมยังไม่เข้าไปยุ่งกับฝ่ายตรวจสอบ
เพราะแค่ผมเข้ามาเปลี่ยนแปลงเพียงในแง่ตัวบุคคลยังวุ่นวายขนาดนี้"
ผู้ที่เคยอยู่ในเรื่องการตรวจสอบเอเย่นต์ล้มกล่าวถึงฉัตรชัยว่า "เรื่องเอเย่นต์ล้มอย่างที่อัมสเตอร์ดัมไม่ใช่เป็นเรื่องใหญ่เลย
แล้วมันจะเล่นงานคุณฉัตรชัย แคชเชียร์มันโกงเงินเท่านั้นเอง ไม่มีทางที่คุณฉัตรชัยจะไปซี้แห๋งกับมัน
เรามีพยานหลักฐานพร้อมหมด มันมีคนขโมยเอกสารไป มันเอาไปสองหน้าแล้วไปตีเป็นเรื่องเป็นราว
เอเย่นต์มันเฮงซวยเอง จะไปมองว่าคุณฉัตรชัยไปหยวนกับเขาอัมสเตอร์ดัมหรือเอเย่นต์ที่อื่น
มันเป็นเรื่องเล็กมาก เป็นผม ผมก็หยวน ถ้ามันเป็นธุรกิจ คุณรู้ไหมหลังจากที่มีเรื่องอัมสเตอร์ดัมมันโกงไป
6 แสนบาท ค่าใช้จ่ายที่คนไทยไปนั่งซัดกัน เรียกคนไปสอบสวนปาเข้าไปกว่าล้านบาท
แล้วมันคุ้มไหม"
ประเด็นที่คนที่เชื่อมั่นในตัวฉัตรชัยกล่าวถึงฉัตรชัยก็คือว่า หนึ่ง - ฉัตรชัยเป็นคนมีความสามารถในเรื่องธุรกิจการบิน
การเอาฉัตรชัยไปลอยอยู่เฉยๆ เป็นเรื่องน่าเสียดาย สอง - ถ้าฉัตรชัยมีความผิดจริงก็ตั้งคณะกรรมการสอบ
แต่ทั้งนี้ความผิดที่เกิดขึ้นนั้น เกิดขึ้นเนื่องมาจากความตั้งใจที่จะโกงหรือความบีบรัดของระเบียบราชการ
"ถ้าคุณจะบริหารธุรกิจ แต่เอาระเบียบราชการ ระเบียบรัฐวิสาหกิจมาใช้ทุกกระเบียด
คุณไม่ต้องเอาคนที่เก่งมาบริหารหรอก เอาไอ้คนที่คล่องระเบียบ ท่องเก่งมานั่งทำงาน
อันนี้ถูกระเบียบกูเซ็น อันนี้ไม่ถูกระเบียบกูไม่เซ็น แค่นี้แล้วก็ไม่ต้องไปแข่งกับใคร"
คนคล่องระเบียบกล่าว
สาม - ถ้าฉัตรชัยทุจริต…เวลากรรมการบริหารการบินไทยไปซื้อของสารพัดอย่างที่คุณเห็น
ก็มีข่าวว่ากินกันอยู่เรื่อย ในธุรกิจเขามีทั้งนั้น มันอยู่ที่ว่าเขาซื้อของที่ดีที่สุดมาหรือเปล่า
และเมื่อเขาไปซื้อมาแล้ว เขามาทำให้บริษัทมันกำไรไหม แต่ถ้าคุณฉัตรชัยเขาจะเอา
ผมก็จะปล่อยให้เขาทำไปเลย เขาทำให้ผมมีกำไรปีละ 4-5 พันล้าน ผมให้เลย ผมรู้ว่าเขากิน
ผมก็จะปล่อยให้เขากิน มันเป็น INCENTIVE อย่างหนึ่งที่มันทำเงินให้ผม เขาจะไปทำยังไงแล้วทำให้ธุรกิจของผมมันกำไร
มันคุ้ม แล้วถามจริงๆ การบินไทยมันเป็นรัฐวิสาหกิจหรือธุรกิจ"
เรื่องที่ "ปีกฉัตรชัย" ย้ำมากคือ กำไรของการบินไทยที่มากมายเช่นทุกวันนี้
ไม่ใช่เพราะ "ฟลุ๊ก" แต่เพราะฝีมือ ไม่ใช่เพราะการตรวจสอบอย่างหยุมหยิม
และจ้องจับผิด สิ่งที่ควรจะพิจารณาคือ ผลประกอบการและความมีชื่อเสียงของการบินไทย
ที่ฉัตรชัยและวีพีช่วยสร้างสรรค์กันมาเป็นสิบๆ ปี
"ทุกวันนี้มันไม่แฟร์กับคุณฉัตรชัย เขาทุ่มเทให้กับการบินไทยมาตลอด
เขาจะมีเบื้องหน้าเบื้องหลังอย่างไร? เขาก็ได้สร้างการบินไทยมาจนทุกวันนี้
เขาไม่ได้มามุ่งกอบโกยจนมันเจ๊งไม่ใช่หรือ แล้วเราก็จะหาคนที่มีความรู้ความสามารถ
ประสบการณ์ที่ดีมากๆ เช่นเขาได้ยาก ผมไม่เชื่อว่า ใครจะมาทำการบินไทยตอนนี้ก็ได้
มันไม่ใช่ฟลุ๊กนะ มันแข่งกันจะเป็นจะตาย คุณช้าก็เท่ากับจมลงไป เวลามันจมแล้วมันขึ้นยาก
แล้วที่ว่าคุณฉัตรชัยอยู่มานาน เป็นมาเฟีย ผมถามหน่อย คนอย่างณรงค์ ศรีสะอ้าน
ที่กสิกรไทย ดำรง กฤษณะมระที่แบงก์กรุงเทพ หรือผู้บริหารหลายคนที่ปูนซิเมนต์อยู่มานานไหม
เขาเป็นมาเฟียหรือเปล่า แล้วกิจการของเขาเป็นอย่างไร? มันไม่ได้อยู่ที่ว่า
อยู่นานแล้วเป็นความผิด การที่เขาเอาคนของเขามาทำงานมันก็เป็นเรื่องปกติ
คุณทำบริษัทของคุณ คุณก็ต้องเอาคนที่ไว้ใจมาทำ ให้งานมันเป็นไปได้ถ้าคนที่เขาเลือกมามันไม่ดี
คุณก็จัดการเป็นคนๆ ไปซิ แล้วคนที่ไม่ได้เลื่อนตำแหน่งมันมีเป็นร้อยเป็นพัน
คุณจะให้ฉัตรชัยไปแจงทีละคนหรือไง"
มีผู้ใหญ่ในกองทัพอากาศ 2 คนที่มาเป็นใหญ่ในการบินไทย เขากล่าวถึงฉัตรชัยในสถานการณ์ปัจจุบันว่า
"บางทีพวกเราไปเข้าใจผิดว่างานมากหมายถึงมีหนังสือเข้าแฟ้มมากองบนโต๊ะมากๆ
อันนี้มันผิด เขาเรียกโง่แต่ขยัน ถ้าเป็นผู้บริหารแล้ว งานกองเต็มโต๊ะนี้
ผมประเมินค่าลบหมด ระดับผู้บริหาร งานมันอยู่ที่สมอง เพราะฉะนั้นเราจะไปมองว่าไม่มีงานมันคงจะไม่ถูกต้องนัก
ผมก็เชื่อว่าคุณฉัตรชัยไม่นานเขาก็ปรับตัวได้เพราะความที่เขาเป็นคนที่มีความคิดก้าวหน้า
อีกหน่อยยิ่งเวลาที่ไม่ต้องใช้เวลาไปเซ็นหนังสือ เราก็ต้องออกไปติดต่อคนอื่น
ไปติดต่อต่างประเทศ ต้องเปิดข่ายงานอีกเยอะ ยิ่งท่องเที่ยวมันบูมขึ้นมา บริษัทการบินกับการท่องเที่ยวนี่มันผูกพันกันอยู่
งานอย่างนี้ผมว่าคุณฉัตรชัยเหมาะที่สุด เพราะคุณฉัตรชัยเข้ากับคนง่าย แล้วผมว่าคุณวีระยังไม่มีความสามารถที่จะทำด้านนี้ได้
ต้องคุณแตรชัย ทีนี้มีรองผู้อำนวยการใหญ่สองคนอีกคนในประเทศมันก็ไม่เลว มันแบ่งเบาภาระคุณวีระไป"
แต่สำหรับทหารอากาศอีกคนซึ่งฉัตรชัยต้องรู้จักดีแน่ๆ กล่าวว่า "พูดกันอย่างชายชาติทหาร
ถ้าเขารู้จักพอ แล้วหันหน้ากลับมาทำงานกัน เขาเป็นคนที่มีประโยชน์มาก และผมต้องการเขา"
คำกล่าวสุดท้ายที่ "ผู้จัดการ" ยกมาอาจเป็นการประเมินที่ฉัตรชัยต้องนำไปตรึกตรองมากทีเดียว
ฉัตรชัย บุญยะอนันต์กับการบินไทยปี 2532 กำลังอยู่ในภาวะของการประเมินบทบาทจากคนสองฝ่าย
ข้างหนึ่งให้ภาพลบจนสุดขั้ว อีกข้างคือภาพบวก
ถึงเวลานี้ ฉัตรชัยคงยังต้องเครียดอีกนาน!