นุชนันท์ โอสถานนท์ หรือจะเป็น "เชือดไก่ให้ลิงดู"

โดย รุ่งอรุณ สุริยามณี
นิตยสารผู้จัดการ( มกราคม 2532)



กลับสู่หน้าหลัก

เรื่องของ "นุชนันท์ โอสถานนท์" อดีตผู้อำนวยการฝ่ายการเชื้อเพลิงและประกันภัย ที่ถูกคำสั่งให้ไปประจำสำนักกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2531 นั้น ไม่แน่ว่าจะจบลงง่ายๆ

ที่ว่าไม่แน่ว่าจะจบลงง่ายๆ ไม่ได้หมายความถึงว่าหากเธอถูกตั้งคณะกรรมการสอบสวน ซึ่ง "บังเอิญ" ไม่สามารถจับให้มั่นคั้นให้ตาย หาหลักฐานที่แสดงว่าทุจริตได้ แล้วต้อง "ส่ง" เธอกลับไปดำรงตำแหน่งเดิม

ยังรวมไปถึงเมื่อผลออกมาว่านุชนันท์มีความผิดจริง ตามข้อกล่าวหาที่พอจะสรุปในภายหลังได้เป็นสองสามเรื่องใหญ่

แน่นอน…บางทีนุชนันท์อาจก้มหน้าก้มตายอมรับชะตากรรมที่เธอทำเอาไว้ หรือไม่ก็ฟ้องร้องให้คืนความยุติธรรมแก่เธอตามกฎหมายก็น่าจะเป็นไปได้

ความจริงตัวละครในเรื่องที่ควรจะเกี่ยวข้องกับนุชนันท์โดยตรง น่าจะมีเพียงการบินไทย กับบริษัทบริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพฯ หรือที่เราเรียกกันย่อๆ ว่า B.A.F.S. (BANGKOK AVIATION FUEL SERVICED CO., LTD.) เท่านั้น

B.A.F.S. ก่อตั้งขึ้นในปี 2526 ซึ่งแต่เดิมการให้บริการเติมเชื้อเพลิงให้กับเครื่องบินเป็นไปด้วยความยากลำบาก บ่อยครั้งที่ต้องทำการขนถ่ายจากรถน้ำมันที่ทางบริษัทน้ำมันใหญ่ๆ อาทิ เชลส์ เอสโซ่ คาลเท็กซ์ ฯลฯ นำมาจอดเพื่อรอให้บริการไว้

ด้วยความต้องการที่จะมีสถานบริการเชื้อเพลิงการบินที่ดีกว่าที่มีอยู่ การบินไทยนำโดย พล.อ.อ. บัญชา สุขานุศาสน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ขณะนั้น ร่วมกับบริษัทน้ำมันที่ให้บริการทุกบริษัท ตกลงร่วมหุ้นตั้ง B.A.F.S. ขึ้น

ประกอบด้วยผู้ถือหุ้นอันมีการบินไทย บดท. ท.อ.ท. สำนักงานทรัพย์สินฯ ปตท. เชลส์ เอสโซ่ คาลเท็กซ์ เอลฟ์ปิโตรเลียม และโมบิลออยล์ไทยแลนด์ มี ม.ร.ว. ศุภดิศ ดิศกุล เป็นกรรมการผู้จัดการคนแรก

B.A.F.S. ในระยะแรกได้รับความช่วยเหลือเป็นอย่างมากจากบริษัทคอลเอลฟ์ ผู้ผลิตน้ำมันยี่ห้อ "เอลฟ์" จากฝรั่งเศส ที่ได้ทำสัญญาให้ความช่วยเหลือทางด้านเทคนิค เป็นผู้ออกแบบระบบโครงการเติมเชื้อเพลิงการบินแบบท่อจ่ายใต้ดินให้

นอกจากนี้ B.A.F.S. ยังต้องเป็นผู้จ่ายเงินค่าก่อสร้างคลังเชื้อเพลิงให้กับกองทัพอากาศ คัดเลือกผู้รับเหมาที่จะมาสร้างคลังเชื้อเพลิงใหม่ และสถานีบริการในลานจอด พิจารณาแหล่งเงินกู้ วางแผนการดำเนินงาน ซึ่งกว่าจะให้บริการด้วยลำแข้งของตนเองได้จริง ก็ปาเข้าไปเกือบปลายปี 2529

จากนั้น B.A.F.S. ก็ให้บริการกับทั้งเครื่องบินของการบินไทย บดท. และสายการบินต่างชาติอื่นที่ต้องการใช้บริการด้านนี้ ซึ่งกรรมการบริษัทที่เป็นตัวแทนมาจากกลุ่มผู้ถือหุ้นเปลี่ยนแปลงมาเรื่อยๆ ตามวาระจนมาเป็นนุชนันท์ โอสถานนท์ ผู้ขึ้นมาเป็นหัวหน้าแผนกประกันและปิโตรเลียมของการบินไทย ได้เข้ามาเป็นกรรมการบริษัทในปี 2528 จากการผลักดันของนีลส์ ลุมโฮลท์ ซึ่งเป็นผู้อำนวยการใหญ่อาวุโสฝ่ายอุตสาหกิจการบิน

ที่มาของเรื่องนุชนันท์ที่อันที่จริงแล้วเกิดจากการที่นุชนันท์ สวมหมวกสองใบ ใบแรกในฐานะที่เธอเป็นกรรมการคนหนึ่งของ B.A.F.S. ส่วนอีกใบหนึ่งก็เป็น "ผู้อำนวยการฝ่ายเชื้อเพลิงและประกันภัย" ของการบินไทย

เริ่มแรกนุชนันท์ทำจดหมายขึ้นมาถึงฝ่ายบริหารว่า การบินไทยถึงแม้จะเป็นหุ้นส่วนกับ B.A.F.S. ด้วยคนหนึ่ง แต่เท่าที่ผ่านมา สำหรับการบริการเติมน้ำมันเชื้อเพลิงในลานจอด การบินไทยเก็บค่าบริการในลานจอด (HANDLING FEE) สูงเกินไป ทำให้สายการบินอื่นที่ใช้บริการอยู่ค่อนข้างไม่พอใจ เพราะเท่ากับเป็นการเพิ่มต้นทุน เพิ่มค่าใช้จ่าย

"เราก็ลองไปเทียบดู ก็พบว่าไม่สูงกว่าสิงคโปร์ ไม่สูงกว่าเพื่อนบ้านเลย แต่ก็จำเป็นต้องมี แล้วค่าใช้จ่ายที่ว่าก็ไม่ได้ทำให้ค่าน้ำมันสูงขึ้นเท่าไหร่เลย" ผู้บริหารระดับ วี.พี. ของการบินไทยเล่า

เมื่อเห็นว่าฝ่ายบริหารคงจะไม่ดำเนินการอะไร นุชนันท์ก็ยังคงเดินเรื่องต่อ ฝ่ายบริหารก็เรียกนุชนันท์เข้าพบ

"เราก็พูดกับเธอว่า เธอทำอย่างนี้ไม่ถูก ควรจะปล่อยให้เป็นหน้าที่ของ B.A.F.S. ซึ่งเขาทำอยู่แล้ว นุชนันท์อธิบายว่า ส่วนหนึ่งมันก็เป็นผลดีที่การบินไทยเองจะได้รับ จากการลดค่าธรรมเนียมเช่นเดียวกัน เราก็ไม่ว่าอะไร เพราะเธอก็เป็นพนักงานการบินไทยคนหนึ่ง" วี.พี. คนเดิมกล่าว

แต่เรื่องมายืดเยื้อ ลามปามเป็นเรื่องราวใหญ่โตก็เมื่อนุชนันท์ชักชวนสมาชิกกลุ่ม INTERNATIONAL AIR TRANSPORT ASSOCIATION (IATA), สมาชิก ORIENT AIRLINES ASSOCIATION (OAA.) และ TGF. มาทำหนังสือร้องเรียนในปัญหาเสียค่าธรรมเนียมในการบริการสูงนี้ กับกร ทัพพะรังสี รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ

ตอนนี้แหละที่ฝ่ายบริหารการบินไทยรู้สึกว่านุชนันท์ชักจะหนักข้อขึ้นทุกที กอปรกับเป็นช่วงผลัดแผ่นดิน ที่ พล.อ.อ. วีระ เพิ่งเริ่มเข้ามาปรับเปลี่ยนสายการบริหารเดิมที่มีอยู่เดิมในการบินไทย นุชนันท์เลยเป็น "ไก่" ตัวแรกที่ถูกเชือดให้ลิงดู อย่างที่รู้ๆ กัน

นุชนันท์ โอสถานนท์ เรียนมาทางด้านเศรษฐศาสตร์ ทำงานในหน้าที่นี้เป็นปีที่ห้า เท่าที่ผ่านมาคนใกล้ชิดและรู้จักกับนุชนันท์ดีในระดับผู้อำนวยการฝ่าย และวี.พี. หลายคนบอก "ผู้จัดการ" ว่า นุชนันท์เป็นคนขยันขันแข็ง แทบจะไม่มีใครในการบินไทยรู้เรื่องน้ำมันและการประกันได้ดีกว่านุชนันท์

แต่สิ่งที่นุชนันท์ "เสีย" มากๆ ในสายตาของคนทั่วไปก็คือ นุชนันท์เป็นคนประเภท AGGRESSIVE โผงผางคล้ายผู้ชาย ประเภทคิดจะพูดก็พูด คิดจะทำก็ทำ

แต่การกระทำของนุชนันท์ในเรื่องที่กล่าวมาแล้ว ไม่ว่ากับองค์กรใดไม่ควรถึงกับต้องย้ายตำแหน่ง เปลี่ยนหน้าที่ความรับผิดชอบ อย่างที่นุชนันท์ได้รับ

สาเหตุที่นุชนันท์ถูก "แขวน" มีอยู่สองประการ หนึ่ง-นุชนันท์อยู่ในอำนาจหน้าที่นี้มานาน พอดีไปตรงกับนโยบายใหม่ของกรรมการผู้อำนวยใหญ่คนใหม่ ที่ต้องการให้ผู้บริหารระดับสูงได้เปลี่ยนแปลงตำแหน่งหน้าที่ความรับผิดชอบ

แต่นี่เป็นเหตุผลในทาง "ทฤษฎี" ที่ใครๆ ก็สามารถใช้ได้

สาเหตุประการที่สอง คือ นุชนันท์ถูกกล่าวหาว่าในระหว่างที่เธอทำงานในหน้าที่นี้ ประมวลตามสายตาบุคคลภายนอกที่ "เฝ้าดู" การทำงานของเธอมาโดยตลอดนั้น "ส่อเค้า" ไปในทางที่อาจมีการทุจริต

นุชนันท์ซื้อน้ำมันและจะเลือกซื้อจากบริษัทเดียว ไม่มีการประมูลครั้งละ 3 รายตามระเบียบรัฐวิสาหกิจ

บ่อยครั้งที่ฝ่ายการเงินมีปัญหากับใบอินวอยซ์ที่บริษัทน้ำมันส่งมา เนื่องจากการทำสัญญาซื้อน้ำมันไม่มีลายลักษณ์อักษร วันนี้กำหนดว่าจะซื้อขายกันในราคา 54 เซ็นต์ แต่พออีกสามเดือนกลายเป็นราคาเกือบ 60 เซนต์บ้าง

นุชนันท์ทำงานคนเดียว ไม่เคยให้ผู้ใต้บังคับบัญชาทราบว่าเธอไปทำอะไรที่ไหน? เมื่อไหร่? และอย่างไร?

เรื่องราวที่เกิดขึ้นกับนุชนันท์นั้น ไม่อาจบอกได้อย่างชัดแจ้งว่านุชนันท์ "ผิด" ตามข้อกล่าวหาที่ผ่านมาหรือไม่?

เพราะเรื่องราวที่พูดมาทั้งหมด ในทางปฏิบัติที่ผ่านมาเป็นอย่างนั้นจริงๆ ซึ่งถูกระบายสีสันให้เข้มข้นยิ่งขึ้น โดยเฉพาะกับความประพฤติของเธอ ไม่ว่าใครก็ต้องคิดว่านุชนันท์งานนี้เสร็จแน่ๆ

ลองมาดูกันว่า ใครพูดอะไรถึงนุชนันท์อย่างไรบ้าง

นุชนันท์เป็นผู้บริหารอีกคนหนึ่งของการบินไทย ที่มีความสนิทสนมเป็นอย่างมากกับนีลส์ ลุมโฮลท์ ช่วงเวลาสองสามปีที่ผ่านมา เธอเบิกเบี้ยเลี้ยงจากการเดินทางไปต่างประเทศเป็นจำนวนสูงถึงนับล้านบาท เนื่องจากคิดว่า นุชนันท์สนิทกับ "นาย" ในการบินไทยมากทำให้นุชนันท์ถูกเพ่งเล็งด้วยความอิจฉาตาร้อนอยู่ทุกวี่วัน

"นุชนันท์เป็นคนจำคน ใครทำอะไรกับเธอไว้ก็ต้องมีการติดตามกันให้ถึงที่สุด มีคนไม่ชอบเธอทั้งภายในและภายนอก บางคนตายทั้งเป็นกับหน้าที่การงานที่ทำอยู่ ต้องลาออกไป หมดอนาคตเพราะเส้นสายที่หนุนเธออยู่ด้วยส่วนหนึ่ง" เป็นคำกล่าวของ "แหล่งข่าว" กับผู้สื่อข่าวคนหนึ่ง เมื่อเรื่องของนุชนันท์ถูกเปิดโปงขึ้นมาในระดับหนึ่ง

ราวๆ ปี 2529 ขณะนั้น ตามที่ทราบกันว่า B.A.F.S. ยังไม่ได้ให้บริการกับการบินไทยและสายการบินอื่นๆ ได้อย่างสมบูรณ์เหมือนปัจจุบัน ตอนนั้นเชลส์ คาลเท็กซ์ และเอสโซ่ สามบริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่ของไทย ไม่มีน้ำมันซัพพลายให้การบินไทยเหมือนอย่างที่เคย นุชนันท์นี่แหละที่เป็นคนหาน้ำมันจากที่อื่นมาเติมให้

"ตอนนั้นแกวิ่งวุ่นเลย ไปที่โน่นไปที่นี่ พอดีตอนนั้นมีน้ำมันจากเรือบรรทุกอินโดนีเซียมาจอดที่ไทย แกก็ต่อรองขอให้มาจนได้" กัปตันโยธิน ภมรมนตรี ผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายปฏิบัติการภาคพื้น ผู้ถูกโยกย้ายจากฝ่ายปฏิบัติการบิน ซึ่งต้องดีลกับนุชนันท์เรื่องน้ำมันที่จะเติมให้กับเครื่องบินอยู่บ่อยๆ บอกกับ "ผู้จัดการ"

นอกจากนั้น กรณีที่กล่าวว่านุชนันท์อาจจะชักเปอร์เซนต์ จากการติดต่อซื้อขายกับบริษัทน้ำมันต่างๆ นั้น ดูจะไม่สมเหตุสมผลเลยในเมื่อนุชนันท์เองเป็นคนที่ต่อรองราคาน้ำมัน เสนอความคิดในการขนส่งน้ำมันให้กับบริษัทแห่งหนึ่ง นำมาลดราคาน้ำมันที่ขายให้กับการบินไทย

"บริษัทที่ว่าเขาต้องการขายและขนส่งน้ำมันจากไทยไปจีน และจากญี่ปุ่นไปมิดเดิลอีสท์ นุชนันท์ก็เลยบอกว่าทำไมยูไม่ขนจากมิดเดิลอีสท์มาไทย แล้วขนจากจีนไปญี่ปุ่นล่ะ เส้นทางมันใกล้กว่ากัน ค่าขนส่งมันก็ถูกกว่ากันเยอะ แล้วเอาเงินที่ยูต้องเสียมาลดราคาให้กับการบินไทย" ผู้บริหารระดับผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายอีกคนเล่า

เช่นเดียวกับการประกันชีวิตและทรัพย์สินของผู้โดยสาร รวมทั้งตัวเครื่องบินของการบินไทย ก็เพราะความสามารถของนุชนันท์ ที่ทำให้การบินไทยเดิมที่เคยเสียเบี้ยประกัน 50 เซ็นต์/มูลค่าเครื่องบินทุกๆ 100 เหรียญ มาเป็น 9 เซ็นต์/100 เหรียญ ในปัจจุบัน

เท่ากับประหยัดเงินของการบินไทยเฉพาะค่าเบี้ยประกันนี้ปีละไม่ต่ำกว่าสิบล้านบาท ยังไม่รวมถึงค่าน้ำมันซึ่งถือเป็นค่าใช้จ่ายที่สูงที่สุด สำหรับต้นทุนในการดำเนินกิจการการบินพาณิชย์ ที่มีอัตราส่วนถึง 16.8% เมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายอื่นๆ

การทำงานของนุชนันท์ที่ผ่านมา ถ้าเธอจะโกงกิน ต่อรองราคาน้ำมันให้สูงขึ้นจนทำให้การบินไทยเสียหาย มันก็น่าที่จะทำได้

ประเด็นที่น่าสนใจของเรื่องราวที่เกิดขึ้นกับนุชนันท์มีสองประเด็นด้วยกัน

หนึ่ง - อำนาจหน้าที่ความรับผิดชอบในการตัดสินใจ ในขอบเขตที่นุชนันท์ได้รับอยู่มีมากน้อยเพียงใด?

เมื่อบวกกับสภาพปกติของธุรกิจน้ำมัน ราคาน้ำมันที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในตลาด ทำให้ผู้บริหารที่เข้ามารับผิดชอบหน้าที่นี้ต้องมีอิสระในการตัดสินใจที่จะทำสิ่งใดลงไปทันที โดยไม่เป็นผลเสียถึงบริษัทอย่างเต็มที่

เพราะฉะนั้น คำอธิบายก็คือ "เป็นไปได้" ที่นุชนันท์อาจกินหัวคิว ได้เปอร์เซ็นต์จากการติดต่อซื้อขายน้ำมันกับบริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่ต่างๆ เพราะเธอเป็นผู้มีอำนาจสิทธิขาดแต่เพียงผู้เดียว ที่จะตัดสินว่าการบินไทยจะซื้อน้ำมันจากใคร?

แต่การที่จะไปชี้ชัดว่าเธอซื้อนำมันราคาแพงนั้นออกจะไม่ถูกต้องสักหน่อย ซึ่งหากจะเปรียบเทียบงานของนุชนันท์ คงไม่ได้แตกต่างจากผู้อำนวยการ หรือผู้บริหารที่ทำหน้าที่รับผิดชอบในสายงานเกี่ยวกับการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ตามธนาคารใหญ่ๆ ต่างๆ เลยแม้สักน้อยนิด

เพราะเรื่องการเปลี่ยนแปลงของราคาน้ำมันก็เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนเหมือนกัน อีกทั้งเมื่อคิดถึงจำนวนที่การบินไทยจะต้องสั่งซื้อ การแข่งขันที่มีอยู่ในตลาดอย่างสูง จึงไม่น่าแปลกใจที่นุชนันท์ต้องตัดสินใจคนเดียว และเดินทางไปที่โน่นที่นี่บ่อยครั้งมากกว่าคนอื่น ซึ่งก็เพื่อหาแหล่งวัตถุดิบที่ดี ที่สุด ราคาถูกที่สุด คุณภาพดีที่สุดให้กับการบินไทย

สอง-ในด้านสายการบังคับบัญชานั้น สำหรับ "ผู้จัดการ" แล้ว ถือได้ว่ามีความสำคัญอย่างมาก ในการอธิบายเรื่องราวที่เกิดขึ้นมากกว่าเรื่องที่นุชนันท์จะซื้อน้ำมันอย่างไร? ซื้อคนเดียวหรือไม่ เบิกค่าเดินทางมากน้อยเท่าไรเสียอีก?

สิ่งที่ต้องเน้นย้ำก็คือ การกระทำของนุชนันท์ในหน้าที่ที่เธอรับผิดชอบอยู่นั้น ได้รับความเห็นชอบจากฝ่ายบริหารตลอดมา

เหนือจากนุชนันท์ขึ้นไปต้องมีกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ รองกรรมการฯ หรือ วี.พี. ผู้ควบคุมดูแลการทำงานของเธออยู่ ระยะเวลาห้าปีที่ผ่านมาที่นุชนันท์อยู่ในตำแหน่งนี้ แสดงให้เห็นว่าเรื่องต่างๆ ที่เธอทำผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการบริหารมาแล้ว เพราะไม่ว่าอย่างไรสัญญาที่นุชนันท์ทำ เท่ากับเป็นสัญญาที่บริษัทการบินไทยทำกับคู่สัญญา

นั่นคือ เท่าที่ผ่านมานุชนันท์ทำถูกต้องแล้ว!!!

แต่คราวนี้ที่ผิดไม่ใช่เพราะเธอทำผิดขั้นตอน ไม่ใช่เพราะเธอทำข้ามหน้าข้ามตาผู้ใหญ่ ไม่ใช่เพราะนุชนันท์ซื้อน้ำมันราคาสูงกว่าที่ควรจะเป็น

เป็นเพียงเพราะการเปลี่ยนผู้บริหารระดับสูงเดิมเป็นชุดใหม่ โดยเฉพาะผู้มีอำนาจสูงสุด สิ่งที่เคยถูกก็เลยกลายเป็นผิด?!?

ข้อกล่าวหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นมากระทบนุชนันท์ ขณะที่เกิดเรื่องนี้ขึ้นนั้น "ผู้จัดการ" ไม่อาจปฏิเสธว่า ในความเป็นจริงแล้วมันเกิดขึ้นได้

เพราะตำแหน่งหน้าที่ความรับผิดชอบของนุชนันท์ ที่ต้องทำการเจรจาต่อรองกับบริษัทน้ำมันต่างๆ ความเคลื่อนไหวและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว บวกกับปริมาณการซื้อขายจำนวนมหาศาล แต่การตกลงต่างๆ ต้องเป็นความลับ เพื่อประโยชน์ของบริษัทการบินไทยเองนั้น ไม่น่าแปลกใจเลยว่านุชนันท์จะถูกมองว่าเธอโกง เธอกิน รับหัวคิว ฯลฯ แต่นั่นก็ควรจะมีการพิสูจน์หาความจริง มิใช่ข้อกล่าวหาที่เลื่อนลอย

ในทางตรงกันข้าม หลักการบริหาร หลักการบริหารองค์กรที่ต้องปฏิบัติไปในทิศทางเดียวกัน ที่จะสร้างความมั่นคงให้ความยุติธรรมเท่าเทียมกันแก่ทุกคนในองค์กร ก็เป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่งเช่นกัน

ความจริงเรื่องของนุชนันท์น่าจะจบลงเพียงการร้องเรียนค่าธรรมเนียมบริการเติมเชื้อเพลิง ถ้าจะมีเรื่องราวกันต่อไปก็น่าจะเป็นเรื่อง "ภายใน" ของการบินไทยเองที่จะจัดการกับพนักงานของตนมากกว่า

เรื่องราวที่เกิดขึ้นตามมาเล่า เราจะอธิบายปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นด้วยเหตุผลใด?

เมื่อมีการผลัดแผ่นดิน เปลี่ยนอำนาจการบริหาร นอกจากจะเปลี่ยนขุนทัพผู้กล้าแกร่ง ยังต้องมีการ "เชือดไก่ให้ลิงดู" อยู่เสมออย่างนั้นหรือ???

บรรดาผู้เสียประโยชน์ หรือผู้ที่ "ปากอยู่ไม่สุข" วิตกว่าแผ่นดินจะไม่วุ่นวาย ถือโอกาสที่ยากจะมีนี้ก่อให้เกิดความปั่นป่วนสับสน เพียงเพราะต้องการเห็นอนาคตของตัวเองรุ่งเรืองเฟื่องฟูกว่าที่เป็นอยู่เท่านั้นหรือ???



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.