ITD ฐานะการเงินแกร่ง หลังศาลรับแผนฟื้นฟู ทุนพลิกบวก 9.6


ผู้จัดการรายวัน(9 เมษายน 2545)



กลับสู่หน้าหลัก

อิตาเลียนไทย ฐานะการเงินแข็งแกร่ง หลังศาลล้มละลายกลางสั่งรับแผน ฟื้นฟู เหตุมีกำไรจากการปรับโครงสร้างหนี้มูลค่าเกือบ 7 พันล้านบาท โดยจะรับรู้ภายในไตรมาส 2 ปีนี้

ขณะที่ภาระหนี้สินลดลงเหลือเพียง 3 พันล้านบาท จากเดิมสูงกว่า 1.3 หมื่นล้านบาท และส่วนของผู้ถือพลิกกลับเป็นบวก 9.6 พันล้านบาท พร้อมตั้งเป้ารุกประมูลโครงการ ในต่างประเทศเพิ่มสัดส่วนถึง 75%

และคาดการณ์กำไรสุทธิปีนี้ 200-300 ล้านบาท จากกรณีที่ศาลล้มละลายกลาง ได้มีคำสั่งเห็นชอบกับแผนฟื้นฟูกิจการ ของบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อป เม้นต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD ที่จัดทำโดยบริษัท ไอทีดี

แพลนเนอร์ จำกัด เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2545 ที่ผ่านมา หลังจากที่ผ่านการพิจารณาจากเจ้าหนี้ด้วยคะแนนเสียง 80.45% หรือคิดเป็นมูลหนี้รวม 15,146 ล้านบาท จากจำนวนหนี้ที่เข้าร่วมประชุมทั้งสิ้น 18,828

ล้านบาท ทั้งนี้ ก่อนที่ศาลจะอนุมัติแผนฟื้นฟูกิจการฉบับดังกล่าว ได้มีเจ้าหนี้ หลายรายยื่นคำร้องคัดค้าน โดยระบุว่า แผนฟื้นฟูกิจการของ ITD ไม่เป็นธรรมกับเจ้าหนี้ทุกกลุ่ม โดยเฉพาะเจ้าหนี้หุ้นกู้

แต่กลับเอื้อประโยชน์ให้แก่เจ้าหนี้ที่เป็นบริษัทในเครือของ ITD เอง แต่หลังจากที่ศาลพิจารณาคำร้องของกลุ่มเจ้าหนี้ แล้วศาลเห็นว่า การดำเนินการขอผู้ทำแผนเป็นไปตาม ขั้นตอนของกฎหมาย

และตามแผนฟื้นฟูเจ้าหนี้จะได้รับการชำระหนี้ครบตามที่ระบุในแผน ดังนั้น จึงมีมติอนุมัติแผนฟื้นฟูกิจการ นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ ได้ทำ การวิเคราะห์ฐานะการดำเนินงานของบริษัท อิตาเลียนไทย

ดีเวล๊อปเม้นต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD ว่า หลังจากศาลอนุมัติแผนฟื้นฟูกิจการ ITD จะทำให้บริษัทมีฐานะการดำเนินงานที่แข็งแกร่งมากขึ้น เพราะบริษัทจะเร่ง ปรับปรุงโครงสร้างหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการ

ซึ่งจะทำให้บริษัทสามารถกลับ เข้ามาดำเนินธุรกิจได้ตามปกติ และเอื้อ ประโยชน์ต่อการเข้าประมูลงานในอนาคต "อิตาเลียนไทยฯ จะเร่งดำเนินการตามขั้นตอนและการดำเนินงานตามแผนฟื้นฟูกิจการทันที

และคาดว่า จะสามารถออกจากแผนฟื้นฟูกิจการได้ภายใน 2 เดือน และคาดว่าจะสามารถออกจากแผนฟื้นฟูกิจการได้ภายใน 6 เดือน" นายเปรมชัย กรรณสูต ประธานกรรมการบริหาร บริษัท อิตาเลียนไทย

ดีเวล๊อปเม้นต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD กล่าวหลังจากศาลล้มละลายกลางเห็นชอบกับแผนฟื้นฟูกิจการ ITD โดยขั้นตอนการดำเนินการตาม แผนฟื้นฟูกิจการนั้น ภายในสัปดาห์นี้ ITD

จะยื่นต่อสำนักงานคณะกรรมการ กำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพื่อขออนุญาตเพิ่มทุนจดทะเบียนจำนวน 173 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 10 บาท เพื่อแบ่งจัดสรรให้กับผู้ถือหุ้นเดิม

และการแปลง หนี้เป็นทุนให้กับกลุ่มเจ้าหนี้ ประกอบกับ การที่ศาลเห็นชอบกับแผนฟื้นฟูกิจการ จะส่งผลให้บริษัทมีความมั่นคงและความสามารถในการประมูลงานทั้งในประเทศและต่างประเทศมากขึ้น

เพราะขณะนี้บริษัทประมูลงานได้หลายโครงการโดยเฉพาะงานที่ต่างประเทศ ซึ่งเจ้าของโครงการกำลังรอคำสั่งจากศาลล้มละลายกลางว่าจะให้บริษัทฟื้นฟูกิจการหรือไม่ หลังจากนี้ก็ดำเนินการได้ทันที

รวมถึงโครงการสุวรรณภูมิด้วย สำหรับแผนการดำเนินงานในปี 2545 นี้ บริษัทคาดว่าจะมีการเซ็นสัญญารับเหมาก่อสร้างรวมทั้งประมาณ 10,000 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการที่ตั้งไว้ประมาณ 7,000 ล้านบาท

ขณะที่โครงการที่มีการเซ็นสัญญาไปแล้วรวมกว่า 54,000 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้บริษัทมีรายได้รวมเข้ามาในปีนี้ไม่ต่ำกว่า 10,000 ล้านบาท และคาดว่าจะมีกำไรสุทธิประมาณ 200-300 ล้านบาท

ส่วนโครงการใหม่ภายในปีนี้ ประกอบด้วยโครงการน้ำเทิน 2 ในประเทศลาว ซึ่งเป็นโครงการที่ร่วมกับพันธมิตรมูลค่าโครงการ 5,000 ล้านบาท โครงการก่อสร้างส่วนต่อเนื่องสนามบินสุวรรณภูมิ

มูลค่าโครงการประมาณ 2 หมื่นล้านบาท ซึ่งกำลังจะเปิดให้มีการประมูล บริษัทคาดว่าจะสามารถประมูลงานได้ในบางส่วน รวมทั้งงานก่อสร้างของภาค ราชการและรัฐวิสาหกิจ เป็นต้น

ขณะนี้เดียวบริษัทได้ปรับแผนการดำเนินงานใหม่ โดยภายใน 2 ปีนี้ ITD มีแผนที่จะขยายงานรับเหมาก่อสร้างในต่างประเทศ ที่ขณะนี้กำลังดำเนิน การอยู่ประมาณ 7-8 ประเทศ เนื่องจากโครงการใหญ่ๆ

ในประเทศเริ่มลดลงตามภาวะเศรษฐกิจ โดยบริษัทคาดว่าจะสามารถเพิ่มสัดส่วนโครงการก่อสร้าง ในต่างประเทศเป็น 75% จากปัจจุบันมีสัดส่วนเพียง 25% ของมูลค่าโครงการทั้งหมด

สำหรับโครงการก่อสร้างในต่างประเทศหลักๆ ได้แก่ โครงการรถไฟฟ้าใต้ดิน ในประเทศไต้หวัน มูลค่าโครงการ 20,000 ล้านบาท ขณะนี้ดำเนินการก่อสร้างไปแล้วประมาณ 30%

โครงการปรับปรุงเหมืองในประเทศอินโดนีเซีย มูลค่าประมาณ 5,000 ล้านบาท อายุโครงการ 8 ปี และคาดว่าจะสามารถประมูลเพิ่มในโครงการต่อเนื่องอีกมูลค่า 15,000 ล้านบาท อายุโครงการ 5

ปีและงานก่อสร้างในประเทศไต้หวันและฟิลิปปินส์ "บริษัทรุกตลาดต่างประเทศมากขึ้น เพราะใน ประเทศไม่มีโครงการใหม่ๆ ออกมา รวมทั้งโครงการ ในต่างประเทศมีอัตรากำไรขั้นต้นมากกว่า คือ

ต่างประเทศมีอัตรากำไรขั้นต้นประมาณ 10-30% ขณะที่ ในประเทศมีอัตรากำไรขั้นต้นเพียง 7-10% เท่านั้น" รวมทั้ง ITD คาดว่ายังมีโอกาสสูงที่จะได้รับงานในโครงการอื่นๆ

ของสนามบินหนองงูเห่าที่จะเปิดประมูลอีกประมาณ 1 แสนล้านบาท เนื่องจากบริษัทมีต้นทุนที่ต่ำ และมีงานในสนามบินหนองงูเห่าอยู่ก่อนหน้านี้แล้ว 3 โครงการ คือ โครงงานถมดิน งานบำบัดน้ำเสีย

และงานตอกเสาเข็มในสนาม บินหนองงูเห่า ซึ่งมีมูลค่ารวม 8,902.4 ล้านบาท ประเด็นสำคัญอีกประการหนึ่ง ที่นักวิเคราะห์ ได้ให้ความสนใจคือ การปรับโครงสร้างหนี้ของ ITD

บริษัทจะมีกำไรจากการปรับโครงสร้างหนี้รวมทั้งสิ้นประมาณ 6,000-7,000 ล้านบาท และทำให้ภาระหนี้สินลดลงจาก 13,295 ล้านบาท ในปี 2544 เหลือเพียง 3,000 ล้านบาท ในปีนี้

ขณะที่ภาระดอกเบี้ยจ่ายจะลดลงจากปีละ 1,225 ล้านบาท เหลือเพียง 160 ล้านบาท ทั้งนี้ผู้บริหารของ ITD เคยให้สัมภาษณ์ว่าบริษัทจะมีกำไรจากการปรับโครงสร้างหนี้ประมาณ 6,000-7,000 ล้านบาท

และคาดว่าจะสามารถบันทึกรับรู้รายได้ดังกล่าวภายในไตรมาส 2 ของปี 2545 นี้ ขณะเดียวกันส่วนของผู้ถือหุ้นจะเพิ่มขึ้นจากเดิมที่ติดลบอยู่ประมาณ 856 ล้านบาท เป็น 9,615 ล้านบาท

จากการบันทึกกำไรจากการปรับโครงสร้างหนี้ 6,000 ล้านบาท และการส่วนเกินมูลค่าหุ้นจากการเพิ่มทุน 1,845 ล้านบาท รวมทั้งหลังจากปรับโครงสร้างหนี้แล้ว ITD ยังมีแผนที่จะนำส่วนล้ำมูลค่าหุ้นที่มีอยู่ 7,405

ล้านบาท มาล้างขาดทุนสะสมที่คาดว่าจะเหลือ 1,659 ล้านบาทให้หมดในปี 2545 ซึ่งจะทำให้สถานะทางการเงินของบริษัทแข็งแกร่งขึ้นอีก โดยในปี 2544 ที่ผ่านมา บริษัทมีผลขาดทุนสุทธิ 2,527.99 ล้านบาท

ขาดทุนสุทธิต่อหุ้น 10.11 บาท เทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนขาดทุนสุทธิ 3,966.78 ล้านบาท และขาดทุนสุทธิต่อหุ้น 15.87 บาท ด้านความเคลื่อนไหวราคาหุ้น ITD หลังจากศาลมีคำสั่งรับแผนฟื้นฟูฯ เมื่อวันที่ 4

เมษายน 2545 ปรากฏว่า ราคาหุ้นได้ปรับตัวลดลง หลังจากที่ได้บวกขึ้นไปตั้งแต่วันก่อน คือปิดการซื้อขายที่ 20.80 บาท ลดลงจากวันก่อน 0.80 บาท และวันต่อมาได้ปรับตัวลงมาปิดที่ 20.50 บาท ลดลงอีก 0.30 บาท

มูลค่าการซื้อขายรวม 74.34 ล้านบาท โดยนักวิเคราะห์ ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า ณ ระดับราคาในปัจจุบัน ยังเป็นราคาที่น่าสนใจลงทุน โดยราคาที่เหมาะสมน่าจะอยู่ที่ระดับประมาณหุ้นละ 24 บาท

ส่วนรายละเอียดของแผนฟื้นฟูกิจการ ITD ที่จัดทำขึ้นโดยไอทีดี แพลนเนอร์ จำกัด และผ่านความเห็นชอบจากเจ้าหนี้นั้น ประกอบด้วยขั้นตอนสำคัญๆ คือ ขั้นตอนแรก

การเพิ่มทุนเพื่อเสนอขายให้กับกลุ่มผู้ถือหุ้นเดิมจำนวนรวม 50 ล้านบาท ในราคาหุ้นละ 10 บาท กำหนดเงื่อนไขว่า "ตระกูลกรรณสูต" จะต้องซื้อหุ้นอย่างต่ำ 20 ล้านหุ้น จะทำ

ให้กลุ่มผู้ถือหุ้นเดิมกลุ่มนี้มีสัดส่วนการถือหุ้นราว 40% ทำให้ ITD ได้รับเงินจากการขายหุ้นอย่างต่ำ 200 ล้านบาท ทั้งนี้บริษัทจะนำเงินจำนวนดังกล่าวไป รวมเงินที่ได้จากการขายสินทรัพย์ที่ไม่ใช่ธุรกิจหลัก

(Non Core) มูลค่า 1,700 ล้านบาท รวมทั้งสิ้น 1,900 ล้านบาท โดยเงินทั้งจำนวน 1,900 ล้านบาท ITD จะนำไปซื้อหนี้ในส่วนลด โดยมีเงื่อนไขเจ้าหนี้จะต้องลดหนี้ให้ไม่ต่ำกว่า 65% ซึ่งจะใช้วิธีการประมูล

คือเจ้าหนี้รายใดเสนอราคาส่วนลดให้สูงที่สุดจะได้รับเงินไปก่อน แต่ทั้งนี้จะต้องไม่น้อยกว่า 65% และจาก การซื้อคืนหนี้ส่วนลดหนี้จำนวน 1,900 ล้านบาท จะทำให้มูลหนี้ลดลงประมาณ 5,000 - 6,000 ล้านบาท

ขั้นตอนที่ 2 การแปลงหนี้เป็นทุน โดยบริษัทได้กำหนดให้มีการแปลงหนี้เป็นทุนรวมทั้งสิ้น 80 ล้านหุ้น ซึ่งเป็นการแปลงหนี้เป็นทุนด้วยความสมัครใจ และจะใช้วิธีการประมูล คือ

เจ้าหนี้รายใดเสนอให้ราคาสูงสุดก็จะได้รับหุ้นไป ส่วนหนี้ที่เหลือมูลค่า 4,000 ล้านบาท จะโอนไปยังบริษัทเฉพาะกิจ (SPV) ที่จัดตั้งขึ้นใหม่ และจะมีการโอนทรัพย์สินที่ไม่ใช่ธุรกิจหลักมูลค่า 4,000 ล้านบาท

เพื่อบริหารทรัพย์สินและหนี้สินส่วนนี้ ด้วยการขายสินทรัพย์เพื่อนำเงินมาชำระหนี้ ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 5 ปี โดยทรัพย์สินที่ไม่ใช่ธุรกิจหลักที่จะโอนให้กับ SPV ส่วนใหญ่จะเป็นเงินลงทุนในบริษัท

ไทยเทเลโฟน แอนด์ คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TT&T และบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือBTSC รวมประมาณ 3,000 ล้านบาท ส่วนที่เหลืออีก 1,000 ล้านบาท

เป็นสินทรัพย์ที่เป็นที่ดิน อาคาร และอื่นๆ ขั้นตอนที่ 3 มูลหนี้ 2,000 ล้านบาท คือ หนี้ที่บริษัทจะต้องทยอยชำระ โดยแบ่งจ่ายภายใน 6 ปี โดยใน 2 ปีแรกไม่ต้องชำระคืนเงินต้น อัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ MLR-3%

และขั้นตอนสุดท้าย หากมีหนี้สินคงเหลือบริษัทจะมีการบังคับให้แปลงหนี้เป็นทุนในจำนวน 43 ล้านหุ้น ด้วยการนำมูลหนี้ที่เหลือมาเฉลี่ยเป็นราคาแปลงสภาพ แต่ทั้งนี้ราคาแปลงสภาพ จะต้องไม่ต่ำกว่า 10 บาท



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.