|

"โตโยต้า" ฟุ้งฮุบตลาดปีไก่2.8แสนคัน
ผู้จัดการรายวัน(18 มกราคม 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
ยักษ์ใหญ่ "โตโยต้า" ประกาศฮุบตลาดรถยนต์ไทย ทั้งเซกเมนต์รถยนต์นั่ง และปิกอัพ กวาดยอดขายปีไก่ไม่ต่ำกว่า 2.8 แสนคัน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 20% ครองส่วนแบ่งตลาด 40% แถมยังพรวดขึ้นแท่นเบอร์หนึ่งตลาดส่งออก สร้างมูลค่ากว่า 1.1 แสนล้านบาท ประกาศชัด ไม่เอากรอบโครงการอีโคคาร์
นายเรียวอิจิ ซาซากิ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด เปิดเผยว่า จากการประเมินแนวโน้มตลาดรถยนต์โดยรวมในปี 2548 โตโยต้าคาดว่าจะมียอดขายทั้งหมดประมาณ 9.6 แสนคัน หรือเทียบกับปีที่แล้ว ซึ่งมียอดขาย 6.26 แสนคัน มีอัตราการเติบโตประมาณ 10% เนื่องจากภาคเศรษฐกิจไทยยังเจริญเติบโตต่อเนื่อง 5.5-5.6% ของจีดีพี (GDP) ตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ประมาณการไว้
"อุตสาหกรรมรถยนต์ของไทยจะเป็นอุตสาหกรรมหลัก ที่มีความสำคัญในการส่งเสริมเศรษฐกิจของประเทศต่อไป โดยตลาดปิกอัพ 1 ตัน ยังคงเป็นตลาดที่มีอัตราการขยายตัวที่สุดในตลาดรถยนต์ของไทยปี 2548 นี้ ประกอบกับการแนะนำรถยนต์รุ่นใหม่สู่ตลาดอีกหลายรุ่น เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า ล้วนทำให้ตลาดรถยนต์ไทยมีอัตราการเติบโตต่อเนื่อง"
ในส่วนความเสียหายจากภัยธรณีพิบัติในพื้นที่ 6 จังหวัดภาคใต้ อาจจะส่งผลกระทบต่อตลาดบ้างแต่ไม่มาก เนื่องจากมาตรการช่วยเหลือเพื่อฟื้นฟูความเสียหายของภาครัฐบาล และเอกชนทำให้สามารถฟื้นตัวได้ในระยะเวลาอันรวดเร็ว ขณะที่ปัจจัยราคาน้ำมัน โดยเฉพาะน้ำมันดีเซลที่คาดว่ารัฐบาลจะปล่อยลอยตัวในปีนี้นั้น เชื่อว่าจะไม่ส่งผลกระทบมากเช่นกัน
นายซาซากิกล่าวว่า ในส่วนของเป้าหมายการผลิตและขายของรถยนต์โตโยต้าปีนี้ ได้ประมาณยอดการผลิตไว้ที่ 4.05 แสนคันต่อปี เพื่อรองรับการทำตลาดภายในประเทศและส่งออก แบ่งเป็นกำลังการผลิตของโรงงานประกอบรถยนต์สำโรง (ปิกอัพ และเอสยูวี) 2.72 แสนคัน และกำลังการผลิตของโรงงานประกอบรถยนต์เกตเวย์ (รถยนต์นั่ง) 1.33 แสนคัน ซึ่งจากจำนวนการผลิตดังกล่าว ทำให้โตโยต้าประเทศไทยมีปริมาณการผลิตมากเป็นอันดับ 3 รองจากญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกาเท่านั้น ขณะที่ยอดขายรถยนต์ภายในประเทศของโตโยต้า ตั้งเป้าหมายไว้ที่ 2.8 แสนคัน มีอัตราการเติบโต 20% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา มีส่วนแบ่งทางการตลาด 40% เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วที่มีส่วนแบ่ง 39% โดยยอดขายแบ่งเป็นรถยนต์นั่ง 1.07 แสนคัน เติบโต 3.4% รถเพื่อการพาณิชย์ (รวมปิกอัพ 1 ตัน) 1.73 แสนคัน เติบโต 32% รถปิกอัพขนาด 1 ตัน 1.65 แสนคัน เติบโต 34% และรถยนต์เล็กซัส 1,000 คัน เติบโต 86%
"สาเหตุที่ทำให้โตโยต้ามั่นใจว่า จะสามารถทำยอดขายมากเป็นเท่าตัวของอัตราการเติบโตของตลาดรถยนต์ไทยโดยรวม ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเพียง 10% เนื่องจากในปีนี้โตโยต้ามีความพร้อมทั้งในเรื่องของเครือข่ายการจำหน่าย การสร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้า และรถยนต์ที่เปิดตัวทำตลาดไป โดยเฉพาะรถยนต์ในโครงการ IMV ไม่ว่าจะเป็นปิกอัพไฮลักซ์ วีโก้ และรถอเนกประสงค์เอสยูวี ฟอร์จูนเนอร์" นายซาซากิกล่าวและว่า
ทั้งนี้โตโยต้ามีความมั่นใจกับรถปิกอัพและเอสยูวี ภายใต้โครงการ IMV มาก ดังจะเห็นได้จากปิกอัพไฮลักซ์ วีโก้ ภายหลังจากเปิดตัวเมื่อต้นกันยายนปีที่ผ่านมา ปิกอัพโตโยต้าก็สามารถเอาชนะคู่แข่งมาได้ตลอดทุกเดือน และเชื่อมั่นในปี 2548 นี้ โตโยต้าจะยังคงรักษาความสำเร็จนี้ได้อย่างต่อเนื่อง โดยตั้งเป้ายอดขายไว้ที่ 1.65 แสนคัน (อีซูซุแชม์ปิกอัพปีที่แล้ว มียอดขายประมาณ 1.4 แสน คัน) เช่นเดียวกับเอสยูวีฟอร์จูนเนอร์ แม้จะยังไม่เปิดตัวเป็นทางการ แต่ขณะนี้มียอดจองแล้วมากกว่า 6,000 คัน ดังนั้นรถยนต์ทั้งสองรุ่นนี้จะเป็นสินค้าหลักผลักดันให้โตโยต้าบรรลุเป้าหมายที่วางไว้
ส่วนเป้าหมายการส่งออกของโตโยต้า ตั้งเป้าปีนี้ไว้ที่ประมาณ 1.5 แสนคัน (รถยนต์นั่ง 5 หมื่นคัน และปิกอัพเอสยูวีฟอร์จูนเนอร์ 1 แสนคัน) เติบโตจากปีที่แล้ว 285% มีส่วนแบ่งการตลาด 30% เป็นอันดับหนึ่งของผู้ส่งออกรถยนต์ของประเทศ โดยปีนี้เป็นปีแรกที่ส่งออกรถยนต์ และชิ้นส่วนโครงการ IMV รวมทั้งรถยนต์นั่ง พร้อมด้วยชิ้นส่วนอะไหล่อีก 17,000 คอนเทนเนอร์ คิดเป็นมูลค่าการส่งออกทั้งสิ้น 1.1 แสนล้านบาท
นายซาซากิยังกล่าวถึงโครงการสนับสนุนรถยนต์ขนาดเล็ก หรือ The Best Little Cars ซึ่งรู้จักกันดีในชื่อ "อีโคคาร์" จากการผลักดันของสถาบันยานยนต์ และกระทรวงอุตสาหกรรมว่า เห็นด้วยในหลักการของรัฐบาลที่จะสนับสนุนให้ไทย เป็นฐานการผลิตรถยนต์ประหยัดพลังงานและไร้มลพิษ ทั้งเพื่อทำตลาดในประเทศและส่งออก
"แต่โตโยต้าไม่เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่ง ที่จะมีการกำหนดกรอบสเปกของอีโคคาร์ โดยเฉพาะเรื่องของมิติตัวถัง อย่างกำหนดความกว้าง 1.6 เมตร หรือ ยาว 3.6 เมตร เพราะจะไม่เป็นผลดีต่ออุตสาหกรรม ยานยนต์ไทยในอนาคต และไม่สนับสนุนให้เกิดนวัตกรรมยานยนต์ใหม่ๆ ควรจะปล่อยให้มีการพัฒนาแข่งขันกันอย่างเสรี และตรงกับความต้องการของลูกค้าอย่างแท้จริง ไม่ใช่นำเรื่องภาษีมาเป็นตัวส่งเสริมทำให้เกิดตลาดรถประเภทนี้ขึ้นมา ซึ่งจะขายได้เฉพาะตลาดในประเทศเท่านั้น แต่กลับไม่มีประโยชน์ใดๆ ต่อการส่งออก เนื่องจากรถประเภทนี้จะไม่ได้การตอบรับจากต่างประเทศ"
สำหรับโตโยต้ามองว่า หากจะสนับสนุนรถยนต์ตามหลักการดังกล่าวแล้ว ควรจะเป็นรถที่มีศักยภาพที่ทำตลาดได้ทั้งในและต่างประเทศ ในส่วนของโตโยต้าเห็นว่ารถยนต์นั่งรุ่นวีออสมีศักยภาพอยู่แล้ว ซึ่งหากได้รับการสนับสนุนก็จะทำให้มีศักยภาพมากขึ้น หรือหากอนาคตผู้บริโภคต้องการรถที่มีขนาดเล็กกว่า โตโยต้าก็พร้อมจะผลิตรถยนต์ประเภทนี้ออกมาสนองตอบความต้องการของลูกค้าทันที แต่โตโยต้ายืนยันว่าขอสนับสนุนรถยนต์ที่เกิดจากความต้องการของตลาดอย่างแท้จริง ไม่ใช่เกิดจากการผลักดันโดยอาศัยภาษีมาทำให้เกิดปริมาณขึ้นมาเท่านั้น
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|