|
RKผงาดโฮลดิ้งคัมพานีเต็มตัวลุยลงทุนในบริษัทที่หนุนธุรกิจ
ผู้จัดการรายวัน(17 มกราคม 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
RK ผงาดเป็นโฮลดิ้ง คัมพานีเต็มพิกัด พร้อมเดินหน้าเข้าไปลงทุนในบริษัททำธุรกิจที่ต่อเนื่องด้านมีเดียหากพันธมิตรเปิดทาง หวังบริษัทร่วมทำเงินเข้าสู่ตัวแม่ตามรอยบริษัทโฮลดิ้งทั้งหลาย และหนุนในการทำธุรกิจ เผยระดมทุนผ่านวอร์แรนต์ เป็นการเตรียมความพร้อมเพื่อเข้าจดทะเบียนใน SET
นายไพศาล ศรีจรัสจรรยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อาร์ เค มีเดีย โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) (RK) เปิดเผยว่า หลังจากที่บริษัทได้ตัดสินใจเข้าไปลงทุนในบริษัท จีจี นิวส์ เนทเวิร์ค จำกัด โดยถือหุ้นจำนวน 10% ของทุนจดทะเบียนใหม่นั้น
เพราะเป็นเป้าหมายอย่างหนึ่งในการบริหารของบริษัท ที่ต้องการให้มีบริษัทย่อยมากขึ้น เพื่อยกระดับให้เป็นบริษัทโฮลดิ้ง คัมพานีเต็มตัว ที่จะรับรู้รายได้จากบริษัทย่อย จากเดิมที่บริษัทมีบริษัทในเครือ 3 แห่งคือ บริษัท ไอ ที เวิลด์ มีเดีย จำกัด บริษัท เน็ทเวิร์ค จำกัด บริษัท อาร์แอนด์ที จำกัด และ บริษัท อาร์ เค มีเดีย จำกัด
โดยปีนี้จะมีเพิ่มอีกเป็น บริษัท จีจี นิวส์ เนทเวิร์ค จำกัด ซึ่งเป็นผู้นำสื่อวิทยุในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ผ่านเครือข่าย จีจี นิวส์ และคลื่น Business Radio และบริษัท นาริ อินโฟร์ จำกัด ที่ขณะนี้อยู่ในระหว่างการเจรจากัน แต่ยังไม่ได้สรุปในรายละเอียด ซึ่งคงต้องใช้เวลาระยะหนึ่ง และคงเป็นไปแบบค่อยเป็นค่อยไป ไม่หวือหวาเหมือนบริษัทอื่น
เป้าหมายอย่างหนึ่งในปี 48 คือ RK ต้องการที่จะผลิตรายการรูปแบบของข่าวเศรษฐกิจหรือบิสซิเนส แชนแนล เป็นรายการทีวีผ่านดาวเทียม ซึ่งจะมีรายได้ทั้งจากสมาชิกและยอดขายโฆษณา ซึ่งกลยุทธ์ RKในปี 48 มองว่าแนวทางการตลาดจะเป็นในรูปแบบการขายโฆษณาแบบเป็นกลุ่ม คือ จะมีทั้งวิทยุ ทีวี นิตยสาร ซึ่งสามารถรองรับธุรกิจ ทั้งหมดที่มีของบริษัทได้ดีขึ้นด้วย
นายไพศาลกล่าวว่า การลงทุนของบริษัท จะไม่ใช้การรุกตลาดเพียงลำพัง แต่ต้องการมีพันธมิตรเพื่อทำธุรกิจ โดยเน้นผู้ประกอบการอยู่ในสายธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจของ RK เพราะการเข้าไปลงทุนกับผู้ที่ดำเนินการอยู่แล้ว นอกจากให้ผลตอบแทนรวดเร็วแล้ว ยังลดความเสี่ยงด้วย โดยเงินที่จะใช้ในการลงทุนนั้น ส่วนหนึ่งบริษัทได้มาจากการระดมผ่านการออกใบสำคัญแสดงสิทธิ (วอร์แรนต์) 1 ชุด เพื่อเสนอขายให้กับผู้ถือหุ้นเดิม อัตราส่วน 4 หุ้นเดิมต่อ 1 หน่วยวอร์แรนต์ เมื่อปลายปี 47 ที่ผ่านมา
เมื่อแปลงสภาพวอร์แรนต์แล้ว ทำให้บริษัทได้เงินประมาณ 25 ล้านบาท เป็นการหาเงินทุน เพื่อใช้ในการลงทุนแบบเฉพาะหน้าที่บริษัทได้ขอไว้กับผู้ถือหุ้นแล้วตั้งแต่ปลายปี 47 และในอนาคตหากต้องการเงินทุนอีก ก็มีหลายวิธีที่บริษัทจะนำมาใช้เพื่อระดมทุนและคงจะเป็นลักษณะแบบเดียวกันกับการออกวอร์แรนต์ กล่าวคือจะต้องเป็นการขออนุมัติจากที่ประชุมคณะกรรมการและผู้ถือหุ้นไว้ล่วงหน้าก่อน เพื่อสะดวกต่อการจัดหาเงินทุน กล่าวคือ เมื่อต้องการเงินลงทุนที่มากกว่าเงินทุนหมุนเวียน บริษัทก็จะมีเงินมาทันใช้ในการดำเนินงานดังกล่าวได้ในทันที และการลงทุนต้องเป็นแบบช้าๆ แต่มั่นคง
"การออกวอร์แรนต์ ถือเป็นการเพิ่มทุนทางอ้อมและเพื่อเตรียมความพร้อมอย่างหนึ่งในการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ซึ่งจะต้องทำแบบค่อยเป็นค่อยไป เหมือนกับการเข้าไปลงทุนในบริษัทอื่นๆ ที่เป็นธุรกิจเกี่ยวเนื่องกันในการดำเนินธุรกิจ เพื่อเอื้อประโยชน์ในการทำธุรกิจ และต้องการสร้างรายได้เข้ามาสู่บริษัทให้หลายทางมากขึ้น เพื่อลดความเสี่ยงในการดำเนินงาน ทำให้บริษัทมีฐานการเงินมั่นคงด้วย" นายไพศาลกล่าว
ทั้งนี้ RK ได้ออกวอร์แรนต์ เพื่อที่จะซื้อหุ้นสามัญของบริษัทจำนวน 25,000,000 หน่วย เริ่มทำการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ MAI ได้ ตั้งแต่วันที่ 29 มิถุนายน 47 เป็นต้น มา ซึ่งในขณะนั้นได้ สร้างความฮือฮาให้กับตลาด MAI พอสมควร แต่การขายวอร์แรนต์ของ RK ก็ไม่ได้เป็นไปตามเป้าหมาย เพราะวอร์แรนต์ขายไม่หมด คือ เหลือวอร์แรนต์ 1 หน่วย ซึ่งบอร์ดบริษัทได้มีมติอนุมัติจัดสรรให้กับนายเกรียงศักดิ์ รุ่งธนเกียรติ ซึ่งเป็นกรรมการของบริษัท
ทั้งนี้ RK ได้ประกาศจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลให้กับผู้ถือหุ้นเมื่อปลายปี 47 ซึ่งจ่ายเมื่อ วันที่ 4 พฤศจิกายน 47 โดยจ่าย ให้กับผู้ถือหุ้นอัตราหุ้นละ 15 สตางค์ สำหรับผลประกอบการงวด 6 เดือน สิ้นสุดเดือนมิถุนายน 47
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|