แบงก์กสิกรไทยปรับสายงานรายย่อยตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อเอสเอ็มอีเพิ่ม15%


ผู้จัดการรายวัน(14 มกราคม 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

แบงก์กสิกรไทย ปรับสายงานธุรกิจรายย่อย ดึงลูกค้าเป็นศูนย์กลาง สร้างผลิตภัณฑ์และบริการ ใช้สาขาและพนักงานเป็นช่องทางขาย หวังจูงใจลูกค้าใช้ผลิตภัณฑ์ต่อรายเพิ่มขึ้นมากกว่า 2 ผลิตภัณฑ์ เพิ่มรายได้ค่าธรรมเนียมกว่า 28% พร้อมเปิดเผยแผนธุรกิจรายย่อยใน ปี 2548 เน้นสินเชื่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ตั้งเป้าโต 15% และสินเชื่อที่อยู่อาศัยเติบโต 19% ขณะที่ผลกระทบจากคลื่นยักษ์สึนามิ ไม่เกิน 720 ล้านบาท และเตรียมวงเงิน 3 พันล้าน ปล่อยสินเชื่อใหม่ในอัตราดอกเบี้ยผ่อนปรนให้ผู้ประสบภัย

วานนี้ (13 ม.ค.) ธนาคารกสิกรไทย แถลงข่าวการปรับโครงสร้างสายงานรายย่อยและแผนธุรกิจในปี 2548 นำโดยนายเดวิด เฮ็นเดร็ก รองกรรมการผู้จัดการ นายธงชัย เจริญสิทธิ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ และนายกฤษฎา ล่ำซำ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ

นายกฤษฎา กล่าวว่า ในปีนี้ ธนาคารมีนโยบายหลักที่จะยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลาง (Customer centric) โดยจะเน้นสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้า ซึ่งธนาคารได้มีการจัดแบ่งกลุ่มลูกค้าให้ชัดเจนเป็น sub-segment

เพื่อจัดชุดผลิตภัณฑ์และนำเสนอสินค้าและบริการตอบสนองลูกค้าตามระดับความสัมพันธ์ (product package & relationship pricing) และธนาคารจะชูภาพลักษณ์ "สะดวกทุกที่ ดีทุกบริการ" เป็นสำคัญ เพื่อเพิ่มระดับความพอใจของลูกค้า โดยตั้งเป้าวัดระดับความพอใจที่มากกว่า 80%

ขณะเดียวกัน ธนาคารจะเน้นนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมกับลูกค้า เพื่อให้สัดส่วนการใช้ผลิตภัณฑ์ของธนาคารเพิ่มขึ้นมากกว่า 2 ผลิตภัณฑ์ต่อคน

ปัจจุบันลูกค้าของธนาคารได้ใช้ผลิตภัณฑ์ของธนาคารเฉลี่ย 2 ผลิตภัณฑ์ต่อคน โดยแบ่งเป็นกลุ่มลูกค้าระดับสูง (Platinum customer) มีการใช้บริการของธนาคารเฉลี่ย 6 รายการต่อราย กลุ่มลูกค้าผู้ประกอบการ (B&P) ประมาณ 4 รายการต่อคน กลุ่มลูกค้ารายได้ปานกลาง(Middle Income) ใช้บริการเฉลี่ย 3 รายการต่อคน ซึ่งธนาคารตั้งเป้าหมายที่จะเพิ่มสัดส่วนดังกล่าวในปีนี้ รวมทั้งเตรียมจัดหาผลิตภัณฑ์ที่ตรงกลุ่มเป็นชุดตามระดับความสัมพันธ์ ซึ่งจะใช้สายงานด้านปฏิบัติการและงานสนับสนุน ที่นายธงชัยรับผิดชอบอยู่เป็นช่องทางการขาย

นายธงชัย กล่าวว่า ธนาคารตั้งเป้าการขยายสินเชื่อของ Retail Banking เพิ่มขึ้นประมาณ 17% จากปัจจุบันที่มีสินเชื่ออยู่ที่ประมาณ 270,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นเป้าหมายที่สอดคล้องกับการขยายตัวตามภาวะเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มชะลอตัวลง และการชะลอตัวของการเติบโตของสินเชื่อผู้บริโภค

ส่วนสินเชื่อคงค้างในปีนี้คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 325,000 ล้านบาท ส่วนยอดเงินฝากในปีนี้เพิ่มขึ้นเป็น 628,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นการเพิ่ม 4.2% จากปีที่ผ่านมาเงินฝากอยู่ที่ 603,000 ล้านบาท

จากการจัดกลุ่มธุรกิจรายย่อย และเน้นลูกค้าเป็นศูนย์กลาง ทำให้ธนาคารมั่นใจว่ารายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยในปีนี้ประมาณ 7,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 28% เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาประมาณ 1,000 ล้านบาท

ธนาคารจะเน้นสินเชื่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอส เอ็มอี) โดยตั้งเป้าขยายสินเชื่อไว้ที่ประมาณ 15% เพิ่มขึ้นจากปัจจุบันที่มีสินเชื่ออยู่ประมาณ 210,000 ล้านบาท แบ่งเป็นสินเชื่อใหม่ประมาณ 80,000 ล้านบาท โดยเน้นไปที่อุตสาหกรรมที่มีศักยภาพในตลาด เช่น อุตสาหกรรมด้านการเกษตร อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน อุตสาหกรรมโรงแรม และธุรกิจให้บริการต่างๆ และจะจัดสัมมนาให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเพื่อเพิ่มขีดความสามารถและศักยภาพของผู้ประกอบการ ซึ่งเป็นการสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้าและเพิ่มโอกาสทางธุรกิจ

สำหรับสินเชื่อที่อยู่อาศัยปัจจุบันของธนาคารอยู่ที่ประมาณ 52,300 ล้านบาท และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นในปี 2548 อีก 18.5 % หรือคิดเป็น 62,000 ล้านบาท แบ่งเป็นสินเชื่อใหม่ 21,040 ล้านบาท เนื่องจาก ในปีที่ผ่านมาตลาดได้ตอบสนองความต้องการไปมากแล้ว ทั้งที่อยู่อาศัยและรถยนต์ ประกอบกับในปีหน้าอัตราดอกเบี้ยจะปรับตัวขึ้น เป็นตัวแปรที่จะทำให้ปริมาณสินเชื่อ ลดลง

สำหรับบัตรเครดิตในปี 2548 จะเพิ่มจำนวนบัตรประมาณ 7 % เป็น 835,000 บัตร และขยายสินเชื่อเติบโตประมาณ 24 % จากเดิมอยู่ที่ 11,000 ล้านบาท

ส่วนผลกระทบที่เกิดจากเหตุการณ์มหันตภัยคลื่นยักษ์สึนามิ นายธงชัย กล่าวว่า จากการสำรวจพบว่า ลูกค้าของธนาคารทั้งรายใหญ่ รายกลาง รายย่อย ลูกค้าในพื้นที่ประสบภัยที่อยู่ระหว่างการปรับโครงสร้างหนี้มีวงเงินรวมทั้งสิ้น 4,670 ล้านบาท แต่จากการสำรวจกลุ่มที่ได้รับผลกระทบโดยตรงมีวงเงินประมาณ 2,243 ล้านบาท ซึ่งหากธนาคารไม่มีมาตรการแก้ไขใดๆ จะทำให้มีโอกาสที่จะเป็นหนี้เสีย

อย่างไรก็ตาม ธนาคารได้เตรียมมาตรการที่จะช่วยเหลือไว้หลายมาตรการ เช่น การเตรียมวงเงินเพื่อปล่อยสินเชื่อใหม่ในอัตราดอกเบี้ยผ่อนปรนประมาณ 3,000 ล้านบาท การลดอัตราดอกเบี้ยให้กับลูกค้าเก่าของธนาคารลงร้อยละ 3 การยืดเวลาการชำระหนี้ออกไปอีก 7 ปี และหากรายใดไม่เพียงพอก็สามารถที่จะขยายได้อีก 3 ปี

นายธงชัย คาดว่า หากจะเกิดความเสียหายจากผลกระทบคลื่นยักษ์ ธนาคารคาดว่าไม่น่าจะเกิน 720 ล้านบาท ส่วนผลกระทบต่อลูกค้าราย อื่นๆ ที่ไม่ได้รับผลกระทบโดยตรง แต่อาจได้รับผลกระทบจากการท่องเที่ยวอาจซบเซาลงนั้น

"ผมเชื่อว่าหากทุกฝ่ายสามารถฟื้นฟูทุกอย่างขึ้นมาได้ภายในเวลา 1 ปี การท่องเที่ยวในพื้นที่ดังกล่าวจะไม่มีผลกระทบมาก และทุกฝ่ายต้อง ช่วยกันประชาสัมพันธ์ตามข้อเท็จจริง ว่าแหล่งท่องเที่ยวโดยส่วนใหญ่ยังมีความสมบูรณ์ และเท่าที่เห็นตอนนี้ นักท่องเที่ยวยังคงมีการเข้าพักในโรงแรมที่ไม่ได้รับผลกระทบถึง 80-90%"


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.