ชัย โสภณพนิช ยืนยัน "ฟูรูกาวาฯไทย จะเป็นฐานผลิตท่อทองแดงแทนญี่ปุ่น"


นิตยสารผู้จัดการ( มกราคม 2540)



กลับสู่หน้าหลัก

กลางเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา หลายๆ คนที่ติดตามความเคลื่อนไหวของภาวะตลาดหุ้นไทยมาอย่างต่อเนื่อง คงอดแปลกใจไม่ได้ที่จู่ๆ บริษัทชื่อไม่คุ้นหูว่า บริษัท ฟูรูกาวาเม็ททัล (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) ประกาศขายหุ้นเพิ่มทุน 14.5 ล้านหุ้น ในราคาหุ้นละ 45 บาท หรือระดมทุนทั้งสิ้น 652 ล้านบาท

ฟังชื่อก็พอเดาได้ว่าเป็นบริษัทร่วมทุนกับชาวญี่ปุ่น แต่ข้อมูลของบริษัทก็ไม่คุ้นเคยนัก เพราะเป็นบริษัทผลิตท่อทองแดง ซึ่งใช้เป็นส่วนประกอบในการผลิตเครื่องปรับอากาศและตู้เย็น ซึ่งในตลาดหลักทรัพย์ฯ ยังไม่มีบริษัทใดประกอบธุรกิจนี้เลย ขนาดบริษัทก็ไม่ใหญ่โต มีทุนจดทะเบียน 480 ล้านบาท แต่ทำไมถึงได้กล้าระดมทุนท่ามกลางภาวะตลาดหุ้นที่ฟุบๆ ฟื้นๆ เช่นนี้

ชัย โสภณพนิช ประธานกรรมการฟูรูกาวาฯ ให้คำตอบอย่างตรงไปตรงมาว่า "ผู้ถือหุ้นญี่ปุ่นเขาต้องการขยายโรงงานจึงจะเพิ่มทุนเพื่อเอาเงินไปใช้ แต่ผู้ถือหุ้นฝ่ายไทยไม่มีเงินแล้วเพราะต้องใช้เงินถึง 650 ล้านบาท เลยคิดว่าควรจะนำบริษัทเข้าจดทะเบียนตลาดหลักทรัพย์ฯ และระดมทุนจากประชาชนทั่วไปดีกว่า"

นอกจากนี้ ชัยมองว่าการขายหุ้นในช่วงภาวะตลาดฯ ดีหรือซบเซาก็ไม่แตกต่างกันเท่าไร "ถ้าภาวะดีเราอาจจะขายหุ้นได้เพิ่มอีกสัก 5 บาท เป็นหุ้นละ 50 บาทซึ่งจะได้เงินเพิ่มอีก 72 ล้านบาทหรือ 11% ซึ่งมันก็ไม่มากมายอะไร แต่การขายหุ้นช่วงนี้ แม้ได้เงินน้อยกว่าแต่นักลงทุนที่เข้ามาซื้อหุ้น ก็ต้องเป็นคนที่เข้าใจถึงการลงทุนอย่างดี และคงจะเป็นนักลงทุนระยะยาวซึ่งจะเป็นประโยชน์กับบริษัท"

ยิ่งกว่านั้น โครงสร้างทางการเงินของฟูรูกาวาฯ ก็ไม่เอื้อให้บริษัทกู้ยืมเงินได้มากนัก เพราะมีอัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้นสูงถึง 3.89 เท่าและ 2.81 เท่า เมื่อสิ้นปี 2537 และ 2538 ตามลำดับ

ว่าไปแล้วการเข้าเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นแผนงานที่ผู้ถือหุ้นเดิมเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2538 มาแล้ว โดยมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างผู้ถือหุ้นจากการที่มีผู้ถือหุ้นใหญ่เป็นบริษัทตัมพะ 51% และบริษัทฟูรูกาวาฯ ญี่ปุ่น 49% มาเป็นการยกเลิกบริษัทตัมพะไปในปลายปี 2538 โดยเปลี่ยนมาเป็นผู้ถือหุ้นรายบุคคลและบริษัทอื่นแทน ซึ่งได้แก่นักธุรกิจไทย 3 ตระกูลหลักๆ คือ สีสหะปัญญา อัษฎาธรและโสภณพนิช หรือผู้ถือหุ้นเดิมของบริษัทตัมพะนั่นเอง

ชัยให้เหตุผลที่ยุบเลิกบริษัทตัมพะซึ่งเป็น HOLDING COMPANY ว่า "เดิมเราเป็นบริษัทจำกัด การที่ฝ่ายไทยถือหุ้นร่วมกันในนามบริษัท ก็เพื่อคุมเสียงข้างมากในการเจรจาต่อรองกับฝ่ายญี่ปุ่นได้ง่าย แต่ถ้าเป็นบริษัทมหาชนแล้ว ก็มีผู้ถือหุ้นรายย่อยมาถือหุ้นด้วยประมาณ 30% ทั้งฝ่ายญี่ปุ่นและไทย ก็ไม่มีใครคุมเสียงข้างมากได้เด็ดขาด เราก็ไม่จำเป็นต้องถือหุ้นในนามบริษัทอีกต่อไป"

อย่างไรก็ดี แม้ผู้ถือหุ้นเดิมจะลดสัดส่วนการถือหุ้นลงไปหลังจากการเพิ่มหุ้นในครั้งนี้ แต่การบริหารก็ยังเป็นเช่นเดิม นั่นคือทีมบริหารงานเป็นคนไทยและญี่ปุ่นอย่างละครึ่ง โดยมีโทมิโอะ มินามิ กุมบังเหียนในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ

นอกจากนี้แล้ว ทิศทางการขยายตัวของฟูรูกาวาฯ ไทยก็ยังไม่เปลี่ยนแปลง นั่นคือมุ่งเน้นการเป็นฐานการผลิตท่อทองแดงในเอเชียให้กับฟูรูกาวาฯ ญี่ปุ่นซึ่งเป็นผู้ผลิตท่อทองแดงอันดับที่ 4 ในจำนวน 5 รายของประเทศญี่ปุ่น

ทั้งนี้เพราะฟูรูกาวาฯ ญี่ปุ่นไม่มีแผนขยายกำลังการผลิตอีกแล้ว ดังนั้นฟูรูกาวาฯ ไทยจึงต้องมีการขยายกำลังการผลิตในอนาคตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งนอกจากทำตามแผนงานแล้วก็ยังเป็นไปเพื่อลดต้นทุนการผลิต จากการมีกำลังการผลิตที่ก่อให้เกิดการประหยัดต่อขนาด (ECONOMY OF SCALE) ซึ่งอยู่ที่ระดับ 15,000-25,000 ตันต่อปี

หลังจากขยายกำลังการผลิตครั้งนี้ จาก 10,560 ตันต่อปีไปเป็น 18,000 ตันต่อปี ซึ่งจะเริ่มดำเนินการได้ในปี 2540 แล้วฟูรูกาวาฯ ไทยจะขยายกำลังการผลิตอีก 2 ครั้ง นั่นคือในปี 2543 และ 2546

กำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้นจะรองรับแผนขยายตลาด ซึ่งมี 3 ขั้นตอนด้วยกัน ในขั้นแรกคือการเป็นผู้นำในตลาดประเทศไทยซึ่งทำสำเร็จแล้ว ปัจจุบันครองส่วนแบ่งตลาดท่อทองแดงในประเทศเป็นอันดับหนึ่งในสัดส่วน 43% ขณะที่คู่แข่งในประเทศมีเพียงรายเดียวคือบริษัทบางกอกโลหะอุตสาหการ มีส่วนแบ่งตลาด 25% ที่เหลือเป็นสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ

ขั้นที่สอง คือส่งไปขายต่างประเทศ ขณะนี้ก็มีอยู่ในช่วงดำเนินงาน โดยมีการส่งท่อทองแดงไปขายที่ประเทศมาเลเซียประมาณ 10-15% ของมูลค่าขาย หลังขยายกำลังการผลิตปี 2540 ก็จะทำให้บริษัทสามารถส่งออกไปขายได้เพิ่มเป็น 25-30%

ส่วนขั้นสุดท้ายก็คือจะส่งกลับไปขายที่ประเทศญี่ปุ่น ขั้นนี้จะทำได้หลังจากที่มีการเพิ่มกำลังการผลิตในครั้งต่อไป

แม้มีการขยายตลาดดังว่า แต่ชัยกล่าวว่าไม่ได้หวังจะเป็นผู้นำตลาดท่อทองแดงในเอเชียแต่อย่างใด เพราะคู่แข่งรายใหญ่จากญี่ปุ่นอีก 4 ราย ซึ่งกระจายการลงทุนอยู่ในมาเลเซีย ก็ยังไม่มีความเคลื่อนไหวด้านการเพิ่มกำลังการผลิต และขยายตลาดมากพอที่จะประเมินสถานการณ์ได้

กระนั้น เรื่องการแข่งขันก็ไม่ใช่ปัญหา เพราะตลาดมีการขยายตัวไม่ต่ำกว่าปีละ 30% ฟูรูกาวาฯ ไทย มียอดขายที่เพิ่มขึ้นมาโดยตลอดใน 3 ปีที่ผ่านมา ยอดขายโตเฉลี่ยปีละ 67% หรือเพิ่มขึ้น 3 เท่าตัว จาก 544 ล้านบาท ในปี 2536 มาเป็น 1,510 ล้านบาทในปี 2538 ส่วนกำไรสุทธิเพิ่มจาก 12 ล้านบาทในปี 2536 มาเป็น 132 ล้านบาทในปี 2538 หรือเพิ่มขึ้นกว่า 10 เท่าตัว

ปี 2539 คาดว่ายอดขายจะโต 13% และกำไรสุทธิโตขึ้น 66% นั่นคือมียอดขาย 1,714 ล้านบาท และกำไร 219 ล้านบาท ซึ่งคงทำได้ตามประมาณการ เพราะครึ่งปีแรกของปี 2539 ทำยอดขายไปแล้ว 876 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 152 ล้านบาท

ส่วนปัญหาเรื่องวัตถุดิบซึ่งมีราคาผันผวนนั้น ชัยยืนยันว่าสามารถผลักภาระไปให้ลูกค้าได้ นั่นย่อมทำให้บริษัทยังรักษาระดับอัตรากำไรเบื้องต้นไว้ได้ โดยที่ผ่านมาอัตรากำไรเบื้องต้นก็มีแนวโน้มสูงขึ้น โดยปี 2536 ทำได้ 21.73% ปี 2537 ทำได้ 17.84% ปี 2538 ทำได้ 21.66% และคาดว่าปี 2539 จะทำได้ถึง 26.21%

ยิ่งกว่านั้น ปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบก็ไม่ใช่สิ่งที่ชัยกังวล เพราะทำสัญญาซื้อวัตถุดิบกับบริษัท ITOCHU CORPORATION ซึ่งจะมีวัตถุดิบป้อนให้ 9,600 ตันต่อปี แต่ในอนาคต เมื่อเพิ่มกำลังการผลิตมากขึ้น เขากล่าวว่าฟูรูกาวาฯ ก็จะเริ่มซื้อวัตถุดิบเองบ้างแล้ว และซื้อจากรายอื่นๆ เพิ่มเติมได้ ซึ่งเป็นการกระจายความเสี่ยงไปด้วย

ว่าไปแล้วปัญหาที่ชัยจะกังวลบ้าง ก็มีเพียงการย้ายฐานการผลิตตู้เย็นและเครื่องปรับอากาศจากประเทศไทยไปยังประเทศอื่น เพราะนั่นจะทำให้ลูกค้ากว่าครึ่งของบริษัทหายไปทีเดียว แต่เขามองทางหนีทีไล่ไว้ว่าหากเป็นเช่นนั้นคงต้องเน้นการส่งออกมากขึ้น

"เราคงไม่มีปัญหาเรื่องการแข่งขัน เพราะเมื่อเราขยายกำลังการผลิตครั้งต่อไป เราก็จะเป็นโรงงานที่ใหญ่อันดับสองของโลก ฉะนั้นต้นทุนเราจะต่ำ"

อย่างไรก็ดี จากการที่ฟูรูกาวาฯ ไทยพึ่งพิงทั้งในด้านตลาดและความช่วยเหลือทางเทคโนโลยีจากญี่ปุ่น ทำให้ความเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทญี่ปุ่นมีความสำคัญต่ออนาคตของบริษัทเป็นอย่างมาก โอกาสที่ผู้ถือหุ้นจะถอนตัวจากบริษัทฟูรูกาวาฯ ไทยย่อมเป็นความเสี่ยงที่ผู้ถือหุ้นอื่นต้องแบกรับ

เรื่องนี้ชัยตอบแบบอย่างแบ่งรับแบ่งสู้ว่า "ในปัจจุบันเขายังสนับสนุนเราอยู่ และเขาก็ยืนยันว่าจะไม่ไปลงทุนที่ประเทศอื่น แต่ต่อไปอีก 3-4 ปีข้างหน้าเราก็ไม่รู้ว่าตลาดจะเป็นอย่างไร แต่คาดกันว่าเขาก็คงต้องยึดตลาดไทยอยู่ เพราะถือว่ามีความคุ้นเคยกันดีแล้ว"

ดูจะเป็นคำตอบที่ไม่แน่นักว่าจะทำให้ผู้ถือหุ้นอื่นๆ ถอนใจได้อย่างโล่งอก



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.