เบื้องหลัง "เลื่อน" หนุน "พละ" คุมธุรกิจน้ำมันของ ปตท.


นิตยสารผู้จัดการ( มกราคม 2535)



กลับสู่หน้าหลัก

ฉากการปรับโครงสร้างใหม่ของการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) เริ่มเป็นจริงแล้วเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 28 พฤศจิกายน 2534 ..!

วันนี้ บอร์ด ปตท.ได้อนุมัติการจัดสรรตำแหน่งระดับฝ่ายตามที่ เลื่อน กฤษณกรี ผู้ว่า ปตท.เสนอขึ้นตามโครงสร้างการบริหารใหม่

จากเดิมที่แยกเป็น 7 ด้าน คือ ด้านจัดหาและกลั่นน้ำมัน ด้านปฏิบัติการก๊าซธรรมชาติ ด้านบัญชี-การเงิน ด้านกิจกรรมพิเศษ ด้านวิชาการ-วางแผน ด้านการตลาดและด้านบริหาร โดยมีรองผู้ว่าเป็นคนดูแลแต่ละด้าน ซึ่งเป็นการบริหารตามลักษณะงานนั้นได้เปลี่ยนมาเป็นการบริหารตามประเภทของธุรกิจ

นั่นก็คือ แบ่งเป็น 4 ธุรกิจ ได้แก่ ธุรกิจน้ำมัน ธุรกิจก๊าซธรรมชาติ ธุรกิจปิโตรเคมีและธุรกิจบริการกลาง ซึ่งได้จัดสรรระดับรองผู้ว่าตามโครงสร้างเดิมมาเป็นผู้บริหารของแต่ละธุรกิจ เรียกว่า ผู้จัดการใหญ่ มีฐานะเทียบเท่ารองผู้ว่าที่ประจำ ปตท.สำนักงานใหญ่

สำหรับธุรกิจที่ ปตท.ถือว่าจะต้องแข่งขันกันอย่างหนัก ก็คือ ธุรกิจน้ำมัน ซึ่งได้รวมงานด้านจัดหา-กลั่นน้ำมันและการตลาดเข้ามาอยู่ด้วยกัน

ธุรกิจน้ำมันของ ปตท.จึงกลายเป็นหัวใจของโครงสร้างใหม่ที่ทุกคนต่างก็จดจ่อว่าใครจะขึ้นมาดูแล ในภาวะตลาดที่นับจะถึงพริกถึงขิงขึ้นทุกขณะ จากเดิมที่สมศักดิ์ ประสงค์ผลเป็นรองผู้ว่าด้านการตลาด

แล้วเมื่อเปิดโผตัวจริงว่า พละ สุขเวช จากรองผู้ว่าด้านจัดหา มาเป็นผู้จัดการใหญ่ธุรกิจน้ำมัน หลายคนอาจจะแปลกใจ เพราะคิดกันไว้ว่าสมศักดิ์ซึ่งคุมด้านการตลาดน่าจะดูแลงานด้านนี้ต่อเนื่องไป

คำถามว่าทำไมต้องเป็นพละ..?

ว่ากันว่าเป็นเพราะปัญหาคอขวด..!

แม้ว่าสมศักดิ์จะเป็นผู้ช่วยและเรื่อยมาจนเป็นรองผู้ว่าด้านการตลาด ซึ่งทำให้คาดเดากันว่าสมศักดิ์น่าจะขึ้นมาเป็นผู้จัดการใหญ่ของธุรกิจน้ำมัน แต่ก็ดูเหมือนว่าสมศักดิ์เองจะรู้ตัวอยู่ก่อนแล้วว่าคนเดิมอาจจะไม่ได้คุมงานเดิม และได้เตรียมใจไว้พร้อมที่จะอยู่ตรงไหนก็ได้เช่นกัน ดุจหนึ่งจะเดาใจเลื่อนซึ่งจะเป็นคนพิจารณาและเสนอชื่อเข้าบอร์ดมาล่วงหน้าแล้ว..!

ขณะที่สันนิษฐานได้ว่า พละก็คงรู้ตัวก่อนเช่นกันว่าตนจะต้องมารับผิดชอบธุรกิจน้ำมันก่อนเสนอเข้าบอร์ด ขณะที่รองผู้ว่าคนอื่น ส่วนใหญ่จะยังไม่รู้ว่าตนถูกจัดสรรไปอยู่ตำแหน่งไหน

ยกเว้นสมควร วัฒกีกุล รองผู้ว่าด้านบริหาร-บุคคล และ เจียม อุยยามะพันธุ์ รองผู้ว่าด้านการเงินที่ยังดูแลสายงานเดิมประจำ ปตท.สำนักงานใหญ่และให้ประทิน พัฒนาภรณ์เป็นรองผู้ว่าด้านนโยบายและแผน

เหตุผลสำคัญคือพละมีความคล่องตัวด้านซัพพลายหรืองานจัดหา-กลั่นน้ำมัน ประกอบกับพื้นความรู้ที่พละจบวิศวะมา ทำให้เลื่อนมองว่าจะเข้าใจประเด็นปัญหาและพัฒนาคุณภาพน้ำมันได้ละเอียดกว่า เรียกว่าพอพูดปุ๊บก็เห็นภาพทันทีว่าเป็นอย่างไร

พละจบวิศวะสาขาไฟฟ้าจากจุฬาฯ จบ CERT.IN SYSTEM ANALYSIS U.S. ARMY OF ENGINEERS และวิศวะอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยโอเรกอนสเตทจากสหรัฐอเมริกา มีประสบการณ์เกี่ยวกับการวางแผน ตั้งแต่ตำแหน่ง ผอ.ฝ่ายนโยบายและแผน จนเลื่อนตำแหน่งขึ้นมาเป็นผู้ช่วยผู้ว่าด้านวิชาการและวางแผน เคยเป็นรองผู้ว่าด้านก๊าซธรรมชาติ ด้านจัดหา-กลั่นน้ำมัน ด้านวิชาการฯ ซึ่งตอนหลังได้โยกมาอยู่ด้านจัดหาฯ อีกครั้งเมื่อเดือนพฤษภาคม 2534

ขณะที่สมศักดิ์จบรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เคยเป็นผู้ช่วยผู้ว่าด้านบริหาร ผู้ช่วยและรองผู้ว่าด้านกิจกรรมพิเศษ ผู้ช่วยด้านการตลาดก่อนจะมาเป็นรองผู้ว่า

จากพื้นฐานและประสบการณ์ที่ต่างกัน ทำให้พละเป็นต่อสมศักดิ์ในด้านภูมิความรู้..!

สมศักดิ์จึงได้รับการจัดสรรไปเป็นผู้จัดการใหญ่ธุรกิจบริการกลาง ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับงานบริการทั้งงานฝึกอบรมเทคโนโลยี-สื่อสาร ตลอดจนอำนวยความสะดวกทุกด้านแก่ธุรกิจทั้ง 3 ของ ปตท.งานที่สมศักดิ์เคยคลุกคลีมาไม่น้อย สมศักดิ์จึงกลับสู่งานเดิมที่ตนเองถนัดและทำได้ดี

อีกเหตุผลที่หนุนเนื่องพละก็คือด้วยสไตล์นุ่ม พูดน้อยตามแบบฉบับนักวิชาการส่วนใหญ่ ถึงคราวจะพูดก็จะไม่พูดให้กระทบใคร ทำให้ปรับตัวเข้ากับผู้ใหญ่ในกระทรวงทบวงกรมได้มาก ขณะที่สมศักดิ์คิดอย่างไรก็พูดอย่างนั้น ชนิดตรงไปตรงมา ซึ่งบางครั้งก็กระเทือนผู้ได้ยิน แม้ว่าจะไม่มีเจตนาร้ายอะไรแอบแฝงก็ตาม ทำให้ดูเป็นคนใจร้อน และอาจจะไม่สบอารมณ์ผู้ใหญ่ในสังคมแบบไทยๆ

ความต่างตรงนี้ นับเป็นความจำเป็นอีกด้านหนึ่งที่ ปตท.จะต้องปรับตัวเข้าหาและใกล้ชิดกับผู้บริหารที่เหนือกว่าให้มากยิ่งขึ้น เพื่อว่าเมื่อผลักดันเรื่องอะไรก็จะได้ง่ายเข้า

พละนั้นเป็นที่ยอมรับของบอร์ดและผู้ใหญ่คนอื่นอยู่มาก จะเห็นได้ว่าในช่วงต่อที่ทองฉัตร หงศ์ลดารมภ์หมดวาระจากผู้ว่า ปตท.เมื่อปี 2530 นั้น พละเป็นตัวเต็งที่มาแรงขับเคี่ยวกับเลื่อนซึ่งอาวุโสกว่าทั้งวัยวุฒิและประสบการณ์ แต่ก็ไม่มีใครเป็นที่ยอมรับของบอร์ดสูงพอ นายกเปรมในตอนนั้นจึงแต่งตั้งอาณัติ อาภาภิรมมาเป็นแทนก่อนที่จะมาถึงยุคของเลื่อนในขณะนี้

บอร์ดหลายคนเห็นตรงกันว่าพละเป็นคนที่โดดเด่นในบรรดารองผู้ว่าทั้งหมด ยิ่งเป็นคนรับผิดชอบการสร้างโรงโอเลฟินส์แห่งที่ 2 ได้ถูกกว่าราคากลางร่วม 3,000 ล้านบาท ก็ยิ่งทำให้พละมีเครดิตมากขึ้น

แต่ที่ผ่านมา พละจะคุมงานที่มีผู้ร่วมงานไม่กี่สิบคน การให้พละมาคุมธุรกิจน้ำมันซึ่งมีพนักงาน 2,000 คน ครึ่งหนึ่งของคน ปตท.ทั้งหมดนั้น จะช่วยทำให้พละเคยชินกับการบริหารคนหมู่มาก

ความหมายโดยนัยก็คือ เป็นการเตรียมผู้ว่าคนใหม่สำหรับ ปตท.หลังเลื่อนเกษียณในกลางปี 2538 เพื่อว่าลูกหม้อจะได้ก้าวขึ้นไปอย่างสมศักดิ์ศรี ดีกว่าที่จะเอาคนแปลกหน้าที่ไหนมาบริหารเฉกเช่นอดีต

แต่นั่นแหละ..! วันเวลาจะพิสูจน์ว่าพละจะผ่านสนามทดสอบฝีมือครั้งนี้ได้ดีแค่ไหน..?!?



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.