การเปลี่ยนแปรของตลาดน้ำมัน ทั้งจากมิติแห่งปัจจัยภายในและตลาดโลกในช่วงปลายทศวรรษที่ผ่านมา
ได้พลิกโฉมใหม่ของพัฒนาการน้ำมันของไทย ให้ ปตท.ขึ้นมาเป็นแชมป์จากที่ครองที่โหล่มาตลอด
เล่นเอาบรรดายักษ์ใหญ่หวั่นใจไปตามๆ กัน ทั้งที่เชื่อกันว่าเมื่อใช้ระบบราคาลอยตัวแล้ว
ปตท.มีหวังตายแน่..?
ชายผู้นี้เป็นทั้งผู้ร้ายและพระเอกในสายตาของคนวงการน้ำมันที่โดดเด่นที่สุด
และเป็นตัวแทนบอกความเปลี่ยนแปลงของตลาดน้ำมันของบ้านเรา ในรอบทศวรรษที่ผ่านมาได้เป็นอย่างดี
โดยเฉพาะในครึ่งหลังของทศวรรษที่เริ่มมีปรากฏการณ์ใหม่ในตลาดน้ำมันให้ได้เห็นกัน
และระเบิดความเปลี่ยนแปลงในช่วงท้ายทศวรรษอย่างดุเดือด จนแหล่งข่าวบริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่กล่าวว่า
"น่ากลัว"
ที่ว่าน่ากลัว คือ "มีฝีมือ ต้องยอมรับว่าถ้าพูดถึงนักการตลาดวงการน้ำมันในตอนนี้แล้วเขาเป็นคนที่เราประมาทไม่ได้"
เขาคนนี้ ก็คือ เลื่อน กฤษณกรี ผู้ว่าการการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.)
เพราะที่บริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่วิพากษ์อย่างหวั่นๆ ในปีกลายว่า เผลอๆ ปีนี้
ปตท.มีสิทธิ์ขึ้นมาเป็นที่หนึ่งในตลาด ก็เป็นจริงขึ้นมาแล้วตั้งแต่ต้นปีถึงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา
ทั้งที่ภาวะการแข่งขันรุนแรงขึ้นกว่าเมื่อ 5-10 ปีก่อนหลายเท่า
"เมื่อเราเข้าสู่ระบบราคาน้ำมันลอยตัวก่อนที่จะเข้าไปสู่ระบบธุรกิจน้ำมันเสรีเต็มที่ในอนาคตนั้น
ไม่มีใครคิดว่า ปตท.จะแข่งกับบริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่เจ้าถิ่นอย่างเชลล์ เอสโซ่
และคาลเท็กซ์ได้ ยังไม่รวมผู้ค้าหน้าใหม่ที่เข้าประชันในตลาดน้ำมันอย่างเข้มข้น"
แหล่งข่าวระดับสูงจากผู้ค้าเจ้าเก่ากล่าว "ตรงนี้นับเป็นจุดเปลี่ยนโฉมหน้าตลาดน้ำมันของไทยในรอบ
10 ปีนี้"
ขณะที่แหล่งข่าวรายหนึ่งจาก ปตท.เองถึงกับสะท้อนด้วยความแปลกใจว่าไม่คิดว่าจะได้ส่วนแบ่งตลาดมากขนาดนี้
ตอนแรกก็ไม่ค่อยอยากจะเชื่อกัน เพราะตัวเลขส่วนแบ่งครองตลาดสูงถึง 26% มาตลอด
เรียกว่าเหนื่อยคุ้มกับการทุ่มเทจากความพยายามในการสลัดคราบรัฐวิสาหกิจทิ้ง
แล้วกระโจนเข้าสู่การทำงานที่เป็นเอกชนมากขึ้น
ระบบราคาน้ำมันลอยตัวจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย ถ้า ปตท.เป็นกลไกที่ทำงานในฐานะเป็นเครื่องมือของรัฐบาลไม่ได้..!
งานนี้คงต้องยกให้เป็นผลงานยุคนายกอานันท์ ปันยารชุน แม้ว่าจะมีแผนใช้นโยบายราคาน้ำมันลอยตัวมาตั้งแต่ปลายยุคนายกเปรม
ติณสูลานนท์ เรื่อยมาจนถึงยุคนายกชาติชาย ชุณหะวัณก็ตาม เพราะกล้าใช้สถานการณ์ที่ปลอดจากแรงกดดันทางการเมือง
ตัดสินใจใช้นโยบายใหม่ในเดือนพฤษภาคม 2534 เมื่อใช้ระบบน้ำมันราคาลอยตัว
ก็กลายเป็นจุดหักเหของตลาดน้ำมันทันที..!
จากที่รัฐบาลเคยเป็นผู้คุมราคาน้ำมันขายปลีกและแทบจะไม่มีการแข่งขันกัน
ตลาดน้ำมันก็เริ่มเปิดฉากคึกคักขึ้นอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน โดยอาศัยแรงการันตีจากเลื่อนนี่เอง
เป็นที่รู้กันว่า ก่อนที่ไพจิตร เอื้อทวีกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีจะใช้ราคาน้ำมันลอยตัวนั้นใช้เวลาตัสินใจอยู่นาน
"ที่จริง ท่านก็กล้าๆ กลัวๆ เพราะถ้าประกาศใช้แล้วราคาน้ำมันไม่ลด แต่ยิ่งแพงแล้วละก็
พังแน่..ประชาชนสวดยับ เครดิตรัฐบาลอานันท์ก็หมดเหมือนกัน" แหล่งข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรมย้อนถึงเหตุการณ์ก่อนจะใช้ราคาลอยตัว
"ทำไปเถอะ ถ้ามีปัญหา ผมรับผิดชอบเอง" เลื่อน ซึ่งรักษาการผู้ว่า
ปตท.แทนอาณัติ อาภาภิรม ผู้ว่าในตอนนั้นที่ไปนั่งตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ
ย้ำกับไพจิตรว่า "ปตท.ทำได้"
พอประกาศใช้ตูม ราคาหน้าปั๊มก็ลดลง ที่จริงตลาดน้ำมันโลกช่วงนั้นเป็นใจด้วย
เพราะราคาถูก "พอเป็นอย่างนี้ ทุกฝ่ายก็ค่อยหน้าบาน ที่ราคาลอยลงไม่ใช่ลอยขึ้น"
แหล่งข่าวจาก ปตท.ย้อนอดีตอย่างภาคภูมิ
เท่ากับเป็นการปรับโครงสร้างระบบราคาน้ำมันใหม่ จากที่รัฐบาลเคยคุมค่าการตลาดอยู่ที่
50 สตางค์ต่อลิตรนานถึง 5-6 ปี ก็ปล่อยฟรีให้ไปกำหนดและแข่งกันเอง ขณะที่
ปตท.ต้องทำหน้าที่ 2 อย่างพร้อมกัน คือเป็นคู่ค้าที่ต้องแข่งกับบริษัทน้ำมันอื่นๆ
และเป็นเครื่องมือรัฐในการคานเรื่องราคาด้วย
ที่จริง ระบบราคาน้ำมันลอยตัวและการให้เอกชนมีบทบาทในธุรกิจน้ำมันมากขึ้น
เป็นส่วนหนึ่งที่กำหนดไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 6 (2530-2534)
และก่อนที่จะใช้ราคาลอยตัวทั่วประเทศ รัฐบาลกพยายามผลักดันเรื่องนี้มาแล้วครั้งหนึ่งในปี
2533
โดยทางบริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (บางจากฯ) จับมือกับสยามนกไม้ตั้งปั๊ม
"นกไม้" พร้อมกับขึ้นโลโก้บางจากเปิดขายน้ำมันใน อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น
นัยว่าเป็นการกระตุ้นให้มีการแข่งขันกันมากขึ้น ด้วยการขายน้ำมันในขอนแก่นเท่ากับราคาที่กรุงเทพฯ
จนถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า กร ทัพพะรังสี รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีซึ่งรับผิดชอบพลังงานใช้บางจากฯ
เป็นเครื่องมือหาเสียงในท้องถิ่น ขณะที่บางจากฯ เองก็อยากทดลองตลาดด้วยเช่นกัน
ครั้งนั้น บริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่โดยเฉพาะ ปตท.โดนด่าเสียงขรมว่าเอาเปรียบ
และกีดขวางบางจากฯ รัฐวิสาหกิจที่บริหารด้วยรูปแบบบริษัทจำกัด เพราะกลัวว่าจะแย่งตลาด
ปตท.แต่เลื่อนยืนยันความเห็นว่า "ระยะยาวแล้วไปไม่รอดแน่" ถ้าเล่นอาศัยความได้เปรียบของต้นทุนโรงกลั่นเป็นฐาน
ขณะที่ยังไม่ต้องลงทุนเครื่องมืออุปกรณ์เกี่ยวกับปั๊ม
สุดท้าย ปั๊มนกไม้ก็เลิกกิจการไป "พอบางจากฯ ออกแบรนด์ของตัวเอง แล้วไปตัดราคา
เราเป็นลูกค้าก็สู้ไม่ไหว" สมหญิง เสรีวงศ์ เจ้าของอดีตปั๊มนกไม้เล่าถึงบาดแผลที่ต้องพับโครงการปั๊มนกไม้ที่ขอนแก่น
แล้วหันไปทำปั๊มหลอดและลงทุนในลาวแทน อันเป็นการยืนยันสิ่งที่เลื่อนวิเคราะห์ได้อย่างแม่นยำ
"แม้ว่างานครั้งนั้นจะล้มเหลว เพราะบางจากฯ ไม่มีความพร้อม และทำจำกัดอยู่ในพื้นที่แคบๆ
ก็ตาม แต่ถือว่าเป็นส่วนสำคัญที่กระตุ้นให้เกิดการแข่งขัน หลังจากที่เกิดการปรับตัวในหลายส่วน"
แหล่งข่าวระดับสูงจาก ปตท.และบางจากฯ กล่าวอย่างสอดคล้องกัน
นั่นก็คือ ช่วงปี 2530-2532 เป็นช่วงที่กระแสการลงทุนต่างประเทศหลั่งไหลเข้าสู่ประเทศไทย
ขณะที่ทิศทางการแข่งขันเสรีเริ่มแพร่กระจายไปทั่วโลก ปริมาณการส่งออกของไทยสูงขึ้นเป็นเท่าทวีอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน
แต่รัฐบาลยังคงคุมราคาน้ำมันซึ่งเป็นต้นทุนพื้นฐานของการผลิตอยู่ ทำให้เกิดกระแสเรียกร้องให้ลดราคาน้ำมันเป็นระยะๆ
ที่สำคัญ คือ ไทยกลายเป็นศูนย์กลางการลงทุนของภูมิภาคนี้อย่างเด่นชัด บรรดาบริษทน้ำมันข้ามชาติต่างรุกเข้ามาลงทุนเรื่องน้ำมันไทยอย่างคึกคัก
ไม่ว่าจะเป็นรายใหม่อย่างบีพี โมบิล คิว 8 นอกเหนือไปจากเจ้าเดิมที่มีอยู่แค่
ปตท.เชลล์ เอสโซ่ และคาลเท็กซ์ เพราะต่างเล็งเห็นว่าไทยเป็นทำเลทองของการลงทุน
โดยเฉพาะมีแนวโน้มความต้องการใช้น้ำมันขยายตัวถึงกว่า 10% บางผลิตภัณฑ์เช่นดีเซลสูงถึง
18% ไม่รวมถึงอินโดจีนที่ยังเป็นตลาดที่มีอนาคตอีกไกล
ขณะเดียวกัน ภาวะน้ำมันตลาดโลกที่เคยสูงถึง 40 เหรียญต่อบาร์เรลเริ่มลดลงค่อนข้างต่อเนื่อง
มาอยู่ที่ 20 เหรียญกว่าต่อบาร์เรล เนื่องจากกลุ่มโอเปกกลายเป็นเสือกระดาษ
ที่ไม่อาจตกลงและคุมกันเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ส่วนปัจจัยภายในประเทศ รัฐบาลเริ่มเน้นแปรรูปรัฐวิสาหกิจและให้เอกชนเข้ามามีบทบาทมากขึ้นจะเห็นได้ชัดจากกรณีที่
ปตท.แยกโรงกลั่นบางจากออกไปจัดตั้งและบริหารในรูปของบริษัทจำกัด เพื่อให้คล่องตัวและปรับตัวต่อตลาดน้ำมันโลกได้อย่างทันการณ์
แต่ด้วยอุบัติเหตุแห่งความขัดแย้งทั้งในเรื่องหลักการและบุคคลระหว่าง ปตท.กับบางจากฯ
"ทำให้องค์กรของรัฐทั้ง 2 ฝ่ายนี้ประสานงานกันไม่ได้ดีนัก มิหนำซ้ำมักจะประสานงากันอยู่เนืองๆ
ขณะที่ ปตท.เห็นว่าบางจากฯ ควรกลั่นอย่างเดียว แต่บางจากฯ เห็นว่าตนมีสิทธิอันชอบธรรมที่ลงสู่ตลาดค้าปลีก"
แหล่งข่าวจากบางจากฯ ย้อนอดีตที่เป็นจุดปะทะของตลาดน้ำมันไทย
ประเด็นนี้เป็นเรื่องที่ชาว ปตท.โดยทั่วไปหวั่นวิตกกันนักหนา มีเพียงเลื่อนเท่านั้นที่ย้ำความเห็นอย่างมั่นใจว่า
"บางจากฯ จะทำปั๊ม ก็ไม่เห็นจะต้องไปสนใจ เพราะ ปตท.มีเรื่องใหญ่ที่ต้องทำอีกมากที่สำคัญก็คือการปรับโครงสร้างภายใน
เป็นเพราะเลื่อนมีวิญญาณความเป็นนักการตลาด เขาขับเคี่ยวอยู่กับธุรกิจน้ำมันมากว่า
30 ปี..!
"..การที่เลื่อนเสนออะไรในช่วงแรก คนมักจะไม่ค่อยจะเห็นด้วย เนื่องจากต่างพื้นฐานความรู้
ขณะที่เลื่อนมองเห็นอนาคตว่าจะเกิดอะไรขึ้นในระยะต่อไป จนเมื่อเกิดเหตุการณ์นั้นแล้ว
ผู้คนจึงถึงบางอ้อ และเห็นด้วยว่าสิ่งที่เขาคิดนั้น มิใช่เพราะเดาสุ่มหรือคาดคะเน
แต่อาศัยความช่ำชองที่มีชั่วโมงบินสูง จนมองเห็นตลาดน้ำมันได้ทะลุปรุโปร่งตามอายุขัยที่เพิ่มขึ้น..!"
หลายคนในวงการสะท้อนความคิดของเลื่อนที่ว่า เป็นตัวละครที่ชี้กระแสของตลาดน้ำมันได้อย่างดี
ขณะที่ยักษ์น้ำมันรายใหม่เริ่มเข้ามาเบียดตลาดน้ำมันในประเทศ จนส่อแววการแข่งขันขึ้นกว่าเดิมทั้งเรื่องคุณภาพ
ราคาและการให้บริการ ทำให้เจ้าเก่ายิ่งต้องโหมรุกตลาดเพิ่มขึ้น..!
เริ่มตั้งแต่ที่เชลล์พลาดท่าต้องถอน "ฟอร์มูล่าเชลล์ สูตรสปาร์ค เอดเดอร์"
เบนซินพิเศษน้ำมันที่ตนครองแชมป์มาตลอดออกไป หลังจากที่แถลงข่าวข้ามโลกได้ประมาณ
4 เดือนเศษ เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2531 ซึ่งเป็นไปตามคำสั่งของเชลล์บริษัทแม่ที่ถอนกว่า
30 ประเทศทั่วโลก เนื่องจากมีรถประมาณ 0.002% ของ 20 กว่าล้านคันในโลกที่มีข้อสงสัยว่าทำให้เกิดวาล์วค้าง
แล้ววันรุ่งขึ้นฟ้าก็ผ่าลงมากลางตลาดน้ำมันเล่นเอาสะท้านกันไปทั่ววงการ..!
เมื่อเลื่อน ซึ่งเป็นรองผู้ว่าด้านตลาดของ ปตท.ในเวลานั้น ออก "พีทีที-ไฮ-ออคเทน
ผสมเอ็นทีบีอี" แหวกลงไปในตลาดน้ำมัน
"นี่ละ..ที่บอกว่าร้าย เพราะเป็นการแสดงศักยภาพของ ปตท.ที่คนมองว่าจะไปสู้บริษัทน้ำมันต่างชาติได้ยังไง
ขณะที่เลื่อน รู้จักช่วงชิงโอกาสในการปูฐานการเป็นผู้นำด้านคุณภาพในอนาคตที่เชลล์พยายามทำอยู่"
แหล่งข่าวจากยักษ์น้ำมันรายหนึ่งกล่าว
เพราะการเอาเอ็มทีบีเอมาผสมนั้น เป็นการเพิ่มค่าออคเทนแทนสารตะกั่ว ซึ่งตอนนั้นคนยังไม่ค่อยรู้กันว่าเป็นมลพิษสำคัญที่สุดตัวหนึ่ง
ทำให้ช่วยลดสารตะกั่วไปได้ราว 7-8% ทำให้คาร์บอนมอนนอกไซค์ในอากาศลดลง และเพิ่มค่าออคเทนจาก
95 เป็น 97 อันเป็นความหมายที่ชี้ถึงการให้ความสำคัญของการรักษาสิ่งแวดล้อม
ทั้งที่ตอนนั้นประชาชนยังไม่ตื่นตัวกันเท่าใดนัก
ขณะที่แหล่งข่าวจาก ปตท.เปิดเผยว่า "ที่จริงเราต้องการชูเรื่องลดสารตะกั่ว
แต่เพราะกลัวไม่ได้ผลทางการค้า จึงชูประเด็นเรื่องออคเทน"
ด้วยความที่เลื่อนคลุกอยู่กับตลาดน้ำมันจากเอสโซ่มาก่อนประมาณ 20 ปี เมื่อมาอยู่
ปตท.ก็ทำให้รู้เขารู้เรา อันเป็นจุดได้เปรียบใช้ในการตัดสินใจบุกตลาดแต่ละครั้ง
ปรากฏการณ์ครั้งนี้เริ่มบอกความเปลี่ยนแปลงของตลาดน้ำมันไทย ทำให้เชลล์ซึ่งเป็นแชมป์ตลาดน้ำมันเบนซินพิเศษมาตลอดนั้น
เริ่มสูญเสียส่วนครองตลาดจาก 35.6% ในปี 2530 เหลือเพียง 34.15% ในปี 2531
แม้ว่าจะแก้เกมด้วยการออก "SAP 9404" มาแทนในช่วงเดือนถัดมาก็ตาม
ขณะที่ ปตท.เริ่มได้ตลาดเบนซินพิเศษเพิ่มขึ้นจาก 19.4% ในปี 2530 มาเป็น
20.8% ในปี 2531
"นี่เป็นตัวอย่างหนึ่งที่ต้องอาศัยเวลา แม้แต่จากเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลเองเช่นกัน
คงจำกันได้ตอนนั้น เลื่อนถูกโจมตีทุกวัน กว่าสื่อมวลชนจะเข้าใจก็ต้องทำความเข้าใจกันอยู่นาน"
แหล่งข่าวที่รู้เรื่อง ปตท.และบางจากฯ ดีสะท้อนภาพที่เกิดขึ้นในอดีต
"เพราะตอนนั้น ปตท.กับบางจากฯ ขัดแย้งกันสูง เป็นช่วงที่ ปตท.ถูกโจมตีหนักว่าเป็นรัฐวิสาหกิจเลยอุ้ยอ้าย
เช้าชามเย็นชาม ขณะที่บางจากฯ กลับเป็นภาพตัวอย่างของบริษัทน้ำมันที่ดีอันสอดคล้องกับแผน
6 ที่พยายามให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุนธุรกิจน้ำมันมากขึ้น และเป็นดุจเนื้อหอมที่ราชการชื่นชมอย่างถ้วนหน้า"
จากนั้น ปตท.ก็ออก "โลว์ สโมค ไฮ-สปีด ทูที" ในปลายปี 2533 ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ช่วยลดควันขาวในรถจักรยานยนต์
2 จังหวะที่เกิดการเผาไหม้ไม่สมบูรณ์ ขณะที่รัฐบาลยังไม่อาจกำหนดให้ใช้เฉพาะรถ
4 จังหวะที่เผาไหม้ได้สมบูรณ์
เลื่อนเดินหน้าลูกเดียว "เพราะความที่อยู่บริษัทน้ำมันต่างชาตินับ
20 ปี เมื่อมาอยู่ ปตท.คิดค้นอะไรได้ก็คงอยากจะทำ เพราะถ้ามีการเริ่มต้น
คู่แข่งรายอื่นก็ต้องเคลื่อนไหวด้านตลาดในเชิงคุณภาพมากยิ่งขึ้นด้วย"
แหล่งข่าวจากบริษัทน้ำมันเจ้าเก่าเล่าถึงความไฟแรงของเลื่อน
ขณะที่เลื่อนเคยพูดว่า "น้ำมันที่เราใช้อยู่ในเมืองไทย เมืองอื่นเขาไม่ใช้กันหรอก"
เขาหมายถึง น้ำมันเบนซินที่เต็มไปด้วยสารตะกั่วและดีเซลที่มากไปด้วยกำมะถัน
ซึ่งล้วนแล้วแต่ก่อมลพิษและเป็นอันตรายต่อสุขภาพและชีวิตอย่างร้ายแรงทั้งสิ้น
อันที่จริง เลื่อนย้ำมาหลายปีว่า ปตท.เป็นผู้นำด้านคุณภาพและบริการ แต่ไม่มีใครเชื่อว่าจะเป็นจริง
ด้วยภาพของความเป็นรัฐวิสาหกิจที่มักจะถูกมองว่าด้อยประสิทธิภาพนั่นเอง
แต่เลื่อนก็คิดแบบนักการตลาดว่า ไม่มีใครได้หรือเสีย 100% บนความเสียเปรียบก็มีความได้เปรียบ..!
บริษัทน้ำมันต่างชาติอาจจะดูอินเตอร์ น่าเชื่อถือตามค่านิยมที่มีมาแต่เดิม
แต่ขบวนการตัดสินใจก็ขึ้นอยู่กับบริษัทแม่มาก ขณะที่รัฐวิสาหกิจอย่าง ปตท.ติดระเบียบหยุมหยิม
แต่มีข้อยกเว้นให้ผู้บริหารตัดสินใจได้เองอย่างรวดเร็ว
จะว่าเชลล์พยายามปลุกกระแส และเปิดให้พนักงานทดลองใช้น้ำมันเบนซินพิเศษไร้สารตะกั่ว
(ยูแอลจี) ตามแนวโน้มนโยบายของรัฐ ที่เน้นการลดสารตะกั่วในเบนซินเพื่อรักษาและแก้ไขสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้นนั้น
เชลล์จะเป็นผู้นำน้ำมันมีคุณภาพโดยเฉพาะยูแอลจีเป็นรายแรก
เลื่อนไม่สนใจว่าเชลล์จะเริ่มก่อนไปกี่เดือนแต่ ปตท.ชิงขายก่อนและรับภาระราคายูแอลจีที่แพงกว่าเบนซินพิเศษปกติประมาณ
80 สตางค์ต่อลิตร ขณะที่รัฐบาลยังไม่ได้ลดภาษีนำเข้ายูแอลจี ทำให้เกิดภาพพจน์ที่ดีและส่งผลให้
ปตท.เก็บคะแนนนำไปก่อน
นี่ละที่เลื่อน รักษาการผู้ว่า ปตท.ขณะนั้นย้ำกับบรรดาชาวปั๊ม ปตท.ที่ภูเก็ตซึ่งเป็นภูมิภาคแห่งแรกที่เปิดขายยูแอลจีว่า
"เราเป็นคนขายยูแอลจีแห่งแรก นั่นหมายถึงเราทุกคนเป็นผู้นำในการช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมร่วมกัน"
"เป็นการตีกลับเชลล์ที่มัวลองตลาดอยู่นาน แต่กำหนดเวลาขายที่แน่นอนไม่ได้สักที"
แหล่งข่าวอีกรายหนึ่งกล่าวถึงการยุทธ์ของค่ายเชลล์และ ปตท."จนคนในเชลล์และเอสโซ่ต้องคอยจับตาว่าเลื่อนจะมีลูกเล่นอะไรออกมาอีก"
แม้ ปตท.จะเป็นรัฐวิสาหกิจ ดูจะเสียเปรียบ แต่เลื่อนยันว่า "ปตท.จะต้องแข่งกับยักษ์น้ำมันต่างชาติได้อย่างไม่น้อยหน้า"
เพราะไม่มีอะไรที่นักการตลาดจะทำไม่ได้
ภาพของการช่วงชิงความเป็นหนึ่งที่เกิดขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นแรงผลักจากระบบการค้าเสรีของตลาดโลกและทุนที่หลั่งไหลสู่ไทยมากขึ้น
เมื่อมีคู่แข่งรายใหม่เข้ามา นั่นหมายถึงเจ้าเก่าบางรายจะต้องเสียส่วนครองตลาดไปให้รายใหม่ในไม่ช้า
เมื่อเกิดการแข่งขัน ผู้บริโภคย่อมได้ประโยชน์..!
เมื่อเกิดวิกฤติอ่าวเปอร์เซียเมื่อสิงหาคม 2533 แม้ยังไม่ใช้ราคาลอยตัว
แต่มีผู้ค้าน้ำมันมากรายขึ้น "แต่ละบริษัทก็ต้องตะเกียกตะกายหาน้ำมันมาขาย
ตอนนั้นขืนใครตัดน้ำมัน ไม่นำเข้ามาขาย ก็ถูกแย่งตลาดแน่ ตอนนั้นเราจึงไม่มีปัญหาเรื่องน้ำมันขาด
ส่วนหนึ่งเป็นเพราะวิกฤติที่เกิดขึ้นอยู่ในพื้นที่จำกัด และ ปตท.ก็ได้กระจายแหล่งซื้อน้ำมันได้มากขึ้น"
"ปตท.เริ่มมีอิทธิพลในตลาด โดยมีกลไกตลาดเป็นตัวควบคุม เพราะถ้าน้ำมันขาด
ปตท.ก็ดั๊มรายอื่นต้องนำเข้า ขณะที่ทุกรายก็ต้องพยายามขายให้ได้มากเข้าไว้
อยู่ที่ว่าใครจะช่วงชิงโอกาสได้มากกว่ากัน นี่เป็นผลเริ่มต้นที่มีการแข่งขัน"
แหล่งข่าววิเคราะห์ถึงผลดีที่เกิดขึ้น
ขณะที่เลื่อนเห็นช่องว่างตลาดตรงนี้ชัดเจน ผนึกกับค่านิยมที่ว่า เมื่อก่อนคนจะไม่ค่อยเติมน้ำมัน
ปตท.เพราะฉะนั้น "เราต้องพิสูจน์คุณภาพก่อน แต่ก่อนที่คนไม่ใช้เพราะของไทยไม่พยายามทำให้ดี
ถ้าดีแล้ว เชื่อว่าคนต้องใช้ของไทยแน่"
"เขาได้ใช้เอาความคิดนี้แปรสภาพไปสู่การปฏิบัติเป็นฉากๆ เหมือนนักการตลาดที่ยืดหยุ่นได้ตามสถานการณ์ที่เป็นจริง
มันเหมือนกับการสะสมภาพพจน์ดีๆ อย่างเงียบๆ โดยอาศัยความกล้าตัดสินใจที่จะทำให้
ปตท.ทัดเทียมคู่แข่งและเป็นเครื่องมือของรัฐพร้อมกันไป" แหล่งข่าวอธิบายถึงความพยายามที่เลื่อนจะผลักดันให้
ปตท.ทำงานแบบเอกชนได้มากขึ้นด้วย
แล้วก็มาถึงคราวที่ ปตท.ประกาศพร้อมเป็นกลไกในการใช้ระบบน้ำมันราคาลอยตัวเมื่อพฤษภาคม
2534 ปตท.ตีตื้นได้ภาพพจน์ที่ดีขึ้นอย่างมาก..!
จากจุดเปลี่ยนนี้ ทุกค่ายพร้อมที่จะใช้กลยุทธ์ทุกรูปแบบเพื่อรักษาส่วนครองตลาดเดิมไว้ให้ได้
ซึ่งต่างก็ยอมรับว่าเป็นงานที่ยากขึ้น ยังมีผู้ค้าหน้าใหม่ที่เข้ามาอีกไม่น้อย
เพราะเป็นบรรยากาศที่สนับสนุนให้แข่งกันเองเต็มที่ ไม่ถูกจำกัดค่าการตลาดอย่างเก่า
คนก็สนใจลงทุนธุรกิจปั๊มน้ำมันยิ่งกว่าเดิม
ราคาน้ำมันหน้าปั๊มจะเปลี่ยนไปตามราคาหน้าโรงกลั่นที่อิงราคาตลาดโลกทุกสัปดาห์
แทนที่จะรอรัฐบาลประกาศให้เปลี่ยนเมื่อต้องการให้ขึ้นหรือลงตามแรงกดดันทางการเมือง
ทำให้ราคาน้ำมันเป็นไปโดยกลไกตลาด และปลอดจากการแทรกแซงอย่างเห็นได้ชัด
นอกจากปัจจัยภายนอกที่หนุนให้มีการค้าเสรีและแข่งขันกันแล้ว นโยบายของรัฐบาลที่พยายามแปรรูปรัฐวิสาหกิจ
อย่าง ปตท.ที่ใช้เวลานานถึง 4 ปีในยุคที่อาณัติ อาภาภิรมเป็นผู้ว่าอยู่ เพื่อจัดโครงสร้างเป็นหน่วยธุรกิจ
เพื่อความคล่องตัวในการบริหารธุรกิจแต่ละประเภท คือ น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ
ปิโตรเคมี และหน่วยบริการกลางนั้นก็เริ่มเป็นจริงในยุคของอานันท์ 1
โดยให้ลูกหม้อเก่าแก่อย่างเลื่อน ขึ้นมาเป็นผู้ว่าและอนุมัติให้ปรับอัตราเงินเดือนให้ทัดเทียมกับคู่แข่งได้เอง
เพื่อสร้างขวัญ กำลังใจแก่พนักงานและส่งเสริมให้อยู่ในฐานะที่จะแข่งได้คล่องตัวมากขึ้น
ซึ่งแต่ละหน่วยธุรกิจจะมีอำนาจรับผิดชอบการบริหารในหน่วยนั้นๆ ได้เอง เฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจน้ำมันนั้นจะเป็นงานที่หนักที่สุด
เพราะแข่งขันรุนแรง
ทุกค่ายจึงเตรียมตัวและได้ปรับขบวนกันถ้วนหน้า..!
เมื่อรู้ว่าหลังใช้ราคาลอยตัวช่วงกลางปี 2534 ตลาดน้ำมันดุเดือดแน่ เลื่อนไม่รอช้าที่จะดึงประเสริฐ
บุญสัมพันธ์ จากฝ่ายจัดหาน้ำมันขึ้นเป็นผู้ช่วยผู้ว่าด้านการตลาด และเป็นรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ธุรกิจน้ำมันด้านตลาด
เมื่อปรับโครงสร้างเป็นหน่วยธุรกิจ รองจากพละ สุขเวช กรรมการผู้จัดการใหญ่ว่าที่ผู้ว่า
ปตท.ในอนาคต
เลื่อนเชื่อว่า จากพื้นฐานด้านวิศวะและประสบการณ์การจัดหาน้ำมันที่ประเสริฐมีอยู่
ผนวกกับเป็นคนมีโลกทัศน์กว้าง และเมื่อได้รับการขับเคี่ยวอย่างใกล้ชิดจากเลื่อนแล้ว
เขาจะเป็นแกนสำคัญคนหนึ่งของทีม ปตท.
โดยเฉพาะคนๆ เดียวมีความเข้าใจเรื่องจัดหาและตลาดน้ำมันพร้อมกัน ย่อมจะช่วยให้มองตลาดได้รอบด้าน
และเห็นถึงแหล่งที่มาที่ไปของน้ำมันได้ดีว่าควรจะเป็นอย่างไร
ด้านเชลล์ซึ่งครบ 100 ปีเมื่อปีที่แล้ว ก็ได้แต่งตั้งให้ศิริทัศน์ มนูประเสริฐ
ขึ้นเป็นกรรมการผู้จัดการคนใหม่ นับเป็นคนไทยคนที่สองถัดจาก ม.ร.ว.สฤษดิคุณ
กิติยากรที่ขึ้นเป็นผู้บริหารระดับสูงของเชลล์
ทั้งยังให้ธำรง ตยางคนนท์ ที่เคยดูแลด้านการตลาด ก็ให้รับผิดชอบด้านการจัดหาควบคู่กันไป
ด้วยความเชื่อที่ว่าจะทำให้เชลล์คล่องตัวในการจัดหาผลิตภัณฑ์คุณภาพ เพื่อสนองตลาดน้ำมันได้ดีและแข่งขันได้ดีกว่า
เพราะคิดว่า "ไม่มีใครรู้ใจคนไทยเท่าคนไทย"
ปีที่แล้วจึงเป็นเหมือนการอุ่นเครื่อง เพราะทุกค่ายกำลังปรับตัว แต่แค่การปรับตัวก็พลิกโฉมตลาดน้ำมันไทยไปไม่น้อย
เจ้าเก่าที่เฉือนกันดุเดือดกลายเป็นเชลล์กับ ปตท.มิใช่ระหว่างเชลล์กับเอสโซ่อย่างแต่ก่อน..!
ปีก่อนทุกค่ายโหมโฆษณาอย่างเผ็ดมัน ลดแจกแถมกันถึงพริกถึงขิง เชลล์ซึ่งเน้นขายยูแอลจีและนิยามกลุ่มลูกค้าของตนว่า
สินค้าดีต้องมีราคาแพง บางช่วงราคาน้ำมันจึงสูงกว่าปั๊มเจ้าอื่น ดังที่ศิริทัศน์กล่าวว่า
"เรื่องราคาจำเป็นในบางพื้นที่ แต่ไม่ได้เป็นปัจจัยสำคัญ" เชลล์เน้นลูกค้าระดับเอบวกถึงบีบวก
ขณะที่ ปตท.ตอกย้ำว่า สินค้าดีไม่จำเป็นต้องแพง ดังนั้น ปตท.จะขายของดีราคาถูก
ส่วนเอสโซ่นั้นมองว่าแม้ยอดขายจะลดลงบ้างก็ไม่เป็นไร เมื่อผลตอบแทนดี
เชลล์ยังเป็นแชมป์ด้วยสัดส่วน 25.8% ตามด้วย ปตท.25.1% และเอสโซ่เป็นที่
3 ด้วยระดับ 24.9%
ส่วนคาลเท็กซ์เสียงเชิงไปตลอดช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา สูญเสียส่วนแบ่งการตลาดไปในเกือบทุกผลิตภัณฑ์
"เพราะผู้บริหารวางแผนผิดพลาดและมัวแต่เล่นการเมือง" แหล่งข่าวอีกรายหนึ่งวิพากษ์สุขวิช
รังสิตพล อดีตผู้จัดการใหญ่ของคาลเท็กซ์ซึ่งเป็นเหตุให้บริษัทแม่ต้องส่ง
ANTON WATKIN มาคุมเชิงจนขึ้นมาแทนที่เมื่อสุขวิชไปนั่งเก้าอี้ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย
นั่นก็คือ คาลเท็กซ์ ซึ่งเคยครองตลาดเป็นที่ 3 โดยมี ปตท.รั้งท้าย ก็โดน
ปตท.แซงหน้าขึ้นมา เมื่อตามมาเป็นที่ 4 ส่วนแบ่งตลาดที่เคยอยู่ระดับ 15%
กว่าได้ลดลงเหลือเพียง 11.3% ในปีที่ผ่านมา
ปีนี้ ปตท.พุ่งขึ้นมาครองที่ 1 ตลอด 7 เดือนที่ผ่านมา ส่วนแบ่งตลาดส่วนใหญ่ประมาณ
26% ต่อเดือน มีเดือนกรกฎาคมที่สูงถึง 27.4% ทิ้งห่างเชลล์และเอสโซ่ที่อยู่ในระดับ
22-23% จน ปตท.ถูกรายอื่นวิจารณ์ว่าที่ขายได้มากและขึ้นมาเป็นแชมป์เพราะความได้เปรียบที่เป็นองค์กรของรัฐ
นี่ก็คงเป็นส่วนหนึ่ง ความเป็นของคนไทยก็อีกส่วนหนึ่ง แต่ที่สำคัญที่สุด
"ต้องยอมรับว่าน้ำมันที่เราขายมีคุณภาพชั้นนำ คนซื้อเพราะคุณภาพ"
เลื่อนย้ำถึงจุดขายเมื่อผนวกกับราคาที่ถูกกว่ารายอื่น ประมาณ 3-17 สตางค์ต่อลิตรแล้วแต่ผลิตภัณฑ์ก็ยิ่งช่วยเสริมการขายเพิ่มขึ้น
"จะเห็นว่า เมื่อก่อนเราขายได้น้อย แต่เพราะเราพัฒนาคุณภาพขึ้นเรื่อยๆ
ทำให้ส่วนครองตลาดเพิ่มขึ้นทุกปี (โดยไม่รวมน้ำมันเตา)" แหล่งข่าวจาก
ปตท.อีกรายหนึ่งกล่าว
ภาพลักษณ์ ปตท.ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเสียเปรียบผู้ค้ารายอื่นอย่างมากในอดีต
เมื่อเปิดเสรีตลาดน้ำมันค้าปลีกแล้ว ได้กลับมาเป็นข้อได้เปรียบที่เลื่อนเคยวิเคราะห์ไว้
อันเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้เลื่อนมั่นใจว่า ปตท.จะเป็นกลไกที่นำเรื่องราคาลอยตัวได้
ตลอดช่วงที่ผ่านมา ทุกค่ายจะมุ่งตลาดกรุงเทพฯ และรอบปริมณฑลเป็นหลัก ตลาดน้ำมันกรุงเทพฯ
และภาคกลางคิดเป็น 40% และตลาดต่างจังหวัดคิดเป็น 60% ของทั่วประเทศ
โดยเฉพาะเชลล์มีปั๊มในกรุงเทพฯ มากที่สุด ขณะที่ ปตท.มีปั๊มในกรุงเทพฯ น้อยที่สุด
แต่จะมีปั๊มทั่วประเทศมากที่สุดประมาณ 1,200 แห่ง ส่วนใหญ่กระจายอยู่ต่างจังหวัด
ซึ่งเดิมขยายตัวน้อยทำให้ปั๊ม ปตท.เกิดจุดอ่อนในกรุงเทพฯ ส่วนหนึ่งที่ผ่านมารัฐบาลไม่ต้องการให้
ปตท.ลงทุน ซึ่งขณะนี้ได้เปิดให้ ปตท.ลงทุนปั๊มน้ำมันเองได้มากขึ้น พร้อมกับปรับโฉมหน้าปั๊มทั่วประเทศไล่แข่งค่ายอื่นได้อย่างถึงพริกถึงขิง
ขณะเดียวกัน เลื่อนมองว่าฐานตลาดน้ำมันต่างจังหวัดยังเล็ก มีโอกาสโตมาก
เมื่อเปิดเสรีเรื่องราคา ทำให้ ปตท.กลายเป็นแชมป์ตลาดน้ำมันทั่วประเทศ แม้ว่าจะแพ้ในตลาดกรุงเทพฯ
ก็ตาม
นอกจากนี้ตลาดน้ำมันที่ทวีการแข่งขันสูงขึ้น ยังทำให้เกิดพันธมิตรทางการค้าขึ้นด้วย
จากเดิมที่มีเชลล์ ปตท.เอสโซ่และคาลเท็กซ์ ซึ่งต่างคนต่างขายภายใต้นโยบายควบคุมราคาของรัฐบาล
แต่เดี๋ยวนี้สถานการณ์เปลี่ยนไปแล้วอย่างสิ้นเชิง..!
ไม่ว่าจะเป็นบางจากฯ ซึ่งลงตลาดค้าปลีกก็เป็นพันธมิตรในการขายส่งน้ำมันให้บีพี
คิว 8 นับตั้งแต่เริ่มเข้าสู่ตลาดน้ำมันไทย หรือรับจ้างเอสโซ่กลั่นน้ำมัน
พร้อมกันนั้น ก็ยังมีการโยกบุคลากรข้ามข่ายกันอย่างเด่นชัด จากเดิมที่ 3
ค่ายบริษัทน้ำมัน เชลล์ เอสโซ่และคาลเท็กซ์ มีข้อตกลงกันกลายๆ ว่าจะไม่แย่งตัวซึ่งกันและกัน
หมายความว่าใครที่ออกจากบริษัทหนึ่งใน 3 ค่ายนี้ก็เป็นอันหลุดโคจรตรงนี้ไปเลย
ต่างกับปัจจุบัน เมื่อตลาดน้ำมันโตวันโตคืน ความต้องการกำลังคนมากขึ้น มีการโยกบริษัทเจ้าเก่าไปอยู่บริษัทน้ำมันใหม่ๆ
ใครที่เกษียณก็จะได้รับการทาบทามไปอยู่บริษัทใหม่ เช่น ประยูร คงคาทอง ผู้จัดการฝ่ายตลาดของเอสโซ่
เมื่อเกษียณก็ไปช่วยบริหารที่สยามสหบริการก่อนที่จะลาออกไป เป็นต้น
"ทำให้แต่ละบริษัทพยายามปรับโครงสร้างและสวัสดิการอะไรต่างๆ เพื่อสร้างแรงจูงใจและรักษาคนเดิมไว้ให้ได้มากที่สุด
เพราะถ้าคนของตนไปอยู่บริษัทอื่น นั่นหมายถึงข้อมูลและการยุทธ์ที่จะรั่วไหลออกไปด้วย"
หลายฝ่ายในวงการตั้งข้อสังเกต
เพราะถ้าใครเพลี่ยงพล้ำต้องเสียกำลังสำคัญไป ย่อมหมายถึงอนาคตของผู้ค้าแต่ละรายด้วยเช่นกัน
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแข่งขันที่มิได้จำกัดอยู่เฉพาะตลาดไทยเท่านั้น แต่หมายถึงตลาดต่างประเทศไม่ว่าจะเป็นอินโดจีนหรือจีน
แนวโน้มตลาดน้ำมันใหม่ของกลุ่มผู้ค้าต่างๆ ทำให้เกิดพันธมิตรในตลาดนอกด้วยพร้อมกันไป
สัญญาณเหล่านี้ได้กลายเป็นตัวบอกแนวโน้มใหม่ของตลาดน้ำมันที่จะเกิดขึ้นในอีก
10 ปีข้างหน้าได้ค่อนข้างชัดเจน..!
จุดเน้นเรื่องคุณภาพน้ำมันเพื่อสิ่งแวดล้อมยังคงจะเป็นจุดขายที่สำคัญต่อไป
รวมถึงการให้บริการที่จะเป็นศูนย์บริการเสร็จสรรพในรูปของมินิมาร์ท หรือคอนวีเนียนสโตร์ที่แต่ละค่ายกำลังทำอยู่
รวมถึงปั๊มน้ำมันที่ให้บริการตัวเองหรือการสร้างความสัมพันธ์เชิงธุรกิจกับกลุ่มผู้ค้าอื่น
เช่น เซเว่นอีเลฟเว่น พีทีทีมินิมาร์ท เป็นต้น
"ต่อไปคุณภาพจะแข่งขันหนักและมีจุดเพิ่มความสำคัญคือเรื่องราคา และการบริการ
ดังนั้นแต่ละรายคงต้องหาทางลดต้นทุนเพื่อขายน้ำมันคุณภาพดีราคาถูก"
เลื่อนชี้ถึงภาพตลาดน้ำมันที่จะเกิดขึ้น
ถ้าแยกมองตลาดกรุงเทพฯ เชื่อกันว่า ต่อไปเรื่องแบรนด์จะมีความหมายน้อยลงเรื่อยๆ
เพราะปัญหาจราจรที่ติดขัดมากขึ้น และเมื่อแต่ละค่ายมุ่งผลิตน้ำมันที่มีคุณภาพสูง
ผู้ใช้อาจเลือกเติมจากปั๊มใดปั๊มหนึ่งก็ได้ที่สะดวก และมีแนวโน้มว่าปั๊มน้ำมันจะย้ายทำเลจากริมถนนใหญ่เหมือนทุกวันนี้
ไปบริการตามซอยตามหมู่บ้าน ส่วนตลาดต่างจังหวัด ความภักดีต่อยี่ห้อนั้นๆ
จะยังสูงในช่วง 10 ปีข้างหน้า
สำหรับน้ำมันเบนซิน ตัวยูแอลจีจะเป็นตลาดที่สอดคล้องกับการขยายตัวของรถยนต์
และกฎใหม่ที่กำหนดให้ตั้งเครื่องกรองไอเสียสำหรับรถใหม่มากยิ่งขึ้น
"แต่เรื่องค่าออคเทนจะเริ่มอิ่มตัว ที่รัฐกำหนดไว้แค่ 95 ตอนนี้เล่นกันไปถึง
97-98 ช่องทางที่จะเล่นกันมากสำหรับเบนซินน่าจะเป็นการเติมสารแอดดิทีฟ เช่น
สารเพิ่มออกซิเจน สารชะล้างลดคราบเขม่า เป็นต้น" แหล่งข่าวจากยักษ์น้ำมันเจ้าเก่าอธิบายถึงจุดขายของเบนซินพิเศษในอนาคต
ส่วนดีเซล ซึ่งลูกค้าส่วนใหญ่อยู่ในภาคขนส่งกว่า 50% นั้น ต่อไปจะเห็นการแปรโฉมด้านสเปกและคุณภาพที่ป้องกันมลพิษมากที่สุด
และมีแนวโน้มที่จะเจาะตลาดด้วยวิธีขายตรงบริการถึงที่
เช่น เชลล์ได้จีบค่ายโค้กและเป๊ปซี่ให้เป็นลูกค้าประจำ โดยติดตั้งและจ่ายน้ำมันให้ถึงอู่
ต่อไปคงจะเป็นการเจาะกลุ่มรถเมล์และรถโดยสารต่างจังหวัด
ตลาดน้ำมันของแต่ละค่ายจะไม่จำกัดอยู่เฉพาะในประเทศ แต่จะหมายถึงภูมิภาคนี้ที่แต่ละฝ่ายเริ่มรุกเข้าไปอย่างรวดเร็ว..!
ปตท.ดูจะรุกหนักในการก้าวไปสู่อินเตอร์ตามโลโก้ใหม่ว่า "พีทีที"
แทนคำว่า ปตท.อย่างเก่าเข้าไปยังตลาดลาว เวียดนามกัมพูชา กำลังเตรียมแผนเปิดตลาดค้าปลีกกับไซโนเปค
ซีพีเพื่อเปิดขายน้ำมันยี่ห้อใหม่ การร่วมทุนตั้งโรงกลั่นในจีน เป็นต้น
ขณะที่จีนและอินโดนีเซีย ผู้ผลิตน้ำมันดิบรายใหญ่ในเอเชียจะมีบทบาทมากขึ้น
เพราะความต้องการใช้น้ำมันในเอเชียมากกว่าปริมาณน้ำมันดิบที่ขุดได้ในภูมิภาคนี้
แหล่งสำรองในเอเชียสนองดีมานด์ภูมิภาคนี้ได้ประมาณ 44% ที่เหลือยังนำเข้าจากตะวันออกกลาง
และช่วงสิ้นทศวรรษนี้ การใช้น้ำมันแถบนี้ในปัจจุบันจาก 13.8 ล้านบาร์เรลต่อวันจะเพิ่มเป็นประมาณ
20 ล้านบาร์เรลต่อวัน
โดยเฉพาะการที่ยักษ์น้ำมันเชลล์ โมบิล เอสโซ่ มีแผนลงทุนในสิงคโปร์ หรือแม้แต่บีพีที่ขาดทุนอยู่ก็กำลังทุ่มสร้างโรงกลั่นที่สิงคโปร์
ขณะที่แนวโน้มธุรกิจน้ำมันในซีกโลกตะวันตกกำลังลดลงและชะงักงัน นับเป็นปรากฏการณ์ที่ชี้ให้เห็นถึงการย้ายฐานธุรกิจน้ำมันมาสู่เอเชียอย่างเต็มรูปแบบมากขึ้น
ยิ่งเมื่อรัฐบาลจะเปิดใช้นโยบายโรงกลั่นเสรีในปี 2543 เชื่อแน่ว่าจะยิ่งทำให้ตลาดน้ำมันเข้มข้นเป็นเท่าทวี
และภายใน 10 ปีนี้จำนวนปั๊มที่มีอยู่ร่วม 4,000 แห่งจะเพิ่มเป็นหมื่นแห่งทั่วประเทศ
"คงเฉือนกันมันหยด ถึงตอนนั้นก็จะพิสูจน์เองว่าใครแน่จริงก็อยู่ได้
ส่วนใครที่ไม่แน่จริงก็ต้องพับไป กลไกตลาดจะเป็นตัวจัดความสมดุลให้ผู้บริโภคได้ประโยชน์จากการแข่งขันโดยปริยาย"
แหล่งข่าวจาก ปตท.และบริษัทรายอื่นกล่าวไปในทิศทางเดียวกัน
"ประการสำคัญ นักการเมืองที่ขึ้นมาบริหารประเทศ ไม่ควรย้อนคิดกลับไปใช้นโยบายคุมราคาอย่างเก่าดังที่เป็นข่าว
ความจริงไม่ต้องกลัวว่าบริษัทน้ำมันจะขาดทุน เพราะกลไกตลาดจะเป็นตัววัดประสิทธิภาพขององค์กรนั้นเองว่าเป็นอย่างไร
ปตท.เองก็ยังต้องแตกตัวออกไปในรูปของบริษัทเพื่อความคล่องตัวยิ่งขึ้น และเชื่อว่าถ้าพัฒนาไปในทิศทางนี้แล้ว
เมื่อถึงจุดหนึ่งที่มีการแข่งขันอย่างสมบูรณ์แล้ว บทบาท ปตท.ก็จะคอยลดลงด้วย"
แหล่งข่าวระดับสูงซึ่งรู้จักปตท.และบางจากฯ ดีกล่าวถึงแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นในวันข้างหน้า
ณ วันนี้ ความฝันของเลื่อนเริ่มเป็นจริงเมื่อ ปตท.ขึ้นมาเป็นที่หนึ่ง แต่การรักษาแชมป์นั้นยากกว่าการเป็นแชมป์..!
คงต้องจับตาดูกันต่อไปว่า ปตท.จะมีกลยุทธ์รักษาแชมป์ไว้ได้นานเท่าใด…?