ก้าวใหม่ ปตท.สผ. ขุดเองเจาะเอง


นิตยสารผู้จัดการ( กันยายน 2537)



กลับสู่หน้าหลัก

ปีหน้า บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด หรือ ปตท.สผ. จะมีอายุครบ 10 ปี ในช่วงเวลาหนึ่งทศวรรษที่ผ่านมา ปตท.สผ. พัฒนาตัวเองจากจุดเริ่มต้นด้วยการเข้าไปถือหุ้นในโครงการสำรวจ-ผลิตน้ำมันดิบและแก๊สธรรมชาติของบริษัทน้ำมันต่างชาติ ค่อยๆ สร้างคนสะสมทุน มาจนถึงการเป็นเจ้าของแหล่งผลิต ซึ่งถือว่าเป็นสินทรัพย์ที่สำคัญในธุรกิจสำรวจ-ผลิตปิโตรเลียม และกำลังจะขยายตัวเป็นกิจการพลังงานในระดับภูมิภาคในอนาคตอันใกล้นี้

การสำรวจและผลิตปิโตรเลียม เป็นจุดเริ่มต้นของธุรกิจปิโตรเลียมทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการกลั่นน้ำมัน อุตสาหกรรมปิโตรเคมี ตลอดจนธุรกิจการขนส่งและโรงไฟฟ้า

การสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในประเทศไทยเพิ่งจะเริ่มต้นเมื่อ 20 กว่าปีที่ผ่านมานี้เอง แม้ว่าจะได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2464 โดยในปี 2514 ได้มีการออกพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 เพื่อกระตุ้นให้บริษัทน้ำมันต่างชาติที่มีประสบการณ์สูงเข้ามาสำรวจอย่างแท้จริง

โดยทั่วไปวงจรของธุรกิจนี้ เริ่มจากการสำรวจหาแหล่งซึ่งอาจใช้เวลา 2-3 ปี เมื่อพบแหล่งปิโตรเลียมที่จะพัฒนาเชิงพาณิชย์ได้ จึงจะเข้าไปพัฒนาการผลิต ในระยะนี้ผู้ดำเนินการจะต้องมั่นใจในการลงทุนระดับหนึ่ง จึงต้องติดต่อหาผู้ซื้อปิโตรเลียมไว้ล่วงหน้าและจัดทำสัญญาการซื้อขายระยะยาว ซึ่งระยะเวลาการผลิตจะขึ้นกับปริมาณสำรองที่ค้นพบ และปริมาณการผลิตจริงแต่ละปี โดยเฉลี่ยแล้วแหล่งปิโตรเลียมในไทยจะมีระยะเวลาการผลิตประมาณ 20 ปี การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยหรือ ปตท.คือผู้รับซื้อปิโตรเลียมรายใหญ่ที่สุดในประเทศ

ปิโตรเลียมที่ผลิตได้เกือบทั้งหมดถูกใช้ในประเทศ โดยมีปริมาณเพียง 1 ใน 3 ของความต้องการใช้โดยรวม ส่วนที่เหลือต้องนำเข้าจากต่างประเทศ

สัมปทานหนึ่งๆ อาจออกให้แก่ผู้รับสัมปทานรายเดียวหรือผู้รับสัมปทานตั้งแต่สองรายขึ้นไปก็ได้ เนื่องจากเป็นธุรกิจที่มีความเสี่ยงสูง ในการร่วมทุนจะมีบริษัทหนึ่งเป็นผู้ดำเนินการ (OPERATOR) แทนผู้อื่น ทั้งนี้ผู้ดำเนินการจะเป็นผู้กำหนดแผนการเงินที่จะเรียกเก็บจากผู้ร่วมทุนอื่นๆ (NON-OPERATOR) เพื่อนำมาใช้จ่ายในโครงการ ผู้ร่วมทุนจะมีส่วนตัดสินใจทางเทคนิคและทางการเงินผ่านตัวแทนในคณะกรรมการจัดการ โดยทั่วไปบริษัทน้ำมันหนึ่งๆ เมื่อสะสมประสบการณ์ได้พอสมควรแล้ว มักจะผันตัวเองไปเป็นผู้ดำเนินการเพื่อมีบทบาทมากยิ่งขึ้นในการจัดการและบริหารงาน


การก้าวกระโดดขึ้นทศวรรษใหม่ของ ปตท.สผ.

บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. ได้รับการจัดตั้งเมื่อเดือนมิถุนายน 2528 ในสมัยพลเอกเปรม ติณสูลานนท์เป็นนายก ซึ่งมี รท. ศุลี มหาสันทนะ ผู้ที่มีประสบการณ์ในวงการธุรกิจน้ำมันมาเป็นเวลายาวนาน รั้งตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายนกรัฐมนตรี ที่กำกับดูแลการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ในยุคอาณัติ อาภาภิรมเป็นผู้ว่าการโดยมีทุนจดทะเบียนเริ่มแรกเพียง 4 แสนบาท

มติคณะรัฐมนตรีให้จัดตั้ง ปตท.สผ. ขึ้นในเวลานั้น มีเป้าหมายเพื่อให้รัฐสามารถเข้าร่วมถือสัมปทานสำรวจและผลิตปิโตรเลียมได้ โดยมีหน่วยงานการบริหารอย่างอิสระ มีความคล่องตัวและประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจแข่งขันกับบริษัทน้ำมันต่างประเทศได้

แต่ในครั้งนั้น ปตท.ถือหุ้น 99.99 % ปตท.สผ. จึงมีฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจ เพิ่งจะเมื่อต้นปี 2531 ที่คณะรัฐมนตรีมีมติให้บริษัท ปตท.สผ. ดำเนินธุรกิจโดยไม่ต้องนำคำสั่ง กฎ ระเบียบ มติครม. ที่ใช้บังคับกับรัฐวิสาหกิจทั่วไปมาใช้บังคับ แต่ทั้งนี้ไม่รวมการปฏิบัติตามระเบียบการก่อหนี้ของประเทศ อย่างไรก็ตาม ในฐานะที่ยังคงเป็นรัฐวิสาหกิจอยู่ การลงทุนในโครงการริเริ่มใหม่ที่มีความสำคัญและใช้เงินทุนสูง ปตท.สผ. ยังคงต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐบาลอยู่ดี

วิเศษ จูภิบาล กรรมการผู้จัดการปตท.สผ. กล่าวกับ "ผู้จัดการ" ถึง ภารกิจของบริษัทว่า ปีที่ 10 ของ ปตท.สผ. ที่จะเข้ามาถึงในปีหน้า บทบาทและหน้าที่หลักคือ การผลักดันตัวเองขึ้นเป็น OPERATOR ชั้นนำในภูมิภาคนี้ ซึ่งต้องพร้อมด้วยบุคลากร เทคโนโลยี และเงินทุน

"อาจจะเรียกได้ว่าในช่วง 3-4 ปีแรกเป็นบริษัทกระดาษด้วยซ้ำแต่เราได้ทยอยเพิ่มทุนมาเรื่อยๆ เพื่อนำไปดำเนินโครงการต่างๆ" วิเศษกล่าว

กลางปี 2531 บริษัทเพิ่มทุนอีก 500 ล้านบาท เพื่อเข้าซื้อสิทธิสัมปทานคืนจากบริษัทเท็กซัสแปซิฟิคในแปลงสำรวจ 14-15-16-17 ในอ่าวไทยนอกชายฝั่งทะเลจังหวัดสงขลา ครั้งนั้น ปตท.สผ. ต้องจ่ายเงินค่าสิทธิสัมปทานประมาณ 2,231 ล้านบาท

พฤษภาคม 2533 ปตท.สผ. ได้เพิ่มทุนเป็น 2,200,400,000 บาท รองรับโครงการบงกชและการเข้าร่วมถือหุ้นในโครงการยูโนแคล 3

การขยายตัวอย่างมากของปตท.สผ. เริ่มในช่วงปี 2535-36 ก่อนหน้านั้นเมื่อเดือนสิงหาคม 2533 ได้จัดตั้งบริษัท ปตท.สผ. (พม่า) ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น ปตท.สผ. อินเตอร์เนชั่นแนล โดยมีทุนจดทะเบียน 10 ล้านบาท เพื่อร่วมลงทุนกับยูโนแคล (พม่า) ยูโนแคล (แคนาดา) และปิโตรแคนาดา (พม่า) ในสัดส่วน 10% เพื่อสำรวจแปลง F ภาคกลางของพม่า เขตเมืองสาลิน และที่สุดต้นปี 2535 ก็สรุปได้ว่าไม่มีศักยภาพพอในเชิงพาณิชย์ ผู้ร่วมทุนทุกฝ่ายจึงยกเลิกสัญญาสำรวจ

ปี 2535 ได้จดทะเบียนแปรสภาพเป็นบริษัทมหาชนเพื่อสามารถระดมทุนจากประชาชนทั่วไปได้ ปีต่อมาเพิ่มทุนโดยออกหุ้นสามัญเพิ่มทุน 50 ล้านหุ้นในราคาหุ้นละ 130 บาท คิดเป็นร้อยละ 16.13 ของจำนวนหุ้นที่เรียกชำระแล้วทั้งหมด ทั้งนี้ได้เงินจากการขายหุ้นเพิ่มทุนประมาณ 6,500 ล้านบาท เพื่อไปลงทุนในโครงการสำคัญคือ บงกช บี 12/27 และโครงการอื่นๆ ในเดือนมิถุนายน 2536 ก็ได้รับอนุญาตจากสำนักงาน ก.ล.ต. เข้าเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ช่วงเดียวกันนี้ ปตท.สผ. ได้ซื้อกิจการบริษัทในกลุ่มบริติชปิโตรเลียม (BP) ซึ่งถือสิทธิแปลงสัมปทาน BP 1 และ B 12/27 ใช้เงินทั้งสิ้นประมาณ 44 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 1,100 ล้านบาท) ปตท.สผ. ได้ยุบบริษัทเคเคดีที่ถือสิทธิสัมปทาน บี 12/27 มาเป็นของ ปตท.สผ. และยุบบริษัททวีเอสเอฟซึ่งถือสิทธิโครงการบีพี 1 100% โอนให้ ปตท.สผ. พม่าซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น ปตท.สผ. อินเตอร์เนชั่นแนลและเพิ่ม่ทุนจาก 10 ล้านเป็น 600 ล้านบาท บริษัทนี้ได้เริ่มงานในฐานะ "ผู้ดำเนินงานสำรวจและผลิตปิโตรเลียม" (OPERATOR) อย่างสมบูรณ์ในโครงการ PTTEP - 1 ด้วยอัตราการผลิตเฉลี่ยวันละ 1,100 ล้านบาร์เรล

วิเศษ ซึ่งเป็นลูกหม้อเก่าของ ปตท.ที่ลุกจากตำแหน่งล่าสุดของตนที่นั่นคือ ตำแหน่งผู้ช่วยผู้ว่าการมานั่งเป็นกรรมการผู้จัดการที่บริษัทใหม่ที่อยู่ตึกเดียวกัน เรียกความเคลื่อนไหวนี้ว่าเป็นก้าวกระโดด "คือการเป็นผู้ดำเนินการในแหล่งน้ำมันบนบกด้วยการซื้อสัมปทานบีพีเพื่อมาพัฒนาตนเอง ในขณะเดียวกันการเป็นบริษัทมหาชนก็เพื่อระดมทุน ทุกอย่างเป็นการเตรียมการสำหรับปี 2538 ที่จะรับผิดชอบโครงการใหญ่และการลงทุนเพิ่มเติมที่จะตามมา"

ด้วยวิสัยทัศน์ที่ ปตท.สผ. อยากจะบรรลุในการเป็นบริษัทสำรวจและผลิตปิโตรเลียมชั้นนำในภูมิภาคนี้ ที่มีขีดความสามารถในการดำเนินการให้มีประสิทธิผลและกำไร อย่างตระหนักถึงความปลอดภัยและการป้องกันรักษาสิ่งแวดล้อม และเป็นที่ยอมรับและเชื่อถือของบริษัทนานาชาติ ที่จะเข้ามาร่วมลงทุนในโครงการปิโตรเลียมทั้งในไทยและภูมิภาค ปตท.สผ. ได้พัฒนาตัวเองจากการเป็นผู้ร่วมทุนที่ถือสิทธิส่วนน้อยในช่วงต้นๆ ของการดำเนินงาน เป็นผู้ดำเนินโครงการในขั้นตอนต่างๆ ตั้งแต่การสำรวจและประเมินผล ขั้นการผลิต มาจนถึงเป็นผู้ถือสิทธิหลักและดำเนินโครงการพัฒนาปิโตรเลียม ทั้งในและต่างประเทศหลายโครงการ

ปัจจุบัน ปตท.สผ. มีทุนจดทะเบียน 3,100 ล้านบาท สัดส่วนหนี้สินต่อทุน 6 : 1 นอกจากการเพิ่มทุนแล้ว ปตท.สผ. ยังกู้เงินมาทำโครงการใหม่ๆ ที่ผ่านมาการกู้เงินแล้ว 2 ครั้ง ครั้งแรกเป็นโปรเจ็คไฟแนนซ์มูลค่า 180 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากอินดัสเตรียลแบงก์ออฟเจแปน (IBJ) เพื่อมาทำโครงการบงกชเป็นเงินกู้ประเภท NON-RECOURSE และอัตราดอกเบี้ย LIBOR+.5

ครั้งที่สองเป็นการกู้เงินระยะสั้น 3 ปี ไม่ต้องมีค้ำประกัน จากซันวาแบงก์และไอบีเจ เป็นเงิน 70 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

"ทั้งสองกรณีไม่มีปัญหาเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน เพราะกู้เป็นดอลลาร์หมดสัมพันธ์กับราคาขายก๊าซซึ่งได้เป็นบาท นอกจากนี้ยังจะมีรายได้จากบงกชและบี 12/27 ที่จะเข้ามามกราคมปีหน้า ส่วน JDA นั้นคงจะมีรายได้เข้ามาหลัง 2543" วิเศษ ผู้ว่า ปตท.สผ. คนที่สองกล่าว

"JDA" (JOINT DEVELOPMENT AREA) ที่เขาพูดถึงคือ พื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซียในทะเล

ธุรกิจของ ปตท.สผ. เป็นธุรกิจที่ใช้เงินลงทุนสูง ใช้เครื่องจักรและเทคโนโลยีที่ทันสมัย ดังนั้นบุคลากรต้องมีคุณภาพ ปัจจุบันขนาดพนักงาน 240 คน จำนวนระดับเทคนิเชียนมีไม่มากนัก มีจำนวนเด็กรุ่นใหม่มากขึ้น วิเศษกล่าวว่าเขาต้องการทำอย่างมืออาชีพ ในแง่ของบริษัท แม้จะมีชื่อและรูปร่างหน้าตาคล้ายรัฐวิสาหกิจอยู่

วิเศษ กล่าวว่า ในด้านการวิจัยและพัฒนา บริษัทได้ทำการวิจัยและพัฒนา ในรูปแบบข้อมูลและศักยภาพทางธรณีวิทยาในแต่ละแหล่งผลิตที่เห็นว่าน่าสนใจ โดยรวบรวมข้อมูลดังกล่าวไว้ใช้เป็นฐานข้อมูลในการตัดสินใจเข้าลงทุนในแต่ละแหล่ง ซึ่งในการวิเคราะห์วิจัยและพัฒนาข้อมูลดังกล่าว บริษัทต้องลงทุนค่าใช้จ่ายในอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ค่อนข้างสูง ในช่วงปี 2534-36 บริษัทได้ลงทุนในรูปของอุปกรณ์และบุคลากร คิดเป็นเงินประมาณ 88.5 ล้านบาท

"เรื่องคนนั้นเราเน้นมาก เราได้โอนย้ายคนเข้าไปช่วยประมาณ 20 กว่าคนในโทเทลมาปีกว่าแล้ว นอกจากนี้ยังมี ON THE JOB TRAINING ในบริษัทร่วมทุนอื่นๆ อีก เช่น เชลล์ เอสโซ่ รวมทั้งบริษัทรับเหมาที่เข้ามาทำการขุดเจาะ รวมไปถึงการอบรมภายในองค์กร สิ่งที่เราทำควบคู่กันไปคือการไปรับสมัครนักศึกษาที่ใกล้จบทั้งในประเทศและต่างประเทศ ปัจจุบันอัตราการลาออกของพนักงานยังนับว่าไม่มากนัก คือประมาณ 2-2.5% ส่วนใหญ่เป็นพวกที่มีอายุงาน 1-2 ปี และขอลาไปศึกษาต่อมากกว่าจะย้ายงาน" วิเศษกล่าว

การพัฒนาธุรกิจ เทคโนโลยี และบุคลากรดังกล่าว เป็นส่วนหนึ่งของการเตรียมบริษัท สำหรับการรับมอบการดำเนินงานโครงการบงกชต่อจากโทเทลในปี 2541 ซึ่งจะเป็นการดำเนินโครงการผลิตก๊าซธรรมชาติในทะเลโครงการแรกของ ปตท.สผ. ที่มีความซับซ้อนมากกว่าโครงการอื่นๆ การก้าวไปสู่การเป็นผู้ดำเนินโครงการบงกช จะเป็นบทพิสูจน์ที่ดีถึงความเป็นบริษัทมืออาชีพ ที่มีความสามารถทัดเทียมกับบริษัทสำรวจและผลิตนานาชาติของ ปตท.สผ. ความสามารถในการแข่งขัน : ฐานสินทรัพย์ที่แน่นหนา

นอกจากความพร้อมที่ ปตท.สผ. ในฐานะบริษัทของรัฐได้พัฒนาจนมีศักยภาพอยู่ในระดับหนึ่งแล้ว ปตท.สผ. ยังมีศักยภาพในการแข่งขันด้านอื่นๆ อีกด้วยโดยเฉพาะเรื่องสินทรัพย์ที่แม้จะเพิ่งเริ่มต้นแต่ก็เป็นการเริ่มต้นที่ไปได้ดี

"เราค่อนข้างได้เปรียบในภูมิภาคนี้ เพราะมีพันธมิตรที่ดี เราใกล้ชิดกับบริษัทมาเลย์และเวียดนามในแง่ปฏิบัติการและนโยบาย นอกจากนี้ ธุรกิจนี้ใครหาแหล่งน้ำมันได้จะเป็นสินทรัพย์สำคัญ เป็นผลดีต่อบริษัทในระยะยาว ซึ่งขณะนี้ ปตท.สผ. มีแล้ว คือแหล่งเมาะตะมะและ JDA"

และถ้าพิจารณาจากปริมาณสำรองปิโตรเลียมหลังจากตัวเลขกลางปีนี้ผ่านไป (เปรียบเทียบกับตาราง) ปตท.สผ. แม้จะยังอยู่ในอันดับ 2 แต่มีสัดส่วนที่มากขึ้น คือเป็น 23% เช่นเดียวกับโทเทลที่ขยับจากอันดับ 4 ขึ้นมาเป็นอันดับ 3

ขณะเดียวกัน แหล่งบงกชสามารถเร่งรัดการผลิตและนำก๊าซมาใช้ประโยชน์เป็น 350 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วันภายในปลายปี 2538 ซึ่งเร็วขึ้น 3 ปี จากสัญญาเดิมที่เคยกำหนดไว้ในเดือนตุลาคม 2541

"ช่วงปี 2000 เราจะเน้นโตในภูมิภาค ส่วนจะมองไปยังภูมิภาคอื่นหรือไม่เราไม่เกี่ยง แต่ขณะนี้เป้าอยู่ที่นี่ ความคุ้มค่าในการลงทุนที่นี่มีมากกว่าและเรามีจุดแข็งด้านการตลาด คือ ความต้องการมีสูงและไทยเป็นคนรับซื้อรายใหญ่เองด้วย ในแง่การร่วมทุนเราก็เป็นที่สนใจของบริษัทน้ำมันต่างชาติ" กรรมการผู้จัดการ ปตท.สผ. กล่าวอย่างมั่นใจในอนาคตของบริษัท

ปตท.สผ. มีกองทุนสำรวจแหล่งปิโตรเลียมเพื่อที่จะแสวงหาสินทรัพย์ใหม่ๆ เพราะแม้จะมีแหล่งพลังงานที่จะพัฒนาขึ้นมาใช้ได้เพียงพอ แต่วิเศษกล่าวว่านั่นเป็นเพียงสำหรับทศวรรษกว่าๆ เท่านั้น

มีการคาดการณ์กันว่าในอีก 3 ทศวรรษหน้าความต้องการใช้พำลังงานของประเทศจะมีมากกว่าปัจจุบันถึง 2 เท่า โดยได้คาดการณ์กันว่าประเทศไทยต้องมีการนำเข้าน้ำมันและผลิตภัณฑ์ในช่วงปี 2533-2542 62% ช่วงปี 2543-2552 80% และช่วงปี 2553-2562 90% ของปริมาณความต้องการใช้ปิโตรเลียมทั้งหมด ดังนั้นอุตสาหกรรมการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมจึงทวีความสำคัญมากขึ้น เพื่อรองรับปริมาณความต้องการดังกล่าวและสามารถทดแทนการนำเข้าได้บางส่วน

โครงการอนาคตที่มีศักยภาพใกล้เป็นจริง ได้แก่

โครงการพัฒนาแหล่งก๊าซเมาะตะมะ ที่พม่าเชิญชวน ปตท.สผ. ส่งข้อเสนอในการพัฒนาแปลงสำรวจ M-5 และ M-6 เพื่อผลิตก๊าซธรรมชาติเหลว ทาง ปตท.สผ. ได้วางแผนจะวางท่อก๊าซมาใช้เป็นเชื่อเพลิงผลิตกระแสไฟฟ้าในไทย จึงได้ยื่นข้อเสนอเป็นแกนนำลงทุนเมื่อเดือนธันวาคม 2533 และเจรจาของสิทธิร่วมทุนในโครงการไม่เกิน 30% โดยให้ ปตท.สผ. อินเตอร์ฯ เป็นผู้ร่วมทุน

2 ปีต่อมา พม่าเลือกบริษัทโทเทลเป็นผู้เข้ารับสัมปทานและเป็นผู้ดำเนินโครงการ (ถือ 52.5%) และต่อมาได้ยูโนแคลเป็นผู้ร่วมทุนเพิ่มในโครงการ (ถือหุ้น 47.5%)

โทเทลได้เจาะหลุมประเมินผล 4 หลุม ปัจจุบัน ปตท.กำลังเจรจาสัญญาซื้อขายก๊าซและ ปตท.สผ. เจรจา สัญญาซื้อขายก๊าซและ ปตท.สผ. เจรจาสัญญาร่วมทุนของโครงการ คาดว่าจะทำการผลิตก๊าซธรรมชาติได้ในปี 2541

ปตท.สผ. จะดำเนินการสร้างแท่นขุดเจาะ วางท่อจากแท่นผลิตมายังชายแดนไทยฝ่าย ปตท.จะลงทุนส่วนที่อยู่ในไทย ซึ่งขณะนี้ประเมินว่ามีปริมาณก๊าซสำรอง 5.7 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต ซึ่งถือว่ามีปริมาณมากเทียบกับยูโนแคลที่ผลิตมา 13 ปี รวมกัน 3 สัญญามีปริมาณสำรองที่ 2 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุตเท่านั้น

วิเศษยังได้กล่าวยืนยันว่าเรื่องชนกลุ่มน้อยในพม่านั้นไม่น่ามีปัญหามาก เพราะระยะทางที่จะวางท่อผ่านบ้องตี้ เหมืองปิล็อกเพียง 60-80 กม. "โครงการนี้จะมีผลกระทบต่อรัฐบาลพม่ามหาศาลเพราะจะก่อให้เกิด ECONOMIC TAKE-OFF จากเงินตราต่างประเทศที่ได้ ดังนั้นรัฐบาลเขาจึงรับประกันความปลอดภัยเท่าที่จะทำได้ อีกอย่างเส้นทางวางท่อไม่ค่อยผ่านย่านอยู่อาศัยแต่เป็นช่องเขามากกว่า"

พื้นที่คาบเกี่ยวไทย-เวียดนาม ขนาดพื้นที่ 6,405 ตร.กม. มีศักยภาพของก๊าซธรรมชาติสูงเนื่องจากอยู่ติดกับแหล่งบงกช ทางรัฐบาลทั้งสองประเทศเพิ่งจะกำหนดไหล่ทวีป ในระหว่างที่รอแนวทางจากหน่วยงานเกี่ยวข้อง อย่างกระทรวงต่างประเทศและกระทรวงอุตสาหกรรม ปตท.สผ. และปิโตรเวียดนามได้ร่วมกันจัดตั้ง JOINT TECHNICAL COMMITTEE ศึกษาศักยภาพปิโตรเลียมในทะเลในบริเวณที่จะร่วมกันพัฒนาในอนาคต บริษัทน้ำมันต่างชาติหลายรายก็สนใจที่จะร่วมลงทุนสำรวจและพัฒนา

"ถ้าพัฒนาได้ เราอาจจะต่อท่อเข้ามาขายยังไทย เพราะเวียดนามต้องการเงินตราต่างประเทศมากกว่าที่จะนำไปใช้เอง ซึ่งราคาปากบ่อจะขายได้สูงกว่า"

วิเศษปรารถนาที่จะเห็นการดำเนินโครงการพื้นที่นี้ตามรอบ JDA เป็นอย่างยิ่ง เพราะโครงการนี้ไม่เพียงแต่เป็นโครงการใหญ่ที่ดำเนินการระดับรัฐบาลร่วมกับรัฐบาล แต่ยังนับเป็นเรือธงของ ปตท.สผ. ที่ขยายธุรกิจไปสู่ภูมิภาค มหาธีร์ โมฮัมหมัด นายกรัฐมนตรีมาเลเซียเองยังถึงกับกล่าวว่าโครงการนี้ถือเป็นกรณีแรกในโลกก็ว่าได้ ที่ประเทศคู่กรณีสามารถแก้ปัญหาเรื่องพื้นที่คาบเกี่ยวได้

โครงการ B 6/27 อยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ร่วมกับไทยเชลล์ในแหล่งน้ำมันดิบนางนวลนอกชายฝั่ง จ.ชุมพร โครงการนี้ ปตท.สผ. ถือหุ้น 25%

สัมปทานในประทศรายใหม่ (THAILAND III) รัฐบาลได้ส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมนี้โดย พ.ร.บ. ปิโตรเลียมฉบับที่ 4 2532 ได้จูงใจบริษัทสำรวจและขุดเจาะน้ำมันโดยการลดการเสี่ยงของการลงทุน ด้วยการกำหนดอัตราค่าภาคหลวงเป็นขั้นบันได 5-15% ซึ่งลดลงจากเดิมอัตราคงที่ 12.5% นอกจากนี้ทางกรมทรัพยากรธรณียังได้ประกาศเขตสัมปทานปิโตรเลียม เปลี่ยนแปลงใหม่ขึ้นมาอีก 104 แปลง เป็นเนื้อที่รวมทั้งสิ้น 438,000 ตร. กม. และเมื่อปี 2534 กระทรวงอุตสาหกรรมได้ออกสัมปทานให้แก่บริษัทน้ำมันเอกชนจำนวน 12 สัมปทาน รวม 21 แปลงสำรวจทั้งบนบกและในทะเล ในจำนวนสัมปทานข้างต้น ปตท.สผ. ได้รับสิทธิเข้าร่วมทุนโดยตรง 15-20% จาก 4 สัมปทาน รวม 8 แปลง ปัจจุบันสัมปทานดังกล่าวนี้อยู่ระหว่างโครงการสำรวจช่วงปีสุดท้าย

ส่วนแหล่งในประเทศเพื่อนบ้านนั้น ที่กัมพูชามีแปลงสัมปทานในทะเล 7 แปลง ส่วนใหญ่ผู้ถือสิทธิเป็นญี่ปุ่น ฝรั่งเศส ออสเตรเลีย วิเศษกล่าวว่ามีแปลงว่างๆ อยู่แต่ไม่ดีนักจึงยังไม่รีบร้อนให้ความสนใจนัก

แหล่งทางด้านลาวนั้นมีฮันท์ออยล์และเอ็นเตอร์ไพรซ์ตลอดจนยูโนแคล โทเทล เชลล์เข้าไปสำรวจอยู่ แต่เนื่องจากเป็นลุ่มแอ่งโคราชด้วยกัน เมื่อทางไทยไม่พบมากนัก บริษัทต่างๆ จึงคิดว่าไม่น่าจะมีศักยภาพทางลาวมากนักเช่นกัน

อินโดนีเซียเป็นอีกจุดที่น่าสนใจเพราะเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่มีศักยภาพ แต่ทางไทยยังไม่ค่อยได้เข้าไปสัมพันธ์ด้วยเท่าไหร่ ที่นั่นมีคาลเท็กซ์เข้าไปทำก๊าซธรรมชาติเหลว และมีโทเทลเข้าไปแล้ว แหล่งส่วนใหญ่อยู่ทางสุมาตรา ซึ่งวิเศษบอกว่าอาจจะร่วมกับทางเพอร์ทามิน่า ซึ่งเป็นองค์กรด้านปิโตรเลียมของรัฐบาลอินโดนีเซียในการสำรวจและผลิต


เปรียบมวยเสมอชั้น

คู่เปรียบเทียบที่น่าจะเห็นภาพชัดน่าจะได้แก่บริษัทน้ำมันแห่งชาติของมาเลเซีย แม้ว่าในฐานะหนึ่งแล้วต้องจับมือกันเป็น CONSORTIUM พัฒนาแหล่งปิโตรเลียมในภูมิภาคนี้ร่วมกับบริษัทน้ำมันต่างชาติ แต่ในอีกสถานะหนึ่งต่างก็ต้องแข่งขันกันหาสินทรัพย์ด้วยเช่นกัน ศักยภาพของ ปตท.สผ. เมื่อเทียบกับบริษัทเพื่อนบ้านแล้วยังด้อยกว่า เพราะบริษัทแม่คือ ปิโตรนาสนั้นเป็นเจ้าของแหล่งทรัพยากรนั้นๆ ไม่ต้องขออนุญาตจากหน่วยงานใดอีก ผิดกับ ปตท.สผ. ที่ต้องขออนุญาตจากกรมทรัพยากรธรณีในกรณีพื้นที่บนบกในประเทศ หรือต้องขออนุมัติรัฐบาลในโครงการสัมปทานใหญ่ๆ นอกจากนี้แหล่งน้ำมันและแก๊สซึ่งถือเป็นสินทรัพย์สำคัญสำหรับธุรกิจสำรวจและผลิตนั้น ปตท.สผ. ไม่ได้เป็นเจ้าของแต่ผู้เดียว แต่เป็นหุ้นส่วนกับบริษัทต่างชาติ เพราะเพิ่งจะพัฒนาศักยภาพด้านทุนและเทคโนโลยีขึ้นมาไม่นานมานี้ ขณะเดียวกันพื้นที่ที่มีศักยภาพพอจะเป็นแหล่งสินทรัพย์ ก็ยังต้องรอการเจรจาระดับรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีก อาทิเช่น แหล่งคาบเกี่ยวเวียดนาม และแหล่งสัมปทานในกัมพูชา ซึ่งมีบริษัทต่างชาติเข้าไปสำรวจและพัฒนาอยู่บ้าง ขณะที่ปิโตรนาสนั้นมีความคืบหน้าและศักยภาพ ด้วยการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากรัฐบาลและกฎหมาย จึงสามารถบุกเข้าไปลุยในประเทศอินโดจีนได้

ล่าสุด ปิโตรนาสคาริกาลีขุดเจาะบ่อน้ำมันในทะเลที่ชื่อ RUBY PROSPECT อยู่ห่างจากหวุงเต่าทางตอนใต้ของเวียดนาม 155 กม. แหล่งนี้อยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของแหล่งบัคโฮหรือเสือขาวที่มีศักยภาพสูงสุดในตอนนี้ ทางผู้บริหารปิโตรนาสเองก็เชื่อว่าแหล่งนี้จะสามารถผลิตน้ำมันได้ใกล้เคียงกับที่บริษัทร่วมทุน ญี่ปุ่น-เวียดนามที่เข้ามาขุดเจาะวันละ 10,000-15,000 บาร์เรล

ศักยภาพทางตอนใต้ของเวียดนามนั้น ได้ชื่อว่าเป็นแหล่งที่มีศักยภาพสำหรับการขุดเจาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติมากที่สุด การค้นพบของมิตซูบิชิและปิโตรนาสในบริเวณบัคโฮและรง (มังกร) แสดงว่าบริเวณแถบนี้เชื่อมต่อกับแหล่งน้ำมันขนาดใหญ่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

นอกจากปิโตรนาสซึ่งมีสถานะและศักดิ์ศรีเทียบได้กับ ปตท.(และออกจะเหนือชั้นกว่า ปตท.) จะมีบริษัทลูกที่ทำหน้าที่ในการสำรวจและผลิตก่อนของไทยแล้ว ยังมีบริษัทลูกที่ทำหน้าที่เฉพาะด้านการตลาดและจัดจำหน่ายอีกด้วยคือบริษัท PETRONAS DAGANGAN ซึ่งเพิ่งจดทะเบียนในตลาดหุ้นมาเลย์เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา โดยมีบริษัทแม่ปิโตรนาสถือหุ้นอยู่เพียง 8% ส่วนปิโตรนาสคาริกาลีซึ่งทำหน้าที่สำรวจและผลิตนั้น ตั้งมาก่อนหน้า ปตท.สผ. ถึง 7-8 ปี

อย่างไรก็ตามในด้านการตลาดนั้น ปตท.สผ. ไม่มีปัญหา เพราะความต้องการใช้ในประเทศมากเมื่อเทียบกับความสามารถที่จะผลิตได้ ก๊าซธรรมชาตินำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงผลิตกระแสไฟฟ้าซึ่งมีอัตราความต้องการเพิ่มขึ้น 10% ต่อปี และเป็นการตกลงซื้อขายระยะยาว ซึ่งจะกำหนดวิธีการกำหนดสูตรราคาซื้อขายที่แน่นอนและปริมาณก๊าซที่ส่งมอบด้วย ทำให้ ปตท.สผ. สามารถควบคุมปริมาณการจำหน่ายได้ และเพราะ ปตท.ซึ่งเป็นผู้รับซื้อก๊าซธรรมชาติที่ผลิตในประเทศแต่เพียงผู้เดียว ได้ลงทุนวางท่อเป็นเงินจำนวนมาก จึงมีบทบาทสูงในการกำหนดปริมาณการรับซื้อ ให้สอดคล้องกับความต้องการใช้ก๊าซและความสามารถในการขนส่งก๊าซผ่านท่อ ณ ระยะเวลาใดเวลาหนึ่งเสมอ ปตท.สผ. เมื่อเป็น "ลูกในไส้" ของ ปตท.จึงได้เปรียบกว่าในการต่อรองเรื่องปริมาณการซื้อขายก๊าซที่จะต้องส่งผ่านท่อได้

อย่างไรก็ตาม ธุรกิจนี้มีความเสี่ยงสูง ในแง่ ปตท.สผ. จึงได้หาทางลดความเสี่ยงให้น้อยที่สุดด้วยหลักการดังนี้

1. กระจายความเสี่ยงในการลงทุน โดยการเลือกเข้าร่วมทุนในหลายโครงการ โครงการใดให้ผลตอบแทนมากและมีความเสี่ยงน้อย จะถือหุ้นมากเป็นต้น

2. ร่วมทุนกับบริษัทน้ำมันชั้นนำของโลก เช่น ไทยเชลล์ เอสโซ่ ยูโนแคล และโทเทล เพื่อลดความเสี่ยงในปัญหาทางเทคนิคและปัญหาด้านการเงินของบริษัทร่วมทุนเป็นสำคัญ "อย่างในปี 2541 ที่เราจะเข้าดำเนินโครงการบงกช ก็ไม่ได้ทำให้ความเสี่ยงของโครงการมากไปกว่าเดิม เพราะผู้ถือหุ้นโทเทลยังคงความช่วยเหลือทางเทคนิคที่ ปตท.สผ. ยังมีประสบการณ์ไม่เพียงพอเช่น R&D และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะสาขา เป็นต้น" วิเศษกล่าว

3. โครงการร่วมทุนในปัจจุบันส่วนใหญ่เป็นโครงการในประเทศ และการที่ ปตท.สผ. เป็นตัวแทนของรัฐในการดำเนินธุรกิจปิโตรเลียมจึงมีความมั่นคง และมีข้อได้เปรียบในด้านการติดต่อประสานงานกับหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง หลายครั้งที่ผ่านมา รัฐก็ให้ข้อเสนอ ปตท.สผ. ในการร่วมลงทุนได้เมื่อสำรวจพบปิโตรเลียมแล้ว

ในเรื่องของสิทธิการเข้าร่วมทุนในโครงการใหม่ๆ ที่รัฐเปิดให้สัมปทานนั้น ในอนาคต ยังมีปัญหาอยู่ว่า รัฐมิได้ระบุสิทธิในการร่วมทุนดังกล่าวเฉพาะกับ ปตท.สผ. ซึ่งหมายความว่าอาจมีการจัดตั้งวิสาหกิจแห่งใหม่ขึ้นมา เพื่อเป็นกลไกรัฐในการเข้าร่วมทุนสำรวจและผลิตเช่นเดียวกับ ปตท.สผ. ย่อมได้

ในเรื่องของการกู้เงินจากต่างประเทศ แม้ว่า ปตท.สผ. จะได้รับความเห็นชอบจากรัฐบาลให้มีการบริหารงานในรูปแบบเอกชนทั่วไป แต่การที่จะใช้เงินทุนจากต่างประเทศนั้น ยังต้องได้รับความเห็นชอบจาก ครม. ก่อน ซึ่งอาจทำให้เกิดความไม่คล่องตัวในการจัดหาแหล่งทุนเพื่อใช้ในกิจการได้

แต่เมื่อพิจารณาในอีกแง่หนึ่ง เท่ากับการกู้เงินจากต่างประเทศของ ปตท.สผ. เปรียบเสมือนการกู้จากรัฐบาล คือ มักได้รับสิทธิพิเศษมากกว่าการกู้เงินโดยเอกชน ไม่ว่าจะเป็นการคิดดอกเบี้ยในอัตราที่ต่ำกว่าหรือกำหนดระยะเวลาการใช้คืนที่ยาวนานกว่า นอกจากนี้ ปตท.สผ. ยังได้รับการยกเว้นภาษี ดอกเบี้ยหัก ณ ที่จ่ายสำหรับเงินกู้ต่างประเทศ

ข้อจำกัดประการหนึ่งของ ปตท.สผ. คือ การถือครองแปลงสัมปทานตาม พ.ร.บ.ปิโตรเลียมได้ไม่เกิน 5 แปลง ซึ่งปัจจุบันมีครบแล้ว บอร์ด ปตท.สผ. ก็ได้ช่วยแก้ปัญหา โดยการตั้งบริษัทลูกขึ้นมาได้ในกรณีที่ต้องการยื่นขอสัมปทานใหม่ ซึ่งบริษัทย่อยนี้จะมีสิทธิถือสัมปทานได้อีก 5 แปลง ปัจจุบัน ปตท.สผ. อินเตอร์ฯ ถือสัมปทานแล้ว 2 แปลง (PTTEP 1 และ B-14)

นี่คือโฉมหน้าของบริษัทสองร่างที่อยู่ใต้การสนับสนุนของรัฐ แต่สามารถดำเนินธุรกิจอย่างเอกชนได้ ในทศวรรษใหม่ที่กำลังจะเปลี่ยนโฉมหน้าของ ปตท.สผ. โชคและการรอคอยการสนับสนุนจากรัฐเพียงอย่างเดียว คงไม่ได้ช่วยให้สถานภาพของการแข่งขันทางธุรกิจในภูมิภาคนี้ดีขึ้นเพียงอย่างเดียว แต่การพัฒนาองค์กรและบุคลากรที่ผู้บริหาร ปตท.สผ. กล่าวอ้างนั้นต่างหาก ที่จะพิสูจน์ว่าบริษัทมีประสิทธิภาพที่จะยืนบนขาของตัวเอง เป็นบริษัทชั้นนำได้จริงแท้แค่ไหน



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.