ทีโอซีเซ็นร่วมทุน"ไทยอีท็อกซีเลท"ตั้งเป้าปีนี้โกยรายได้แตะ3หมื่นล้าน


ผู้จัดการรายวัน(11 มกราคม 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

"ทีโอซี" จับมือ "ค็อกนิสไทย" ตั้งบริษัทร่วมทุนไทยอีท็อกซีเลท ตั้งเป้าโกยรายได้ 2.5 พันล้านบาท หลังโรงงานเปิดผลิตในไตรมาส 4/49 เผยปีนี้ทีโอซีมีรายได้ถึง 3 หมื่นล้านบาท เนื่องจากมีกำลังการผลิตโอเลฟินส์เพิ่มขึ้นอีก 3 แสนตันในต้นปี 48

วานนี้ (10 ม.ค.) บริษัท ไทยโอเลฟินส์ จำกัด (มหาชน) ลงนามสัญญาร่วมทุนกับบริษัท ค็อกนิสไทย เพื่อจัดตั้งบริษัทร่วมทุนไทยอีท็อกซีเลท เพื่อผลิตสารแฟตตี้แอลกอฮอล์อีท็อกซีเลท มูลค่าโครงการ 20 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 800 ล้านบาท ขนาดกำลังการผลิต 5 หมื่นตัน คาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ไตรมาส 4 ปี 2549

นายอดิเทพ พิศาลบุตร์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยโอเลฟินส์ จำกัด(มหาชน)(ทีโอซี) กล่าวว่า บริษัทร่วมทุนดังกล่าวจะสร้างรายได้ประมาณปีละ 2,500 ล้านบาท หลังเปิดดำเนินการผลิตในปลายปี 2549 โดยจะเน้นจำหน่ายภายในประเทศเพื่อทดแทนการนำเข้า ซึ่งปัจจุบันไทยยังไม่มีโรงงานใดผลิต ส่วนกำลังการผลิตที่เหลือจะส่งออกไปยังประเทศแถบเอเชีย โดยอาศัยฐานการตลาดของค็อกนิส ประเทศเยอรมนี ที่เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายเคมีภัณฑ์ชนิดพิเศษมานานกว่า 160 ปี

ปัจจุบันความต้องการใช้สารแฟตตี้แอลกอฮอล์อีท็อกซีเลทในไทยมีประมาณ 2.5 หมื่นตัน/ปี ขณะที่ความต้องการใช้ในภูมิภาคเอเชียอยู่ที่ 1.6 ล้านตัน และทั่วโลกใช้อยู่ถึง 5.2 ล้านตันต่อปี ซึ่งสารแฟตตี้แอลกอฮอล์อีท็อกซีเลทจะนำไปใช้ผลิตสินค้าประเภทแชมพู สบู่เหลว น้ำยาซักล้างทำความสะอาดในครัวเรือนและอุตสาหกรรม รวมทั้งเครื่องสำอาง

โครงการดังกล่าวจะช่วยลดความเสี่ยงและรักษาระดับผลกำไรในช่วงขาลงของอุตสาหกรรมปิโตรเคมี เนื่องจากผลิตภัณฑ์ดังกล่าวไม่มีการผลิตในภูมิภาคนี้ และวงจรราคาแตกต่างไปทั้งเอทิลีน และโมโนเอทิลีน ไกลคอล (MEG)

นายอดิเทพ กล่าวต่อไปว่า ในปีนี้ บริษัทฯคาดว่าจะมีรายได้รวม 3 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่มีรายได้รวม 2.2 หมื่นล้านบาท เนื่องจากมีปริมาณกำลังการผลิตเอทิลีนส่วนขยายเพิ่มขึ้นอีก 3 แสนตัน/ปี ทำให้มีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นเป็นรวม 9.25 แสนตัน คาดว่าจะสามารถเดินเครื่องจักรได้ไม่น้อยกว่า 90% ของกำลังการผลิตรวม โดยราคาเอทิลีนปีนี้น่าจะทรงตัวในระดับสูง 800-900 เหรียญสหรัฐต่อตัน และมีสเปดราคาระหว่างวัตถุดิบกับราคาผลิตภัณฑ์เอทิลีนอยู่ที่ 400 เหรียญสหรัฐต่อตันใกล้เคียงกับสเปดราคาในปีก่อน

ในปี 2549 คาดว่ารายได้ของบริษัทจะเติบโตอย่างก้าวกระโดด เนื่องจากโรงงาน EO/EG จะก่อสร้างเสร็จและสามารถเดินเครื่องผลิตได้ไตรมาส 2/49 และโครงการขยายคอขวดอีก 250,000 ตันต่อปี จะเสร็จในไตรมาส 3/49 ซึ่งวัฏจักรปิโตรเคมียังมีแนวโน้มที่ดีต่อไปอีก 1-2 ปีข้างหน้า

นายอดิเทพ กล่าวว่า บริษัทได้กู้เงินจำนวน 75 ล้านเหรียญสหรัฐหรือประมาณ 3 พันล้านบาท เมื่อเร็วๆ นี้ เพื่อนำไปใช้คืนเงินกู้ที่จะครบกำหนดชำระคืนในปีนี้ประมาณ 2.48 พันล้านบาท ที่เหลือบริษัทจะนำไปเป็นเงินทุนหมุนเวียน โดยเงินกู้จำนวนดังกล่าวมีอายุ 5 ปี อัตราดอกเบี้ยลอยตัวไลบอร์ + 0.66% และกำหนดเพดานดอกเบี้ยจ่ายสูงสุดไว้ไม่เกิน 5% เพื่อรักษาสัดส่วนหนี้สินต่อทุนไม่ให้ต่ำเกินไป โดยหลังกู้เงินดังกล่าวจะมีอัตราหนี้สินต่อทุนอยู่ที่ 0.5 เท่า ซึ่งการกู้เงินเป็นเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯครั้งนี้ยังช่วยทำให้บริษัทฯ สามารถบริหารความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนของบริษัทฯได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ภายใต้ภาวะอัตราแลกเปลี่ยนที่ผันผวนในปัจจุบัน


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.