|

ผู้ค้าก๊าซหุงต้มหดเหลือ3ค่ายรายย่อยจี้รัฐคุมหวั่นค้าไม่เสรี
ผู้จัดการรายวัน(7 มกราคม 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
ผู้ค้าก๊าซหุงต้มรายย่อยหวั่นซ้ำรอยห้างค้าปลีกยักษ์ หลังผู้ค้ารายใหญ่ในประเทศควบรวมกิจการเหลือเพียง 3 ค่าย "ปตท.-ปิคนิคแก๊ส-สยามแก๊ส" เหตุรัฐเตรียมลอยตัวราคากลางปีนี้ เกรงถูกบีบค่าการตลาด และการค้าไม่เสรีแท้จริง วอนรัฐออกกฎคุมให้เกิดความเป็นธรรมทุกด้าน ขณะที่สนพ. แจงแม้จะเหลือเพียง 3 ราย แต่ใช้ปตท.เป็นกลไกดูแลราคาได้แน่
นายสุรชัย รุ่งโรจน์งามเจริญ นายกสมาคมก๊าชปิโตรเลียมเหลว เปิดเผยว่า จากกรณีที่ผู้ค้าก๊าซหุงต้มในประเทศรายใหญ่มีการรวมกิจการกัน จนทำให้เหลือผู้ประกอบการรายใหญ่เพียง 3 รายประกอบด้วย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) บริษัท อุตสาหกรรมแก๊สสยาม จำกัด (สยามแก๊ส) และ บริษัท ปิคนิคแก๊ส แอนด์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) และกรณีที่รัฐบาลกำลังพิจารณาจะลอยตัวราคาก๊าซหุงต้ม ในกลางปี 2548 นั้น ทางผู้ค้าปลีกก๊าซหุงต้มรายย่อยจะต้องเร่งปรับตัวเพื่อรองรับกับสถานการณ์การแข่งขันที่คาดว่าจะรุนแรงมากยิ่งขึ้นเพราะแนวโน้มค่าการตลาดคาดว่าจะต่ำกว่าปัจจุบันที่อยู่ระดับ 1.50 บาทต่อกิโลกรัม
"ผู้ค้าปลีกรายย่อยจะได้รับแรงกดดันมากขึ้นจากรายใหญ่เพราะต่อไปจะต้องจำหน่ายก๊าซหุงต้มภายใต้แบรนด์เดียวเท่านั้น และการรวมตัวของผู้ค้ารายย่อยก็อาจทำให้เกิดการฮั้วราคากันมากขึ้น เกิดการผูกขาดการจัดจำหน่าย ไม่ก่อให้เกิดการค้าแบบเสรีตามนโยบายของรัฐบาล ขณะเดียวกันก็จะเป็นการผูกมัดประชาชนให้มีทางเลือกในการใช้สินค้าในจำนวนจำกัด เช่นเดียวกับกรณีที่เกิดขึ้นกับห้างค้าปลีกรายใหญ่เช่น บิ๊กซี โลตัสมาแล้ว" นายสุรชัยกล่าว
อย่างไรก็ตาม สมาคมฯอยู่ระหว่างการศึกษาถึงแนวทางการออกกฎหมายควบคุมการจำหน่ายก๊าชหุงต้มจากกรมธุรกิจพลังงาน กระทรวงพลังงาน ก่อนที่จะมีการประกาศลอยตัวราคาก๊าชหุงต้มในช่วงกลางปี 2548 นี้ เนื่องจากตามกฎหมายใหม่ร้านค้าปลีกที่มีปริมาณก๊าชหุงต้มตั้งแต่ 100 กิโลกรัมขึ้นไปต้องแจ้งการจดทะเบียนต่อกรม ธุรกิจพลังงานนั้นจะทำให้ร้านขายอาหารทั่วไปต้องมีภาระในการไปจดทะเบียนด้วย ซึ่งการดำเนินการทั้งหมดรัฐบาลจะต้องดูแลให้เกิดความเป็นธรรมทุกด้านทั้ง การจำหน่าย การกำหนดราคา โดยเฉพาะในช่วงการปรับราคาขึ้นลง ที่จะต้องมีมาตรการเข้าไปกำหนดให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน รวมถึงจะต้องไม่สร้างผลกระทบต่อประชาชนผู้บริโภคทั่วไป
แหล่งข่าวจากสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.) กล่าวว่า กรณีที่ทางผู้ค้าก๊าซรายย่อยวิตกกับปัญหาที่อาจจะเกิดการถูกบีบในเรื่องของค่าการตลาดนั้นเป็นเรื่องที่ภาครัฐติดตามอยู่ และรัฐบาลเองก็มี ปตท.เป็นกลไกในการที่จะสามารถเข้าไปดูแลและควบคุมราคาไม่ให้เกิดการเอาเปรียบได้อยู่แล้ว ปัญหานี้น่าจะเบาใจได้ ส่วนการลอยตัวก๊าซหุงต้มนั้นจะดูจังหวะที่ราคาตลาดโลกต่ำจนทำให้การลอยตัวไม่มีการปรับราคาจำหน่ายขายปลีกเพิ่มแน่นอน
สำหรับสถานการณ์ราคาก๊าชหุงต้ม เดือนธันวาคม 47 อยู่ที่ระดับ 421 เหรียญสหรัฐต่อตันปรับตัวลดลง 46 เหรียญต่อตัน ราคาก๊าซหุงต้ม ณ โรงกลั่นอยู่ที่ 12.4115 บาทต่อกิโลกรัม อัตราเงินชดเชยจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงอยู่ที่ระดับ 2.3416 บาทต่อกก. คิดเป็นเงิน 439 ล้านบาทต่อเดือน โดยคาดว่าเดือนมกราคม 48 ราคาก๊าซหุงต้มตลาดโลกจะเคลื่อนไหวอยู่ในระดับ 400-420 เหรียญต่อตัน อัตราเงินชดเชยยังคงอยู่ในระดับเดิมคือเฉลี่ย 2.3416 บาทต่อกก.หรือ 439 ล้านบาทต่อเดือน ที่อัตราแลกเปลี่ยน 39.40 บาทต่อเหรียญสหรัฐ
ทั้งนี้ ล่าสุดกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ชดเชยราคาก๊าชหุงต้ม อยู่ที่ระดับ 2.27 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งทำให้กองทุนฯมีภาระการตรึงราคาก๊าชหุงต้มรวมแล้ว 4,681 ล้านบาท
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|