|
จัดสรรรับมือสินเชื่อฝืดเข้มปล่อยกู้หวั่นหนี้เสีย
ผู้จัดการรายวัน(5 มกราคม 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
ประธานสมาคมสินเชื่อที่อยู่อาศัย ชี้ปี 48 สินเชื่อโครงการฝืด เหตุแบงก์เข้มปล่อยกู้ ผู้ประกอบการต้องพัฒนาโครงการมีศักยภาพเท่านั้นจึงปล่อยให้ ด้านศูนย์ข้อมูลอสังหาฯ เปิดตัวเลขยอดสินเชื่อ ผู้ประกอบการปล่อยใหม่ทั่วประเทศ รอบ 9 เดือนกว่า 16,201 ล้านบาท ระบุอัตราปล่อยกู้ลดความร้อนแรงสะท้อนความเข้มงวดการปล่อยสินเชื่อของแบงก์ ขณะที่สินเชื่อรายย่อยขยายตัวต่อเนื่อง
นายกิตติ พัฒนพงศ์พิบูล ประธานสมาคมสินเชื่อที่อยู่อาศัย เปิดเผยถึงแนวโน้มสินเชื่อที่อยู่อาศัยในปี 2548 ว่า ในการปล่อยสินเชื่อภาคอสังหาริมทรัพย์ของธนาคารพาณิชย์ เชื่อว่าไม่มีปัญหาเนื่องจากธนาคารมีสภาพคล่องส่วนเกินอยู่แล้ว อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการรายใหญ่ส่วนใหญ่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งกลุ่มนี้จะมีแหล่งเงินจากการออกตราสาร จึงไม่ค่อยมีปัญหาในเรื่องของแหล่งเงินจากธนาคาร
ทั้งนี้ สิ่งที่เป็นปัญหาคือสินเชื่อสำหรับพัฒนาโครงการอสังหาฯ ในส่วนของผู้ประกอบการนอกตลาด ทั้งรายกลาง-รายย่อยจะมีโครงการที่มีศักยภาพมากพอที่จะขายได้หรือไม่ เพราะจากประสบการณ์ของฟองสบู่ในอดีตของภาคอสังหาฯ ทำให้ธนาคาร ต่างระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันธนาคารจะเข้าไปตรวจสอบศักยภาพของโครงการและยอดขายอย่างใกล้ชิดและเข้มงวด จากที่ก่อนหน้านี้จะพิจารณาจากหลักทรัพย์ ค้ำประกันเท่านั้น
นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยลบหลายประการที่ทำให้สินเชื่อสำหรับการพัฒนาโครงการชะลอตัวลงไปบ้าง ซึ่งได้แก่ 1. การขยายตัวของเศรษฐกิจที่ชะลอลง ซึ่งจะทำให้รายได้ของผู้ซื้อบ้านลดลง นอกจากนี้ การคาดการณ์รายได้ในอนาคตที่ไม่แน่นอน ส่งผลให้ผู้ซื้อเกิดความไม่มั่นใจในการซื้อบ้าน 2. ค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างเพิ่มขึ้น ทำให้ต้นทุนเพิ่ม ผู้ประกอบการจะผลักภาระ โดยเพิ่มราคาบ้านซึ่งจะส่งผลให้ยอด ขายชะลอตัวลง และ 3. สถาบันการเงินจะนำบ้านมือสอง หรือบ้านหลุดจำนองออกมาทำโปรโมชันขายมากขึ้น ทำให้ไปแย่งแชร์ตลาดบ้านมือ 1 มาบางส่วน
"อย่างไรก็ตาม ในส่วนของสินเชื่อรายย่อยเพื่อซื้อที่อยู่อาศัย เชื่อว่าจะมีการขยายตัวตามปกติ เนื่องจากความต้องการยังคงมีอยู่ หากผู้ซื้อไม่ซื้อบ้านมือ 1 ก็จะหันไปซื้อบ้านมือสองหรือไปซื้อในบ้านระดับราคาอื่นๆ ที่ผู้ซื้อมีความสามารถในการซื้อ ส่วนสินค้าที่เชื่อว่าจะขายดีในปีนี้จะเป็นสินค้าที่มีระดับราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท ทั้งบ้านเดี่ยว ทาวน์เฮาส์ และคอนโดมิเนียม แต่บ้านระดับราคาดังกล่าวจะอยู่ระยะไกลออกไปจากย่านธุรกิจ" นายกิตติกล่าว
ด้านนายพงษ์ศักดิ์ ชิวชรัตน์ ผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผยถึงรายงานการขยายตัวด้านการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ประเภทที่อยู่อาศัยว่า ศูนย์ข้อมูลฯได้รวบรวมข้อมูลการใช้สินเชื่อที่อยู่อาศัยรายใหม่ จากธนาคารพาณิชย์, บริษัทเงินทุน และบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ สำหรับไตรมาส 3 ณ เดือนกันยายน 2547 พบว่า ในส่วนของสินเชื่อสำหรับผู้ประกอบการเพื่อพัฒนาโครงการ มียอดการใช้บริการสินเชื่อกว่า 6,942 ล้านบาท แบ่งเป็นสินเชื่อเพื่อพัฒนาโครงการประเภท การจัดสรรที่ดินและที่อยู่อาศัย จำนวน 4,476 ล้านบาท, สินเชื่อเพื่อการจัดหาและจัดสร้างอาคารชุดและแฟลต จำนวน 1,786 ล้านบาท และเป็นสินเชื่อเพื่อการจัดหาและจัดสร้างอาคารพาณิชย์และตึกแถว จำนวน 681 ล้านบาท
เมื่อพิจารณาจากยอดสินเชื่อผู้ประกอบการปล่อยใหม่ทั่วประเทศ ไตรมาส 4 ปี 2546 เทียบกับปี 2547 จะเห็นความเปลี่ยนแปลงคือ ในช่วงไตรมาส สุดท้ายของปี 2546 มีผู้ประกอบการาใช้บริการสินเชื่อเพื่อพัฒนาโครงการมูลค่ารวม 15,984 ล้านบาท ส่วนในไตรมาสแรกปี 2547 มีมูลค่า 12,243 ล้านบาท และไตรมาส 2 จำนวน 16,201 ล้านบาท ในขณะที่ไตรมาส 3 สินเชื่อผู้ประกอบการปล่อยใหม่มีมูลค่าเพียง 6,942 ล้านบาทเท่านั้น ส่งผลให้ยอดโดยรวมของสินเชื่อผู้ประกอบการปล่อยใหม่ทั่วประเทศ 9 เดือนแรก มีมูลค่ารวมกว่า 35,386 ล้านบาท
สำหรับมูลค่าสินเชื่อผู้ประกอบการที่อยู่อาศัยคงค้างทั่วประเทศไตรมาส 4 ปี 2546-ไตรมาส 2 ปี 2547 มีอัตราการขยายตัวเช่นเดียวกันโดยสินเชื่อผู้ประกอบการที่อยู่อาศัยคงค้างในพื้นที่กรุงเทพฯขยายตัวเพิ่มจาก 126,990 ล้านบาท เป็น 143,298 ล้านบาทในช่วงไตรมาสแรกของปี 2547 จากนั้นเพิ่มเป็น 152,296 ล้านบาท ในช่วงไตรมาส 2 ของปี 2547 และเพิ่มเป็น 161,347 ล้านบาท ในไตรมาส 3
ในขณะที่มีการปล่อยสินเชื่อเพื่อซื้อที่อยู่อาศัย แก่บุคคลทั่วไปปล่อยใหม่ ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2547 มีจำนวน 114,313 ล้านบาท แบ่งเป็นสินเชื่อเพื่อการจัดหาที่ดิน บ้าน หรือที่ดินพร้อมบ้านอยู่อาศัย จำนวน 91,171 ล้านบาท เป็นสินเชื่อซื้อห้องชุดและแฟลต จำนวน 7,376 ล้านบาท และสินเชื่อเพื่อซื้อตึกแถว จำนวน 15,766 ล้านบาท
นายพงษ์ศักดิ์ กล่าวว่า จากข้อมูลดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าการลงทุนพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ด้านที่อยู่อาศัยของผู้ประกอบการภาคเอกชน มีอัตราการขยายตัวที่ไม่ร้อนแรงเกินไป ในขณะที่ความต้องการซื้อที่อยู่อาศัยมีการขยายตัวตามแนวโน้มการขยายตัวของมูลค่าสินเชื่อบุคคลทั่วไปปล่อยใหม่ทั่วประเทศ โดยมีการขยายตัวเพิ่มจาก 30,323 ล้านบาทในไตรมาสแรก เป็น 38,598 ล้านบาทในไตรมาส 2 และเพิ่มเป็น 45,393 ล้านบาท ในไตรมาส 3
ทั้งนี้ จำนวนการเพิ่มขึ้นของมูลค่าสินเชื่อบุคคล ทั่วไปปล่อยใหม่ สะท้อนให้เห็นภาพความต้องการซื้อที่อยู่อาศัย และคาดว่าภาพจะปรากฏชัดเจนยิ่งขึ้นใน ช่วงไตรมาสสุดท้ายว่าในปี 2547 อัตราการขยายตัวของตลาดที่อยู่อาศัยจะมีอัตราการขยายตัวประมาณ 10-15% ตามที่ประมาณการกันไว้หรือไม่
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|