ทีโอซีรับมือขาลงปิโตรเคมีรุกดาวน์สตรีมเพิ่มรายได้


ผู้จัดการรายวัน(4 มกราคม 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

ทีโอซีผุด 3 โปรเจกต์ดาวน์สตรีมทดแทนการนำเข้า และรักษาระดับกำไรในช่วงขาลงของอุตสาหกรรมปิโตรเคมี คาดปีนี้ฟันรายได้ทะลุ 3 หมื่นล้านบาท เนื่องจากมีกำลังการผลิตเอทิลีนเพิ่มขึ้นอีก 3 แสนตัน ในช่วงม.ค.นี้ หลังประเมินแนวโน้มเอทิลีนยังอยู่ในระดับสูงไปจนถึงปี 49 โดยมีสเปรดราคาระหว่างวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์อยู่ที่ 400 เหรียญสหรัฐต่อตันใกล้เคียงปีที่แล้ว

นายอดิเทพ พิศาลบุตร์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยโอเลฟินส์ จำกัด (มหาชน)(ทีโอซี ) เปิดเผยว่า ตามที่คณะกรรมการบริษัทอนุมัติให้บริษัท ทีโอซี ไกลคอล ซึ่งเป็นบริษัทในเครือดำเนินการผลิตโครงการ EO Derivatives 3 โครงการในช่วงกลางปี 2549 มูลค่าลงทุน 110 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 4,400 ล้านบาท เพื่อทดแทนการนำเข้าจากต่างประเทศ เนื่องจากผลิตภัณฑ์ดังกล่าวไม่มีการผลิตในภูมิภาคนี้ และวงจรราคาแตกต่างจากเอทิลีนและโมโนเอทิลีน ไกลคอล(MEG) ทำให้ลดความเสี่ยงและรักษาระดับผลกำไรในช่วงขาลงของอุตสาหกรรมปิโตรเคมี

ซึ่งโครงการ EO Derivatives ประกอบด้วยโครงการผลิต Ethoxylates กำลังผลิต 5 หมื่นตัน/ปี โดยเป็นการร่วมทุนกับบริษัท Cognis Thai ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตพลาสติกชนิดพิเศษมานานกว่า 40 ปี และฐานทางการตลาดที่แข็ง แกร่ง โดยผลิตภัณฑ์ดังกล่าวจะเป็นวัตถุดิบในการ ผลิตแชมพู สบู่เหลว และน้ำยาล้างจาน ซึ่งยังไม่มีผู้ผลิตในประเทศ ทำให้ไทยต้องนำเข้าสูงถึง 3 หมื่นตัน บริษัทฯจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างโครงการดังกล่าวในปี 2548 แล้วเสร็จในไตรมาส 4/2549 โดยจะเน้นจำหน่ายในประเทศ ส่วนที่เหลือจะส่งออกโดยอาศัยฐานการตลาดที่แข็งแกร่งของ Cognis ประเทศเยอรมนี

โครงการผลิต Ethanolamines กำลังผลิต 5 หมื่นตัน/ปี คาดว่าผลิตเชิงพาณิชย์ได้ไตรมาส 1/2550 ซึ่งความต้องการใช้ในไทยอยู่ที่ 5 พันตัน/ปี ขณะที่ภูมิภาคนี้มีการใช้อยู่ 3 แสนตัน และโครง การผลิต Choline Chloride มีกำลังผลิต 2 หมื่นตัน/ปี เริ่มผลิตเชิงพาณิชย์ได้ไตรมาส 1/2550 จากการศึกษาพบว่าไทยต้องนำเข้าจากต่างประเทศอยู่ 8 พันตัน/ปี ขณะที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีการใช้ 2 หมื่นตัน ซึ่งโครงการทั้ง 2 ทางทีโอซีอยู่ระหว่างการ หาพันธมิตรร่วมทุนที่มีเทคโนโลยีและฐานการตลาดที่แข็งแกร่ง โดยEthanolamines นำไปใช้ในเครื่องสำอางและของใช้ส่วนบุคคล (personal care) ส่วน Choline Chloride จะใช้ทำอาหารสัตว์

" โครงการทั้ง 3 ไม่น่าเป็นห่วงเรื่องตลาด เพราะไม่มีใครทำในไทย จึงเน้นผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ ส่วนที่เหลือจะส่งออกไปขายในภูมิภาคนี้ โดยอาศัยช่องทางการตลาดของพาร์ตเนอร์ ซึ่งผลการศึกษาโครงการดังกล่าว มีผลตอบแทนการลงทุน (IRR) 20%" นายอดิเทพ กล่าว

สำหรับแหล่งเงินทุนที่ใช้ในการดำเนินการนั้นส่วนหนึ่งจะมาจากการกู้ยืมสถาบันการเงินและเงินทุนหมุนเวียนบริษัทจากการดำเนินงาน โดยทีโอซีจะรักษาอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน(D/E) ไม่ให้เกิน 0.7 เท่า จากปัจจุบันที่มี D/E อยู่ที่ 0.4 เท่า

นายอดิเทพ กล่าวต่อไปว่า ในต้นปีนี้บริษัทจะรับรู้รายได้จากส่วนขยายกำลังการผลิตเอทิลีนอีก 3 แสนตัน/ปี ทำให้มีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นเป็นรวม 9.25 แสนตัน คาดว่าจะสามารถเดินเครื่องจักรได้ไม่น้อยกว่า 90%ของกำลังการผลิตในปีนี้ โดยจะเน้นส่งออกไปต่างประเทศประมาณ 60%ของกำลังการผลิตเพิ่ม ส่วนที่เหลือจะจำหน่ายให้แก่ลูกค้าเดิม ในไทย ซึ่งขณะนี้บริษัทได้ทำสัญญาส่งออกเอทิลีนไปแล้ว 1-1.5 แสนตัน และในปีถัดบริษัทฯจะนำเอทิลีนดังกล่าวป้อนโรงงานผลิต MEG ที่จะดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จในไตรมาส 2/2549 ทำให้มีปริมาณเอทิลีนส่งออกน้อยมาก

ดังนั้น ในปีนี้บริษัทฯตั้งเป้าหมายรายได้รวมทั้งสิ้น 3 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2547 ที่คาดว่า จะมีรายได้รวม 2.2 หมื่นล้านบาท ขณะที่กำไรของปีนี้น่าจะเพิ่มขึ้นเนื่องจากมีกำลังการผลิตเอทิลีนเพิ่มขึ้นและสเปดราคาระหว่างวัตถุดิบกับราคาผลิตภัณฑ์เอทิลีนอยู่ที่ 400 เหรียญสหรัฐต่อตันใกล้เคียงกับสเปดราคาในปี 2547 คาดว่าปีนี้ราคาเอทิลีน ในตลาดโลกจะทรงตัวในระดับสูงต่อเนื่องไปจนถึงปี 2549 เนื่องจากจีนยังเป็นประเทศที่ต้องนำเข้าพลาสติก ถึง 50% ของความต้องการใช้ทั้งหมด

"บริษัทฯจะไม่หาพาร์ตเนอร์เข้าร่วมทุนในโครงการ MEG อีกแล้ว หลังจากก่อนหน้านี้ทางโอมานสนใจเข้าร่วมทุน แต่สุดท้ายโอมานได้เข้ามาถือหุ้นใน ทีโอซีประมาณ 3% โดยซื้อหุ้นทีโอซีผ่านปตท.ในราคา ตลาด 68 บาท/หุ้น ทำให้ไม่สนใจเข้ามาลงทุนในโครงการดังกล่าวแล้ว"

ขณะที่ความต้องการใช้เอทิลีนในตลาดโลกอีก 3-5ปี ข้างหน้า คาดว่าจะอยู่ที่ 5 ล้านตัน ซึ่งอัตราการเติบโตของเอทิลีนอยู่ที่ 1.4 เท่าของจีดีพี ซึ่งกำลังการผลิตเอทิลีนส่วนเพิ่มของตลาดโลกในช่วง 2-3ปีที่ผ่านมา เพิ่มน้อยมากเมื่อเทียบความต้องการใช้ ทำให้ดีมานด์มากกว่าซัปพลาย ซึ่งแม้ว่าจะมีการเพิ่มกำลังการผลิตใหม่ในอนาคต เชื่อว่าก็พียงพอสำหรับความต้องการส่วนเพิ่มเท่านั้น


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.