|
กลุ่มโรงพยาบาลปีไก่กลับมาคึก กระแสควบกิจการกระหึ่มดันราคา
ผู้จัดการรายวัน(4 มกราคม 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
ภาพรวมธุรกิจโรงพยาบาลในปีวอก กลับมาคึกคักอีกครั้ง หลังจากก่อนหน้าหุ้นกลุ่มนี้ค่อนข้างไม่มีการเคลื่อนไหว และที่ฮือฮาที่สุดดูเหมือนดีลของการควบรวมกิจการของบริษัท โรงพยาบาลกรุงเทพดุสิตเวชการ (BGH) และบริษัท สมิติเวช จำกัด (มหาชน) (SVH) ที่เกิดขึ้นเมื่อกลางปี 2547
โดยที่กรุงเทพดุสิตเวชการ เข้าซื้อหุ้นทั้งหมดของโรงพยาบาลในเครือด้วยคือ บริษัท สมิติเวช บริษัท โรงพยาบาลกรุงเทพหาดใหญ่ จำกัด (กรุงเทพหาดใหญ่) และบริษัท โรงพยาบาล กรุงเทพภูเก็ต จำกัด (กรุงเทพภูเก็ต) โดยการแลกหุ้น (สว็อปหุ้น)
ซึ่งกรุงเทพดุสิตเวชการจะชำระราคาค่าหุ้นของสมิติเวช กรุงเทพหาดใหญ่ และกรุงเทพภูเก็ต ที่ตกลงรับซื้อ โดยการออกหุ้นสามัญเพิ่มทุนของกรุงเทพดุสิตเวชการเสนอให้แก่ผู้ถือหุ้นของสมิติเวช กรุงเทพหาดใหญ่ และกรุงเทพภูเก็ตที่ตกลงขายหุ้นของตนให้แก่กรุงเทพดุสิตเวชการเป็นการตอบแทน
โดยแลกกันในอัตราส่วนการแลกเปลี่ยนหุ้นคือ 2 หุ้นใหม่ของกรุงเทพดุสิตเวชการต่อ 1 หุ้นของสมิติเวช 1 หุ้นใหม่ของกรุงเทพดุสิตเวชการต่อ 1.66 หุ้นของกรุงเทพหาดใหญ่ 1 หุ้นใหม่ของกรุงเทพดุสิตเวชการต่อ 1.48 หุ้นของกรุงเทพภูเก็ต
จากความร่วมมือที่เกิดขึ้น ได้รับคำยืนยันจากผู้บริหารว่า การปรับโครงสร้างการถือหุ้นและอื่นๆ เป็นการเพิ่มศักยภาพการแข่งขัน และสร้างความแข็งแกร่งของการให้บริการทางการแพทย์ แม้ว่าต่างก็ให้ความสนับสนุนทางธุรกิจ ซึ่งกันและกันตลอดมา แต่การรวมกิจการกันจะทำให้ลดต้นทุนในการบริหารด้วย และเพื่อเตรียมความพร้อมต่อการออกนอกระบบราชการของโรงพยาบาลรัฐ และการลงทุนในธุรกิจบริการทางการแพทย์ของนักลงทุนต่างชาติ รวมถึงการสอดรับกับนโยบายของภาครัฐบาลในการผลักดัน ประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางการดูแลสุขภาพ แห่งเอเชีย Helth Hub
จะเห็นว่าดีลการควบรวมกิจการกันระหว่าง โรงพยาบาลมีให้เห็นเป็นระลอกๆ แล้ว เหมือนเป็นสัญญาณอย่างหนึ่งว่า การอยู่อย่างโดดเดี่ยวในธุรกิจนี้จะไม่มีให้เห็นแล้วในอนาคต
ล่าสุดคือ บริษัท โรงพยาบาลรามคำแหง จำกัด (มหาชน) (RAM) ประกาศซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนของ บริษัทโรงพยาบาลเสรีรักษ์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือเพิ่มอีก รวมกับ RAM ที่ถือหุ้นในอีก 2 บริษัทที่ถือหุ้นในเสรีรักษ์คือบริษัท สินแพทย์ จำกัด และบริษัท พัฒนาการเวชกิจ จำกัด ทำให้บริษัทถือหุ้นทางอ้อมถึง 27.18% ทำให้โดยรวมแล้ว RAM ถือหุ้นในเสรีรักษ์ทั้งสิ้น 42.95% การถือหุ้น ธุรกิจโรงพยาบาลเป็นโครงข่ายที่ต่อเนื่องกัน
BGH สยายปีกในต่างแดน
นายแพทย์พงษ์ศักดิ์ วิทยากร กรรมการ ผู้จัดการ บริษัท โรงพยาบาลกรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) (BGH) เปิดเผยว่า บริษัทอยู่ระหว่างเจรจากับพันธมิตรร่วมทุน (พาร์ตเนอร์) เพื่อร่วมทุนก่อสร้างโรงพยาบาลแห่งใหม่ในย่านเอเชียเพิ่มอีก 1 แห่ง โดยบริษัทต้องการเข้าไปถือหุ้นในสัดส่วน 50% ของการก่อสร้างโรงพยาบาลแห่งใหม่ขนาด 100 เตียง มูลค่าโครงการไม่ต่ำกว่า 500 ล้านบาท โดยเงินที่ใช้ลงทุนมาจากเงินทุน หมุนเวียน ซึ่งคาดว่าดีลนี้จะสรุปได้ปีนี้และดำเนินการได้ต้นปี 2548
สำหรับปีนี้ BGH ตั้งเป้าการดำเนินงานไว้ที่ระดับ 1 หมื่นล้านบาท และมั่นใจว่าจะทำได้ตามเป้าหมาย เนื่องจาก 9 เดือนที่ผ่านมา บริษัททำรายได้เกินกว่าเป้าหมายตามที่ตั้งไว้แล้ว ส่วน ปี 2548 บริษัทตั้งเป้ารายได้ไม่ต่ำกว่า 1.1 หมื่นล้านบาท ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากการเทกโอเวอร์กิจการโรงพยาบาลในเครือมาแล้วและรวมกันจะทำให้บริษัทมีรายได้เพิ่มขึ้นอีก
หุ้นน้องใหม่รพ.เกษมราษฎร์
สำหรับน้องใหม่ในกลุ่มนี้คือ โรงพยาบาลเกษมราษฎร์ ภายใต้ชื่อบริษัท บางกอก เชน ฮอสปิตอล จำกัด (มหาชน) (KH) ที่เพิ่งเข้ามาทำการซื้อขายเมื่อต้นเดือนพฤศจิกายนปี 2547 และค่อนข้างได้รับความสนใจจากนักลงทุนพอสมควร แม้ว่าการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์วันแรก ราคาหุ้นจะเปิดต่ำกว่าราคาจองที่ 3.54 บาท โดยราคาจองซื้ออยู่ที่ 3.80 บาท
ถึงกระนั้น ผู้บริหารยังออกมาชี้แจงว่าตลาดไม่เอื้อต่อการลงทุนเท่าใดนัก เพราะในช่วงนั้นดัชนีตลาดหลักทรัพย์ผันผวนมาก ถือเป็นปัจจัยที่ไม่อาจควบคุมได้ แต่ยังเชื่อมั่นว่านักลงทุนจะหันมาให้ความาสนใจเพราะพื้นฐานดี ผลการดำเนินงานเติบโตต่อเนื่อง เพราะจากโรงพยาบาลในเครือที่มีอยู่ในปัจจุบัน 6 แห่งทั่วประเทศ พบว่ามีกำไรสุทธิแล้วทั้งสิ้น แม้ว่ามูลหนี้จะมีอยู่บ้างแต่จะชำระหนี้หมดในปีนี้และคาดว่าจะสามารถปันผลให้กับผู้ถือหุ้นได้ในปี 48 ในอัตราไม่ต่ำกว่า 40% ของกำไรสุทธิจากการดำเนินงาน
KH เองก็มีการซื้อกิจการของโรงพยาบาล ที่เคยขาดทุนมาก่อน นั่นคือโรงพยาบาลเกษมราษฎร์ศรีบุรินทร์ ที่ก่อนหน้านี้คือ เชียงรายธุรกิจการพทย์เข้ามารวมด้วย ทำให้มีสาขาเพิ่มขึ้นอีก 1 แห่งเป็น 6 แห่ง พร้อมกับเล็งที่จะหาพันธมิตรที่พร้อมจะเกื้อหนุนกันในการดำเนินธุรกิจ โดยตั้งเป้าเป็นศูนย์รวมการแพทย์ครบวงจรของภาคเหนือ
นอกจากการควบรวมกิจการแล้ว KH ยังเล็งที่จะหาพันธมิตรนี้อยู่ในระหว่างการเจรจายังไม่อาจเปิดเผยได้ คาดจะดำเนินการได้ต้นปี 2548 ซึ่งก็คงเหมือนโรงพยาบาลหลายกลุ่มที่ดำเนิน
รพ.วิภาวดีลงทุนร่วมพันธมิตร
ขณะที่กลุ่มโรงพยาบาลวิภาวดี จำกัด (มหาชน) (VIBHA) ก็ได้ประกาศขยายการลงทุนกับพันธมิตร มูลค่าการลงทุนกว่า 550 ล้านบาท ตั้งโรงพยาบาลเสรีรัตน์ ซึ่งมีขนาด 200 เตียง โดยคาดว่าจะสามารถรับรู้รายได้ในช่วงไตรมาส 4 ของปี 2549 โดยเน้นเจาะกลุ่มลูกค้าประกันสังคม
ชัยสิทธิ์ วิริยะเมตตากุล กรรมการผู้จัดการ บริษัทโรงพยาบาลวิภาวดี จำกัด (มหาชน) (VIBHA) กล่าวว่า บริษัทได้ขยายการลงทุนในด้าน การแพทย์ โดยร่วมมือกับบริษัท สินแพทย์ จำกัด นายสิงห์น้อย บุณยรักษ์ บริษัท พัฒนาการเวชกิจ และบริษัทโรงพยาบาลวิภาวดี ในการลงทุนจัดตั้งบริษัทขึ้นใหม่ชื่อบริษัทโรงพยาบาล เสรีรักษ์ จำกัด
"ประโยชน์ที่ทางรพ.วิภาวดีจะได้รับคือการขยายฐานลูกค้าไปสู่ประเภทประกันสังคมในขณะที่ ปัจจุบันฐานลูกค้ากลุ่มดังกล่าวของรพ.วิภาวดีไม่มี ซึ่งแนวโน้มในปี 2548-2549 รัฐบาลจะเพิ่มค่ารักษา ให้เพิ่มมากขึ้น และในอนาคต ทางรพ.วิภาวดีเองก็อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงไปเป็นประกันสังคม และส่งผลให้มีลูกค้าที่จะเข้ามาทำธุรกรรมกับ โรงพยาบาลมากขึ้น" นายชัยสิทธิ์กล่าว
บริษัท โรงพยาบาลเสรีรักษ์ จำกัด มีทุนจดทะเบียน 300 ล้านบาท มูลค่าหุ้นละ 10 บาท แบ่งเป็นหุ้นสามัญ 30 ล้านหุ้น ผู้ถือหุ้นประกอบด้วย บริษัท สินแพทย์ จำกัด ถือหุ้น 40% นายสิงห์น้อย บุณยรักษ์ 30% บริษัทพัฒนาการเวชกิจ จำกัด ถือหุ้น 20% และบริษัท โรงพยาบาลวิภาวดี จำกัด (มหาชน) ถือหุ้น 10%
กลุ่มพญาไทประกาศควบกิจการ
สำหรับกลุ่มโรงพยาบาลพญาไท ซึ่งมี "วิชัย ทองแตง" ทนายความชื่อดังคดีซุกหุ้น ในฐานะประธานบริหาร บริษัท ประสิทธิ์พัฒนา จำกัด (มหาชน)(PYT) ผู้บริหารโรงพยาบาลในเครือพญาไท ได้ประกาศแผนงานและทิศทางการดำเนินงานของโรงพยาบาลในกลุ่มพญาไทว่า ในช่วงปี 2548 บริษัทจะเน้นการเข้าไปเป็นพันธมิตรกับโรงพยาบาลแห่งอื่น ด้วยการเข้าไปแลกหุ้น (สว็อป) หรือการเข้าไปเป็นพันธมิตรด้วยการ ซื้อหุ้นบางส่วน เพื่อให้เป็นเครือข่ายเดียวกัน เนื่องจากต้องการสร้างอำนาจการต่อรองในการทำธุรกิจ เพราะธุรกิจโรงพยาบาลจำเป็นต้องมีการลดต้นทุนในการดำเนินงาน ไม่ว่าจะเป็นการซื้อเครื่องมือการแพทย์ หรือการใช้เทคโนโลยีทางการแพทย์ต่างๆ หากมีการซื้อเป็นจำนวนมากผ่านเครือข่ายเดียวกันจะทำให้อำนาจในการต่อรองสินค้ามีมากขึ้น
"อนาคตเมื่อเปิดเสรีธุรกิจโรงพยาบาล หากโรงพยาบาลในประเทศไม่เข้มแข็งมีสิทธิถูกต่างชาติกลืนได้ เราจึงเน้นการสร้างระบบเครือข่ายขึ้นมาเป็นเหมือนใยแมงมุม ซึ่งรูปแบบในการสร้างเครือข่ายจะมี 3 รูปแบบคือ 1.เทกโอเวอร์โรงพยาบาลให้มากขึ้น ภายในโฮลดิ้ง แต่วิธีนี้ จะใช้เงินมาก 2.การควบกิจการในลักษณะของการแลกหุ้น (สว็อป) ซึ่งในส่วนนี้ใช้เงินไม่มาก และ 3.การเข้าไปถือหุ้นไขว้ในสัดส่วน 10-20% โดยกลุ่มโรงพยาบาลพญาไทจะเลือกในรูปแบบที่ 2 และ 3"
บำรุงราษฎร์ลงทุนในจีน
ชัย โสภณพนิช ประธานกรรมการ บริษัทโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ จำกัด (มหาชน)(BH) อยู่ในระหว่างเจรจากับเซี่ยงไฮ้ บังกลาเทศ และ พม่า เพื่อร่วมลงทุนในการทำธุรกิจโรงพยาบาล ซึ่งบริษัทจะเข้าไปร่วมทุนถือหุ้นด้วยเพียงเล็กน้อย แต่จะขอเข้าไปบริหาร เพราะต้องการมีส่วนร่วมในการบริหาร
สำหรับการลงทุนในเซี่ยงไฮ้ ที่ประเทศจีนนั้น จะเข้าไปร่วมลงทุนในลักษณะของการร่วมทุน โดยจะสร้างโรงพยาบาลใหม่ ขนาด 200 เตียง ด้วยงบลงทุนประมาณ 600-700 ล้านบาท ซึ่ง BH จะเข้าถือหุ้นในสัดส่วน 20% คาดว่าดีลการเจรจาในการร่วมทุนนี้จะสรุปได้ในปีนี้ และดำเนินการก่อสร้างโรงพยาบาลได้ปี 2548 ถือเป็นการชิมลาง ในการลงทุนที่เมืองจีน
โดยล่าสุด BH ได้เข้าไปลงทุนในบริษัทเอเชียน ฮอสพิทอล อิงค์ ภายในเดือนธันวาคม 2547 โดยบริษัทจะลงทุนใน เอเชียน ฮอสพิทอล อิงค์ (Asian Hosptal, Inc.หรือ AHI) ซึ่งเป็นผู้ดำเนินกิจการโรงพยาบาลเอกชน ขนาด 258 เตียง ในกรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ ในสัดส่วนการลงทุนขั้นต้น 41.90% ของทุนจดทะเบียน
จับตาปี 48 ราคาหุ้นขยับ
แหล่งข่าววงการโบรกเกอร์กล่าวว่า แนวโน้ม หุ้นในกลุ่มโรงพยาบาลในปี 2548 คาดว่ากระแสข่าวการควบกิจการ และการปรับกลยุทธ์ใน การดำเนินธุรกิจจะเป็นตัวแปรสำคัญที่จะช่วยผลักดันราคาหุ้นในกลุ่มทโรงพยาบาลให้ปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากโรงพยาบาลหลายแห่งได้ผ่านการปรับปรุงโครงสร้างหนี้และปรับโครงสร้างการดำเนินธุรกิจ ซึ่งจะส่งผลดีต่ออนาคตการแข่งขัน และการที่รัฐบาลพยายามผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางสุขภาพ จะเป็นปัจจัยบวกที่ช่วยหนุนราคาหุ้นในกลุ่มโรงพยาบาล
ขณะที่ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์บริษัท หลักทรัพย์บัวหลวงกล่าวว่า แนวโน้มเศรษฐกิจ ที่ขยายตัวต่อเนื่องจะทำให้คนมีกำลังซื้อมากขึ้น และที่สำคัญการเริ่มมาให้ความสำคัญกับสุขภาพที่กำลังมาแรง จะทำให้ผู้บริโภคหันมาใช้บริการจากโรงพยาบาลเอกชนเพิ่ม เนื่องจากมีความชำนาญเฉพาะทาง
นอกจากนี้ สถานประกอบการโรงพยาบาลของไทยที่ปัจจุบันถือว่ามีประสิทธิภาพในการ แข่งขันกับต่างประเทศจะเป็นแรงดึงดูดให้ต่างชาติหันมาใช้บริการเพิ่ม เนื่องจากค่ารักษาพยาบาลถูกกว่าเมื่อเทียบกับการรักษาพยาบาลในสิงคโปร์หรือฮ่องกง
ไปีไก่" น่าจะเรียกได้ว่าเป็นปีทองสำหรับหุ้นในกลุ่มโรงพยาบาล หลังจากที่หลายแห่งได้ประกาศจุดยืนในการทำตลาดทั้งในประเทศเอง หรือการสยายปีกในต่างแดน หรือการประกาศควบรวมกิจการ เพื่อสร้างอำนาจต่อรองในการ ซื้อสินค้าในต้นทุนที่ต่ำกว่า จุดนี้ถือเป็นจุดเปลี่ยน ที่สำคัญของกลุ่มอุตสาหกรรมโรงพยาบาลที่จะก้าว ต่อไปพร้อมกับความมั่นคงในอนาคต
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|