สุรเดช ทวีแสงสกุลไทยนำ ช.ทวีรุกตลาดนอก


นิตยสารผู้จัดการ( สิงหาคม 2543)



กลับสู่หน้าหลัก

กิจการต่อตัวถังรถบรรทุกของตระกูล "ทวีแสงสกุลไทย" เกิดการเปลี่ยนแปลง ที่สำคัญ ในยุคที่สุรเดช บุตรชายคนเล็กของ ช.ทวีแสงสกุลไทย เข้ามาบริหารงานเมื่อปี 2536

สุรเดช เกิดเมื่อ 3 ก.ย.2509 จบ มัธยมต้น ที่อัสสัมชัญศรีราชา มัธยมปลาย ที่ขอนแก่นวิทยายน ก่อน ที่จะบินไปศึกษาด้านวิศวกรรมเครื่องยนต์ ที่ โยมิอุริ ริโกแซม และคณะบริหารธุรกิจ ที่มหาวิทยาลัยซันโน ประเทศญี่ปุ่น หลังจากนั้น ได้เข้ามารับผิดชอบกิจการของครอบครัว ในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ บริษัทขอนแก่น ช.ทวี จำกัด และ ได้นำแนวคิดการบริหารธุรกิจในเชิงรุก ตามสไตล์การบริหารของนักธุรกิจสมัยใหม่เข้ามาสร้างการเปลี่ยนแปลงในขอนแก่น ช.ทวี

ปี 2537 นับเป็นก้าวสำคัญของ ช.ทวี เมื่อได้ร่วมทุนกับบริษัทเอมิลดอลล์ ผู้ผลิตตัวถังรถบรรทุกขนาดใหญ่ จากประเทศเยอรมนี ตั้งบริษัท ช.ทวี ดอลลาเซียน จำกัด เพื่อผลิตต่อตัวถังรถบรรทุก รถเทรเลอร์ และรถพิเศษ ป้อน ตลาดประเทศไทย และส่งออกในแถบเอเชีย ขณะที่บริษัท ขอนแก่น ช.ทวี (1993) จำกัด ก็ยังคงไว้

สุรเดชให้เหตุผลถึงการร่วมทุนกับผู้ผลิตต่างวัฒนธรรมว่า โนว์ฮาวเป็นสิ่งสำคัญ หากจะลอกแบบมาทำเอง ก็ทำได้ แต่คุณภาพในเชิงลึก การลอกเลียนคงทำได้ลำบาก หรือหากทำได้เท่าเทียมคงต้องใช้เวลานาน และเสียต้นทุนมาก เมื่อถึงจุดนั้น เขาอาจก้าวไปข้างหน้าอีกขั้นแล้ว สู้ใช้วิธีลัดร่วมทุน เจรจาในรายละเอียด ที่เหมาะสม ก็จะได้โนว์ฮาว ที่ทันสมัย ขณะที่คุณภาพฝีมือคนไทยอาจพัฒนาเหนือกว่าบริษัทแม่ด้วยซ้ำ

สุรเดชวางตำแหน่งบริษัท ช.ทวี ดอลลาเซียน เป็นผู้ผลิตต่อตัวถังรถพ่วงขนาดใหญ่ และรถพ่วงพิเศษป้อนตลาดทั้งใน และต่างประเทศ ขณะที่บริษัท ขอนแก่น ช.ทวี (1993) เป็นผู้ผลิตต่อตัวถังรถบรรทุกแบบธรรมดาป้อนตลาดในประเทศเป็นหลัก นอกจากนี้เขามีแผนที่จะนำบริษัททั้งสอง เข้าไประดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยด้วย

แต่แผนดังกล่าว ต้องมาสะดุดเมื่อบริษัทประสบปัญหาทางเศรษฐกิจอย่างหนักตั้งแต่ปี 2540 เป็นต้นมา แผนงานดังกล่าวจึงต้องพับไว้ก่อน แต่การปรับปรุงโครงสร้างการบริหาร ระบบบัญชี ยังดำเนินอย่างต่อเนื่อง ปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจ ทำให้ สุรเดชต้องทุ่มเทไปกับการประคองธุรกิจให้ผ่านพ้นภัยวิกฤติเศรษฐกิจให้ได้เสียก่อน

ภาระหนี้ต่างประเทศ เขาได้เจรจากับเจ้าหนี้ทั้งเยอรมัน และสิงคโปร์ เพื่อขอยืดระยะเวลาการชำระหนี้เงินต้นออกไป ขอผ่อนผันจ่ายเฉพาะดอกเบี้ยยืด L/C ออก ไป ซึ่งเจ้าหนี้ต่างประเทศก็ยอมรับในแนวทางดังกล่าว ส่วนหนี้สินกับสถาบันการเงิน ในประเทศ ในส่วนหนี้สินระยะสั้นได้เจรจากับสถาบันการเงินขอแปลงเป็นหนี้ระยะยาว และขอผ่อนผันชำระเฉพาะดอกเบี้ยไปก่อน ทำให้ช่วยลดความรุนแรงจากปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจไปได้บ้าง

ส่วนการแก้ปัญหาภายในองค์กร ไม่แตกต่างจากบริษัททั่วไปนัก ทั้งการลดค่าใช้จ่ายภายในองค์กร สร้างประสิทธิภาพการทำงานให้เกิดประโยชน์สูงสุด การยุบส่วนงาน ที่ซ้ำซ้อนของทั้งสองบริษัทเข้าด้วยกัน

สุรเดช ในวัย 34 ปีที่ผ่านร้อนผ่านหนาวกับปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจ ให้ทัศนะว่า การบริหารงานในเชิงรุกของเขา ยอมรับว่าเป็นความผิดพลาด ที่กล้าบริหาร และเปลี่ยนแปลงองค์กรขนาดนั้น

แต่ในวันนี้ เขามองว่ากิจการของเขาเริ่มมองเห็นแสงสว่าง ที่ปลายอุโมงค์อีกครั้ง ทิศทาง ช.ทวีต่อจากนี้ไปมีลู่ทางดีขึ้น โดยเฉพาะตลาดต่างประเทศ มีงานประมูลขนาดใหญ่ในตะวันออกกลาง ที่เขาสามารถเข้าไปแทรกตลาดได้บ้าง

มองทิศทางในอนาคตแล้วกิจการ ช.ทวีน่าจะดีขึ้น โดยทั้งตลาดส่งออก และตลาดในประเทศ จะต้องทำควบคู่กันไป เหมือนกับคนที่ต้องยืน 2 ขา



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.