|
โรงเรียนนานาชาติ (1)
โดย
วิรัตน์ แสงทองคำ
นิตยสารผู้จัดการ( มกราคม 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
ระบบการศึกษาของไทยในระดับพื้นฐานมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมากมาย ที่มิใช่มาจากความพยายามปรับตัวทางเทคนิคของกระทรวงศึกษาธิการของไทยแต่อย่างใดไม่ หากเป็นผลพวงมาจาก "ความล้มเหลว" ของระบบการศึกษาที่มีดัชนีบ่งชี้หนักแน่นอย่างไม่เคยมีมาก่อนมากขึ้น ๆ
โดยเฉพาะการศึกษาของผู้คนระดับบนของสังคมไทยผู้คนกลุ่มนี้เผชิญแรงบีบคั้นจากโลกยุคใหม่มากกว่าคนทั่วไป มีความคาดหวังต่อการศึกษาของบุตรหลานของตนเองมากกว่า ต้องการบุคลากรที่มีการศึกษาที่ดีมาทำงานให้มากกว่า บุคคลกลุ่มนี้คือพลังที่เปลี่ยนแปลงความคิดที่มีปฏิกิริยาต่อสังคมอย่างกระฉับกระเฉง ที่เปลี่ยนแปลงมากกว่าทั่วไป
จากการศึกษาการจัดอันดับมหาวิทยาลัยทั่วโลก 500 อันดับแรก (Academic Ranking of World University 2004) ปรากฏว่าไม่มีมหาวิทยาลัยไทยติดแม้แต่แห่งเดียว แม้ว่าการจัดครั้งนี้จะมาจากมหาวิทยาลัยของจีนแผ่นดินใหญ่ (Institute of Higher Education, Shanghai Jiao Tong University) แต่ดูเหมือนจะได้รับการยอมรับกันมาก มหาวิทยาลัยชั้นนำหลายแห่ง (แน่นอนที่อยู่ในอันดับต้นๆ) จะอ้างการจัดอันดับนี้ และมหาวิทยาลัยในเอเชียอย่างญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สิงคโปร์ อินเดีย หลายแห่งอยู่ในอันดับนี้ ยิ่งไปกว่านั้นใน Top 100 Asia-Pacific University มหาวิทยาลัยก็ไร้วี่แวว
ขณะเดียวกันมีการปรับตัวของมหาวิทยาลัยอย่างน่าสนใจ ที่ดูเหมือนมีความคิดระดับโลกมากขึ้น ช่วงใกล้นี้มหาวิทยาลัยไทยมีพันธมิตรกับมหาวิทยาลัยระดับโลกมากขึ้นอย่างครึกโครม แม้ว่าแนวความคิดนี้จะเกิดขึ้นมาแล้วนับสิบปี แต่ในช่วงนี้ถือเป็นการปรับขบวนกันครั้งใหญ่ มีหลักสูตรนานาชาติที่ให้ Double Degree ดูเหมือนเป็นความก้าวหน้าของเรา แต่ความจริงเป็นการยอมรับความ "ล้าหลัง" ของตนเอง เพราะเป็นการสร้างพันธมิตรฝ่ายเดียว (ความหมายที่แท้จริงคือมหาวิทยาลัยไทยเป็นเครือข่ายของมหาวิทยาลัยระดับโลก) มีความหมายเฉพาะในเมืองไทย ตลาดไทย แต่ต้องแบ่งค่าเล่าเรียนให้มหาวิทยาลัยต่างประเทศ เป็นความคิดที่ยอมรับว่าเครดิตของมหาวิทยาลัยไทยตกต่ำ จนต้องใช้เครดิตของมหาวิทยาลัยต่างประเทศมาเสริม
แต่นัยหนึ่ง ก็คือมหาวิทยาลัยและระบบการศึกษากำลังถูกผลักดันเข้าไปอยู่ในเครือข่ายการศึกษาระดับโลกมากขึ้น ซึ่งเป็นธุรกิจที่ทรงพลังอิทธิพลมากกว่าเครือข่าย Fast foods มากมายนัก
รายงานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งที่น่าตกใจ ศึกษาความสามารถของนักเรียนอายุ 15 ปี จากหน่วยงาน OECD (Organization for Economic Co-operation and Development) ที่เรียกว่า PISA (The Programme for International Student Assessment) รายงานฉบับนี้เป็นการศึกษาที่ต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2000 นับเป็นรายงานฉบับที่สอง (PISA 2003) ที่เพิ่งเผยแพร่เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมานี้เอง ในหัวข้อ Learning for Tomorrow's World
ความจริงเป็นการศึกษาความสามารถในการใช้วิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ การอ่าน และการแก้ปัญหาในชีวิตจริงของวัยรุ่นในประเทศอุตสาหกรรม (30 ประเทศ) และประเทศที่เป็นพาร์ตเนอร์ อีก 11 ประเทศ รวมทั้งประเทศไทยด้วย ผลของรายงานฉบับนี้ ประเทศไทยอยู่ในกลุ่มท้ายตารางในทุกวิชา นอกจากจะสะท้อน "ความล้มเหลว" ของระบบการศึกษาอย่างหนักอีกครั้งหนึ่งแล้ว ยังเป็นการทำลายความเชื่อที่ว่าเด็กไทยในฐานะเป็นคนเอเชียที่เก่งคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์มากกว่าโลกตะวันตกเสียสิ้น
เช่นเดียวกันการปรากฏขึ้นของโรงเรียนนานาชาติในประเทศไทยอย่างเป็นระบบนั้นไม่เกิน 5 ปีมานี้ และกำลังกลายเป็นสิ่งที่น่าทึ่งของระบบการศึกษาไทยที่กำลังปรับตัวเข้าสู่ระดับโลก ทั้งในมาตรฐานการศึกษาและธุรกิจระดับภูมิภาคใหม่ของไทยด้วย
แม้ว่าประเทศไทยจะมีโรงเรียนนานาชาติมาแล้วประมาณ 50 ปี แต่อยู่ในวงแคบๆ และมีการก่อตั้งโรงเรียนชนิดนี้กันมากในช่วงรัฐบาลอานันท์ ปันยารชุน ที่เปิดเป็นธุรกิจเสรี แต่ความจริงพัฒนาการและการปรับตัวครั้งใหญ่เกิดขึ้นไม่นานมานี้เอง
เป็นเรื่องมหัศจรรย์อย่างหนึ่ง ประเทศไทยเป็นแห่งเดียวในโลกที่มีโรงเรียนนานาชาติขึ้นอย่างครึกโครม เป็นแห่งเดียวในโลกที่โรงเรียนเอกชนชั้นนำของอังกฤษถึง 4 แห่งเปิดเครือข่ายของตนเองในประเทศไทย ประเทศที่ไม่เคยเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ ประเทศที่มิได้ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลัก และเป็นประเทศที่มี "ความล้มเหลว" ในการเรียนการสอนภาษาอังกฤษอย่างมากด้วย
เรื่องนี้มีสีสันที่สนใจอีกมาก
www.ed.sjtu.edu.cn/rank/2004
www.pisa.oecd.org
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|