ประเทศที่สามของโลกที่จะให้สิทธิกับพวกเขาและพวกเธอ

โดย ธนิต แก้วสม
นิตยสารผู้จัดการ( มกราคม 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

การเรียกร้องสิทธิแห่งความเท่าเทียมกัน ความเสมอภาคกันระหว่างหญิงกับชาย เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเรื่อยมาในโลกยุคใหม่ (นับตั้งแต่ช่วงปลายศตวรรษที่ 19) โดยเฉพาะในศตวรรษที่ 21 มีกระแสการเรียกร้องที่เพิ่มมากขึ้น ผ่านทางองค์กรสตรีทั้งในระดับโลกและระดับท้องถิ่น จนถึงทุกวันนี้ถือได้ว่าได้รับความก้าวหน้าไปอย่างมากในเรื่องสิทธิของสตรี ในเกือบทุกประเทศผู้หญิงมีสิทธิ์ในการออกเสียงเลือกตั้ง ผู้หญิงมีโอกาสทางการศึกษาทัดเทียมกับผู้ชาย ผู้หญิงดำรงตำแหน่งงานสำคัญๆ ในระดับประเทศ อย่างเช่น รัฐมนตรีหรือ ประธานาธิบดี หรือเป็นประธานบริษัทสำคัญๆ หลายแห่ง โดยสรุปก็คือผู้หญิงได้เข้ามามีบทบาทที่สำคัญในการพัฒนาประเทศและสังคม

และในศตวรรษที่ 21 เช่นเดียวกันที่สังคมโลกต้องเผชิญกับความท้าทายใหม่ ของการเรียกร้องแบบใหม่ คือการเรียกร้องสิทธิความเท่าเทียมกันของผู้ชายกับผู้ชาย และผู้หญิงกับผู้หญิง แน่นอนก็คือเรากำลังพูดถึงกลุ่มประชากรที่ชื่อว่า Homosexual หรือเกย์และเลสเบียนนั่นเอง

สำหรับในประเทศสเปน มีการเรียกร้องกันอย่าง เป็นจริงเป็นจังมานานแล้วแต่ก็ยังไม่ได้รับผลแต่อย่างใด แต่เมื่อไม่นานมานี้ ได้เกิดเป็นข่าวใหญ่ขึ้นเมื่อพรรค สังคมนิยม PSOE นำโดย ซาปาเตโร่ นายกรัฐมนตรี ได้รับเลือกมาเป็นรัฐบาล (พรรคนี้ได้ชูนโยบายของสิทธิและความเสมอภาคของพลเมืองเป็นสำคัญ) ได้ประกาศร่างกฎหมายฉบับหนึ่ง ที่อนุญาตให้คู่สมรสเพศเดียวกันแต่งงานกันได้ถูกต้องตามกฎหมาย

นับเป็นความคืบหน้าที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรมมากที่สุด ตามคำเรียกร้องของประชากร Homosexual ที่ได้ทำการเคลื่อนไหวมาอย่างต่อเนื่อง และถือว่าเป็นการทำตามคำมั่นสัญญาของฝ่ายรัฐบาลด้วย

แม้ว่าจะเป็นเพียงร่างกฎหมายแต่ก็ได้สร้างความพึงพอใจเป็นอย่างมากให้กับประชากรกลุ่มดังกล่าว มันเป็นโอกาสที่พวกเขาจะได้เป็นพลเมืองแบบเต็มตัวซะที ซึ่งที่ผ่านมาพวกเขามีความรู้สึกว่าถูกลิดรอนสิทธิ์ในหลายๆ ประการ และยังถูกสังคมประณามและถูกมองว่าเป็น "พลเมืองพิเศษ"

ในวันที่รัฐบาลได้ผ่านร่างกฎหมายฉบับดังกล่าว ตัวแทนรัฐบาลได้ให้ความเห็นว่า "นับเป็นวันที่สำคัญมาก วันหนึ่งสำหรับพลเมืองอีกหลายล้านคน ที่ได้ประสบ กับปัญหาของความไม่เท่าเทียมกันทางสังคมตลอดมา ซึ่งก็นับว่าเป็นความสำเร็จของทุกคนและทุกฝ่าย ที่สังคม ได้เล็งเห็นความสำคัญและผลักดันให้เกิดความเท่าเทียม กันภายในสังคมอย่างแท้จริง"

"มันเป็นก้าวสำคัญไปสู่ความเท่าเทียมกันและความเสมอภาคของทุกคนอย่างแท้จริง"

สิ่งที่น่าสนใจก็คือ เจตนารมณ์ของร่างกฎหมาย ฉบับนี้มีความตั้งใจจะให้คู่แต่งงานเพศเดียวกันมีสิทธิและหน้าที่เท่าเทียมกันกับคู่แต่งงานปกติทุกประการ อาทิ การมีบุตร (การรับเลี้ยงบุตรบุญธรรม), การรับมรดก, การประกันชีวิต, การหย่าร้าง, การเปลี่ยนสัญชาติของคู่ครอง เป็นต้น แต่อย่างไรก็ตาม หากดูใน รายละเอียดแล้วก็จะพบว่ายังมีข้อที่ต้องถกเถียงและอภิปรายกันพอสมควร อย่างเช่น การรับเลี้ยงบุตรบุญธรรมของคู่สมรสเพศเดียวกัน เพราะถือว่าเป็นประเด็นที่ละเอียดอ่อนมาก

มีการประมาณกันว่าในสเปนมีคู่ครองเพศเดียวกันอยู่ด้วยกัน 14,000 คู่ และมีเกย์ เลสเบียน อยู่ประมาณ 4 ล้านคน ถือว่าเป็นกลุ่มประชากรที่ไม่น้อยเลย ตามตัวเลขแล้วเป็นจำนวนมากพอที่ควรจะมีกฎหมายที่จะเข้ามาจัดการและให้ความคุ้มครองอย่าง เป็นระบบ

ทางสมาคมเกย์และเลสเบียนแห่งสเปน ให้ความเห็นว่า ในเรื่องของ ตัวเลขไม่มีใครบอกได้จริงๆ ว่า พวกเขามีอยู่เท่าไร เพราะพวกเขายังไม่มีทะเบียน และในความเป็นจริงแล้วตัวเลขหรือจำนวนก็ไม่ใช่สิ่งสำคัญที่สุด แต่ในฐานะที่พวกเขาเป็นพลเมืองเหมือนกัน ก็ควรได้รับสิทธิตามกฎหมายเหมือนกันทุกประการ

ร่างกฎหมายฉบับนี้คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ประมาณต้นปี 2005 เมื่อถึงตอนนั้น สเปนก็จะเป็นประเทศที่สามของโลกที่อนุญาตให้เกย์แต่งงานกันได้ถูกต้องตามกฎหมาย ถัดจากฮอลแลนด์และเบลเยียม

ในระหว่างนี้รัฐบาลก็เปิดโอกาสให้ประชาชนวิพากษ์วิจารณ์ร่างกฎหมายดังกล่าว จากการทำแบบสำรวจความคิดเห็น ผลปรากฏว่า ประชาชนส่วนใหญ่เห็นด้วย โดยเหตุผลที่ว่าเป็นการแสดงถึงความเท่าเทียมกันทางสังคม โดยไม่จำกัดว่าแต่ละคนจะมีพฤติกรรมทางเพศเป็นอย่างไร ความเห็นสนับสนุนนี้มีถึง 68% จากผู้ถูกสำรวจทั้งหมด

ในส่วนของทางฝ่ายศาสนาคาทอลิกหรือว่า "ฝ่ายโบสถ์" ได้ออกมาแสดงการคัดค้านอย่างหนัก บอกว่าเป็นความผิดพลาดอย่างรุนแรง ที่มีการเสนอกฎหมายในลักษณะนี้ออกมา พร้อมทั้งเรียกร้องให้ผู้แทนราษฎรสายคาทอลิกให้โหวตคัดค้านกฎหมายฉบับนี้ และยังเรียกร้องให้ทุกคนออกมาประท้วงยับยั้งกฎหมายนี้ด้วย โดยชี้ให้เหตุผลในเชิงข้อควรระวังว่า "บุตรของท่านอาจจะถูกคู่สมรสเกย์รับไปเลี้ยงก็ได้เมื่อท่านได้ตายไปแล้ว" ทางกลุ่ม "เพื่อนเกย์" ก็โต้กลับว่า มันรุนแรงเกินไปที่จะพูดอย่างนั้น พวกกลุ่มอำนาจเก่าอนุรักษนิยมยอมทำทุกอย่างเพื่อจะรักษาอำนาจเอาไว้...

เมื่อใดก็ตามที่เกิดประเด็นในลักษณะนี้ มักมีการถกเถียงกันอย่างรุนแรง เนื่องจากต่างฝ่ายต่างก็มีเหตุผลของตนเอง ฝ่ายหนึ่งก็มองว่าเป็นวิวัฒนาการของ มนุษย์และของสังคมมนุษย์ที่สามารถยอมรับรูปแบบการเป็นอยู่ที่หลากหลายได้ อีกฝ่ายหนึ่งก็มองว่าเป็น อวิวัฒนาการเพราะไม่เป็นไปตามธรรมชาติที่เป็นมาและ สิ่งเพิ่มเติมความยากในการตัดสินก็คือ ผลกระทบที่เกิดขึ้นนั้นไม่ได้เกิดขึ้นทันที อาจต้องใช้เวลาเป็นสิบปี หรือห้าสิบปี หรือหนึ่งชั่วอายุคน

แต่ในกรณีของประเทศสเปนนี้มีความเป็นไปได้สูงมากที่ร่างกฎหมายฉบับนี้จะผ่านการอนุมัติ และจะมีผลบังคับใช้ในปี 2005


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.