|
เมลเบิร์นคัพ
โดย
ธวัชชัย อนุพงศ์อนันต์
นิตยสารผู้จัดการ( มกราคม 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
เมื่อฤดูใบไม้ผลิเข้ามาเยือนดอกไม้เริ่มบาน ความสดชื่นหฤหรรษ์เข้ามาแทรกพร้อมกับฤดูแห่งการเฉลิมฉลองก่อนก้าวย่างเข้าสู่ปีใหม่ ฤดูใบไม้ผลิของประเทศออสเตรเลีย เริ่มต้นอย่างเงียบ ๆ เมื่อสังเกตเห็นดอกจาคารันดาสีม่วงบานเต็มต้นหลังบ้านประมาณช่วงต้นเดือน กันยายน โดยบานต่อเนื่องไปถึงประมาณต้นเดือนพฤศจิกายน
อังคารแรกของเดือนพฤศจิกายน ทั่วประเทศออสเตรเลียแทบจะหยุดหายใจไปชั่วขณะ เพื่อลุ้นม้าที่จะเข้าสู่เส้นชัยในการแข่งขันเมลเบิร์นคัพ (The Melbourne Cup) ซึ่งเป็นการแข่งขันม้าประจำปีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของออสเตรเลีย
ปีนี้ ผู้ชมเกือบสองล้านห้าแสนคนทั่วประเทศเป็นสักขีพยานให้กับ Makybe Diva ราชินีใต้เข้าเส้นชัยเป็นอันดับหนึ่งพร้อมเงินรางวัล 4.6 ล้านเหรียญออสเตรเลีย
และถือเป็นชัยชนะสองปีซ้อนอีกด้วย
เมลเบิร์นคัพเริ่มต้นขึ้นเมื่อปี 1861 โดยจัดเข้าในการแข่งขันม้ารายการหนึ่งในช่วงฤดูใบไม้ผลิของรัฐวิกตอเรีย
ในการแข่งขันครั้งแรกนั้น มีผู้เข้าชมประมาณ 4,000 คน ก่อนจะเพิ่มขึ้นเป็น 100,000 คนในอีกยี่สิบปีต่อมา หรือคิดเป็นหนึ่งในสามของประชากรเมืองเมลเบิร์น
ไม่มีใครคาดคิดว่า การแข่งขันเมลเบิร์น คัพ จะกลายเป็นการแข่งขันที่ยิ่งใหญ่อย่างในปัจจุบันได้
การถือกำเนิดของ Victoria Racing Club ในปี 1864 เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้การพัฒนารูปแบบการแข่งขันและเทศกาลของเมลเบิร์นคัพเป็นรูปเป็นร่างชัดเจนยิ่งขึ้น ก่อนที่จะกลายเป็นเวทีแข่งขันม้าที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของประเทศเหนือสนามแข่งม้าในเมืองและรัฐอื่นๆ
นอกจากการแข่งม้าแล้ว เมลเบิร์นคัพเปรียบเสมือนจุดนัดพบของเหล่านักธุรกิจ มหาเศรษฐี ซึ่งจะมาเจรจาว่าความทางธุรกิจกันระหว่างชมการแข่งขัน ในขณะที่เหล่าภรรยาจะแต่งตัวด้วยเครื่องแต่งกายที่ทันสมัยเพื่อประกวด ประขันกันริมขอบสนาม ที่ลืมไม่ได้เลยคือ หมวก ซึ่งถือเป็นสีสันของงานที่สำคัญมาก
การแข่งม้าในออสเตรเลียมีความสำคัญในทางเศรษฐกิจโดยถือเป็นอุตสาหกรรมอุตสาหกรรมหนึ่ง
ปกติทุกวันหยุดสุดสัปดาห์ เราสามารถหาดูการแข่งม้า ซึ่งถ่ายทอดทางโทรทัศน์เป็นประจำได้ และผลการแข่งขันม้า การวิเคราะห์ และกิจกรรมต่างๆ เกี่ยวกับการแข่งม้าล้วนสามารถหาอ่านได้ในหนังสือพิมพ์รายวัน
อุตสาหกรรมการแข่งม้าของออสเตรเลีย มีมูลค่าประมาณ 8,000 ล้านเหรียญออสเตรเลีย (1 เหรียญออสเตรเลีย เท่ากับประมาณ 30 บาทไทย) ก่อให้เกิดการจ้างงานประมาณ 250,000 ตำแหน่ง โดยมีเจ้าของม้ามากถึง 300,000 คน และเงินรางวัลสำหรับการแข่งขันม้าในแต่ละปีมากถึง 350 ล้านเหรียญออสเตรเลีย
ในช่วงห้าปีที่ผ่านมาก อุตสาหกรรมม้าแข่งได้เปลี่ยนแปลงจากแบบสมัครเล่นไปสู่มืออาชีพมากขึ้น
อุตสาหกรรมการแข่งม้าในรัฐวิกตอเรียถือว่าก้าวหน้าเกินรัฐอื่นๆ ในประเทศออสเตรเลีย อย่างไรก็ตาม โครงสร้างของอุตสาหกรรมการแข่งม้าก่อนหน้านี้ก็ยังไม่มีความเป็นมืออาชีพพอที่จะปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์เศรษฐกิจและการแข่งขันที่เปลี่ยนไป
ถึงแม้ว่าเทศกาลการแข่งม้าประจำปีอย่างเมลเบิร์นคัพจะสามารถดึงดูดความสนใจจากผู้ชมทั่วประเทศ เนื่องด้วยเป็นเทศกาลที่รวม เอาสิ่งดีๆ ทุกสิ่งเกี่ยวกับการแข่งม้ามาไว้ในงาน เดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นผู้เข้าชมจำนวนมหาศาล, บรรยากาศการเฉลิมฉลองที่สนุกสุดเหวี่ยง, การ ลงขันแทงพนันจำนวนมาก และที่สำคัญการแข่งขันที่มีคุณภาพ แต่ภาพสวยงามเหล่านั้น กลับปกปิดสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นในอุตสาหกรรม การแข่งขันม้า
ช่วงปลายทศวรรษ 1990 ที่ผ่านมา อุตสาหกรรมการแข่งม้าถือว่าอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อเมื่อมีการนำรูปแบบการพนันใหม่ๆ เข้ามา โดยเฉพาะกาสิโน ซึ่งเข้ามาแย่งส่วนแบ่งรายจ่าย ของชาวออสเตรเลียในเรื่องการพนันจากการแข่งขันม้าไปมาก ส่งผลให้ผู้เข้าชมการแข่งขันม้า, เงินรางวัล และจำนวนเจ้าของม้าได้ลดลงอย่างต่อเนื่อง สโมสรแข่งม้า โดยเฉพาะในพื้นที่ชนบทห่างไกลซึ่งมีระบบการบริหารงานที่ไร้ระเบียบอยู่แล้วไม่สามารถอยู่รอดในอุตสาหกรรม นี้ได้
ทำให้ผู้บริหารสโมสรแข่งม้าหลายๆ แห่ง จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองอย่างรวดเร็วที่สุด มิฉะนั้นก็จะต้องออกจากวงการไป แนวทางหนึ่ง ที่บอร์ดบริหารการแข่งม้าแห่งประเทศออสเตรเลีย ทำ คือ การนำมืออาชีพในวงการธุรกิจเข้ามาบริหาร
สโมสรแข่งม้าอันดับหนึ่งของรัฐวิกตอเรีย อย่าง Victoria Racing Club ซึ่งควบคุมการแข่งขันม้าเกือบทั้งหมดในรัฐวิกตอเรียจึงนำอดีต ผู้บริหารห้างสรรพสินค้าและซูเปอร์สโตร์ชื่อดังเข้ามาร่วมบริหารงานในปี 1994 โดยมีเป้าหมายที่จะเปลี่ยนแปลงสโมสรแข่งม้าเก่าแก่แห่งนี้ให้กลายเป็นสโมสรแข่งม้ามืออาชีพ
ปัจจุบันสโมสรแข่งม้าแต่ละแห่งมีรายได้ หลักมาจากสามแหล่งด้วยกัน คือ รายได้จากตั๋วเข้าชมการแข่งขัน, สมาชิก และรายได้จากการแทงม้า (โดยสโมสรจะได้เงินส่วนแบ่งจากบริษัทรับพนันอย่าง Tabcorp และ UNiTAB ซึ่ง เป็นบริษัทรับพนันรายใหญ่ของออสเตรเลีย)
แนวทางที่ทีมผู้บริหารใหม่วางไว้คือ จะต้องสร้างความน่าสนใจในกีฬานี้ให้มากขึ้นกว่าปัจจุบัน โดยจะต้องวางแผนการตลาดใหม่, ปรับปรุงระบบอำนวยความสะดวกในสนามแข่ง และชักชวนคนให้ไปดูการแข่งขันม้ามากขึ้น โดย เฉพาะกลุ่มผู้หญิง ในขณะที่ตัวสินค้าคือ การแข่งขันม้านี้มีดีอยู่ในตัวอยู่แล้ว นอกจากนี้ยังเพิ่ม เงินรางวัลจากการแข่งขัน การเพิ่มเงินที่จ่ายให้แก่เจ้าของม้า และการหารายได้จากผู้สนับสนุนเพิ่มขึ้น
ผลของการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมใหม่ เห็นได้ชัดจากการแข่งขันเมลเบิร์นคัพระหว่างปี 1994-2003 ที่ผ่านมา โดยการแข่งขัน เมลเบิร์นคัพกลายเป็นงานทำเงินอย่างแท้จริง โดยมีผู้เข้าร่วมชมงานเพิ่มขึ้น 61.7% นั่นคือ ขึ้น ไปถึง 492,955 คน โดยเป็นคนต่างชาติประมาณ 8-10% ก่อให้เกิดการใช้จ่ายเงินโดยตรง 180 ล้าน เหรียญออสเตรเลีย และกำไรทางเศรษฐกิจสุทธิ 388.5 ล้านเหรียญออสเตรเลีย
ผลการปรับโครงสร้างของอุตสาหกรรมแข่งม้าในรัฐวิกตอเรีย ทำให้อุตสาหกรรมนี้ในรัฐ อื่นๆ พยายามเดินตามรอยบ้าง ยกตัวอย่างเช่น ในรัฐนิวเซาต์เวลส์ ที่สโมสรแข่งม้าพยายามดึงความสนใจจากกลุ่มคนอายุระหว่าง 18-25 ปี โดยทำให้การแข่งขันม้าเป็นเสมือนงานเฉลิมฉลองครั้งใหญ่
นอกจากนี้ อุตสาหกรรมแข่งม้าในรัฐวิคตอเรียและนิวเซาท์เวลส์ยังร่วมมือกันก่อตั้ง ThoroughVisioN (TVN) ซึ่งเป็นองค์กรที่จัดการเกี่ยวกับลิขสิทธิ์การถ่ายทอดผ่านทางทีวีแบบบอกรับสมาชิก, อินเทอร์เน็ต และโทรศัพท์มือถือ สำหรับการแข่งขันม้าในเมืองเมลเบิร์นและซิดนีย์ การจัดตั้งองค์กรนี้ จะทำให้อุตสาหกรรมแข่งม้า ได้รับรายได้เป็นกอบเป็นกำมากขึ้น
และองค์กรนี้จะกลายเป็นจุดเริ่มต้นที่ก่อตั้งเป็นองค์กรระดับชาติเพื่อจัดการเกี่ยวกับลิขสิทธิ์ถ่ายทอดอย่างเป็นทางการทั่วประเทศ ซึ่งเชื่อว่าจะช่วยรักษาผลประโยชน์ของอุตสาหกรรมนี้ได้มากขึ้น เพราะปัญหาอีกอย่างหนึ่งที่ยัง คงดำรงอยู่ในอุตสาหกรรมนี้คือ การขาดความ ร่วมมือระหว่างหน่วยงาน และองค์กรต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมแข่งม้าของประเทศออสเตรเลียนี้
ล่าสุดในการแข่งขันม้าเมลเบิร์นคัพครั้งนี้ การปฏิวัติเงียบๆ กำลังจะเกิดขึ้นโดยการอนุญาต ให้นักพนันจากประเทศอังกฤษ สามารถแทงม้าผ่านการจัดการของ Tabcorp โดยผ่านทางสถานีโทรทัศน์ช่อง At the Races ของอังกฤษ
แนวทางนี้จะนำไปสู่การดึงดูดนักพนันจากทั่วโลกโดยเฉพาะจากประเทศอังกฤษ และ อเมริกา ซึ่งแทงพนันม้าในแต่ละปีมากถึง 54,000 ล้านเหรียญออสเตรเลีย
สำหรับตลาดอเมริกา การแข่งม้าของออสเตรเลียจะก่อให้เกิดรูปแบบการแทงพนันใหม่ และเมื่อมองถึงเรื่องโซนเวลาที่แตกต่างกัน เวลา ที่การแข่งม้าของออสเตรเลียจัดจะตรงกับช่วงเวลาเย็นที่อเมริกาพอดี ซึ่งเป็นเวลาที่เหมาะสมสำหรับการถ่ายทอดการแข่งขัน และจะเป็นสินค้า สำหรับแทงพนันในช่วงกลางคืนสำหรับตลาดอเมริกา
คาดการณ์กันว่า ถ้าการแข่งม้าของออสเตรเลียสามารถแย่งส่วนแบ่งตลาดเพียง 5% ของเงินแทงพนันกว่า 54,000 ล้านเหรียญออสเตรเลียของตลาดอังกฤษและอเมริกา อุตสาหกรรมการแข่งม้าของออสเตรเลียจะมีเงิน เข้ามาหมุนเวียนมากถึง 80 ล้านเหรียญออสเตรเลีย ซึ่งคิดเป็น 15%
ผู้บริหารของ Racing Victoria ก็ต้อง การจะทำให้อุตสาหกรรมม้าแข่งของออสเตรเลีย เป็นอุตสาหกรรมที่ให้ผลตอบแทนแก่เจ้าของสูงที่สุดในโลก โดยเปลี่ยนแนวคิดจากการเลี้ยงม้าแข่งที่เหมือนการซื้อลอตเตอรี่ไปสู่การลงทุน เพราะในแต่ละปี ออสเตรเลียจ่ายเงินกว่า 5,500 ล้านเหรียญออสเตรเลียสำหรับการรักษาพันธุ์, ขยายพันธุ์, จัดการที่ดินเลี้ยงม้า, ก่อสร้าง, ซื้ออุปกรณ์, ฝึกสอน และแข่งขันม้า
สำหรับตลาดอเมริกา ปี 2005 จะเป็นปี เริ่มต้นของการแทงพนันเมลเบิร์นคัพอย่างเป็นทางการ
เมื่อมองตลาดออสเตรเลีย ปีกลายมีการ แทงพนันมากถึง 117.6 ล้านเหรียญออสเตรเลีย ในขณะที่ปีนี้แทงเพิ่มขึ้นเป็น 125 ล้านเหรียญออสเตรเลีย โดยที่วงเงินพนันเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทุกๆ ปี
ในปี 1895 มาร์ค ทเวน (Mark Twain) นักเขียนอเมริกันเจ้าของผลงานวรรณกรรมเยาวชนเรื่อง การผจญภัยของทอม ซอว์เยอร์ (The Adventure of Tom Sawyer) และการผจญภัยของฮักเคิล เบอร์รี่ ฟินน์ (The Adventure of Huckleberry Finn) เคยมาเยือน สนามแข่งม้าเฟลมิงตัน (Flemington) ริมฝั่งแม่น้ำมาริบีร์นอง (Maribyrnong River) ซึ่งเป็นสนามแข่งขันม้าเมลเบิร์นคัพมาตั้งแต่ปี 1861 ถึงปัจจุบัน ก่อนที่จะบันทึกไว้ว่า การแข่งขันเมลเบิร์นคัพเป็นการแข่งขันม้าที่สุดยอดและหาใครเสมอเหมือนได้
"นี่คือเมกกะแห่งการแข่งม้าของออสเตรเลีย"
"...ทุกกิจการงานต่างหยุดกันถ้วนหน้า... ทุกคนไม่ว่าชายหรือหญิง ร่ำรวยหรือยากจน ชนชั้นสูงหรือต่ำ หยุดงานและมาชมการแข่งขัน... พวกเขาเดินทางเข้ามาทั้งทางเรือและรถไฟ มืดฟ้า มัวดิน ทั้งกลางวันและกลางคืน นี่เป็นเหตุการณ์ ที่ไม่สามารถเห็นได้ที่อื่นใดในออสเตรเลีย"
หนึ่งร้อยเก้าปีที่ผ่านมา ทุกอย่างยังเหมือนที่มาร์ค ทเวน ว่าไว้ครับ
อ่านเพิ่มเติม
1. The Melbourne Cup : The Race that Stops the Nation 1861-2004, หนังสือพิมพ์ The Weekend Australian ฉบับวันที่ 30-31 ตุลาคม 2004 หน้า 56-57
2. A Year of network hits and misses, หนังสือพิมพ์ The Australian ฉบับวันที่ 25 พฤศจิกายน 2004 หน้า 17
3. Cup encore form a Diva singing in the rain, หนังสือพิมพ์ The Australian ฉบับวันที่ 3 พฤศจิกายน 2004 หน้า 1
4. Toting up the Cup Winnings, หนังสือพิมพ์ The Australian Financial Review ฉบับวันที่ 3 พฤศจิกายน 2004 หน้า 4
5. Racing carnival an odds-on favourite, หนังสือพิมพ์ The Australian Financial Review ฉบับวันที่ 29-31 ตุลาคม 2004 หน้า L20
6. Best in the World : Makybe Diva Enters Cup History with Double, หนังสือพิมพ์ The Australian ฉบับวันที่ 3 พฤศจิกายน 2004 หน้า 22
7. Pluck of the Irish, หนังสือพิมพ์ The Australian ฉบับวันที่ 1 พฤศจิกายน 2004 หน้า 1
8. A Quiet Revolution, นิตยสาร BRW ฉบับวันที่ 28 ตุลาคม-3 พฤศจิกายน 2004 หน้า 44-48
9. วันนี้ในอดีต (เหตุการณ์โลก) : 30 พฤศจิกายน 2378, http://www.sarakadee.com/modules.php?name=News&file=article&sid=581
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|