บ้านแสนสุขในอิสราเอล


นิตยสารผู้จัดการ( มกราคม 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

เมื่อสถาปนิกเดนมาร์ก Ulrik Plesner อพยพไปปักหลักอยู่ที่ประเทศอิสราเอล เมื่อ 30 ปีที่แล้วนั้น นับเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญแห่งวิชาชีพของเขาด้วย เพราะทำให้ได้เริ่มต้นอ้าแขนรับเอาความงดงามทุกอย่างเข้าไว้ในตัวตน นับตั้งแต่ความงามที่เป็นระเบียบแบบแผนของสแกนดิเนเวียไปจนถึงแบบ baroque ยุค post-colonial ของศรีลังกา

ผลงานสำคัญๆ ในอีก 30 กว่าปีต่อมา ซึ่งครอบคลุมทั้งในส่วนของภาครัฐบาลและเอกชนจึงช่วยผลักดันให้สถาปนิกเดนมาร์กผู้นี้กลายเป็นหนึ่งในบุคคลสำคัญที่สุดด้านการออกแบบคนหนึ่งของอิสราเอล

สายตาอันเฉียบคมของ Plesner ซึ่งผสมผสานกันระหว่าง ยุโรป-เอเชียและเมดิเตอร์เรเนียนฝั่งตะวันออก ทำให้เขาสร้างสรรค์สถาปัตยกรรมสไตล์โดดเด่นให้กับอาคารสำคัญๆ ในอิสราเอลมากมาย รวมทั้งศูนย์ Beit Gabriel บนฝั่งทะเล Sea of Galilee ด้วย แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าตลอด 30 ปีดังกล่าว เขาไม่เคยรับงานออกแบบบ้านพักอาศัยเลยสักครั้งเดียว เพราะเคยชินกับการออกแบบวิลล่าขนาดใหญ่ในศรีลังกา ที่เขากับหุ้นส่วนคือสถาปนิก Geoffrey Bawa รับทำนั่นเอง ทำให้ Plesner อึดอัดใจถ้าต้องออกแบบบ้านในอิสราเอล ซึ่งเขาพบว่าที่ดินมีขนาดเล็กเกินกว่าจะใส่องค์ประกอบเกี่ยวกับสิ่งมีชีวิต (organic elements) เข้าไปได้อย่างครบถ้วนเหมาะสม ซึ่งสถาปนิกเดนมาร์กผู้นี้คิดว่าเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับบ้านพักอาศัย

ดังนั้นเมื่อสบโอกาสในโครงการออกแบบวิลล่าขนาดใหญ่ที่ Savyon ชานกรุงเทลอาวิฟ เขาไม่รีรอที่จะรับทำทันที จึงได้บ้านที่ออกแบบให้ระบบไฟ น้ำ และสวนหย่อมมาบรรจบกันอย่างต่อเนื่อง โดยมีทางเดินส่วนกลางเป็นตัวเชื่อมหลัก ทางเดินนี้เริ่มต้นจากทางเข้าบ้านไปทะลุทางออกและอยู่ในระนาบเดียวกันโดยตลอด มีเพียงประตูหน้าบ้านเท่านั้นที่ออกแบบสไตล์เอเชียตามความเชื่อที่ว่า จะช่วยป้องกันไม่ให้วิญญาณร้ายพุ่งเข้าสู่ใจกลางของบ้านได้โดยตรง

ทั้ง Plesner และทีมงานคือ Daniela ผู้เป็นลูกสาวและ เพื่อนสถาปนิก Ruthy Packer ต่างให้ความสำคัญกับองค์ประกอบ เกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตมาตั้งแต่เริ่มแรก จึงออกแบบให้มีสระน้ำอยู่ถัดจากทางเข้าใหญ่ทันที สำหรับเจ้าของบ้านซึ่งเป็นครอบครัวของนักธุรกิจหญิงกับสามีนักวิชาการและลูกๆ อีก 2 คน สระน้ำนี้เป็นมุมสงบยามต้องการหลุดพ้นจากความวุ่นวายได้เป็นอย่างดี ที่สำคัญคือมีความลึกเพียง 20 ซม. จึงไม่ถือว่าเป็นการใช้ทรัพยากรน้ำอย่างฟุ่มเฟือยสำหรับประเทศที่อยู่ในภูมิภาคแห้งแล้งอย่างอิสราเอลแต่อย่างใด

Plesner ออกแบบให้บริเวณที่เป็นพื้นที่ของส่วนรวมคือ ครัว ห้องสมุด และห้องอาหารตั้งอยู่ฟากหนึ่งของบ้าน ขณะที่ห้องนอนทั้งหมดจะอยู่อีกฟากหนึ่ง มีสวนหย่อมสไตล์ zen ประดับเป็นแนวทั้งสองฟาก เขาเน้นว่าสวนหย่อมจำเป็นสำหรับบ้านอยู่อาศัยอย่างแท้จริง เพราะไม่เพียงแต่จะให้ร่มเงาแต่ยังเป็นมุมสงบของสมาชิกในบ้านได้ด้วย พร้อมกับอธิบายเพิ่มเติมในส่วนของห้องนอนว่า ไม่เน้นเรื่องความกว้างขวางใหญ่โต "อิสราเอลยังได้ชื่อว่าใหม่ต่อวิถีชีวิตแบบนี้อยู่มาก ลูกค้าของผมจึงไม่ต้องเสแสร้งเรื่องความหรูหรา หากแต่เน้นถึงประโยชน์ใช้สอยมากกว่า"

เพราะครอบครัวนี้ต้องการบ้านที่เป็นสมบัติของทุกคน Plesner จึงสงวนพื้นที่ส่วนใหญ่ไว้สำหรับทำเป็นห้องนั่งเล่น ซึ่งอยู่ชั้นล่าง เป็นห้องที่มีขนาดใหญ่ ลึก และกว้าง เพราะตั้งใจออกแบบสำหรับใช้เป็นห้องดนตรีเล็กๆ ด้วย จึงจำเป็นต้องมีห้องขนาดใหญ่ เพื่อรองรับเสียงดนตรีคลาสสิกที่สมาชิกในครอบครัวโปรดปรานทั้งในแง่เป็นผู้เล่นและผู้ฟัง ความโอ่โถงของห้องนั่งเล่นของบ้านนี้จึงขัดกับห้องนอนเรียบๆ เล็กๆ โดยสิ้นเชิง

เพื่อแสดงให้เห็นว่าโครงการนี้ส่งเสริมความเป็น "ตะวันออก" อย่างแท้จริง จึงเน้นใช้วัสดุในท้องถิ่นเป็นหลัก โดยใช้ปูนฉาบผนังแบบเดียวกับบ้านส่วนใหญ่ในอิสราเอลซึ่งหาได้ง่าย มีประสิทธิภาพ และมีคุณสมบัติช่วยปกป้องผนังจากความชื้นสูงอันเป็นลักษณะเฉพาะของภูมิอากาศร้อนชื้นแถบชายฝั่งทะเล ส่วนของพื้นปูด้วยกระเบื้องที่ผลิตจากแหล่งต่างๆ ในอิสราเอล กรอบประตูทำด้วยไม้โอ๊กสีเข้ม แล้วใช้ไม้สนไขว้กันเป็นลายโปร่งแลดูสวยสง่าประดับอยู่ใต้เรือนไม้เลื้อย (pergola) ที่ตั้งอยู่บริเวณด้านหน้าของสระน้ำ นอกจากนี้ ไม้ยังเป็นวัสดุหลักในการใช้ออกแบบโต๊ะและเครื่องตกแต่งกระจุกกระจิกด้วย

เห็นได้ชัดว่าสระว่ายน้ำที่มีอยู่นั้นมุ่งประโยชน์ใช้สอยจริง เพราะออกแบบให้เป็นแนวตรงมีความยาวถึง 15 เมตร ปูด้วยกระเบื้องสีน้ำเงินเข้ม ในส่วนของสวนหย่อมที่มีทั้งต้นมะกอก ลั่นทม และเฟื่องฟ้า รวมทั้งศาลพระภูมิของไทยนั้น เป็นเครื่องยืนยันว่า Plesner รักและให้ความสำคัญกับองค์ประกอบของสิ่งมีชีวิตโดยแท้จริง สวนหย่อมยังช่วยนำสายตาไปยังริมรั้วที่อยู่ทางปลายสุดของบ้านซึ่งมีสวนผลไม้เขียวร่มครึ้มที่หาได้ยากยิ่งสำหรับประเทศอิสราเอล ยุค post-industrial

เมื่อมองจากถนนด้านนอกเข้ามา ส่วนหน้าของตัวบ้าน ซึ่งมีหลังคาวางตัวในแนวตรงจะบังเสน่ห์และความงามของตัวบ้านด้านในเอาไว้ทำให้ปรากฏแก่สายตาเพียงเล็กน้อยเท่านั้น Plesner อธิบายเหตุผลของการออกแบบในจุดนี้ว่า สำหรับเขาแล้ว บ้านเป็นอะไรที่ให้ความรู้สึกเป็นปริศนา และ "การออกแบบ บ้านที่มีขนาดใหญ่กว่ามักจะง่ายกว่าเสมอ เพราะคุณเพียงแต่เพิ่มหรือเสริมในจุดที่ต้องการเท่านั้น แต่กับบ้านที่มีขนาดเล็กกว่า คุณต้องใช้หัวสมอง ในการคิดสร้างสรรค์มากกว่า"

ปัจจุบัน Plesner รับงานออกแบบบ้านพักอาศัยมากขึ้นและย้ำว่า ไม่ว่าจะมีขนาดใหญ่หรือเล็กก็ตาม "บ้านต้องให้ความรู้สึกสะดวกสบาย เป็นธรรมชาติ ไม่มีอะไรกดดัน ไม่ต้องใช้ความพยายามในการเข้าถึง"

เรื่องนำของ Merry-Go-Round ฉบับนี้
แปลและเรียบเรียงจากบทความเรื่อง "Calming home" ซึ่งตีพิมพ์ใน
นิตยสาร Wallpaper/November 2004
เขียนโดย David Kaufman และ
ภาพโดย Tzachi Ostrovsky


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.