|
ตำนานจากโลกตะวันออก "Cotto Studio"
โดย
อรวรรณ บัณฑิตกุล
นิตยสารผู้จัดการ( มกราคม 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
ศาสตร์และศิลป์จากซีกโลกตะวันออกกำลังถูกขับเคลื่อนผ่านกระบวนการจัดการ จาก "Cotto Studio" กลายเป็นกระเบื้องลายใหม่
ที่กำลังสร้างอิทธิพลต่อวงการออกแบบของโลกตะวันตก
รถบัสคันใหญ่พานักข่าวกลุ่มหนึ่งมุ่งหน้าไปยังปราสาทหินพิมาย จังหวัดนครราชสีมา เมื่อเช้าวันที่สายลมหนาวเริ่มพัดผ่าน เป็นความตั้งใจของผู้บริหารบริษัทเซรามิค อุตสาหกรรมไทย จำกัด ที่ต้องการให้ผู้คนได้รับรู้ถึงแรงบันดาลใจเบื้องหลัง "Pimai Collection by Cotto Studio" รวมทั้งวิธีคิดและวิสัยทัศน์ที่จะก้าวเป็นเทรนด์ เซตเตอร์ (Trend Setter) หรือผู้นำในการกำหนด แนวโน้มลวดลายในการออกแบบกระเบื้องเซรามิกของโลก
เทรนด์ของโลกที่ย้อนยุคกลับมาสู่ความเป็นธรรมชาติจากโลกตะวันออก สอดคล้องกับวิธีคิดของคอตโต้ที่จะนำเสนอเรื่องราวความเป็นเอเชียและไทยออกสู่ตลาดสากล คอตโต้จึงไม่ได้ขายกระเบื้องเพียงอย่างเดียว แต่ยังขายเรื่องเล่าความเป็นมาในตัวกระเบื้องด้วย
ความสง่างามในสถาปัตยกรรมอุทยานประวัติศาสตร์หินพิมายซึ่งเต็มไปด้วยกลิ่นอายอารยธรรมขอมโบราณ ศาสนสถานในพุทธศาสนานิกายมหายานที่มีขนาดใหญ่และสำคัญที่สุดของประเทศไทย เป็นแรงบันดาลใจสำคัญในการสร้างสรรค์ลวดลายใหม่ "พิมายคอลเลกชั่น"
ตัวปราสาทยังคงมีความสมบูรณ์ ทั้งๆ ที่เวลาผ่านไปเนิ่นนานกว่าพันปี แม้หินบางก้อนผุกร่อน แต่สายแร่ที่ปรากฏเป็นเส้นริ้วที่งดงามในเนื้อหินยังคงชัดเจน
"น้องๆ จากทีมงานต้องศึกษาและรู้ถึงประวัติความเป็นมาของที่นี่ มาสัมผัสกับเนื้อหิน ใช้เวลาในการพิจารณาในเรื่องของโทนสี ลวดลาย หลายวันทีเดียวก่อนที่จะไปเริ่มกระบวนการออกแบบด้วยคอมพิวเตอร์"
เทวินทร์ วรรณะบำรุง หนึ่งในผู้ก่อตั้ง Cotto Studio อธิบายเพิ่มเติม วันนั้นเขายังรับหน้าที่เป็นไกด์บรรยายเรื่องราวความเป็นมาของปราสาท รวมทั้งเกร็ดความรู้ต่างๆ ของประวัติศาสตร์ และจุดต่างๆ ที่มีอิทธิพลต่อความคิดใน การทำงานชิ้นนี้อีกด้วย
หลังจากใช้เวลาเกือบ 2 ชั่วโมง ขบวนนักข่าวก็ย้อนกลับมายัง Cotto Studio ในอำเภอหินกอง จังหวัดสระบุรี ซึ่งนอกจากลูกค้าแล้วไม่บ่อยนักที่จะเปิดโอกาสให้สื่อมวลชนได้เยี่ยมชม
สถาบันแห่งนี้ตั้งขึ้นมาเมื่อปี 2531 ในอดีตทำหน้าที่เพียงออกแบบลายกระเบื้องให้กับตลาดภายในประเทศของเครือปูนซิเมนต์ไทยเป็นส่วนใหญ่ ผลงาน ในตอนนั้นจึงมีที่มาจากแนวคิดของฝ่ายตลาดเป็นหลัก
ปี 2543 ได้มีการกำหนด positioning ของบริษัทใหม่ในการก้าวขึ้นไปเป็นสินค้าระดับ high-end และเป็นผู้นำในการออกแบบของโลก โดยมีแนวทาง หลักในการออกแบบคือ แบบอิงแนวคิดธรรมชาติ (Nature) แบบร่วมสมัย (Contemporary) แบบอิงแนวคิด ขนบธรรมเนียมประเพณีดั้งเดิม (Traditional) แบบสมัยใหม่ทั้งแนวเทคโนโลยี และความงาม (Modern-Tech & Pretty) และแบบเหนือจริง (Sur-realism)
ด้วยวิธีคิดใหม่ ฝ่ายออกแบบจะต้องได้รับการพัฒนา ศักยภาพอย่างต่อเนื่อง และเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการสร้าง สินค้า ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาสินค้าประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ของคอตโต้จึงถูกกำหนดจากฝ่ายนี้
ปี 2527 กระเบื้องคอตโต้สร้างยอดขายได้เพิ่มขึ้นถึง 2,000 ล้านบาท 40% ของกำลังการผลิตกระจายอยู่ในทั่วโลก โดยมีอเมริกาและยุโรปเป็นประเทศเป้าหมาย
"สินค้าอินเทรนด์หรือสินค้าแฟชั่นนั้นเราต้องคิดให้เร็วในมุมมองที่ต้องฉีกจากคนอื่น ดีไซเนอร์อาจใช้เวลาในการออกแบบจากคอมพิวเตอร์ โน้ตบุ๊กเพียงแค่ 1-2 ชั่วโมง จากมุมไหนในโลกก็ได้และใช้เวลาเพียง 2 เดือนสินค้าตัวนั้นก็ถูกวางขาย" เทวินทร์อธิบายต่อ
แต่สินค้าที่เป็นผู้นำเทรนด์อย่างพิมายนั้นต้องใช้เวลานอกจากความสามารถของทีมดีไซเนอร์แล้วยังคงมีความหมายลึกไปถึงการทุ่มทุนพัฒนาเทคโนโลยีชั้นสูงในการผลิตที่สามารถฝังริ้วลายของหินทรายลงไปในเนื้อกระเบื้อง แม้ผิวของกระเบื้องถูกกะเทาะออกลวดลายเหล่านั้น ก็ยังคงอยู่
เช่นเดียวกับเรื่องราวความเป็นมาของผลงานในชุด "จัสมินไรซ์" ข้าวหอมมะลิจากเมืองไทย มู่ลี่ไม้ไผ่สัญลักษณ์ของโลกตะวันออกที่รังสรรค์เป็นลายกระเบื้องในชุด "แบมบู" รวมทั้งผลงานล่าสุดที่กำลังอยู่ในห้องทดลอง "Thai Paper" มาจากความประทับใจในกระดาษสา
ธรรมชาติใช้เวลาสร้างหินก้อนหนึ่งๆ เป็นพันปีแต่เทคโนโลยีการก่อสร้างก็จำลองขั้นตอนการเกิดหินให้สั้นขึ้น เช่นเดียวกับลวดลายสลักเสลาบนเนื้อหินที่ใช้ความเพียรจากฝีมือมนุษย์อยู่นานกลับถูกเครื่องปั๊มลายอัดแรงดันสูงผลิตออกมาได้ทีละมากๆ
การเยี่ยมชมในวันนั้นของสื่อมวลชนจบลงด้วยปาร์ตี้เล็กๆ ท่ามกลางสายลมเย็น แสงเทียนวับแวมที่ถูกจุดวางไว้บนหยวกกล้วยที่มีดอกลั่นทมประดับงดงามอย่างเป็นธรรมชาติ สอดคล้องกับโปรดักส์ตัวใหม่ที่กำลังถูกกล่าวถึง
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|