เตรียมลดเกณฑ์บัตรเครดิตเล็งรายได้ขั้นต่ำ1หมื่นบาท


ผู้จัดการรายวัน(26 มีนาคม 2545)



กลับสู่หน้าหลัก

แบงก์ชาติเตรียมปรับเกณฑ์รายได้ผู้ถือบัตรเครดิตตามที่สมาคมธนาคารไทยเสนอ เหลือแค่ 1 หมื่นบาท แจงไม่กระทบในเรื่องความเชื่อมั่นของธนาคาร ชี้ที่ผ่านมาแข่งกันคนละมาตรฐาน แบงก์ตีปีกได้ฐานลูกค้าเพิ่ม

นางทัศนา รัชตโพธิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สายนโยบายสถาบันการเงิน เปิดเผยว่าหลังจากที่สมาคมธนาคารไทยได้ประสานงานมายัง ธปท. เพื่อขอปรับปรุงหลักเกณฑ์การอนุมัติบัตรเครดิตให้ประชาชน โดยขอลดวงเงินรายได้ของผู้ทำบัตรเครดิตใหม่จาก 15,000 บาท ในปัจจุบันเหลือ 10,000 บาท เพื่อให้สามารถขยายฐานการให้บริการบัตรเครดิตและการให้สินเชื่อบัตรเครดิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากตลาดบัตรเครดิตยังมีแนวโน้มที่จะขยาย ได้จากนี้อีกมากนั้น

ขณะนี้ธปท.กำลังพิจารณาที่จะผ่อนคลายเกณฑ์ดังกล่าวให้กับธนาคารพาณิชย์ โดยผู้ขอทำบัตรเครดิตใหม่มีรายได้ 10,000 บาทต่อ เดือน หรือ 120,000 บาทต่อปีก็สามารถทำบัตรเครดิตของธนาคาร พาณิชย์ได้ จากเดิมที่จะต้องมีรายได้ 15,000 บาทต่อเดือน หรือ 180,000 บาทต่อปี อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างพิจารณาความ เหมาะสมของรายละเอียดต่างๆ เช่น ช่วงเวลาที่จะผ่อนปรนและรายละเอียดอื่นๆ ด้วย

"สาเหตุที่ ธปท.พิจารณาที่จะผ่อนปรนเกณฑ์ดังกล่าว เนื่องจากจากเห็นว่าการลดเกณฑ์ จะไม่กระทบต่อเงินฝากของประชาชนให้ลดลง และไม่กระทบต่อความเชื่อมั่นในระบบธนาคารพาณิชย์ และยังเป็นการช่วยเพิ่มความสามารถใน การแข่งขันในการขยายฐานบัตรเครดิต และสินเชื่อบัตรเครดิตของธนาคารพาณิชย์ให้สามารถแข่งขัน กับบัตรเครดิตของภาคเอกชน ที่ออกมาจำนวนมากในขณะนี้ได้ด้วย"นางทัศนากล่าว

ทั้งนี้ ปัจจุบันบัตรเครดิตธุรกิจที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน เช่น บริษัทอีออน หรือจีอี แคป-ปิตอล และบัตรเครดิตที่ออกโดยห้างสรรพสินค้า นั้น กำหนดวงเงินรายได้ของผู้ขอทำบัตรต่ำกว่ากำหนดของธนาคารพาณิชย์มาก โดยวงเงินรายได้อยู่ที่ ประมาณ 5,000-7,000 บาท ทำให้สามารถ ขยายฐานลูกค้าได้อย่างรวดเร็ว และจะทำให้ธนาคารเสียเปรียบในการแข่งขัน

นางทัศนากล่าวต่อว่าในขณะนี้ธปท.กำลังอยู่ในระหว่างการวางแนวทาง ที่จะนำธุรกิจบัตรเครดิตที่เป็นของภาคนอกสถาบันการเงิน เข้ามาอยู่ในการดูแลของธปท.ด้วย เพื่อให้เป็นมาตร ฐานในการดำเนินการที่เหมือนกัน

ก่อนหน้านี้ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวว่าขณะนี้คณะกรรมการปรับโครง สร้างสถาบันการเงินของธปท.กำลังวางเกณฑ์ที่จะดึงเอา ธุรกรรมทางการเงินที่ไม่ได้ดำเนินการโดยสถาบันการเงิน เข้ามาดูแลทั้งหมด โดยเฉพาะเรื่องบัตรเครดิต เพราะขณะนี้ได้เข้าไปดูกฎ หมายที่มีอยู่แล้วพบว่าการประกอบธุรกิจบัตรเครดิตของสถาบันนอกสถาบันการเงิน ไม่เข้าข่าย การคุ้มครองผู้บริโภคโดยกฎหมายใดเลย ทำให้ ไม่มีคนที่จะทำหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภค หากเกิดปัญหาการเอารัดเอาเปรียบจากการใช้บัตรดังกล่าว ดังนั้น ธปท.จึงจะหาแนวทาง หรือแก้กฎ หมายเพื่อให้สามารถนำเอาบัตรเครดิตดังกล่าวเหล่านี้มาดูแล เพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองผู้บริโภค และทำให้ระบบบัตรเครดิตมีมาตรฐานเดียวกัน แข่งขันต้องเป็นธรรม

แหล่งข่าวจากวงการบัตรเครดิตกล่าวว่า ก่อนหน้านี้ทางธนาคารแห่งประเทศได้สอบถามความคิดเห็นของผู้บริหารบัตรเครดิตของธนาคารต่างๆ จึงทราบว่าที่ผ่านมานั้นมีปัญหาอะไร และภาวะการแข่งขันเป็นอย่างไร

"พวกเราได้เรียนให้แบงก์ชาติทราบว่า ทุกวันนี้บัตรเครดิตที่ออกโดยธนาคารพาณิชย์ตั้งอยู่บนพื้นฐานการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม ทำให้เกิดการได้เปรียบและเสียเปรียบกัน"

ปัญหาที่สำคัญคือ ความแตกต่างระหว่างบัตรเครดิตที่ออกโดยธนาคารพาณิชย์จะกำหนด รายได้ผู้ถือบัตรขั้นต่ำ ซึ่งเป็นจำนวนที่สูงกว่าบัตรเครดิตที่ไม่ได้ออกโดยสถาบันการเงิน (Non-Bank) และบัตรประเภทหลังนี้อยู่ภายใต้การดูแลของกระทรวงพาณิชย์ ไม่ได้ขึ้นตรงต่อธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งกว่าที่จะรอให้ร่างพระราชบัญญัติบัตรเครดิตออกมาบังคับใช้ คงจะต้องใช้เวลาอีกนานมาก

หากทางการกำหนดให้คุณสมบัติของผู้ถือบัตรลงมาใกล้เคียงกัน น่าจะทำให้เกิดประโยชน์ กับผู้บริโภคมากกว่า โดยเฉพาะเรื่องอัตราดอกเบี้ยที่บัตรนอนแบงก์จะคิดดอกเบี้ยผิดชำระพร้อมด้วยค่าปรับ ค่าธรรมเนียมต่างๆ อยู่ที่ราว 36-48% ต่อปี ขณะที่บัตรเครดิตที่ออกโดยธนาคารพาณิชย์จะคิดดอกเบี้ยได้ไม่สูงนัก อย่าง มากก็ราว 26-27%

แม้ว่ารายได้ผู้ถือบัตรที่ 1 หมื่นบาทต่อเดือน จะสูงกว่าบัตรนอนแบงก์เกือบครึ่ง แต่ก็ยังถือ ว่าดีกว่าที่จะปล่อยให้เกิดความต่างกันถึง 2 เท่าตัว แต่ผู้ออกบัตรโดยสถาบันการเงินคงทำให้เกิด ความแตกต่างกับเจ้าตลาดเดิม เช่น สร้างความมีระดับหรือสร้างความภาคภูมิใจในการใช้บัตร ซึ่งคงเป็นหน้าที่ของแต่ละแบงก์ที่จะต้องไปหากลยุทธ์เพื่อมาแข่งขันกัน

สำหรับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับบัตรนอนแบงก์นั้น เงื่อนไขผู้ถือบัตรที่ 1 หมื่นบาท น่าจะทำให้แบงก์สามารถที่จะสร้างฐานลูกค้าใหม่ได้จำนวนหนึ่ง เพราะช่วงของรายได้ตั้งแต่ 7 พันบาท ถึง 1 หมื่น 5 พันบาทนั้นมีอยู่เป็นจำนวนมาก คาด ว่าแบงก์คงจะสามารถให้บริการกับลูกค้ากลุ่มนี้ได้

"เราเชื่อว่าจะมีลูกค้าที่ถือบัตรนอนแบงก์ที่มีรายได้ที่ 1 หมื่นบาทขึ้นไป เปลี่ยนมาเลือกที่จะใช้บริการบัตรเครดิตของธนาคารพาณิชย์มาก ขึ้น จากเดิมที่กลุ่มลูกค้าเหล่านี้ต้องถูกจำกัดให้ใช้บริการกับบัตรเครดิตประเภทนี้"



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.