|
เมื่อบ้านมี "ชีวิต"
โดย
น้ำค้าง ไชยพุฒ
นิตยสารผู้จัดการ( มกราคม 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
ไม่บ่อยนักที่งานแถลงข่าวจะถูกจัดขึ้นในบ้าน แทนที่จะเป็นในห้องประชุมสัมมนาตามโรงแรมหรือร้านอาหารชื่อดัง และยิ่งเป็นบ้านของคนที่มีชื่อเสียง ย่อมเป็นความเชื่อมโยงอย่างตั้งใจกับเป้าหมายในการจัดงานครั้งนั้น
การประกาศความสำเร็จอย่างเป็นทางการของการรับออกแบบ และวางระบบ บ้านอัจฉริยะของบริษัท อินเตอร์โซล มาร์เก็ตติ้ง จำกัด ถูกจัดขึ้นโดยใช้บ้านสีขาวหลังใหญ่ในหมู่บ้านสุขุมวิทวิลล่า ซอยสุขุมวิท 79 ของอานนท์ เรืองจรุงพงษ์ ลูกชายคนที่ 3 ของครอบครัวเรืองจรุงพงษ์ เจ้าของผลิตภัณฑ์ตรานกนางนวล และยังอยู่ในฐานะเป็นลูกค้ารายแรกของบริษัทเป็นสถานที่จัดงานเล็กๆ โดยมีเจ้าบ้านและ ภรรยาออกมาต้อนรับแขกผู้มาเยือนด้วยความยินดี
บ้านหลังใหม่ของอานนท์ถือว่าได้ปฏิวัติโฉมหน้าของบ้านอัจฉริยะในสายตาของคนทั่วไปโดยสิ้นเชิง เพราะหลายปีมานี้ คำว่าบ้านอัจฉริยะมักถูกปิดบังเอาไว้ด้วยข้อจำกัดของค่าใช้จ่ายที่แพงลิบลิ่ว ดังนั้นจึงไม่แปลกที่มักจะเห็นบ้านแบบนี้เป็นบ้าน ต้นแบบหรือห้องสี่เหลี่ยมเล็กๆ ที่ออกแบบ ให้เป็นตัวอย่างในงานแสดงเทคโนโลยีใหญ่ๆ เท่านั้น
อานนท์เริ่มต้นด้วยการเล่าถึงความ ฝันเล็กๆ ในวัยเยาว์ของตนที่อยากจะมีบ้าน อัจฉริยะเป็นของตนเอง อีกทั้งด้วยพื้นฐานเป็นคนที่ชอบคอมพิวเตอร์มาตั้งแต่เด็ก จน เป็นที่มาของการเรียนปริญญาตรีในสาขาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ ก่อนบินลัดฟ้าไปร่ำเรียนสาขา Electrical & Computer Engineering จากมหาวิทยาลัย Vanderbilt ในประเทศสหรัฐอเมริกา
หลังเรียนจบอานนท์เดินทางกลับมาประเทศไทย และเริ่มมองหาเรือนหอสำหรับงานแต่งงานที่จะเกิดขึ้น บ้านในฝัน ของอานนท์ในวัยเด็กจึงเริ่มผุดขึ้นมาในความคิด เพื่อใช้เป็นตัวแทนในการสร้างความประทับใจแก่เจ้าสาวของเขา
อานนท์เล่าถึงความพิเศษในบ้านหลังนี้ว่า เริ่มตั้งแต่เมื่อเขาอยู่หน้าประตูบ้าน เขาไม่จำเป็นต้องพกกุญแจบ้านติดตัว เพียงแต่ใช้สมาร์ทการ์ดแนบกับกล่องหน้าประตูบ้าน หรือสแกนลายนิ้วมือของตนเอง ประตูบ้านก็จะเปิด และกิจวัตรประจำวันหลังมาถึงบ้านของเขาก็คือการเดินเข้าไปยังห้องนั่งเล่น เมื่อก้าวเท้าแรกเข้าไปยังห้องนั่งเล่น เครื่องปรับอากาศจะทำงานอัตโนมัติและปรับอุณหภูมิไว้ที่ 22 องศา ม่านไฟฟ้าจะถูกปิดลงเอง จอทีวีพลาสมาขนาดใหญ่กลางผนังห้องจะทำงานทันที และเปิดช่อง UBC 20 ซึ่งเป็นรายการโปรด ของเขา และตั้งความดังเสียงเอาไว้ที่ระดับ 30 เปอร์เซ็นต์
สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้เนื่องจากระบบเครื่องใช้ไฟฟ้าทั้งหมด ทั้งทีวี, เครื่องเล่นดีวีดี, เครื่องเล่นคาราโอเกะ, ระบบเครื่องปรับอากาศ, ประตูบ้าน, ระบบไฟฟ้าทั้งหมดในตัวบ้าน, ระบบความปลอดภัยในบ้านด้วยการตรวจจับความเคลื่อนไหว และระบบม่านหรือแม้แต่ระบบสปริงเกอร์รดน้ำต้นไม้ถูกเชื่อมโยงเอาไว้ด้วยกันทั้งหมด โดยเจ้าของบ้านสามารถควบคุมได้เองผ่านทางหน้าจอแบบสัมผัสหรือ panel ที่สามารถพกพาไปทั่วบ้าน เสมือนกับเป็นรีโมตที่ออกมาเป็นพิเศษ เพื่อใช้ในการควบคุมระบบเครื่องใช้ไฟฟ้าของทั้งบ้านได้ในตัวเดียวแทนที่จะใช้รีโมตของแต่ละเครื่องใช้แยกจากกัน
"ผมเป็นคนที่ไม่ชอบให้บ้านมีปุ่มเปิด-ปิดไฟติดที่อยู่ผนังบ้าน ไม่ชอบให้เห็น เครื่องใช้พวกทีวี หรือเครื่องเล่นซีดีวางอยู่ ผมจึงเลือกที่จะซ่อนเครื่องใช้ทั้งหมดเอาไว้ในห้องควบคุม และสั่งงานได้เลยผ่านหน้าจอแบบสัมผัสตัวเดียว โดยผมเองสามารถตั้งล่วงหน้าได้หมดว่าช่วงเวลาไหนอยากให้สภาพในบ้านเป็นอย่างไรบ้าง เช่นเดียวกันกับเวลาที่ภรรยาผมกลับมาบ้านทุกครั้งเธอจะเดินไปที่ห้องนั่งเล่น ผมจึงตั้งไว้ว่าหากเธอเข้าไปในห้องนั้น ให้เครื่องปรับอากาศทำงานปรับอุณหภูมิไปที่เท่าไร และเธอเองชอบฟังเพลงผมจึงตั้งให้เปิดเพลงคลอเบาๆ ไปด้วย ซันรูฟของห้องรับแขกก็จะเปิดเพื่อให้เธอรับอากาศข้างนอกได้บ้างอย่างที่ต้องการ" อานนท์กล่าวถึงความพิเศษที่เขาเองออกจะประทับใจอย่างมาก
ไม่เพียงแต่ระบบทั้งหมดจะควบคุมได้ผ่านทางเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ออกแบบโดยเฉพาะ และเจ้าของสามารถเลือกควบคุมแต่ละส่วนของตัวบ้าน ผ่านซอฟต์แวร์ที่ออกแบบให้เฉพาะตัวบ้านหลังนี้เท่านั้นแล้ว เจ้าของบ้านยังสามารถเข้ามาควบคุมตัวบ้านได้ผ่านทางเว็บไซต์หรือผ่านทางเครือข่ายจีพีอาร์เอสของมือถือ เนื่องจากผู้วางระบบเลือกที่จะวางระบบให้อยู่บนเครือข่ายไอพี และเลือกกระจายสัญญาณในบ้าน เพื่อให้เจ้าของบ้านควบคุม ทุกอย่างในบ้านด้วยเครือข่ายไร้สาย Wi-Fi ที่กระจายสัญญาณออกมาจากบรอดแบนด์ ด้วย ดังนั้นเจ้าของบ้านจึงทั้งสามารถควบคุมบ้านและสามารถ เล่นอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงได้ หากต้องการ
นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของความชาญฉลาด ในบ้านของอานนท์ ยังไม่นับรวมถึงการตั้งให้เปิดไฟตามทางเดินในช่วงเวลากลางดึกหากเจ้าของบ้านเดินออกจากห้องนอนมาเข้าห้องน้ำ หรือลงมาดื่ม น้ำในห้องครัวด้วย แต่หากเป็นการเดินวนไปทั่วบ้าน ระบบเตือนขโมยจะดังขึ้นเพื่อเตือนให้เจ้าของบ้านทราบถึงภัยที่เกิดขึ้น พร้อมกับแสดงไฟกะพริบทั่วทั้งบ้าน ยกเว้นห้องนอนของเจ้าของ โดยอาศัยหลัก จิตวิทยาที่ว่าขโมยมักจะกลัวและหนีไปในที่สุด หากมีองค์ประกอบเรื่องเสียงและแสงแสดงพร้อมๆ กัน
และยังไม่รวมถึงระบบไฟในโต๊ะอาหารที่เจ้าของบ้านเอาไว้จัดงานปาร์ตี้ระหว่างเพื่อนฝูงอยู่เป็นประจำที่ติดตั้งไฟ LED เอาไว้ ทำให้สามารถแสดงสีด้วยการผสมสีได้มากถึง 16.7 ล้านสีอีกด้วย
เมื่อเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลง บ้านก็ต้องปรับตัวตาม คงเป็นคำพูดที่แทนความ หมายทั้งหมดของบ้านอัจฉริยะหลังนี้ได้เป็นอย่างดี
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|