|
ทิ้งทวนก่อนเริ่มหาเสียงจริง
นิตยสารผู้จัดการ( มกราคม 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
หากงาน "เหลียวหลัง แลหน้า จากรากหญ้า สู่รากแก้ว" ถือเป็นงานแถลงผลงานของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ทางด้านภาพรวม ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ในฐานะที่เป็นนายก รัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งสามารถสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ ที่อยู่ครบอายุ 4 ปี เป็นรัฐบาลแรกแล้ว
งาน "60 ล้านไทย พ้นภัยเศรษฐกิจ ย่อวิกฤต ต่อโอกาส โดย บสท." ก็ถือได้ว่าเป็นงานแถลงผลงานของ พ.ต.ท.ทักษิณ อีกงานหนึ่งที่บอกถึงแนวทางการแก้ไขปัญหา ซึ่งเป็นผลพวงที่เกิดขึ้นต่อเนื่องมาจากวิกฤติค่าเงินบาท เมื่อปี 2540
"หลังวิกฤติ แนวทางแก้ปัญหามี 2 แนวทาง แนวทางแรก เป็นแนวทางแบบหมอที่ต้องการรักษาคนไข้ แม้ว่าคนไข้จะอาการหนักแค่ไหน หมอก็ต้องมีความพยายามที่จะรักษาคนไข้คนนั้น และจะดีใจมาก หากสามารถรักษาให้หายได้ ส่วนอีกแนว ทางหนึ่ง เป็นแนวทางแบบสัปเหร่อ คือต้องการให้ตาย เพื่อจะได้ นำไปฝังหรือเผา" เป็นคำกล่าวของ พ.ต.ท.ทักษิณภายในงาน ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 20 ธันวาคมที่ผ่านมา
คำพูดดังกล่าว แฝงไว้ด้วยนัยทางการสร้างค่านิยม เนื่อง จากเป็นการจัดงานในช่วงของการเริ่มต้นหาเสียง เพราะรัฐบาลของ พ.ต.ท.ทักษิณ มีกำหนดครบวาระในอีกเพียงแค่ 2 สัปดาห์หลังจากงานดังกล่าว
บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย (บสท.) เกิดขึ้นจากนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลชุดนี้ ในการแก้ไขปัญหาหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ที่สุดของเศรษฐกิจประเทศไทย ในช่วงปี 2544 องค์กรนี้ถูกจัดตั้ง ขึ้นมาในเดือนมีนาคมปีเดียวกัน โดยการรวบรวมหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้จากสถาบันการเงินต่างๆ เข้ามาจัดการ
สถาบันการเงินต่างๆ ได้มีการโอนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้คิดเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 777,175 ล้านบาท คิดเป็นจำนวนลูกหนี้ 15,491 ราย มา ไว้ที่ บสท.
ในช่วงแรกของการดำเนินงาน การจัดการกับหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ กระทำไปค่อนข้างช้า เนื่องจากเป็นองค์กรใหม่และเจ้าหน้าที่ซึ่งถูกโอนย้ายมาอยู่ที่ บสท.ส่วนใหญ่มาจากหน่วยงานราชการ จึงเกิดความไม่มั่นใจในการเจรจากับลูกหนี้
หลังจากจัดตั้งองค์กรมาเกือบ 1 ปี และมีการเปลี่ยนตัวกรรมการผู้จัดการมาเป็นสมเจตน์ หมู่ศิริเลิศ ซึ่งมาจากภาคเอกชน การดำเนินงานของ บสท.จึงมีความคืบหน้ามาเป็นลำดับ
การจัดงานเมื่อวันที่ 20 ธันวาคมที่ผ่านมา เป็นการแถลง ผลการดำเนินงานในวาระครบรอบ 3 ปี ซึ่ง บสท.สามารถแก้ไขหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ ซึ่งรับโอนมาเมื่อปี 2544 ได้เป็นจำนวนทั้งสิ้นถึง 767,058 ล้านบาท หรือคิดเป็น 98% ของหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ที่ได้รับโอนมาทั้งหมด
"นอกจากการบริหารจัดการสินทรัพย์ที่ด้อยคุณภาพได้ตามเป้าหมายที่วางไว้เร็วกว่ากำหนดแล้ว บสท.ยังมีบทบาทสำคัญในการช่วยฟื้นฟูกิจการลูกหนี้ เพื่อให้ลูกหนี้สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ โดยจากมูลค่ารวมของหนี้ที่มีข้อยุติทั้งหมด 767,058 ล้านบาท เป็นลูกหนี้ ที่มีการปรับโครงสร้างหนี้มากถึง 525,942 ล้านบาท หรือประมาณ 69% ของลูกหนี้ที่มีข้อยุติทั้งหมด" โอฬาร ไชยประวัติ ประธานกรรมการ บสท. กล่าวรายงานต่อ พ.ต.ท. ทักษิณ
"โดยเฉพาะบริษัทจดทะเบียนในตลาด หลักทรัพย์ฯ จำนวน 27 บริษัท ซึ่งมีภาระหนี้ ตามบัญชีรวมกันประมาณ 50,000 ล้านบาท ที่ได้ปรับโครงสร้างหนี้เสร็จไปแล้ว ส่วนหนึ่งสามารถระดมทุนโดย การเพิ่มทุนในตลาดได้จำนวนประมาณ 30,000 ล้านบาท และส่วนหนึ่งสามารถกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินเพิ่มเติม เพื่อใช้เป็น เงินทุนหมุนเวียนได้อีกกว่า 12,000 ล้านบาท" เป็นอีกช่วงหนึ่งของ การรายงาน
งานนี้จัดโดยพยายามเน้นให้เห็นความยิ่งใหญ่ของผลสำเร็จ ของ บสท. มีการเชิญแขกมาร่วมงานไม่ต่ำกว่า 1,000 คน ประกอบด้วยตัวแทนจากภาครัฐ สถาบันการเงินเอกชน ที่สำคัญที่สุดคือตัวแทนของลูกหนี้ที่ได้ผ่านการปรับโครงสร้างหนี้ไปแล้ว ซึ่งต่างก็ ออกมาแสดงความชื่นชม และขอบคุณ บสท.ที่ต่ออายุให้กับธุรกิจ ของเขา ไม่ให้ต้องล้มไปกับปัญหาทางการเงิน เมื่อ 3 ปีก่อน
ลูกหนี้หลายรายส่งสารมาแสดงความขอบคุณ ขณะที่อีกหลายรายยอมเป็น presenter ใน VCD ที่ทำขึ้นมาสำหรับงานนี้โดยเฉพาะ โดยพูดชื่นชม บสท.ที่เข้ามามีบทบาทในการแก้ไขวิกฤติให้กับพวกเขา
ลูกหนี้อย่างดังกิ้น โดนัท บริษัทยางโอตานิ บ้านสวนริมน้ำ บริษัทยูนิแลนด์เฮ้าส์ซิ่ง ห้างหุ้นส่วนจำกัด 38 กะรัต บริษัทสหโมเสคอุตสาหกรรม และบริษัทไทยนามแซนิทารี่แวร์ ถึงกับนำผลิตภัณฑ์มาร่วมออกร้าน เพื่อแสดงให้เห็นศักยภาพ และความ แข็งแกร่งของกิจการที่มีขึ้นหลังผ่านกระบวนการปรับโครงสร้างหนี้ของ บสท.ไปแล้ว
ว่ากันว่าคนที่ปลื้มที่สุดของงานนี้ ไม่ได้มีเพียงแค่โอฬาร ไชยประวัติ หรือสมเจตน์ หมู่ศิริเลิศ ในฐานะประธานกรรมการ และกรรมการผู้จัดการแค่ 2 คนเท่านั้น แต่ยังรวมถึงตัวของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่ได้มีโอกาสออกมาตอกย้ำผลงานในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ในช่วงโค้งสุดท้ายของปี ก่อนที่จะมีการเลือกตั้งครั้งใหญ่อีกเพียงไม่ถึง 2 เดือน
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|