|
กระตุ้นเศรษฐกิจแบบญี่ปุ่น
โดย
ภก.ดร. ชุมพล ธีรลดานนท์
นิตยสารผู้จัดการ( มกราคม 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
แยบยลไม่น้อยทีเดียว สำหรับการเปลี่ยนแปลงธนบัตรของรัฐบาลญี่ปุ่นที่เพิ่งเริ่มต้นเมื่อไม่นานนี้ เพราะเป็นนโยบายที่แฝงไว้ด้วยวัตถุประสงค์อันหลากหลาย ที่สำคัญคือมีเป้าหมายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ
เหตุการณ์ต่างๆ ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2547 เป็นต้นว่า แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่จังหวัด Niigata เงินเยนที่แข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปัญหากับเกาหลีเหนือรวมไปถึงปัญหาการส่งกองกำลังรักษาตนเองไปยังอิรัก ล้วนแต่พาให้บรรยากาศโดยรวมของญี่ปุ่นในระยะนี้ไม่ค่อยจะสู้ดีนัก ท่ามกลางสถานการณ์เช่นนี้ข่าวการประกาศใช้ธนบัตรใหม่ของรัฐบาลญี่ปุ่นดูเหมือนจะเบนความสนใจของประชาชนได้มากเป็นพิเศษ
ก่อนหน้านี้กระทรวงการคลังได้แถลงข่าวแผนการ ใช้ธนบัตรฉบับใหม่อยู่เป็นระยะ แต่ก็ได้รับความสนใจเฉพาะในวงของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง แต่เนื่องจากการดำเนินงานโดยทีมงานระดับ specialist ที่เลือกสรรมาจากหลายสาขาอาชีพ ช่วยให้ขั้นตอนตั้งแต่การประยุกต์ เทคโนโลยีหลายแขนงมาใช้ควบคู่กับการออกแบบธนบัตรจนถึงขั้นตอนสุดท้ายก่อนการนำออกมาใช้จริงอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายนที่ผ่านมานั้น เป็นไปอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ด้วยรูปลักษณ์ที่เปลี่ยนไป อีกทั้งมีภาพของสตรีปรากฏบนธนบัตรเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น มีส่วนเสริมให้เกิดกระแส ตอบรับจากสื่อมวลชนและประชาชนทั่วไปอย่างดี
วัตถุประสงค์ที่รัฐบาลตัดสินใจเปลี่ยนโฉมธนบัตร ที่ใช้มานานถึง 20 ปีเต็ม มีหลายประการ อย่างแรกเพื่อเป็นการแก้ปัญหาการปลอมธนบัตรที่มีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศญี่ปุ่น (จนถึงมิถุนายน 2547) พบธนบัตรปลอมทั้งสิ้น 28,562 ฉบับ ซึ่งในจำนวนนี้พบในปี 2541 เพียง 908 ฉบับแต่มาในปี 2545 ปีเดียวพบเพิ่มขึ้นถึง 20,211 ฉบับ ซึ่งสันนิษฐานว่าน่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน ฟุตบอลโลก 2002 เนื่องจากมีผู้คนจากทุกมุมโลกหลั่งไหลเข้าไปในญี่ปุ่นเป็นจำนวนมาก
ประการที่สอง นโยบายนี้จะช่วย "refresh" เศรษฐกิจญี่ปุ่นที่ซบเซาต่อเนื่องมาหลายปี ธนบัตรใหม่ที่พิมพ์ออกมาในระยะแรกมีจำนวน 5 หมื่นล้านฉบับ และส่วนที่เหลือจะค่อยๆ ทยอยเข้าสู่ระบบ ซึ่งคาดการณ์ ไว้ว่าจะสามารถนำธนบัตรใหม่ออกมาใช้แทนที่ธนบัตรเก่า ที่มีอยู่ประมาณหนึ่งแสนล้านฉบับได้หมดภายในสิ้นปี 2548 นั่นหมายความว่าจะมีเงินหมุนเวียน (ชั่วคราว) เพิ่มขึ้นประมาณเท่าตัวในช่วงหนึ่งปีข้างหน้า
ช่วงที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นซบเซา อัตราดอกเบี้ยของธนาคารในญี่ปุ่นนั้นต่ำมาก ขณะเดียวกันการถอนเงินนอก เวลาทำการของธนาคารยังต้องเสียค่าธรรมเนียมอีกครั้งละ 105-210 เยน ทำให้แม้กระทั่งเด็กมัธยมที่มีรายได้จากงานพิเศษ ยังไม่คิดจะนำเงินไปฝากธนาคารเพียงเพื่อต้องการดอกเบี้ย ดังนั้นจึงมีคนจำนวนไม่น้อยที่นำเงินไปลงทุนอย่างอื่นหรือไม่ก็เก็บเป็นเงินสดไว้เอง ซึ่งสะดวกกว่าไปฝากธนาคาร ทำให้สภาพคล่องและการหมุนเวียนเงินเยนลดลงไปกว่าที่ควรจะเป็น
การเปลี่ยนธนบัตรใหม่ครั้งนี้ จึงเสมือนเป็นกลยุทธ์อีกประการหนึ่งที่ช่วยกระตุ้นให้คนนำเงินออกมาใช้มากขึ้นหรืออย่างน้อยก็นำเงินออกมาแลกเป็นธนบัตรใหม่ก่อนที่ธนบัตรเก่าจะใช้ไม่ได้ (คาดว่าภายในเวลาประมาณ 2 ปีข้างหน้า) ซึ่งช่วยเพิ่มเม็ดเงินให้สะพัดในระบบได้อีกทางหนึ่ง
ผลกระทบที่จะเกิดโดยตรงภายหลังการนำธนบัตร ใหม่ออกมาใช้ คงไม่พ้นเรื่องการเปลี่ยนระบบตรวจสอบธนบัตรภายในเครื่องกลที่เกี่ยวข้องกับการใช้ธนบัตรโดยมุ่งเน้นไปที่ 1-เครื่อง ATM 2-เครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ ซึ่งมีสถิติว่าทั่วประเทศญี่ปุ่น มีเครื่องประเภทนี้กว่า 10 ล้านเครื่อง ซึ่งมากที่สุดในโลก 3-เครื่องแลกเงิน 4-เครื่องจำหน่ายตั๋วต่างๆ อาทิ ตั๋วรถไฟ ซึ่งคาดว่าจะต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมาก
อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงดังกล่าว รัฐบาลญี่ปุ่นได้ช่วยแบกรับภาระไว้บางส่วน โดยเฉพาะการถ่ายทอด know-how ในการผลิต และติดตั้งอุปกรณ์สำหรับตรวจสอบธนบัตรใหม่ ซึ่งสามารถทำได้เพียงนำอุปกรณ์พิเศษเสริมเข้าไปภายในเครื่องเดิม ซึ่งเป็นการประหยัดงบประมาณของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้มหาศาล เพราะไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนตู้ใหม่ทั้งหมด
อย่างไรก็ตาม ธนาคารแห่งประเทศญี่ปุ่นได้ตระหนักดีว่าถึงแม้จะมีการเปลี่ยนธนบัตรใหม่ที่ยากต่อการปลอมแปลงในครั้งนี้แล้วก็ตาม ในอนาคตเทคนิคที่นำมาใช้ปลอมธนบัตรก็ต้องถูกพัฒนาตามมาในอีกไม่ช้า ก็เร็ว เมื่อถึงวันนั้นอาจเห็นแผ่น microchip บางเฉียบฝังอยู่บนธนบัตรญี่ปุ่นก็เป็นได้
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|