ตลาดเรียนภาษาในต่างประเทศช่วงปิดเทอม ซึ่งนิยมเรียกกันว่าซัมเมอร์คอร์ส
ที่ฟื้นตัวขอย่างเด่นชัดช่วงปี 2544 ยังคงมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องปี 2545
แม้เหตุการณ์สหรัฐอเมริกันถูกบอมบ์ 11 กันยายน 2544 ส่งผลให้ตลาดเรียนภาษาในต่างประเทศซบเซาช่วงปิดเทอมกลางปี
คือช่วงตุลาคม 2544
แต่จากเหตุการณ์ที่คลี่คลายช่วงปลายปี ทำให้การเดินทางระหว่างประเทศฟื้นตัวตามลำดับ
เมื่อประกอบกับกระแสการให้ความสำคัญต่อการใช้ภาษาต่างประเทศ โดยเฉพาะภาษาอังกฤษของสังคมไทยที่ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น
ขยายครอบคลุมไปภาษาอื่นๆ อาทิ ภาษาฝรั่งเศส และภาษาจีน รวมทั้งการขยายตัวของธุรกิจแนะแนวการศึกษาต่อต่างประเทศ
และตัวแทนสถานศึกษาต่างประเทศที่เจาะตลาดนักเรียนไทยโดยตรง
ส่งผลให้ความต้องการเรียนภาษาในต่างประเทศช่วงปิดเทอมปี 2545 ขยายตัวเพิ่มขึ้น
โดยออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ได้รับความนิยมอย่างมาก นอกจากอังกฤษ ซึ่งเป็นประเทศหลักของตลาดซัมเมอร์คอร์สมานาน
ผู้ประกอบการส่วนใหญ่นิยมจัดโปรแกรมซัมเมอร์คอร์สช่วงปิดเทอม เพื่อรองรับตลาดเป้าหมายหลัก
คือกลุ่มนักเรียนระดับมัธยมช่วงอายุประมาณ 12-17 ปี โดยเฉพาะช่วงปิดเทอมปลายปี
ซึ่งระยะเวลาประมาณ 2 เดือน และเมษายน เป็นช่วงเวลาเหมาะสมที่สุด เพราะนักเรียนส่วนใหญ่ต่างเสร็จภาระกิจทางโรงเรียนเรียบร้อยแล้ว
สามารถกลับมาเพื่อเตรียมตัวเปิดเทอมกลางพฤษภาคมได้ทัน
สำหรับช่วงปิดเทอมกลางปี คือตุลาคม นักเรียนมีเวลาหยุดค่อนข้างสั้น คือ ประมาณ
1 เดือน ทำให้มีนักเรียนเรียนซัมเมอร์คอร์สน้อยกว่าช่วงเมษายน จึงมีผู้ประกอบการเพียงไม่กี่รายที่จัดโปรแกรมซัมเมอร์คอร์สช่วงตุลาคม
ประมาณกันว่าตลาดซัมเมอร์คอร์สช่วงเมษายน ขนาดใหญ่กว่าตลาดซัมเมอร์คอร์สช่วงตุลาคมกว่าเท่าตัว
ปัจจุบันยังไม่มีหน่วยงานใดรวบรวมสถิติผู้เดินทางเรียนภาษาช่วงปิดเทอมต่างประเทศ
แต่อาจพิจารณาทิศทางตลาดซัมเมอร์คอร์ส ได้จากสถิติคนไทยเดินทางออกนอกประเทศ
ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย โดยเฉพาะกลุ่มอายุต่ำกว่า 15 ปี ส่วนใหญ่เดินทางเที่ยวต่างประเทศกับครอบครัว
และผู้เดินทางเรียนภาษาในต่างประเทศ
น่าสังเกตว่าเมษายน 2544 ที่คนไทยเดินทางต่างประเทศเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ
3.6 กลุ่มผู้เดินทางอายุต่ำกว่า 15 ปีเพิ่มขึ้น สูงถึงร้อยละ 361.8 จากปีก่อนหน้าช่วงเดียวกัน
รวมทั้งสิ้น 17,069 คน เมื่อประกอบกับผลสำรวจกลุ่มผู้ประกอบการที่จัดโปรแกรมซัมเมอร์คอร์สส่วนใหญ่
ที่ต่างมีผู้สนใจเรียนเพิ่มขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นทิศทางขยายตัวที่เด่นชัดตลาดซัมเมอร์คอร์สปี
2544 คาดว่าช่วงเวลาดังกล่าวมีผู้ที่เดินทางเรียนซัมเมอร์คอร์สต่างประเทศไม่ต่ำกว่า
5,000 คน
เหตุการณ์ 11 กันยายน 2544 ส่งผลกระทบตลาดท่องเที่ยวระหว่างประเทศทั่วโลก
รวมทั้งไทย คนไทยเดินทางต่างประเทศลดลงร้อยละ 12.8 ตุลาคม 2544 ซึ่งกลุ่มผู้เดินทางอายุต่ำกว่า
15 ปี ลดลงถึงร้อยละ 24.3 รวม 9,149 คน เนื่องจากส่วนใหญ่ต่างหวั่นเกรงอันตรายการเดินทางระยะไกลด้วยเครื่องบิน
ตลาดซัมเมอร์คอร์สกระทบค่อนข้างมาก เพราะเป็นตลาดอ่อนไหวง่ายต่อความไม่ปลอดภัยต่างๆ
ทำให้ผู้ปกครองต่างงดส่งบุตรหลานเดินทางเรียนภาษาต่างประเทศช่วงปิดเทอมกลางปี
ผู้มีอายุต่ำกว่า 15 ปี ซึ่งเดินทางต่างประเทศช่วงตุลาคม 2544 ส่วนใหญ่เป็นผู้ที่เดินทางเที่ยวต่างประเทศกับผู้ปกครอง
ตามแหล่งท่องเที่ยวระยะใกล้กลุ่มประเทศแถบเอเชียตะวันออก รวมทั้งออสเตรเลีย
และนิวซีแลนด์ ซึ่งห่างจากพื้นที่เสี่ยงภัย
จากสถานการณ์ที่คลี่คลายสู่ภาวะปกติช่วงปลายปี 2544 ประกอบกับการแข่งขันธุรกิจสายการบินต่างๆ
เพื่อกระตุ้นตลาดเดินทางระหว่างประเทศ รวมทั้งการส่งเสริมด้านการตลาดภาครัฐฯ
และธุรกิจท่องเที่ยวแต่ละประเทศ ส่งผลให้การเดินทางต่างประเทศของคนไทย ที่ถดถอยช่วงกันยายนและตุลาคม
2544 เริ่มฟื้นตัวขึ้นตามลำดับช่วงปลายปี 2544 ต่อเนื่องต้นปี 2545
นอกจากบรรยากาศตลาดท่องเที่ยวต่างประเทศที่กลับสู่ภาวะปกติ ซึ่งเอื้ออำนวยต่อการจัดโปรแกรมเรียนภาษาช่วงปิดเทอมต่างประเทศ
ตลาดซัมเมอร์คอร์สยังได้แรงหนุนสำคัญจากการขยายตัวกลุ่มธุรกิจการศึกษาต่อต่างประเทศ
ที่ขยายตลาดนักเรียนไทยอย่างกว้างขวาง เพื่อตอบรับกระแสการให้ความสำคัญพัฒนาทักษะการใช้ภาษาอังกฤษในสังคมไทย
ส่งผลให้ตลาดการศึกษาต่อต่างประเทศของไทย ที่เดิมจำกัดตัวเฉพาะตลาดระดับบน
ขยายตัวกว้างขวางขึ้น ครอบคลุมลงมาถึงตลาดระดับกลาง ส่วนใหญ่ต่างใช้ตลาดซัมเมอร์คอร์สสร้างฐานตลาดการศึกษาต่อต่างประเทศในอนาคต
น่าสังเกตว่า นอกจากการขยายตัวธุรกิจแนะแนวการศึกษาต่อต่างประเทศช่วง 2-3
ปีที่ผ่านมา ยังมีสถาบันการศึกษาชั้นนำต่างประเทศเข้ามาขยายตลาดนักเรียนไทยโดยตรงอย่างกว้างขวาง
โดยเฉพาะสถาบันการศึกษาออสเตรเลียที่รุกขยายตลาดนักเรียนไทยอย่างเต็มที่ปีนี้
ได้เปรียบด้านความปลอดภัย สภาพแวดล้อมทางสังคม รวมทั้งค่าใช้จ่ายที่ถูกกว่าอังกฤษและสหรัฐอเมริกา
เป็นจุดขายสำคัญที่ดึงดูดกลุ่มผู้ปกครองที่ต้องการส่งบุตรหลานศึกษาต่อต่างประเทศปัจจุบัน
นอกจากนี้ ยังมีความร่วมมือด้านการตลาดระหว่างพันธมิตรธุรกิจ อาทิ บริษัทนำ
เที่ยว ธุรกิจการบิน สถาบันการศึกษาต่างประเทศ ธุรกิจแนะแนวการศึกษาต่อต่างประเทศ
สถาบันสอนภาษา เป็นต้น เพื่อกระตุ้นการขยายตัวตลาดการศึกษาต่อต่างประเทศ
ซึ่งมีทั้งประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่างๆ อย่างกว้างขวาง และการจัดนิทรรศการศึกษาต่อต่างประเทศ
โดยสถาบันการศึกษาชั้นนำจากประเทศต่างๆ ออกบูธในงานเพื่อให้คำแนะนำผู้ปกครองโดยตรง
ซึ่งได้รับความสนใจอย่างมากจากผู้ปกครองกลุ่มคนรุ่นใหม่ ที่ให้ความสำคัญด้านการศึกษาต่อต่างประเทศบุตรหลาน
ส่วนธุรกิจนำเที่ยว ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ประกอบการที่ครองตลาดซัมเมอร์คอร์สในอดีต
เพราะความได้เปรียบด้านความสัมพันธ์กับธุรกิจบริการที่เกี่ยวข้องการเดินทางต่างประเทศนั้น
ลดบทบาทลงมากปัจจุบัน คงมีเพียงบริษัทนำเที่ยวที่มีชื่อเสียงช้านานเพียงไม่กี่รายที่ฝ่าวิกฤตเศรษฐกิจ
และยืนหยัดในตลาดทัวร์ซัมเมอร์คอร์สมาได้จนทุกวันนี้ หนึ่งในจำนวนนั้น คือบริษัท
รีเจนซี่แทรเวล จำกัด ซึ่งมีหน่วยงานที่ดูแลด้านตลาดการศึกษาโดยตรง สามารถจัดโปรแกรมซัมเมอร์คอร์สกลุ่มใหญ่ๆ
ได้หลายกลุ่มแต่ละปี ตลาดทัวร์ซัมเมอร์คอร์สรีเจนซี่ขยายตัวต่อเนื่องช่วง
2 ปีที่ผ่านมา
คาดว่าปีนี้จะมีนักเรียนไม่ต่ำกว่า 1,000 คนสมัครเรียนโปรแกรมซัมเมอร์คอร์สที่จัดใน
4 ประเทศ คืออังกฤษ ซึ่งเป็นประเทศหลักจัดทัวร์ซัมเมอร์คอร์สรีเจนซี่ โดยนักเรียนกลุ่มเรียนที่อังกฤษสูงถึงร้อยละ
80 ที่เหลือร้อยละ 20 กระจายประเทศออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และสิงคโปร์
ที่น่าสังเกต ปีนี้ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ต่างงดจัดซัมเมอร์คอร์สในสหรัฐอเมริการวมทั้งรีเจนซี่
ที่เปลี่ยนจากสหรัฐอเมริกาเน้นออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์แทน เพราะผู้ปกครองต่างยังไม่มั่นใจความปลอดภัยส่งบุตรหลานไปเรียนที่สหรัฐอเมริกา
นอกจากบริษัทนำเที่ยวรายใหญ่เพียงไม่กี่รายที่ครองตลาดซัมเมอร์คอร์ส ยังมีบริษัทนำเที่ยวอีกหลายแห่งที่จัดทัวร์ซัมเมอร์คอร์สกลุ่มเล็กๆ
เพียงไม่กี่กลุ่มแต่ละปี บางรายมีฐานตลาดจากลูกค้าประจำที่วางใจให้บริษัทนำเที่ยวที่เชี่ยวชาญบางประเทศ
อาทิ ออสเตรเลีย หรือนิวซีแลนด์ จัดทัวร์ซัมเมอร์คอร์สให้บุตรหลาน
บ้างเป็นผู้ประกอบการที่พัฒนาจากการจัดกลุ่มนักเรียนป้อนบริษัทนำเที่ยว ตั้งบริษัทนำเที่ยวจัดทัวร์ซัมเมอร์คอร์สตนเองโดยตรง
และบริษัทนำเที่ยวที่เป็นเครือข่ายหรือพันธมิตรกับกลุ่มผู้ประกอบธุรกิจด้านการศึกษา
รวมถึงบรรดาโรงเรียนที่มีชื่อเสียง และสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาทั้งของรัฐฯ
และเอกชน ตลอดจนครูและอาจารย์อีกไม่น้อย ที่จัดโปรแกรมซัมเมอร์คอร์ส เพื่อรองรับความต้องการนักเรียน
และนักศึกษาสถานศึกษาของตน
การแข่งขันตลาดซัมเมอร์คอร์สแนวโน้มทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น จากผู้ประกอบการที่เพิ่มขึ้น
ทั้งธุรกิจท่องเที่ยวและธุรกิจด้านการศึกษา ต่างมุ่งหวังช่วงชิงส่วนแบ่งตลาดที่มีลู่ทางขยายตัวได้อีกมาก
โดยเฉพาะตลาดระดับกลาง ที่ผู้ปกครองต่างสนใจพัฒนาทักษะด้านภาษาต่างประเทศบุตรหลาน
รวมทั้งการส่งบุตรหลานศึกษาต่อต่างประเทศกันมากขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร
ด้านสถานศึกษาต่างประเทศอย่างกว้างขวางปัจจุบัน
ชื่อเสียงด้านคุณภาพการบริการที่ได้มาตรฐานของผู้ประกอบการตลาดซัมเมอร์คอร์ส
เป็นปัจจัยสำคัญการตัดสินใจผู้ปกครอง ที่จะวางใจมอบบุตรหลานตนให้อยู่ในความดูแลผู้ประกอบการรายใด
ผู้ประกอบการที่ยืนหยัดอยู่ได้ในตลาดซัมเมอร์คอร์ส จึงควรมุ่งเน้นพัฒนาด้านคุณภาพบริการ
โดยเฉพาะด้านความปลอดภัยต่างๆ และเอาใจใส่ดูแลนักเรียนอย่างใกล้ชิด
รวมทั้งการพัฒนาด้านหลักสูตรการเรียน ที่สอดคล้องกับความต้องการผู้ปกครอง
และระดับพื้นฐานด้านภาษานักเรียนที่แตกต่างกัน เช่น นอกจากการเรียนด้านภาษาตามโปรแกรมซัมเมอร์คอร์สทั่วไป
อาจจัดโปรแกรมให้นักเรียนไทยมีโอกาสเรียนบางวิชาชั้นเรียนปกติ ร่วมกับนักเรียนท้องถิ่น
โดยทดสอบความสามารถนักเรียนก่อนจัดเข้าโปรแกรมดังกล่าว หรือจัดโปรแกรมเรียนภาษา
ควบคู่กับการฝึกฝนด้านกีฬาประเภทต่างๆ หรือกิจกรรมเฉพาะด้าน เป็นต้น
นอกจากนี้ ผู้ประกอบการควรมุ่งเน้นสร้างเสถียรภาพด้านการตลาดเป็นสำคัญ หลีกเลี่ยงการขยายตลาดอย่างรวดเร็ว
จนเกินกำลัง เพราะอาจส่งผลกระทบต่อคุณภาพบริการ ควรเลือกทำตลาดเฉพาะประเทศที่เชี่ยวชาญ
เพื่อพัฒนาโปรแกรมซัมเมอร์คอร์สที่มีคุณภาพโดดเด่นราคาที่แข่งขันได้ในตลาด