|
โรงหนังในต่างแดน
โดย
มานิตา เข็มทอง ภก.ดร. ชุมพล ธีรลดานนท์
นิตยสารผู้จัดการ( มกราคม 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
10 ผู้ประกอบการโรงหนังในอเมริกา
1. Regal Entertainment Group (NYSE : RGC)
ก่อตั้งในปี ค.ศ.1989 เป็นผู้ดำเนิน กิจการโรงภาพยนตร์ในนาม Regal Cinemas, United Artists และ Edwards มีโรงภาพยนตร์มากกว่า 6,000 โรง ในสาขากว่า 550 สาขา ทั่ว 39 รัฐในสหรัฐอเมริกา และในจำนวนนี้รวมถึง 46 สาขา สุดหรูที่จัดให้อยู่ในกลุ่มของ Designated Market Areas (DMAs) ด้วย นอกจากนี้รายได้กว่า 20% ที่ปรากฏใน Box Office ของสหรัฐอเมริกา มาจากโรงภาพยนตร์ในเครือของ Regal Entertainment Group
2. AMC Entertainment
AMC ย่อมาจาก American Multi-Cinema เป็นผู้ริเริ่มโรงภาพยนตร์ที่มีหลายโรงในสาขาเดียวกันในสหรัฐอเมริกา โดยต้นกำเนิดของธุรกิจเริ่มในปี ค.ศ.1920 ที่เมือง Kansas City มลรัฐ Missouri มาในปี ค.ศ.1963 เปิดโรงภาพยนตร์ 4 จอ เป็นสาขาแรก จากนั้น 3 ปีต่อมา เปิดอีกสาขาที่มีถึง 6 จอ ถือเป็นการปฏิวัติอุตสาหกรรมการฉายภาพยนตร์ของสหรัฐ อเมริกาทีเดียว เท่านี้ยังไม่พอ ในปี ค.ศ. 1985 ยังขยายไปเปิด Multi-Cinema ในอังกฤษเป็นรายแรกอีกด้วย
ต่อมาในปี ค.ศ.1995 AMC พัฒนาธุรกิจไปสู่ขั้น Megaplex และยังคงเป็นผู้นำรายแรกในอเมริกา โดยสาขาแรกเปิดตัวใน Dallas รัฐ Texas โดยมีทั้งสิ้น 24 จอ ใช้ชื่อว่า "Grand 24" นับจากปีนั้นเป็นต้นมา AMC ติดตั้งโรงภาพยนตร์ Megaplex กว่า 2,400 จอทั่วโลก และใน ปี ค.ศ.1996 AMC เปิดตัว "Canal City 13" ซึ่งเป็นโรงภาพยนตร์ Megaplex โรงแรกใน Fukuoka ประเทศญี่ปุ่น
แม้ปัจจุบัน AMC เน้นเปิดสาขาโรงภาพยนตร์ในย่าน Prime Real Estate และปิดโรงภาพยนตร์เก่าๆ ที่อยู่ในทำเลไม่ดี จากตัวเลขของสมาคมผู้ประกอบการ โรงภาพยนตร์แห่งชาติของสหรัฐอเมริกา (NATO) เมื่อเดือนมิถุนายนปีที่แล้ว AMC มีทั้งหมด 218 สาขากับ 3,316 จอ
3. CineMark USA
เป็นธุรกิจจากเท็กซัส ที่ก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ.1985 เป็นโรงหนังราคาถูกในย่านชานเมือง และหลังจากทะลุเป้าเปิดโรงหนังชั้นสองได้ครบ 1,000 โรง เมื่อปี ค.ศ.1992 พวกเขาก็เริ่มหันมาเปิดโรง Megaplex ชื่อว่า "Hollywood USA" ซึ่งแต่ละสาขามีถึง 15 จอ ปัจจุบัน Cinemark มีทั้งหมดเกือบ 300 สาขา และมีจอมากกว่า 3,000 ใน 33 รัฐทั่วอเมริกา นอกจากนี้ยังขยายไปสู่ประเทศอื่นๆ ทั้งในอเมริกาใต้และอเมริกากลางด้วย ได้แก่ อาร์เจนตินา บราซิล เอลซาวาดอร์ และแคนาดา เป็นต้น
4. Carmike Cinemas
เป็นธุรกิจครอบครัวของตระกูล Patrick แห่งเมือง Columbus รัฐ Georgia เริ่มจากโรงภาพยนตร์ Martin ในปี ค.ศ.1982 จับกลุ่มทำเลที่มีคนไม่มากนัก เป็นเมืองขนาดเล็กถึงขนาดกลาง มีจำนวนประชากรประมาณ 50,000-250,000 คน ล่าสุด Carmike Cinemas ได้เปิดตัวโรงหนังคอนเซ็ปต์ใหม่ "econoplex" เน้นที่นั่งแบบ Stadium และ ระบบเสียงดิจิตอล นอกจากนั้น Carmike Cinemas ยังคิดค้นระบบ I.Q.2000 และ I.Q.Zero ซึ่งเป็นระบบ IT ที่ใช้ในการจำหน่ายตั๋วและจ่ายเงินเดือนพนักงาน ทำให้แต่ละ สาขาทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น และสำนักงานใหญ่สามารถเก็บข้อมูลความเคลื่อนไหว ของแต่ละสาขา เพื่อนำวางแผนธุรกิจให้ประสบความสำเร็จมากขึ้น ต่อมาในปี ค.ศ.2000-2002 Carmike Cinemas เข้าข่ายล้มละลาย ต้องปิดหลายสาขาที่ไม่มีผลกำไร ปัจจุบัน Carmike Cinemas มีเกือบ 300 สาขา และกว่า 2,000 จอ ใน 36 รัฐ
5. Loews Cineplex Entertainment Corporation
เป็นบริษัทที่เกิดหลังจากการรวมกิจการระหว่างบริษัท Loews Theatres จากนิวยอร์ก และ Cineplex Odeon Corporation จากแคนาดาในปี ค.ศ.1998 สำหรับ Loews Theatres นั้นเป็นโรงภาพยนตร์ที่เก่าแก่ที่สุดในอเมริกา ก่อตั้งเมื่อปี ค.ศ.1904 โดย Marcus Loews
สำหรับบริษัท Cineplex Odeon Corporation ก่อตั้งเมื่อปี ค.ศ.1979 และเปิดโรง Megaplex โรงแรกในโตรอนโต ในแคนาดา ต่อมาขยายมายังลอสแองเจลิส, ชิคาโก, นิวยอร์ก, วอชิงตัน ดี.ซี. และซีแอตเติล ต่อมารวมกิจการกับ Loews Theatres และก่อตั้ง Loews Cineplex Entertainment Corporation ปัจจุบันกิจการของ Loews Cineplex Entertainment Corporation ตกอยู่ในมือของ Bain Capital แต่ยังคงใช้ชื่อโรงภาพยนตร์ในนามของ "Loews Theatres" "Cineplex Odeon" "Star Theatres" และ "Magic Johnson Theatres" ในอเมริกา ส่วนในเม็กซิโกใช้ชื่อ "Cinemex" ในเกาหลีใต้ใช้ชื่อ "Megabox" และในสเปนใช้ชื่อว่า "Yelmo Cineplex" ปัจจุบัน Loews Cineplex Entertainment Corporation มีโรงภาพยนตร์ในเครือทั้งสิ้น 2,176 โรง จาก 200 สาขาทั่วโลก โดยในอเมริกามีถึง 1,463 โรง จาก 140 สาขา
6. National Amusement
เริ่มต้นธุรกิจเมื่อ 60 กว่าปีที่แล้ว จากโรงหนัง Drive-in ใน Massachusetts ปัจจุบันมีสาขาในอเมริกาทั้งสิ้นเกือบ 100 สาขา และมีจอมากกว่า 1,000 จอ นอก จากนั้นยังมีธุรกิจในประเทศอังกฤษ และละตินอเมริกาอีกด้วย โดยชื่อของโรงภาพยนตร์ในเครือ National Amusement ประกอบด้วย "Showcase Cinemas" "Multiplex Cinemas" "Cinema de Lux Brands"
7. Century Theatres
เป็นธุรกิจส่วนตัวเล็กๆ ของครอบครัว Syufy ก่อตั้งเมื่อปี ค.ศ.1941 โดย Raymond J. Syufy ในเมือง Vallejo รัฐ California ปัจจุบันมีกว่า 80 สาขา และกว่า 1,000 จอ ใน 12 รัฐ คือ California, Nevada, Arizona, Utah, New Mexico, Colorado, Iowa, Oregon, Illinois, Texas, Alaska และ South Dakota และจะขยายเพิ่มอีก 2 รัฐคือ ย่าน Bay Area Markets ใน San Francisco และในรัฐ Washington ในปีใหม่นี้
8. Famous Players
ก่อตั้งเมื่อปี ค.ศ.1920 โดยใช้ชื่อว่า Famous Players Canadian Corporation ต่อมาในปี ค.ศ.1994 ถูกเทกโอเวอร์โดยบริษัท Viacom ปัจจุบันมีสาขากว่า 80 สาขากับอีกกว่า 800 โรง
9. Kerasotes Theatres
ก่อตั้งโดย Gus Kerasotes ใน Springfield รัฐ Illinois ในปี ค.ศ.1909 ปัจจุบัน Kerasotes Theatres ภายใต้การบริหารโดยทายาทรุ่นที่ 3 ของ Gus Kerasotes มีทั้งสิ้น 77 สาขา 532 โรง ในย่าน Midwest ของอเมริกา
10. Marcus Theatres Corporation
เริ่มต้นธุรกิจเป็นโรงภาพยนตร์ขนาดเล็กแบบจอเดียว ในเมือง Ripon รัฐ Wisconsin เมื่อปี ค.ศ.1935 ปัจจุบันมีสาขาเกือบ 50 สาขา และมีโรงภาพยนตร์เกือบ 500 โรง ใน Wisconsin Illinois Ohio และ Minnesota โดยมีชื่อว่า "The Weatown" "Ridge" "South Shore" "North Shore" "The Pfister" "The Milwaukee Hilton" และ "The Grand Geneva resort of Marcus Hotels and Resorts"
ดูหนังที่ญี่ปุน
โรงภาพยนตร์ที่ญี่ปุ่นที่ได้มาตรฐานเดียวกับโรงภาพยนตร์ในไทยมีจำนวนไม่มากนัก และส่วนมากจะอยู่ตามห้างสรรพสินค้า หรู เช่น Virgin Toho Cinemas ใน Roppongi Hills แต่ส่วนมากจะอยู่ในอาคารขนาด 2-3 คูหา บรรยากาศภายในก็แตกต่างไปด้วยเช่นกัน ทั้งระบบที่นั่งที่ไม่มีหมายเลข พื้นยกเป็นขั้นบันไดที่มีความสูงน้อยมาก จนแถวแรกกับแถวสุดท้ายมีความสูงต่างกันไม่ถึงฟุต ด้วยเหตุนี้ทำให้ที่นั่งที่ดีที่สุดในโรงไม่ใช่พื้นที่ตรงกลางแถวหลังสุดเหมือนในไทย แต่เป็นที่นั่งตรงกลางของแถวกลาง ซึ่งไม่ใกล้จอเกินไปและยังไม่ห่างมากจนอ่านซับไตเติ้ลไม่ชัด
ความนิยมภาพยนตร์ในสังคมญี่ปุ่นมีไม่มากจากปัจจัยหลายประการ เริ่มตั้งแต่ไลฟ์สไตล์ของชาวญี่ปุ่นที่แตกต่างจากอเมริกัน ในฐานะของผู้แพ้สงคราม ญี่ปุ่นตระหนักดีถึงภารกิจอันยิ่งใหญ่ในการสร้างประเทศ ในช่วงวิกฤติที่ทุกคนต่างก้มหน้าก้มตาทำงานตั้งแต่เช้ายันดึกสัปดาห์ละ 7 วันนั้นการหาเวลาอยู่กับครอบครัวก็ทำได้ยากเต็มที ดังนั้น การปลีกเวลาไปดูหนังคงจะทำได้ไม่บ่อยนัก นอกจากนี้สินค้าความบันเทิงประเภทอื่นๆ ในญี่ปุ่นก็มีให้เลือกมากมายเหลือเกิน
ราคา
เป็นอีกปัจจัยที่มีผลอย่างมากต่อการตัดสินใจไปดูหนัง ราคามาตรฐานของตั๋วภาพยนตร์ในญี่ปุ่นกำหนดไว้ที่ 1,800 เยน (อัตราแลกเปลี่ยน (ประมาณ) 100 เยน = 36 บาท) ในบางครั้งอาจมีการลดราคาสำหรับตั๋วรอบดึก ตั๋วนักเรียน ตั๋วที่ซื้อก่อนวันกำหนดฉายภาพยนตร์ สามารถซื้อได้ในราคาประมาณ 1,000-1,500 เยน ขึ้นอยู่กับสถานที่ และโปรโมชั่นแต่ก็ยังคงแพงอยู่ดี ทำให้คนส่วนใหญ่เลือกดูเฉพาะเรื่องที่อยากดูจริงๆ
กำแพงภาษา
เป็นที่ทราบกันดีว่าโดยทั่วไปแล้วคนญี่ปุ่นนั้นไม่สันทัดภาษาอังกฤษ อันเป็นผลสืบเนื่องมาหลายสาเหตุที่ขออนุญาตละไว้ในฐานที่เข้าใจ
ถ้าไม่ใช่หนังฟอร์มใหญ่จริงกว่าจะมา road show ในญี่ปุ่นนั้นใช้เวลานานมากและแต่ละเรื่องมีช่วงเวลาฉายนานหลายเดือนส่งผลให้ความกระตือรือร้นในการมาดูหนังลดลงไป ถึงแม้จะมีการผลัดวันประกันพรุ่งในการไปดูหนังอยู่บ่อยๆ จนหนังออกไปแล้วก็ตาม ที่ญี่ปุ่นยังมีสื่ออื่นๆ เช่น DVD, home theater ที่สามารถดูได้ในบ้านทันทีที่ต้องการ ซึ่งสะดวกไม่ต้องไปเสียเวลาต่อแถวที่โรงหนัง นอกจากนี้แล้ว DVD มักจะออกวางจำหน่ายหรือให้เช่าหลัง road show ประมาณ 1 เดือนเท่านั้น
แต่ละปัจจัยดังกล่าวเป็นเหตุและผลของกันและกันซึ่งยากในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภค ส่งผลให้ผู้ประกอบการไม่ต้องการจะเสี่ยงต่อการปรับปรุงหรือลงทุน เพราะผู้ประกอบการเองก็มองเห็นและทราบดีว่าตลาดภาพยนตร์ในญี่ปุ่น คงจะขยายตัวได้ยาก
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|