Metropolitan Lifestyle Business

โดย ณัฐวัฒน์ หอมจิตต์
นิตยสารผู้จัดการ( มกราคม 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

หลังจากเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในปี 2545 เสริมความแข็งแกร่งด้านเงินทุนให้มั่นคงแล้ว เมเจอร์ฯ เริ่มมองหาโอกาสในการขยายธุรกิจจนวิชามีโอกาสมาพบกับนพพร วิฑูรชาติ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทสยามฟิวเจอร์ ดีเวลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ SF หลังจากพูดคุย กันถูกคอ วิชาพบว่า โมเดลการทำธุรกิจศูนย์การค้าชุมชน หรือ Neighborhood Mall ของสยามฟิวเจอร์ฯ นั้นน่าสนใจ เขาโยงสิ่งที่สยามฟิวเจอร์ฯ กำลังทำเข้ากับประสบการณ์ที่เคยพบเห็นจากสหรัฐอเมริกา ซึ่งกำลังเป็นเทรนด์ที่ประสบความสำเร็จอย่าง มาก เพราะสามารถตอบสนองไลฟ์สไตล์คนเมืองได้เป็นอย่างดี

รูปแบบศูนย์การค้าขนาดไม่ใหญ่มาก ที่มีทั้งโรงภาพยนตร์ ภัตตาคาร ร้านอาหาร ร้านหนังสือ ร้านขายของหลากหลายประเภท กลายเป็นรูปแบบการใช้ชีวิตของคนเมืองส่วนหนึ่งที่เบื่อ การเดินชอปปิ้งมอลล์ขนาดใหญ่

วิชามองว่าธุรกิจของสยามฟิวเจอร์ฯ จะสามารถสร้าง synergy ให้กับเมเจอร์ฯ ได้เป็นอย่างดี เพราะสยามฟิวเจอร์ฯจะเป็นเสมือนแขนขาในการลงทุนให้กับเมเจอร์ฯ จะช่วยให้เมเจอร์ฯ ขยายธุรกิจได้ในทำเลขนาดเล็กเกินกว่าที่จะขึ้นโครงการซีนีเพล็กซ์ ซึ่งในแต่ละโครงการของสยามฟิวเจอร์ฯ ก็จะมีธุรกิจของเมเจอร์ฯ พ่วงไปด้วยเสมอ ไม่ว่าจะเป็นโรงภาพยนตร์ โบว์ลิ่ง คาราโอเกะ หรือแม้แต่แคลิฟอร์เนียฯ ก็ตาม ขณะเดียว กันสิ่งที่สยามฟิวเจอร์ฯ ได้รับจากเมเจอร์ฯ นั้น นอกจากเม็ดเงินในการเข้าถือหุ้น 25% แล้ว ยังมีความชำนาญและประสบการณ์ในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของวิชา ที่เขาบอกว่า เขาผ่านการดีลกับเจ้าของที่มาเยอะมาก ทั้งที่เป็นเจ้าของที่ดินและเจ้าของศูนย์การค้า

ไม่เพียงเท่านั้น การที่เมเจอร์ฯ เข้าร่วมถือหุ้นทำให้สยามฟิวเจอร์ฯ สามารถเพิ่มทุนและย้ายจากการจดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ใหม่มายังตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้สร้างความน่าเชื่อถือเพิ่มขึ้น รวมถึงต้นทุนทางการเงินก็ต่ำลง การเจรจาเช่าที่ดินก็มีอำนาจต่อรองมากขึ้น การขยายสาขาก็ทำได้เร็วขึ้น

เรียกว่างานนี้ win win กันทั้งคู่

ปัจจุบันสยามฟิวเจอร์ฯ มีพื้นที่ศูนย์การค้ารวมเกือบ 70,000 ตารางเมตร เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวจากปี 2546 โดยมีรูปแบบศูนย์การค้าหลายประเภทด้วยกัน เช่น ศูนย์การค้าชุมชน ภายใต้ชื่อ SF Town Center จำนวน 6 แห่ง ศูนย์สะดวกซื้อ 3 แห่ง ร้านค้าปลีก 8 แห่ง ศูนย์การค้าไลฟ์สไตล์และศูนย์เอ็นเตอร์เทนเมนต์ เป็นต้น

จำนวนพื้นที่ที่เพิ่มขึ้น ส่งผลโดยตรงกับผลการดำเนินงานที่เพิ่มขึ้นของสยามฟิวเจอร์ฯ โดยผลการดำเนินงานงวด 9 เดือนแรกของปี 2547 มีกำไรถึง 180 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไร 14 ล้านบาท ผลการดำเนินงานปีนี้ของสยามฟิวเจอร์ฯ ก็น่าติดตามไม่น้อย เพราะนพพรตั้งเป้าการขยายงานอย่างก้าวกระโดด จากการเปิดศูนย์เพิ่มขึ้นซึ่งจะทำให้พื้นที่เช่าเพิ่มเป็น 1.65 แสนตารางเมตรในปีนี้และจะเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 2 แสนตารางเมตรในปีหน้า

ความสำเร็จของสยามฟิวเจอร์ฯ นอกจากจะมาจากทำเลที่ดีแล้ว สายสัมพันธ์ ที่ดีกับพันธมิตรที่มีอยู่ก็มีความสำคัญไม่น้อย ผู้เช่าพื้นที่ของสยามฟิวเจอร์ฯ ส่วนใหญ่จะตามไปในแทบจะทุกโครงการที่เปิดดำเนินการ อาทิ ท็อปส์, วิลล่า มาร์เก็ต, โออิชิ, เคเอฟซี, เดอะพิซซ่า คอมปะนี รวมทั้งธุรกิจ ของเมเจอร์ฯ ที่เป็นโบว์ลิ่งและคาราโอเกะ ทำให้อัตราเช่าพื้นที่ของสยามฟิวเจอร์ฯ อยู่ในระดับสูงถึง 98% ของพื้นที่ทั้งหมด

บทบาทของสยามฟิวเจอร์ฯ ไม่ได้เป็นเพียงแค่ investment arm ให้กับเมเจอร์ฯ เท่านั้น แต่ยังเป็นเสมือนสถานีนำพารูปแบบการใช้ชีวิตแบบเมเจอร์ฯ ออกสู่ชุมชนขนาดเล็กและหัวเมืองใหญ่อีกด้วย ด้วยจุดเด่นที่เป็นโครงการขนาดเล็ก ใช้เงินลงทุนต่ำ ทำให้เกิดความคุ้มทุนของโครงการได้ง่าย ทำเลที่ไม่เอื้อต่อการสร้างโครงการซีนีเพล็กซ์จึงเป็นหน้าที่ของสยามฟิวเจอร์ฯ โดย ตรง อัตราการเติบโตของเมเจอร์ฯ จึงน่าจะขึ้นอยู่กับความสำเร็จของสยามฟิวเจอร์ฯ ด้วย

อีกธุรกิจหนึ่งที่เมเจอร์ฯ เข้าลงทุนก็คือ แคลิฟอร์เนีย ว้าว เอ็กซ์พีเรียนซ์ จำกัด (CAWOW) ที่ทำธุรกิจฟิตเนส เซ็นเตอร์ครบวงจรและทันสมัย ซึ่งเป็นจังหวะที่แคลิฟอร์เนียฯ มีการเปลี่ยนผู้ถือหุ้น พอดีกับที่วิชามีความสนใจในธุรกิจฟิตเนสอยู่แล้ว เมื่อมาเจอกับเอริค เลอวีน ผู้ก่อตั้งแคลิ ฟอร์เนียฯ จึงตกลงใจเข้าถือหุ้นในสัดส่วน 49%

ไม่น่าแปลกใจที่วิชาจะสนใจเข้าลงทุนในแคลิฟอร์เนียฯ เพราะสไตล์ของแคลิฟอร์เนียฯ เข้ากันได้เป็นอย่างดีกับฐานลูกค้าของเมเจอร์ฯ ที่เป็นคนรุ่นใหม่ สนใจการใช้ชีวิตที่ทันสมัย ที่สำคัญคือ มีกำลังซื้อ แคลิฟอร์เนียฯ จึงเป็นจิ๊กซอว์ตัวหนึ่งที่นำมาต่อเติมให้ภาพรวมของเมเจอร์ฯ ดูสมบูรณ์ยิ่งขึ้น

โมเดลของแคลิฟอร์เนียฯ ก็ไม่ได้แตกต่างจากของเมเจอร์ฯ มากนัก เพราะโดยพื้นฐาน แล้วก็คือธุรกิจฟิตเนส เซ็นเตอร์ แต่ถูกพัฒนาให้ทันสมัย เข้ากับไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ สร้างประสบการณ์ในการออกกำลังกายให้เปลี่ยนเป็นเรื่องที่เอ็นเตอร์เทน มีสังคมให้จับกลุ่ม พูดคุยสนทนาได้ นอก จากนี้ยังสามารถใช้โมเดลการขยายสาขาของเมเจอร์ฯ ขยายสาขาไปตามพื้นที่ต่างๆ ในกรุงเทพฯ จากปัจจุบันที่มีอยู่ 2 แห่ง คือ สาขาแรกที่อาคาร ลิเบอร์ตี้ สีลม และสุขุมวิท 23 ที่เพิ่งเปิดให้บริการได้ไม่นาน โดยเตรียมจะเปิดสาขาปิ่นเกล้าภายในไตรมาสแรกปีนี้ และหลังจากเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ แล้วก็เตรียมจะเปิดเพิ่มอีก 2 สาขาในปีนี้ คือที่แจ้งวัฒนะ และสยามพารากอน

นอกจากการขยายสาขาแล้ว แผนงานที่เตรียมไว้สำหรับแคลิฟอร์เนียฯ ยังจะขยายต่อยอดไปในกิจกรรมด้านสุขภาพอื่นๆ ทั้งโยคะ สปา รวมทั้งผลิตภัณฑ์ อาหารหรือเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพด้วย

"ในที่สุดแล้วเราอยากจะให้พูดถึงเรื่องสุขภาพ คนจะนึกถึงแบรนด์ แคลิฟอร์เนียฯ ก่อนเลย" วิชากล่าว


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.