|
ไทยลามิเนตฯแต่งตัวเข้าตลาดหุ้นKCEเปิดทาง "ทรีนีตี้ วัฒนา" ร่วมทุน
ผู้จัดการรายวัน(28 ธันวาคม 2547)
กลับสู่หน้าหลัก
KCE แจงเฉือนหุ้นไทยลามิเนตฯให้ ทรีนีตี้ วัฒนา 24% เพื่อแต่งตัวเตรียมความพร้อมในการนำไทยลามิเนตฯ เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯปี 48 หลัง IPO จะไดลูตเหลือประมาณ 50% เชื่อนอกจากได้กำไรจากการขายหุ้นแล้วยังเอื้อประโยชน์ในการทำธุรกิจ คาดปีหน้าฟันรายได้ไม่ต่ำกว่า 170 ล้านเหรียญสหรัฐ มั่นใจตลาดโลกยังต้องการพีซีบี
นายบัญชา องค์โฆษิต กรรมการผู้จัดการ บริษัท เคซีอี อีเลคโทรนิคส์ จำกัด (มหาชน) (KCE) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 47 บริษัทได้ลงนามในสัญญาซื้อขายหุ้นบริษัท ไทยลามิเนต แมนูแฟคเจอเรอร์ จำกัด (TLM) ให้แก่บริษัท ทรีนีตี้ วัฒนา จำกัด (มหาชน) ซึ่งรายการ ดังกล่าวไม่มีความสัมพันธ์ใดๆ กับผู้ขาย
ทั้งนี้ KCE ได้ขายหุ้นดังกล่าวให้กับทรีนีตี้ จำนวน 6,000,000 หุ้น ในราคา 30 บาทต่อหุ้น เป็นเงินรวม 180 ล้านบาท โดยมีขนาดรายการของการจำหน่ายไปซึ่งสินทรัพย์คิดเป็น 12% ของเกณฑ์กำไรสุทธิ ซึ่งไม่เข้าข่ายเป็นรายการประเภทที่ 1,2,3 หรือ 4 ตามประกาศคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เรื่องการเปิดเผยข้อมูลและการปฏิบัติการของบริษัทจดทะเบียนในการได้มาและจำหน่ายซึ่งทรัพย์สิน พ.ศ.2547 และไม่เป็นรายการที่เกี่ยวโยงกัน ตามประกาศคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เรื่องเปิดเผยข้อมูลและการปฏิบัติการของบริษัทจดทะเบียนในรายการที่เกี่ยวโยงกัน พ.ศ. 2546
สำหรับ บริษัท ไทยลามิเนต แมนูแฟคเจอเรอร์ จำกัด (TLM) ดำเนินธุรกิจผลิตลามิเนตและพรีเพรกซึ่งเป็นวัตถุดิบในการผลิตวงจรพิมพ์ (พีซีบี) โดยมีทุนชำระแล้ว 190 ล้านบาท มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 10 บาท รวมเป็นเงิน 190 ล้านบาท และมีผู้ถือหุ้นรายใหญ่ 5 รายแรก คือ KCE ร้อยละ 68.42 บริษัท เคซีอี อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด 25.26% (บริษัทย่อยของเคซีอีถือหุ้น 95%) Mr.Frederic Gharapet Ohanion 1.31% นายบัญชา องค์โฆษิต 1.26% นางศิริพรรณ สันธนะพันธ์ 1.05% อื่นๆ 2.70% ส่งผลให้ KCE ถือหุ้นทั้งทางตรงและทางอ้อม 92.42%
เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 47 TLM ได้เพิ่มทุนชำระแล้วจาก 190 ล้านบาท เป็น 250 ล้านบาท โดยเพิ่มทุนจำนวน 6,000,000 หุ้น ซึ่ง KCE ใช้สิทธิซื้อหุ้นเพิ่มทุนทั้งหมด ในราคาหุ้นละ 15 บาท รวมเป็นเงิน 90 ล้านบาท ซึ่งการใช้สิทธิเพิ่มทุนดังกล่าวทั้งหมดนั้น KCE ใช้สิทธิในส่วนของบุคคลที่เกี่ยวโยงกัน ประกอบด้วย ผู้ถือหุ้นซึ่งสละสิทธิ ซื้อเพิ่มทุน 21 ราย รวมทั้งสิ้น 1,894,800 หุ้น เป็นเงิน 28,422,000 บาท
ขนาดรายการของการได้มาซึ่งสินทรัพย์คิดเป็น 12% ของเกณฑ์กำไรสุทธิ และขนาดของรายการที่เกี่ยวโยงกัน คิดเป็น 1.28% ของสินทรัพย์ที่มีตัวตนสุทธิของบริษัท ดังนั้น ภายหลังการเพิ่มทุนดังกล่าว TLM มีทุนชำระแล้วเป็น 250 ล้านบาท แบ่งเป็นหุ้นสามัญ 25 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 10 บาท และ KCE เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ 76% และเมื่อรวมกับบริษัทในเครือที่ถือหุ้นใน TLM ส่งผลให้ KCE ถือหุ้น TLM ทั้งสิ้น 94.24%
ภายหลังการขายหุ้น TLM 6,000,000 หุ้น โครงสร้างผู้ถือหุ้นใหญ่ ณ วันที่ 15 ธันวาคม 47 KCE จะเหลือสัดส่วนการถือหุ้นทั้งทางตรงและทางอ้อมเพียง 70.24% ส่วนทรีนีตี้ฯ จะถือหุ้น TLM 24% ซึ่งบริษัทมีกำไรจากการขายหุ้นดังกล่าวด้วย ที่สำคัญจะเป็นประโยชน์ต่อบริษัทฯและบริษัทย่อยในการขยายกิจการในอนาคต
นายปัญจะ เสนาดิสัย กรรมการ KCE กล่าวว่าการ ที่บริษัทเฉือนหุ้นบางส่วนให้กับทรีนีตี้ เพราะต้องการเตรียม ความพร้อมในการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และภายหลังจากที่ขายหุ้น IPOให้กับประชาชนแล้ว KCE จะทำให้สัดส่วนการถือหุ้นของ KCE ที่ถือใน TLM เหลือประมาณกว่า 50% ซึ่งย้ำว่ายังต้องการเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่เพื่อให้เป็นบริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ของไทยที่มีผู้บริหารเป็นคนไทยด้วย
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่ได้ยื่นนำเสนอข้อมูล (ไฟลิ่ง) ให้กับสำนักงานกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) แต่ KCE มั่นใจว่าจะพยายามดำเนินการให้เรียบร้อย เพื่อที่จะขายหุ้นให้กับประชาชนทั่วไปให้ได้ภายในปีนี้ หลังจากที่ล่าช้ามานาน เพราะความตั้งใจเดิมคือคาดว่า จะนำ TLM เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯในปีนี้ เนื่องจากตลาดหุ้นผันผวนและ KCE ต้องการที่จะให้ TLM ผลิตสินค้าที่เป็นวัตถุดิบให้กับ KCE ก่อน เนื่องจากตลาดของสินค้าพีซีบีอยู่ในช่วงขาขึ้น สวนทางกับชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ ที่ซบเซาตามภาวะตลาดโลก ซึ่งทำให้ผู้ประกอบการทั้งหลายต่างได้รับผลกระทบจากภาวะ ดังกล่าว
ประกอบกับที่โรงงานเฟส 3 ของ KCE โดยเป็นการผลิตของ บริษัท เคซีอี เทคโนโลยี จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกที่แล้วเสร็จ ทำให้ต้องป้อนวัตถุดิบให้มากขึ้น เพื่อผลิตแผ่นพีซีบีเพิ่มอีกตามความต้องการในตลาดโลก ส่งผลให้บริษัทสามารถผลิตแผ่นพีซีบีเพิ่มจาก 9 แสนตารางเมตร เป็น 1.2 แสนตารางเมตร รองรับความต้องการในตลาดโลกที่พบว่ายังมีต่อเนื่อง
สำหรับ KCE คาดว่ายอดขายปี 47 บริษัทจะมียอดขายประมาณ 170 ล้านเหรียญสหรัฐ จากปีนี้ทั้งปีที่คาดว่าจะมีรายได้ไม่ต่ำกว่า 150 ล้านเหรียญสหรัฐ หากไม่มีเรื่องค่าเงินและดอกเบี้ยมากระทบ เพราะค่าเงินบาทที่แข็งค่าจะส่งผลกระทบต่ออัตราแลกเปลี่ยน แม้ว่าได้ทำการป้องกันความเสี่ยงไว้แล้วก็ตาม แต่ก็ยังส่งผลกระทบให้บริษัทมีกำไรลดลง แต่หากเงินบาทอ่อนค่าจะส่งผลดีต่อบริษัท เพราะทำให้ยอดขายและกำไรเพิ่มขึ้น ส่วนดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มว่าจะเพิ่มขึ้นนั้น บริษัทไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เนื่องจากเงินกู้ส่วนใหญ่เป็นเงินกู้ระยะยาวและจ่ายดอกเบี้ย แบบคงที่ 2 ปี
นายปัญจะกล่าวว่า ขณะนี้ความต้องการใช้พีซีบี ได้รับความสนใจจากลูกค้าญี่ปุ่นมาก โดยเฉพาะโซนี่และโตชิบา หันมาซื้อสินค้ากับ KCE มากขึ้น หลังจากที่ก่อนหน้านี้ไม่มีลูกค้าสองรายนี้ โดยลูกค้าส่วนใหญ่ยังคงเป็นลูกค้าในย่านเอเชีย และยุโรป นอกจากนี้ KCE ยังจะเพิ่มกำลังการผลิตเฟส 4 และ 5 ที่จังหวัดอยุธยา เนื่องจากความต้องการที่ขยายตัวอย่างมากใน higherlayer count PCB และเพื่อหลีกเลี่ยงการแข่งขันจากจีน โดยบริษัทวางแผนจะเพิ่มสายการผลิต inner layer ในเดือนตุลาคม 47 ก่อนที่จะเริ่มผลิตได้ต้นปี 48 โครงการนี้ใช้เงินลงทุนประมาณ 19 ล้านเหรียญฯ ซึ่งจะใช้แหล่งเงินทุนจากกระแสเงินสดภายในบริษัท และเงินกู้ยืมจากธนาคารบางส่วน
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|