ดัชนีหุ้นไทยขึ้นมากที่สุดในเอเซีย 26%


ผู้จัดการรายวัน(22 มีนาคม 2545)



กลับสู่หน้าหลัก

ดัชนีหุ้นไทยขึ้นมากที่สุด นับแต่ปลายปีที่แล้วถึงปัจจุบัน กว่า 26 เทียบกับอีก 11 ประเทศในเอเชียตะวันออก และโอเชียเนีย

วันนี้ (21 มีนาคม) ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพประชุมสมาชิกสมาพันธ์ตลาดหลักทรัพย์แห่งเอเชียตะวันออก และโอเชียเนีย (East Asia and Oceanian Securities Exchange

Federation) (EAOSEF) ครั้งที่ 21 ซึ่งสมาชิกตลาดหลักทรัพย์ 15 แห่ง จาก 12 ประเทศ ร่วมประชุม ประกอบด้วย ออสเตรเลีย ฮ่องกง อินโดนีเซีย เกาหลีใต้ มาเลเซีย นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น ฟิลลิปินส์ จีน สิงคโปร์ ไตหวัน และไทย

ประเทศที่มีตลาดหลักทรัพย์มากกว่า 1 แห่ง ได้แก่ ญี่ปุ่น จีน และอินโดนีเซีย การจัดประชุมครั้งที่ 22 จะจัดที่จีน เมืองเซี่ยงไฮ้ ประมาณ มี.ค.-พ.ค. 2546 รอบ 1 ปี คณะทำงานตัวแทนแต่ละประเทศจะศึกษาอย่างต่อเนื่องจากปีก่อน

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่าที่ประชุมมีมติยืนยันที่จะมีสัมพันธภาพ และการให้ความร่วมมือระหว่างสมาชิก กำหนดแนวทางเปิดรับสมาชิกใหม่เพิ่ม

มีเงื่อนไขว่าต้องมีระบบการซื้อขายและระเบียบข้อบังคับระหว่างบริษัทจดทะเบียน และบริษัทหลักทรัพย์ให้ได้มาตรฐาน

การประชุมครั้งนี้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นแต่ละประเทศ ที่สำคัญมีการยืนยันจากประธานตลาดหลักทรัพย์โตเกียว ที่แสดงความมั่นใจว่าปี 2545 ถึงปี 2546 จะเป็นจุดที่ระบบเศรษฐกิจญี่ปุ่นจะเริ่มฟื้นตัวราคาหุ้นตลาดโตเกียวจะสามารถไต่ระดับขึ้นได้ ทำให้สมาชิกสมาพันธ์รู้สึกดี เพราะตลาดหุ้นญี่ปุ่นเป็นตลาดใหญ่ หากฟื้นตัวได้ จะส่งผลให้เกิดภาวะโดยรวมภูมิภาคนี้ดีขึ้น

ส่วนตลาดหุ้นไทย ก็ได้รับความสนใจจากสมาชิก เนื่องจากตั้งแต่ช่วงปลายปีจนกระทั่งถึงปัจจุบันดัชนีหุ้นไทยปรับตัวดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด หากใช้เกณฑ์เปรียบเทียบการปรับตัวขึ้นตลาดโดยรวม ตลาดหุ้นไทยถือว่าเป็นตลาดฯ ที่ปรับตัวขึ้นดีที่สุดในกลุ่มสมาชิก ปรับตัวขึ้นถึง 26-27% ขณะที่เกาหลีใต้ และจีน ปรับตัวขึ้น 20%

การวัดวัดจากการปรับตัวของดัชนี ไม่วัดจากปริมาณซื้อขาย ซึ่งตลาดหลักทรัพย์แปรรูปเป็นเอกชนแล้ว จะมุ่งเน้นสร้างปริมาณซื้อขายมากกว่า เพราะสร้างรายได้ อย่างไรก็ตามสมาชิกความสนใจว่าไทยดำเนินการเรื่องใดบ้าง จึงทำให้ตลาดฯ ปรับตัวขึ้นได้

ตลาดหลักทรัพย์ชี้แจงการดำเนินงานรอบ 1 ปีที่ผ่านมา ควบคู่กับการดำเนินการช่วงต้นปี คือการดำเนินการตามแผนแม่บทและพัฒนาตลาดทุน ซึ่งเปลี่ยนแปลงหลายๆ เรื่อง ได้แก่ ระบบการซื้อขายหลักทรัพย์ การเปลี่ยนช่วงราคาใหม่ (สเปรด) การกำหนดอัตราค่าคอมมิชชั่นขั้นต่ำ การขยายฐานนักลงทุน รวมทั้งการหาสินค้าเพิ่ม ตลอดจนการนำรัฐวิสาหกิจเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์

นายกิตติรัตน์กล่าวว่า เรื่องที่เป็นสาระสำคัญที่หารือกัน คือการซื้อขายข้ามตลาด (Duo Listing)หมายถึงการนำบริษัทจดทะเบียนแต่ละตลาด ซื้อขายข้ามตลาดฯ ได้ ที่ผ่านมาออสเตรเลียกับสิงคโปร์ดำนินการตั้งแต่ 22 ธ.ค. 2544 และรายงานความสำเร็จการดำเนินการดังกล่าว โดยเป็นช่วงเริ่มต้น ยังไม่ค่อยมีปริมาณซื้อขายมากนัก แต่สิ่งที่เกิดประโยชน์ก็คือการที่ตลาดฯ ทั้ง 2 แห่งจะได้รับรายได้จากการซื้อขายอัตรามาตรฐานเฉลี่ย 0.005% ของมูลค่าการซื้อขายแต่ละรายการ และประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมคือ การที่บริษัทหลักทรัพย์จะมีรายได้เพิ่มขึ้น แต่ระยะแรกยังไม่สามารถวัดผลได้

ส่วนตลาดหุ้นไทย จะดำเนินการเรื่องนี้หรือไม่ อยู่ระหว่างศึกษา เพราะตลาดหุ้นไทยยังพัฒนาไม่ถึงระดับดังกล่าว ต้องพัฒนาขึ้นอีก ให้มีความพร้อมมากกว่าปัจจุบัน

ที่ประชุมยังหารือความคืบหน้าระบบชำระราคาและส่งมอบหลักทรัพย์ (Clearing & Settlement) ตามปกติใช้ T+3 ขณะนี้ทั่วโลกก็ใช้ระบบนี้ แต่เมื่อใดผลักดันให้เร็วขึ้น สมาชิกต้องเตรียมความพร้อมในระบบ เพื่อให้สอดคล้องกับตลาดทุนแถบตะวันตก

นอกจากนี้รายงานภาวะการณ์ทั่วไปแต่ละประเทศ ประเทศที่น่าสนใจมี 3 ประเทศคือ ออสเตรเลียเป็นประเทศที่ฐานนักลงทุนเข้มแข็ง คนที่ลงทุนในตลาดหุ้นมี 52% ของประชากรวัยทำงาน 14 ล้านคน หรือ7.4 ล้านคน โดยจัดอบรมการลงทุนในตลาดทุน 1.2 แสนรายต่อปี

ฮ่องกง เป็นตลาดฯ ที่แปรรูปเป็นเอกชนแล้ว ความน่าสนใจคือ การที่บริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นสามรถระดมทุนได้มากกว่าบริษัทที่เสนอขายให้ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (ไอพีโอ) สามารถกำหนดราคาไม่ให้นักลงทุนในตลาดรองเสียเปรียบด้วย

และเกาหลี หลังจากที่ประกาศยกเลิกเพดานถือครองหุ้นนักลงทุนต่างชาติ ทำให้เงินทุนต่างชาติไหลเข้าประเทศมาก ทำให้สัดส่วนการลงทุนของต่างชาติมากกว่านักลงทุนในประเทศ ปัจจุบัน 36% ของมูลค่าการซื้อขายรวม เป็นส่วนนักลงทุนต่างชาติ



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.