|

ธปท.รับมือศก.สหรัฐฯ พร้อมปล่อยดอกเบี้ยขึ้นได้อีก 3 ปี
ผู้จัดการรายวัน(23 ธันวาคม 2547)
กลับสู่หน้าหลัก
"ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล" เผยแบงก์ชาติเตรียมพร้อมมาตรการ รับมือปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่จะส่งผลกระทบต่อไทย ยันฐานะการคลังยังแกร่ง ทุนสำรองทางการกว่า 4.8 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนแนวโน้มดอกเบี้ยยังมีเวลาปล่อยให้ขึ้นได้อีกภายใน 3 ปี นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจโดยวิธีดอกเบี้ยต่ำไม่จำเป็นแล้ว
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ขณะนี้ธปท.ได้เตรียมมาตรการเพื่อรองรับความผันผวนทางการเงินและอัตราแลกเปลี่ยนที่จะส่งผลกระทบต่อไทยไว้เรียบร้อยแล้ว หลังจากที่สหรัฐฯ ประสบปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด ส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่องจนอาจถึงขั้นเกิดปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจทางการเงิน ทั้งนี้ฐานะทางการคลังของไทยเองมีความพร้อม โดยทุนสำรองทางการสูงถึง 48,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
"ยอมรับว่า ธปท.ได้เตรียมรองรับวิกฤตเศรษฐกิจของอเมริกา ที่อาจเกิดขึ้นหรือไม่ก็ได้ แต่ยอมรับว่าเราได้เตรียมรองรับสถานการณ์ไว้แล้ว และสถานะทางการคลังของไทยก็อยู่ในเกณฑ์ดี ตัวเลขเป็นบวก และจะบวกต่อไป ทุนสำรองทางการสูงถึง 48,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งมีไว้มากก็เพื่อป้องกันเหตุการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้น" ผู้ว่าการธปท.กล่าว
สำหรับความเคลื่อนไหวของอัตราแลกเปลี่ยนนั้น ม.ร.ว. ปรีดิยาธรกล่าวว่า ขณะนี้ค่าเงินบาทของไทยมีการเคลื่อนไหวอยู่ในระดับปกติ หากเปรียบเทียบกับค่าเงินหลักสกุลอื่นๆ ทั้งเงินเยนและเงินยูโร จะเห็นว่าไม่ได้เคลื่อนไหวมากนัก แต่ธปท. จะดูแลอัตราแลกเปลี่ยนให้อยู่ในระดับที่ผู้ส่งออกสามารถแข่งขันทางการค้าในตลาดโลกได้ ซึ่งขณะนี้ถือว่าค่าเงินบาทของไทยยังอยู่ในระดับที่แข่งขันได้ ยังไม่เสียเปรียบในด้านการแข่งขัน
"ธปท.จะดำเนินนโยบายให้ผู้ค้าสามารถแข่งขันกับประเทศคู่ค้าและคู่แข่งได้ แต่ภาคการส่งออกของไทยในปี 2548 จะอยู่ที่ 10- 20% จะสูงไม่มากอย่างในปีที่ผ่านมาที่สูงถึง 20-22% เนื่องจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง"ผู้ว่าการ ธปท.กล่าว
ส่วนทิศทางอัตราดอกเบี้ยนั้น การที่ ธปท.ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายนั้นไม่ได้ขึ้นตามสหรัฐฯ ซึ่งก่อนหน้านี้ที่ ธปท.ได้ใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยต่ำเพื่อเป็นเครื่องมือที่ทำให้เศรษฐกิจฟื้น แต่ในขณะนี้เศรษฐกิจไทยเข้าสู่การฟื้นตัวชัดเจนแล้ว ดังนั้น ความจำเป็นที่จะใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยต่ำเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้ขยายตัวจึงลดลง
อย่างไรก็ตาม ภาวะเศรษฐกิจของไทยในปี 2547 ต้องเผชิญกับอุปสรรคต่างๆ เช่น ราคาน้ำมันแพง ปัญหาไข้หวัดนก ซึ่งหากไม่มีปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวก็จะทำให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจสูงกว่านี้อีกมาก ทำให้เห็นชัดเจนว่าไม่จำเป็นต้องใช้อัตราดอกเบี้ยต่ำกระตุ้นเศรษฐกิจอีก ซึ่งเมื่อเศรษฐกิจฟื้นแล้ว จะต้องกลับมาดูด้านต่างๆ ที่อาจได้รับผลกระทบจากการที่ดอกเบี้ยต่ำ คือ อัตราเงินเฟ้อ และอัตราดอกเบี้ย ที่แท้จริง
โดยอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงในขณะนี้ติดลบ 2.33% ทำให้การออมของไทยลดลงมาก จำเป็นต้องทำให้อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงเพิ่มขึ้น เพื่อที่จะสร้างการออม รองรับการลงทุนที่เพิ่มขึ้นเพื่อไม่ให้มีปัญหาเรื่องดุลบัญชีเดินสะพัด จากปัจจุบันการออมของภาคเอกชนอยู่ในระดับต่ำมากเพียง 4-5% เท่านั้น แต่อย่างไรก็ตาม ธปท. ยังมีระยะเวลาที่จะปล่อยให้ดอกเบี้ยขยับขึ้นอีกภายในเวลา 3 ปี
"ธปท.คาดว่าดุลบัญชีเดินสะพัดยังคงเกินดุลอยู่ ซึ่งการปรับขึ้นดอกเบี้ยจะต้องไม่ขึ้นอย่างพรวดพราดจนกระตุกเศรษฐกิจ แต่ค่อยๆ ทยอยขึ้นเพื่อให้ตลาดสามารถปรับตัวได้ อย่างไรก็ตาม การปรับขึ้นคงไม่ขึ้นปีเดียว 2% เพื่อให้อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงไม่ติดลบเลย"
สำหรับอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทของไทย วานนี้ (22 ธ.ค.) เงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ที่ระดับ 39.03 บาทต่อดอลลาร์ เมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้น 0.13% เมื่อเทียบกับวันก่อนหน้านี้ และแข็งค่าขึ้น 5.07% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า แต่หากเทียบกับค่าเงินยูโร สหภาพยุโรป ค่าเงินบาทจะแข็งค่าขึ้น 0.41% เมื่อเทียบกับวันก่อนหน้า และเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าค่าเงินบาทจะแข็งค่าขึ้น 0.0.26%
ขณะที่เมื่อเทียบกับค่าเงินเยน ค่าเงินบาทจะแข็งค่าขึ้น 0.48% เมื่อเทียบกับวันก่อน หน้า และแข็งค่าขึ้น 3.31% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|