Free Agent Nation


นิตยสารผู้จัดการ( เมษายน 2545)



กลับสู่หน้าหลัก

เกี่ยวกับผู้แต่ง

Daniel H. Pink อดีตนักเขียนคำปราศรัยประจำทำเนียบขาว ปัจจุบันเป็นบรรณาธิการคนหนึ่งของนิตยสาร "Fast Company" เขาเขียนบทความเกี่ยวกับเทคโนโลยีและพัฒนาการใหม่ๆ ในโลกของการทำงานและธุรกิจ ให้แก่ New York Times, Washington Post, New Republic และ Salon

สารบาญ

ตอนที่ 1 - เมื่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ ถูกขับเคลื่อนด้วยผู้ประกอบอาชีพอิสระ
- อวสาน "มนุษย์องค์กร"
- คนทำอาชีพอิสระมีมากแค่ไหน

ตอนที่ 2 - วิถีแห่งอาชีพอิสระ
- จริยธรรมการทำงานใหม่
- มารยาทการทำงานใหม่
- เวลาทำงานใหม่

ตอนที่ 3 - ทำไมอาชีพอิสระจึงขยายตัว และคนทำอาชีพอิสระมีวิธีการทำงานอย่างไร
- กลุ่มเล็กๆ แต่ทรงพลัง
- โครงสร้างพื้นฐานของอาชีพอิสระ
- คนกลาง ผู้จัดการส่วนตัว และ
ที่ปรึกษา

ตอนที่ 4 - อนาคตของผู้ประกอบอาชีพอิสระ
- การกลับมาของผู้เกษียณอายุ
- หุ้นของผู้ประกอบอาชีพอิสระ


เศรษฐกิจยุคอาชีพอิสระ

น ำ เ รื่ อ ง

ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา โลกแห่งการทำงานของคนอเมริกันกำลังก้าวเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญที่สุด นับตั้งแต่คนอเมริกันละทิ้งไร่นามุ่งหน้าสู่โรงงานเมื่อร้อยปีก่อน ขณะนี้คนอเมริกันนับเป็นล้านๆ คนกำลังหันหลังให้แก่มรดกที่คงทนถาวรที่สุดอย่างหนึ่งที่ตกทอดมาจากยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม นั่นคือ "การเป็นลูกจ้าง" แล้วหันมายึด "อาชีพอิสระ" (free agent) ซึ่งได้แก่ ผู้ที่ทำงานเป็นนายตนเองโดยพึ่งพาความรู้ความชำนาญของตัวเอง เจ้าของกิจการซึ่งทำธุรกิจอยู่กับบ้าน ลูกจ้างชั่วคราว ผู้ที่รับงานอิสระในลักษณะต่างๆ และทำงานตามลำพังอย่างเช่น freelancer หรือผู้รับเหมา Daniel H. Pink ผู้ประพันธ์ใช้เวลาถึง 1 ปีเต็มท่องไปทั่วประเทศสหรัฐฯ เพื่อพูดคุยกับบรรดาผู้ประกอบอาชีพอิสระนับร้อยๆ คน สิ่งที่เขาเขียนใน Free Agent Nation แสดงให้เราเห็นว่า การเกิดขึ้นและขยายตัวของอาชีพอิสระ กำลังส่งผลต่อสถาบันต่างๆ ของสหรัฐฯ ทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมอย่างไรบ้าง ดังนั้นไม่ว่าคุณจะเป็นผู้จัดการ เจ้าของธุรกิจ หรือกำลังคิดจะเริ่มประกอบอาชีพอิสระ คุณอาจต้องการที่จะทำความเข้าใจกับลักษณะของประชากรเศรษฐกิจกลุ่มใหม่อันทรงพลังนี้ และอิทธิพลที่พวกเขามีต่อบริษัทและอุตสาหกรรมที่คุณกำลังทำงานอยู่

ตอนที่ 1
เมื่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ
ขับเคลื่อนไปด้วยอาชีพอิสระ

อ ว ส า น
" ม นุ ษ ย์ อ ง ค์ ก ร"

เป็นเวลาหลายชั่วอายุคนมาแล้ว ที่เศรษฐกิจของสหรัฐฯ ขับเคลื่อนไปข้างหน้าด้วย "มนุษย์องค์กร" (Organization Man) ซึ่งเป็นคำที่ได้มาจากชื่อหนังสือปี 1956 ที่เขียนโดย William H. Whyte, Jr. "มนุษย์องค์กร" คือสัญลักษณ์ของการทำงานในสหรัฐฯ มาช้านาน มนุษย์องค์กร คือคน (มักหมายถึงผู้ชาย) ที่ยอมสละความเป็นตัวของตัวเองและเป้าหมายของตนเพื่อรับใช้องค์กร แลกกับรางวัลคือเช็คเงินเดือน และที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้นคือ ความมั่นคงในงานที่องค์กรมอบให้แลกกับการที่เขาปฏิเสธตัวเอง

ทว่านับตั้งแต่ต้นทศวรรษ 1980 เป็นต้นมา สภาพการณ์ของเศรษฐกิจอเมริกันและทัศนคติหลายอย่างของคนอเมริกันได้เริ่มเปลี่ยนแปลงไป และเปลี่ยนแปลงอย่างถึงที่สุดในช่วงทศวรรษ 1990 บริษัทซึ่งนับเป็นสถาบันพื้นฐานสำคัญที่สุดที่รองรับการทำงานเป็นลูกจ้างของคนอเมริกัน เช่น องค์กรยักษ์ใหญ่อย่าง Bell Telephone และ Kodak ได้เริ่มปลดพนักงาน อันเป็นผลกระทบมาจากการกระตุ้นเศรษฐกิจ การปรับโครงสร้างบริษัท และความก้าวหน้าของเทคโนโลยีซึ่งเข้ามาทำงานแทนมนุษย์ด้วยค่าใช้จ่ายที่ต่ำกว่า ผลก็คือ ความมั่นคงในงานได้ถึงกาลล่มสลายลง พร้อมๆ กับการปิดฉากลงของมนุษย์องค์กร ซึ่งนับแต่นี้มีแต่จะถูกผลักไสให้เข้าไปอยู่ในหน้าประวัติศาสตร์มากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ

กำเนิดมนุษย์ไร้สังกัด

สิ่งที่มาแทนที่มนุษย์องค์กรในสหรัฐฯ ก็คือผู้ประกอบอาชีพอิสระ ซึ่งได้แก่คนทำงานอิสระที่ทำงานตามเงื่อนไขที่เขาเป็นผู้กำหนดเอง โดยไม่ถูกล่ามติดกับองค์กร พวกเขารับใช้ลูกค้ามากหน้าหลายตาแทนที่จะรับใช้นายคนเดียว นายจ้างเอกชนที่จ้างงานมากที่สุดในสหรัฐฯ หาใช่ General Motors, Ford, Microsoft หรือบริษัทยักษ์ใหญ่ ทั้งหลายที่เรารู้จักกันดีแต่อย่างใด หากแต่เป็น Milwaukee's Manpower Inc. สำนักงานจัดหางานซึ่งมีสำนักงานมากกว่า 1,100 แห่งทั่วทั้งสหรัฐฯ

ผู้ประกอบอาชีพอิสระกำลังเริ่มเปลี่ยนแปลงความคิดความเชื่อที่สำคัญๆ หลายอย่างที่คนอเมริกันมีต่อชีวิตและงาน อันได้แก่

- ความภักดีตายแล้ว เมื่อองค์กรไม่สามารถมอบความมั่นคงในงานให้แก่พนักงาน ได้อีกต่อไป ความภักดีต่อองค์กรก็ย่อมตายไปด้วย แต่ความจริงแล้ว ความภักดียังคงอยู่ แต่มีลักษณะที่แตกต่างไปจากเดิมที่เราคุ้นเคย ไม่ใช่ความภักดีที่คนมีต่อองค์กร ซึ่งเป็นความสัมพันธ์แบบผู้ที่อยู่ต่ำกว่ากับผู้ที่อยู่สูงกว่า แต่ผู้ประกอบอาชีพอิสระมอบความภักดี และซื่อสัตย์ต่อผู้ที่อยู่ในฐานะเท่าเทียมกัน ได้แก่ ลูกค้า เพื่อนร่วมงาน ทีมงาน รวมถึงงานที่ทำและอุตสาหกรรมที่ตนทำงานอยู่ ดังนั้น นอกจากความภักดีจะไม่ตายแล้ว ในบางกรณียังแข็งแกร่งกว่าเดิมเสียด้วยซ้ำ

- พนักงานหมดที่พึ่งพาเมื่อต้องทำงานโดยไร้หลักประกันความมั่นคงในงาน ยุคแห่งความมั่นคงในงานซึ่งเฟื่องฟูในสมัยมนุษย์องค์กร ได้จบสิ้นลงแล้ว สิ่งที่มาแทนที่ คือ การพึ่งพิงความรู้ความชำนาญของตนเองในการแสวงหาโอกาสใหม่ๆ

- อาชีพอิสระไม่มีความมั่นคง ผู้ประกอบอาชีพอิสระมักจะมีลูกค้าหลายรายมากกว่าเพียงรายเดียว จริงๆ แล้ว พวกเขาน่าจะมีความมั่นคงมากกว่าผู้ที่ยังคงทำงานเป็นลูกจ้างคนอื่น

- พ่อแม่ต้องแบ่งเวลาระหว่างงานกับครอบครัวให้ดี บริษัทและรัฐบาลต่างพยายาม ที่จะปรับเงื่อนไขการทำงานให้ยืดหยุ่นสำหรับพนักงานที่มีครอบครัว แต่ถึงอย่างไรก็ไม่อาจตอบสนองความต้องการในด้านนี้ของพนักงานทุกคน ซึ่งแต่ละคนก็มีเงื่อนไขความจำเป็นที่แตกต่างกันไปได้ ผู้ประกอบอาชีพอิสระได้แก้ไขปัญหานี้ ด้วยการลบเส้นแบ่งระหว่างงานกับครอบครัว เมื่อรวมทั้ง 2 เรื่องเป็นเรื่องเดียวกันแล้ว ก็ไม่ต้องห่วงเรื่องการแบ่งเวลาให้สมดุลอีกต่อไป

- "การกระจายอำนาจ" และ "การรักษาพนักงานให้อยู่กับบริษัท" คือกลยุทธ์การจัดการอันชาญฉลาด แนวคิดนี้ตั้งอยู่บนสมมติฐานว่าองค์กรเป็นผู้ยึดกุมอำนาจเบ็ดเสร็จ แต่ในยุคที่เศรษฐกิจขับเคลื่อนไปด้วยอาชีพอิสระ องค์กรมีความจำเป็นต้องอาศัยผู้ทำอาชีพอิสระ มากกว่าที่คนเหล่านั้นต้องการพึ่งพิงองค์กร การร่วมงานกับองค์กรอาจจะทำให้ผู้ทำงานอิสระรู้สึกประทับใจและท้าทาย แต่องค์กรไม่สามารถจะเป็นผู้ที่ "กระจายอำนาจ" หรือ "รักษา" คนทำงานอิสระให้ผูกติดอยู่กับการรับใช้องค์กรได้อีกต่อไป

- คนทำอาชีพอิสระยิ่งทำให้ปัญหาการอยู่อย่างตัวใครตัวมันของคนในสังคมรุนแรงมากขึ้น ตรงกันข้าม คนทำอาชีพอิสระนี่เอง ที่อาจจะสามารถแก้ปัญหานี้ได้ เพราะพวกเขาคือผู้ที่กำลังสร้างเครือข่ายความสัมพันธ์ทางสังคมและชุมชนอย่างใหม่ให้เกิดขึ้น

ค น ท ำ อ า ชี พ อิ ส ร ะ
มี ม า ก แ ค่ ไ ห น

สำนักงานสถิติแรงงานของสหรัฐฯ (Bureau of Labor Statistics) ยังคงแบ่งแยกแรงงานอเมริกันทั้งหมดออกเป็น 2 ประเภทเท่านั้นคือ แรงงานภาคเกษตรและนอกภาคเกษตร ทางสำนักงานฯ มีการเก็บสถิติของคนอเมริกันที่ทำงานเป็นลูกจ้างชั่วคราว ผู้รับเหมา และคนที่ทำงานคนเดียวไว้บ้างเหมือนกัน แต่ตัวเลขน่าจะต่ำกว่าความเป็นจริงอยู่มาก นอกจากนี้ยังไม่ครบถ้วนอีกด้วย เพราะผู้ที่นับว่าเป็นผู้ประกอบอาชีพอิสระมีอยู่มากมายหลายประเภท

จากประสบการณ์และการค้นคว้าของผู้ประพันธ์ เขาพบว่า การแบ่งประเภทผู้ประกอบอาชีพอิสระนั้นทำได้ยาก อย่างไรก็ตาม อาจจะสามารถแบ่งได้เป็น 3 ประเภทใหญ่ๆ ดังนี้คือ ผู้ทำงานคนเดียว ลูกจ้างชั่วคราว และเจ้าของธุรกิจขนาดจิ๋ว

ผู้ทำงานคนเดียว

ผู้ประกอบอาชีพอิสระที่พบเห็นได้ทั่วไปมากที่สุดคือคนที่ทำงานคนเดียว (soloist) ได้แก่คนที่ทำงานตามลำพัง จากโครงการหนึ่งไปสู่อีกโครงการหนึ่ง ขายความสามารถในการทำงานของเขา คนทำงานคนเดียวนี้มีชื่อเรียกต่างๆ กัน เช่น freelancer, ผู้รับเหมา, ที่ปรึกษา, พนักงานกึ่งประจำกึ่งอิสระ (permalancer), มือปืนรับจ้าง (hired guns), nomads, 1099ers เป็นต้น

ไม่ว่าพวกเขาจะเป็นที่ปรึกษาธุรกิจ ช่างซ่อมท่อประปา graphic designer หรือคนทำอาชีพอิสระอื่นใดก็ตาม สิ่งที่เรารู้ก็คือ พวกเขามีจำนวนมหาศาล คนทำงานคนเดียวเพิ่มขึ้นจาก 22% ในปี 1998 เป็น 26% ในปี 2000 หรือมีจำนวนทั้งสิ้นประมาณ 33 ล้านคน งานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งชี้ว่า 4 ใน 5 คนที่ทำงานคนเดียวชอบที่จะทำอาชีพอิสระ และคนทำงานคนเดียวที่ทำงานเต็มเวลาจะมีรายได้สูงกว่าผู้ที่ทำงานเป็นลูกจ้างคนอื่น ที่ใช้ความรู้ความชำนาญคล้ายคลึงกัน โดยเฉลี่ยประมาณ 15%

ลูกจ้างชั่วคราว

ถ้าหากคนทำงานคนเดียวคือคนที่เลือกยึดอาชีพอิสระอย่างเต็มใจ ลูกจ้างชั่วคราว (temp) ก็คือคนที่ต้องเลือกทำอาชีพอิสระอย่างจำใจ ผู้ที่ทำงานเป็นลูกจ้างชั่วคราวส่วนใหญ่ต้องการจะเป็นพนักงานประจำมากกว่า แต่ด้วยนโยบายประหยัดรายจ่ายของบริษัท การรักษาผลประโยชน์ของตนเองของบรรดาธุรกิจจัดหางาน และการขาดความรู้ความสามารถของตัวคนที่เป็นลูกจ้างชั่วคราวเอง ทำให้พวกเขาต้องถูกกดอยู่ในขั้นต่ำสุดในโลกแห่งการทำงาน การว่าจ้างลูกจ้างชั่วคราว ซึ่งเคยเป็นเพียงวิธีประหยัดรายจ่ายของบริษัทเฉพาะในยามที่เศรษฐกิจอยู่ในช่วงขาลงเท่านั้น ได้กลายมาเป็นกลยุทธ์ธุรกิจที่บริษัททุกวันนี้นำมาใช้ในระยะยาวไปเสียแล้ว เห็นได้จาก

- ในช่วงครึ่งแรกของทศวรรษ 1990 ธุรกิจจัดหางานชั่วคราวสามารถสร้างงานใหม่ๆ ได้มากกว่าอุตสาหกรรมอื่นใดในสหรัฐฯ

- ในปี 1992 ในแต่ละวันมีคนอเมริกันที่ทำงานชั่วคราวถึงวันละ 415,000 คน ในขณะที่ในปี 1999 ตัวเลขนี้พุ่งสูงขึ้น เป็น 3 ล้านคนต่อวัน หรือเพิ่มขึ้นถึง 600%

- 25 ปีก่อน ธุรกิจจัดหาลูกจ้างชั่วคราวมีรายได้น้อยกว่า 1 พันล้านดอลลาร์ แต่ในปี 1990 ตัวเลขนี้พุ่งขึ้นเป็น 20 พันล้านดอลลาร์ และทุกวันนี้ กลายเป็น 80 พันล้านดอลลาร์

เจ้าของธุรกิจขนาดจิ๋ว

สิ่งที่กำลังผุดขึ้นทั่วทุกหัวระแหงในประเทศสหรัฐฯ คือกิจการขนาดจิ๋ว (micro business) ที่เล็กกว่า "ธุรกิจขนาดย่อม" (small business) เพราะบางครั้งประกอบด้วยคนทำงานเพียง 2 หรือ 3 คนเท่านั้น กิจการขนาดจิ๋วเหล่านี้กำลังเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยมากกว่าครึ่งหนึ่งของบริษัททั้งหมดในสหรัฐฯ ทุกวันนี้มีพนักงานน้อยกว่า 5 คน การเติบโตของ Internet มีส่วนสนับสนุนให้ธุรกิจขนาดจิ๋วขยายตัว การที่อุปสรรคของการเริ่มต้นธุรกิจลดน้อยลง การเกิดขึ้นของเครือข่ายข้อมูลข่าวสารที่แข็งแกร่งที่ทำให้สามารถเข้าถึงข้อมูลได้ในราคาไม่แพง และการมีแหล่งเงินทุนที่กว้างขวางขึ้น ทำให้การเริ่มต้นธุรกิจในปัจจุบัน ไม่ใช่เรื่องยากเย็นไปกว่าการซื้อบ้านสักหลังหรือการสอบใบขับขี่ นักเศรษฐศาสตร์พบว่า ยิ่งอุตสาหกรรมใดนำเทคโนโลยีข้อมูลข่าวสารมาใช้มากเท่าไร ขนาดของบริษัทต่างๆ ที่อยู่ภายในอุตสาหกรรมนั้นก็จะยิ่งมีขนาดเล็กลงเท่านั้น

ต อ น ที่ 2
วิถีแห่งอาชีพอิสระ

จริยธรรมการทำงานใหม่

บริษัทไม่สามารถสนองตอบความต้องการของพนักงาน ที่ต้องการให้การทำงานมีความหมายมากกว่าการหาเงิน สิ่งที่พวกเขาต้องการคืองานที่ทำให้พวกเขาสามารถบรรลุศักยภาพสูงสุดของตัวเอง อาชีพอิสระสามารถสนองตอบความต้องการตรงนี้ได้ดี จริยธรรมการทำงานใหม่ ทำให้ผู้ยึดอาชีพอิสระค้นพบคุณค่าความหมายในการทำงาน จริยธรรมใหม่ดังกล่าว มี 4 ประการคือ ความมีอิสระ ความจริงใจต่องาน ความรับผิดชอบ และการกำหนดนิยามความสำเร็จในแบบของตัวเอง

ความมีอิสระ

หมายถึงความสามารถในการทำตามที่ตนปรารถนา ได้กลายเป็นสิ่งที่สำคัญสำหรับการแสวงหาความหมายในการทำงาน บริษัทมีปฏิกิริยาต่อความต้องการความมีอิสระในการทำงานของพนักงานต่างๆ กันไป บางบริษัทให้อิสระแก่พนักงานมาก ถึงขั้นเอาอกเอาใจ บางบริษัทพยายามซื้อความมีอิสระของพนักงานด้วยการเอาหุ้นมา ล่อใจพนักงาน และยังมีอีกหลายบริษัทที่ไม่สนใจความต้องการมีอิสระของพนักงานเลย และยังคงติดตามตรวจสอบการใช้อีเมลของพนักงานอยู่เสมอ อาจกล่าวได้ว่า บริษัท ไม่ว่าจะใหญ่โตหรือไฮเทคแค่ไหน ก็ไม่สามารถรองรับความต้องการมีอิสระของพนักงาน ได้อย่างเหมาะสม ในขณะที่อาชีพอิสระสามารถสนองตอบความต้องการส่วนนี้ได้ดี

ความจริงใจต่องาน

สำหรับการทำงานในบริษัททั่วๆ ไป ความจริงใจต่องานไม่ได้รับการยอมรับหรือให้รางวัลใดๆ พนักงานหลายคนรู้สึกว่า พวกเขาจำเป็นยอมรับเวลาทำงานแบบ 9 โมงเช้าถึง 5 โมงเย็น ก็เพียงเพราะต้องการก้าวหน้าในหน้าที่การงานในบริษัทเท่านั้น ในขณะที่ผู้ประกอบอาชีพอิสระทำงานด้วยความรักในงาน และเห็นว่า งานเป็นส่วนหนึ่งของตัวตนที่เขาเป็น

ความรับผิดชอบ

คนส่วนใหญ่ต้องการรับผิดชอบงานที่พวกเขาทำ พวกเขายินดีจะรับทั้งรางวัลเมื่อทำงานได้สำเร็จและโทษเมื่อทำงานล้มเหลว แต่สำหรับพนักงานบริษัทธรรมดาๆ คนหนึ่ง เขาจะถูกดุว่าเพียงเล็ก น้อยเท่านั้นเมื่อทำผิด และเมื่อมีผลงานก็ไม่ได้รับการยกย่องชื่นชมเท่าที่ควร เพราะเขาเป็นเพียงส่วนหนึ่งของระบบเท่านั้น ทำให้เขาไม่สามารถจะรู้ได้เลยว่า เขาทำงานได้ดีแค่ไหนหรือยังบกพร่องอย่างไร แต่สำหรับคนที่ทำงานอิสระ พวกเขารับผิดชอบโดยตรงต่อลูกค้า และรู้ได้ทันทีว่าลูกค้าชื่นชมหรือยังไม่พึงใจในผลงานของพวกเขา

นิยามความสำเร็จตามแบบของตนเอง

คนทำงานอิสระกำลังกำหนดนิยาม แห่งความสำเร็จและองค์ประกอบของความ สำเร็จในแบบของตนเอง ซึ่งไม่เกี่ยวกับเงิน หรือการเลื่อนตำแหน่ง พวกเขามักจะวัดความสำเร็จจากการเติบโต และความสุข ที่ได้ตื่นขึ้นมาเพื่อทำงานที่เขารักและต้อง การทำจริงๆ

ม า ร ย า ท ก า ร ท ำ ง า น ใ ห ม่

ในสังคมการทำงานแบบเก่า องค์กรมอบความมั่นคงในงานให้แก่พนักงาน และได้รับผลตอบแทนคือความภักดีของพนักงาน แต่ในศตวรรษที่ 21 นี้ ผู้ประกอบอาชีพอิสระกำลังให้นิยามใหม่แก่ความมั่นคงในงานและความภักดี

ความมั่นคงในงาน

เป็นเวลาหลายปีที่คนอเมริกันไม่เคยเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตการทำงานเลย พวกเขามีรูปแบบการทำงานเพียงแบบเดียวคือ เข้าเป็นพนักงานของบริษัทแห่งหนึ่ง แล้วทุ่มลงทุนความรู้ความสามารถที่มีอยู่ทั้งหมดลงใน 'หุ้น' เพียงตัวเดียว แต่ในวันนี้ การทำเช่นนั้นเป็นสิ่งที่ไม่สมเหตุสมผล เหมือนกับการนำเงินทั้งหมดไปลงทุนซื้อหุ้นเพียงตัวเดียว ผู้ประกอบอาชีพอิสระจะกระจายความเสี่ยง ด้วยการมีลูกค้าหลายราย และสร้างความมั่นคงในงานด้วยการพึ่งพาความรู้ความชำนาญของตนอย่างแท้จริง ไม่ใช่ขึ้นอยู่กับอารมณ์ของเจ้านายที่ไม่มีความแน่นอน

ความภักดี

เมื่อองค์กรไม่สามารถมอบความมั่นคงในงานแก่พนักงานได้ ความภักดีต่อองค์กรก็ล่มสลายไปด้วย ในโลกของมนุษย์องค์กร ความภักดีเป็นความสัมพันธ์แบบล่างขึ้นบนจากผู้ใต้บังคับบัญชาขึ้นไปสู่องค์กร ซึ่งจะให้รางวัลกลับคืนเป็นผลประโยชน์แก่พนักงาน เมื่อองค์กรไม่สามารถมอบความมั่นคงให้แก่พนักงานได้อีกต่อไป ความภักดีต่อองค์กรก็กลายเป็นการกระทำที่ให้เปล่าโดยไม่ได้รับการตอบแทน กระทั่งอาจถูกมองว่าเป็นการกระทำที่โง่เขลาเสียด้วยซ้ำ ความภักดีจากผู้ที่อยู่ในฐานะต่ำกว่าต่อผู้ที่อยู่ในฐานะสูงกว่าแบบดั้งเดิม กำลังถูกแทนที่ด้วยความภักดีต่อผู้ที่อยู่ในฐานะเท่าเทียมกัน เป็นความภักดีที่มอบให้ทีมงานและเพื่อนร่วมงาน อุตสาหกรรม ลูกค้า ครอบครัวและเพื่อน ในขณะที่ความภักดีแบบล่างขึ้นบนขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์เพียงความสัมพันธ์เดียว ความภักดีที่ขยายไปทางแนวนอนกลับเกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์กับคนหลายคน ซึ่งมีระดับความใกล้ชิดและความยั่งยืนต่างๆ กัน

เ ว ล า ท ำ ง า น ใ ห ม่

ผู้ที่ยึดอาชีพอิสระรู้ดีว่า สิ่งที่พวกเขาขายไม่ใช่แค่ชั่วโมงการทำงาน แต่ พวกเขายังขายความเข้าใจ ความสามารถ ความรู้ความชำนาญ ความคิด ความคิดสร้างสรรค์ และการแก้ปัญหาด้วย ซึ่งเป็นสิ่งที่วัดได้ยาก พวกเขาตระหนักดีว่าสิ่งที่สำคัญในการทำงานแต่ละวัน ไม่ใช่การนั่งอยู่ที่โต๊ะทำงานยาวนานแค่ไหน แต่เป็นการที่สามารถทำงานให้เสร็จสิ้นไปได้มากน้อยแค่ไหนต่างหาก พวกเขาจึงจัดเวลาการทำงานใหม่ในแบบที่เหมาะสมกับตัวเองที่สุด

- เวลาทำงานใน 1 วัน ผู้ทำงานอิสระกำลังกำหนดนิยามใหม่ให้แก่ชั่วโมงทำงานใน 1 วัน การทำงาน 8 ชั่วโมงต่อวันหมายถึงจะทำงานในเวลาไหนของวันก็ได้ให้ครบ 8 ชั่วโมง โดยไม่จำเป็นต้องเป็น 9 โมงเช้าถึง 5 โมงเย็น คุณอาจเริ่มงานตั้งแต่ 6 โมงเช้า และเลิกงานตอน 5 ทุ่ม ตราบใดที่คุณทำครบ 8 ชั่วโมง ถ้าคุณเป็นคนที่สามารถตอบอีเมลของลูกค้าตอน 4 ทุ่มได้จากบ้านของคุณ คุณคือคนทำงานที่มีความคิดเรื่องเวลาทำงานใน 1 วันที่ยืดหยุ่นแตกต่างไปจากมนุษย์องค์กรหรือพนักงานในบริษัททั่วไป

- เวลาทำงานใน 1 สัปดาห์ ผู้ยึดอาชีพอิสระไม่ยึดติดกับเวลาทำงาน 8 ชั่วโมงต่อวัน 5 วันต่อสัปดาห์อย่างการทำงานในบริษัททั่วไป อย่างไรก็ตาม การไม่ยึดติดนี้เป็นการได้อย่างเสียอย่าง แม้ผู้ที่ทำอาชีพอิสระจะสามารถยืดหยุ่นเวลาทำงานได้ เช่น วันนี้อาจจะทำงานเพียงไม่กี่ชั่วโมง แล้วไปชดเชยทำงานให้ยาวขึ้นในวันต่อไป หรือวันอื่นๆ ในสัปดาห์เดียวกัน ขึ้นอยู่กับความจำเป็นเร่งด่วนของงาน หรือความอยากทำงาน แต่เขาก็ต้องสูญเสียเส้นแบ่งที่ชัดเจนของเวลาทำงานและเวลาหยุดงานไป เพราะเขาไม่ได้ทำงาน 5 วันและหยุดงาน 2 วันต่อสัปดาห์อีกต่อไปแล้ว เขาอาจต้องทำงานในวันสุดสัปดาห์เพื่อชดเชยการที่เขาหยุดทำงานในวันธรรมดา หรือเพราะเป็นงานเร่งด่วน

- เวลาทำงานใน 1 ปี ในการทำงานบริษัททั่วไปจะกำหนดวันทำงาน 50 สัปดาห์และพักร้อน 2 สัปดาห์ แต่สำหรับคนทำงานอิสระ เวลาสำหรับการพักร้อนอาจสั้นหรือยาวกว่านี้ก็ได้ขึ้นอยู่ กับพวกเขามีเงินพอจะเดินทางท่องเที่ยวได้บ่อยแค่ไหน และมีความจำเป็นที่จะต้องทำงานมากน้อยแค่ไหน

- การใช้เวลาในชีวิต คนส่วนใหญ่มีการใช้เวลาในชีวิตคล้ายคลึงกัน คือใช้เวลาช่วงแรกของชีวิตกับการศึกษา ตามด้วยการทำงานเป็นเวลายาวนานหลายสิบปี ก่อนจะเกษียณอายุซึ่งจะเป็นช่วงเพียงสั้นๆ แต่คนทำงานอิสระปฏิเสธวิธีการใช้เวลาในชีวิตอย่างตายตัวแบบนี้ พวกเขาจะกำหนดเองว่าจะใช้เวลาทำงาน (ช่วงที่ 2) ยาวนานแค่ไหน พวกเขาอาจจะเกษียณก่อนหรือหลังจากอายุเกษียณก็ได้ ส่วนช่วงเวลาที่ใช้สำหรับการศึกษาอาจไม่ใช่เฉพาะช่วงแรกของชีวิตเท่านั้นก็ได้

ต อ น ที่ 3
ทำไมอาชีพอิสระจึงเติบโตอย่างรวดเร็ว และอาชีพอิสระมีวิธีการทำงานอย่างไร

ในขณะที่นักวิชาการหลายคนท้วงติงว่า ความรู้สึกของการเป็นชุมชนได้สูญหายไปในโลกของธุรกิจ (และส่วนอื่นๆ ในสังคม) แต่ผู้ประกอบอาชีพอิสระกำลังค้นหาวิธีที่จะสร้างชุมชนของพวกเขาเอง ที่มีโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ที่สามารถสนองตอบความต้องการต่างๆ ของพวกเขาโดยเฉพาะ นอกจากนี้ พวกเขายังกำลังสร้างเครือข่ายความสัมพันธ์กับนักวิชาชีพอื่นๆ ที่สามารถจะช่วยให้พวกเขาดำเนินชีวิตและทำงานได้ง่ายขึ้น นี่เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้อาชีพอิสระขยายตัวอยู่ตลอดเวลา ไม่เพียงในแง่ปริมาณของผู้ที่ยึดอาชีพอิสระเท่านั้น แต่ยังหมายถึงในแง่ของการเกิดขึ้นของชุมชนแบบใหม่ด้วย

ก ลุ่ ม เ ล็ ก ๆ แ ต่ ท ร ง พ ลั ง

คนที่ยึดอาชีพอิสระไม่ได้หมายความว่าต้องทำงานอย่างโดดเดี่ยว แม้ว่าพวกเขาจะทำงานคนเดียวก็ตาม ตรงข้ามพวกเขากลับกำลังสร้างชุมชนเล็กๆ ของตนเอง ซึ่งเป็น การรวมตัวของนักวิชาชีพต่างๆ ที่มีทัศนคติเกี่ยวกับการทำงานและลักษณะการทำงานที่คล้ายคลึงกัน ชุมชนนี้จะเป็นกลุ่มที่พวกเขาสามารถมาร่วมมือกัน แสดงความเห็นอกเห็นใจกัน และให้กำลังใจและสนับสนุนซึ่งกันและกัน ชุมชนเล็กๆ เหล่านี้คือกลุ่มระดับรากหญ้าของอาชีพอิสระนั่นเอง

การรวมตัวกันเป็นกลุ่มเล็กๆ กำลังเป็นแนวโน้มที่เกิดขึ้นทั่วไปในสหรัฐฯ มีการรวมกลุ่มของผู้รักหนังสือ ผู้นับถือศาสนาเดียวกัน แม้แต่การรวมกลุ่มของผู้ติดสุรา กลุ่มเหล่านี้กลายเป็นชุมชนเล็กๆ ที่สมาชิกของกลุ่มซึ่งมาจากหลากหลายสาขาอาชีพ สามารถมาพบปะกันเป็นประจำเพื่อพูดคุย สวดมนต์ร่วมกัน หรือเพียงเพื่อระบายปัญหาและได้รับกำลังใจหรือความช่วยเหลือกลับไป ในบรรดากลุ่มเหล่านี้ การรวมกลุ่มของผู้ประกอบ อาชีพอิสระเป็นกลุ่มที่มีอิทธิพลต่อสังคมเศรษฐกิจของสหรัฐฯ มากที่สุด ลักษณะการรวมกลุ่มของผู้ยึดอาชีพอิสระมี 4 ลักษณะดังนี้

- การรวมกลุ่มคล้ายสโมสร (F. A. N. club) เป็นการรวมกลุ่มผู้ประกอบอาชีพอิสระ ซึ่งจะมาพบกันเป็นประจำเพื่อแลกเปลี่ยนคำแนะนำทางธุรกิจและการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เป็นที่ซึ่งพวกเขาสามารถค้นพบลูกค้าและงานที่มีความหมายมากกว่าเงินได้ การรวมกลุ่มกันแสดงว่า พวกเขาได้ก้าวผ่านจากการสนใจแต่ประโยชน์ของตนเอง มาเป็นการไว้วางใจซึ่งกันและกัน เวลานัดพบกันของกลุ่มแบบนี้มักจะไม่ได้กำหนดตายตัว โดยถือตามความสะดวก ถ้าการทำอาชีพอิสระทำให้คุณรู้สึกไม่มั่นใจหรือไม่มั่นคง สโมสรคือเครื่องเตือนให้คุณไม่ลืมว่า การทำงานคนเดียวไม่ได้หมายความว่าคุณจะต้องทำงานอย่างโดดเดี่ยว

- การรวมกลุ่มเหมือนเป็นสหพันธ์ (Confederation) เป็นการรวมกลุ่มผู้ประกอบอาชีพอิสระอย่างไม่เป็นทางการอีกแบบหนึ่ง คนทำงานคนเดียวหรือเจ้าของกิจการขนาดจิ๋ว ซึ่งมาจากหลายสาขาอาชีพ ได้สร้างชุมชนแบบนี้ขึ้นในหลากหลายขนาดและลักษณะ การรวมกลุ่มแบบนี้สามารถเป็นแหล่งระดมสมองในการแก้ปัญหาให้แก่สมาชิก และเมื่อได้รับทางแก้แล้ว สมาชิกแต่ละคนก็จะนำวิธีแก้ปัญหานั้นกลับไปแก้ปัญหาทางธุรกิจของตน การรวมกลุ่มแบบนี้นับเป็นการผสานเอาความมีอิสระในการทำงานของอาชีพอิสระ เข้ากับพลังของการรวมกลุ่มได้อย่างลงตัว

- การรวมกลุ่มของเจ้าของกิจการขนาดจิ๋ว (Entreprenetworks) นี่คือกลุ่มของเจ้าของกิจการขนาดจิ๋ว ซึ่งเสียค่าใช้จ่ายในการเข้าร่วมการประชุมสัมมนาระดมความคิดและวางกลยุทธ์ต่างๆ เป็นกลุ่มที่มีความเป็นทางการมากกว่าแบบสโมสร (และแพงกว่าด้วย) และมีทิศทางที่ชัดเจนในเชิงธุรกิจมากกว่าที่จะเป็นการรวมกลุ่มในเชิงสังคม อาจเปรียบกลุ่มนี้ว่าเป็น 'หอการค้า' ของผู้ประกอบอาชีพอิสระก็ได้

- การรวมกลุ่มของ 'ศิษย์เก่า' บริษัท ภูมิหลังที่เหมือนกันซึ่งโยงสมาชิกของกลุ่มสุดท้ายนี้เข้าด้วยกันคือ การที่พวกเขาเคยเป็นเพื่อนร่วมงานในบริษัทเดียวกันมาก่อน ผู้ทำงานอิสระจะใช้กลุ่มนี้เป็นแหล่งความรู้และสร้างความสัมพันธ์ รวมทั้งติดตามข้อมูลข่าวสารวงในของอุตสาหกรรม การรวมกลุ่มแบบนี้มักจะพบมากในภาคธุรกิจที่มีอัตราการเข้าออกของพนักงานสูง และมีการจ้างงานผู้ประกอบอาชีพอิสระมาก เช่น ภาคเทคโนโลยี

โ ค ร ง ส ร้ า ง พื้ น ฐ า น
ข อ ง อ า ชี พ อิ ส ร ะ

เช่นเดียวกับโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจของประเทศ เช่น ถนนหนทาง โทรศัพท์ ไฟฟ้า พลังงาน ซึ่งจำเป็นต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ผู้ประกอบวิชาชีพอิสระก็จำเป็นต้องมีโครงสร้างพื้นฐาน ที่จะช่วยสนับสนุน 'การพัฒนาเศรษฐกิจ' ของพวกเขาเช่นกัน ผิดกันแต่ว่ารัฐบาลไม่ได้ออกทุนสร้างให้ แต่โครงสร้างพื้นฐานของผู้ประกอบอาชีพอิสระเกิดขึ้นเอง เพื่อสนองตอบความต้องการของบรรดาคนทำอาชีพอิสระ และช่วยให้พวกเขาสามารถทำงานได้ง่ายขึ้น โครงสร้างพื้นฐานสำหรับอาชีพอิสระมี 8 องค์ประกอบหลักดังนี้

- ร้านถ่ายเอกสารและพิมพ์เอกสารสี ร้านถ่ายเอกสารอย่างเช่น Kinko's (ดูในล้อมกรอบ) ให้บริการที่มีความสำคัญต่อผู้ประกอบอาชีพอิสระอย่างมาก ผู้ยึดอาชีพอิสระจำนวนมากกล่าวว่า พวกเขานึกภาพไม่ออกเลยจริงๆ ว่าจะทำงานได้อย่างไร ถ้าไม่มีร้านถ่ายเอกสารและร้านพิมพ์เอกสารสี ร้านนี้จึงเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญมากของอาชีพอิสระ

- ร้านกาแฟ อย่างเช่น Starbucks และ Xando Cafes เป็นสถานที่ที่ผู้ยึดอาชีพอิสระสามารถจะนัดพบกันได้ง่ายๆ จึงเป็นที่ที่พวกเขาใช้เครือข่ายความสัมพันธ์ หรือแม้กระทั่งจัดประชุมในร้านเหล่านี้ ร้านกาแฟหลายร้านถึงกับยอมเปลี่ยนรูปแบบการจัดตกแต่งร้านใหม่ ให้สามารถรองรับความต้องการพบปะกันของบรรดาผู้ประกอบอาชีพอิสระได้

- ร้านหนังสือ ร้านหนังสือที่เป็นร้านกาแฟในตัวด้วย มีความได้เปรียบร้านกาแฟแบบ Starbucks เพราะนอกจากผู้ประกอบอาชีพอิสระที่มาใช้บริการจะได้รับความสะดวกสบายของร้านกาแฟแล้ว เขายังสามารถค้นพาความรู้เพิ่มเติมได้อีกด้วย ขณะนี้เชนร้านหนังสือใหญ่ๆ หลายแห่งยินดีที่จะให้ลูกค้าสามารถเลือกหาหนังสือ พร้อมกับจิบมอคคา ลาเต้ ไปด้วยได้ ทำให้ร้านหนังสือใกล้บ้านอย่าง Borders หรือ Barnes & Noble กลายเป็นแหล่งค้นคว้าหาข้อมูลความรู้ของผู้ประกอบอาชีพอิสระ

- ห้องทำงานให้เช่า เป็นธุรกิจให้เช่าห้องทำงานส่วนตัวแก่เจ้าของกิจการขนาดจิ๋ว ที่ต้องการสถานที่ทำงานที่สะดวกสบายกว่าที่บ้าน ธุรกิจนี้มีบริการส่วนต้อนรับลูกค้า ห้องประชุม การส่งไปรษณีย์ และบริการธุรการด้วย

- อินเทอร์เน็ต ทำให้ผู้ประกอบอาชีพอิสระสามารถเข้าถึงซอฟต์แวร์ใช้งานเวอร์ชั่นล่าสุด บริการแฟกซ์ฟรี บริการรับฝากข้อความฟรี โปรแกรมปฏิทินฟรี และหน้าร้านอิเล็กทรอนิกส์ฟรี

- ร้านซูเปอร์สโตร์วัสดุสำนักงาน เชนร้านซูเปอร์สโตร์ระดับชาติอย่าง Staples และ Office Max ทำให้คนทำงานอิสระและเจ้าของกิจการขนาดจิ๋ว สามารถซื้อวัสดุสำนักงานได้อย่างง่ายดายในราคาที่ยุติธรรม ทั้งนี้ผู้ที่ทำงานอิสระหรือทำงานที่บ้าน มีโอกาสที่จะเป็นลูกค้าเชนร้านขายวัสดุสำนักงานเหล่านี้ มากกว่าคนทั่วไปถึง 41%

- ศูนย์บริการไปรษณีย์ บริษัทอย่าง Mail Boxes ให้บริการเช่าตู้ไปรษณีย์ และการบรรจุไปรษณียภัณฑ์ นอกจากนี้ ยังจัดบริการธุรกิจและวัสดุสำนักงานบางอย่างไว้ให้ด้วย

- บริการส่งพัสดุภัณฑ์ตอนกลางคืน ของ Federal Express ช่วยให้ผู้ประกอบอาชีพอิสระสามารถส่งสินค้าของตนได้อย่างรวดเร็ว ไม่แพ้บริษัทยักษ์ใหญ่ FedEx มีลูกค้าที่ประกอบอาชีพอิสระถึงเกือบ 1 ล้านคน

ค น ก ล า ง ผู้ จั ด ก า ร ส่ ว น ตั ว แ ล ะ ที่ ป รึ ก ษ า

เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนไปด้วยอาชีพอิสระแตกต่างจากเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนไปด้วยมนุษย์องค์กร 2 ประการ
ประการแรก เมื่ออำนาจได้เปลี่ยนมือจากองค์กรมาสู่คนทำอาชีพอิสระ ความรู้ความชำนาญกลายเป็นทรัพยากรเศรษฐกิจที่สำคัญที่สุดแทนที่เงินทุน
ประการที่สอง การทำงานกลายเป็นแหล่งของการแสวงหาความหมายของชีวิต ซึ่งทำให้งานอาชีพมีลักษณะเหมือนการไต่เขา ซึ่งมียอดสูงมากมายให้พิชิตและอันตรายมากมายต้องเผชิญ เป็นการขับรถเองซึ่งจะต้องรู้ทิศทางที่จะไป มิใช่เพียงแค่เป็นผู้โดยสาร

ความแตกต่างทั้ง 2 ประการนี้เปิดโอกาสให้เกิดธุรกิจชนิดพิเศษ ซึ่งเปรียบเสมือนตัวหล่อลื่นให้วงล้อของเศรษฐกิจยุคอาชีพอิสระ สามารถเคลื่อนหมุนไปข้าง หน้าได้อย่างราบรื่น ธุรกิจเหล่านี้ช่วยให้ผู้ประกอบอาชีพอิสระสามารถค้นพบงาน และสามารถพัฒนาตัวเองได้ ธุรกิจพิเศษที่ว่าได้แก่

- คนกลาง (matchmaker) ธุรกิจนี้ ซึ่งพัฒนามาจากธุรกิจจัดหางาน นำลูกค้าที่ต้องการมองหาคนทำงานอิสระกับคนทำงานอิสระที่กำลังหางานให้มาพบกัน

- ผู้จัดการส่วนตัว (agent) เช่นเดียวกับผู้จัดการส่วนตัวของดารา นักเขียน และนักกีฬา ผู้จัดการส่วนตัวของผู้ประกอบอาชีพอิสระทำหน้าที่รักษาผลประโยชน์ของผู้ประกอบอาชีพอิสระ เป็นตัวแทนในการเจรจาต่อรองค่าจ้าง และให้คำแนะนำการวางตัวทั้งในด้านส่วนตัวและงานอาชีพ

- ที่ปรึกษา (coach) ธุรกิจนี้เติบโต เพราะช่วยให้ผู้ประกอบอาชีพอิสระสามารถตอบคำถามพื้นฐานเกี่ยวกับชีวิตได้ ที่ปรึกษาไม่เคยมีตัวตนมาก่อนในยุคของมนุษย์องค์กร เพราะมนุษย์องค์กรภาคภูมิใจ ในความสามารถของตัวเองที่สามารถทำตัวเข้ากับเจ้านายของพวกเขาได้ดี ซึ่งก็เพียงพอแล้วกับการทำงานรับใช้องค์กร โดยไม่จำเป็นต้องพยายามเข้าใจตนเอง แต่ทุกวันนี้ บทบาทของที่ปรึกษาซึ่งให้คำแนะนำ และสั่งสอนกึ่งที่ปรึกษากึ่งพระ ได้ทวีความสำคัญมากยิ่งขึ้น

ต อ น ที่ 4
อนาคตของ
ผู้ประกอบอาชีพอิสระ

อนาคตของผู้ประกอบอาชีพอิสระจะเป็นอย่างไร หากจำนวนของผู้ยึดอาชีพอิสระ ยังคงเติบโตต่อไปเช่นนี้ และมีอิทธิพลต่อตลาดเพิ่มขึ้นตามไปด้วย คุณอาจจะได้เห็นรูปแบบการทำงานใหม่ๆ เกิดขึ้นอย่างมากมายในอนาคตทั้งระยะกลางและระยะยาว ในบรรดาการเปลี่ยนแปลงทั้งหลายที่อาจจะได้เห็นนั้น มีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ 2 ประการ คือ "การกลับมาของผู้เกษียณอายุ" (e-tirement) และ "การเสนอขายหุ้นของผู้ประกอบอาชีพอิสระแก่ประชาชนทั่วไป" (Individual Public Offerings)

ก า ร ก ลั บ ม า ข อ ง
ผู้ เ ก ษี ย ณ อ า ยุ

สาเหตุหนึ่งที่ทำให้เศรษฐกิจของสหรัฐฯ เจริญเติบโตมาโดยตลอดคือจำนวนแรงงานขยายตัวอย่างต่อเนื่อง แต่ภายในปี 2013 แรงงานจะหยุดขยายตัว ทำให้งานล้นคน เมื่อถึงเวลานั้นผู้ที่เกษียณอายุไปแล้วในวัย 60 ถึงมากกว่า 70 จะกลับเข้ามาทำงานใหม่ในฐานะผู้ประกอบอาชีพอิสระ พวกเขาจะสามารถเลือกทำงานที่ชอบ ตามเงื่อนไขการทำงานที่พวกเขาเป็นผู้กำหนดเอง ซึ่งเอื้อต่อการแบ่งเวลาให้แก่ครอบครัวและการพักผ่อน

ผู้ประพันธ์คาดการณ์ว่า เมื่อถึงเวลาที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ ขาดแคลนแรงงานในอีกประมาณ 10 ปีข้างหน้านี้ ประชากรอเมริกันเกษียณอายุจะกลับเข้าสู่โลกแห่งการทำงานอย่างคึกคัก ด้วยเหตุผล 5 ประการ

1. คนอเมริกันมีอายุยืนยาวขึ้นและมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น เมื่อประธานาธิบดี Franklin Roosevelt ลงนามในกฎหมายประกันสังคม ซึ่งกำหนดให้อายุ 65 ปีเป็นอายุเกษียณนั้น อายุขัยโดยเฉลี่ยของประชากรอเมริกันอยู่ที่ 63 ปี มาถึงวันนี้ อายุขัยของคนอเมริกันเพิ่มขึ้นเป็น 76 ปี ทำให้อายุเกษียณ 65 ปี ล้าสมัยไปเสียแล้ว

2. ประชากรอเมริกันสูงอายุมีความพร้อม เต็มอกเต็มใจ และสามารถทำงานได้ ผลการศึกษาชิ้นหนึ่งพบว่า 80% ของประชากรที่เกิดหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 หรือที่เรียกว่ายุค baby boom คิดว่าพวกเขาจะทำงานต่อไปหลังจากเกษียณแล้ว นายจ้างเองก็ยินดีอ้าแขนรับประชากรสูงอายุเหล่านี้ เพราะรัฐบาลเป็นผู้รับผิดชอบสวัสดิการรักษาพยาบาลสำหรับผู้มีอายุ 65 ปีขึ้นไป ตามโครงการ Medicare ทำให้นายจ้างไม่มีภาระต้องจ่ายค่าประกันสุขภาพให้แก่พนักงานสูงอายุเหล่านี้แต่อย่างใด

3. ประชากรอเมริกันสูงอายุต้องการกำหนดเงื่อนไขการทำงานเอง การทำงานรับใช้เจ้านายคนเดียวเป็นเวลายาวนานเกินไป อาจเป็นเรื่องที่ทุกข์ทรมานใจอย่างยิ่ง นี่อาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้จำนวนผู้ยึดอาชีพอิสระที่มีอายุระหว่าง 55-64 ปี มีจำนวนมากกว่าผู้ประกอบอาชีพอิสระที่มีอายุระหว่าง 25-34 ปีถึง 2 เท่าครึ่ง

4. ประชากรยุค baby boom กำลังจะได้รับมรดก การศึกษาของมหา วิทยาลัยชิ้นหนึ่งพบว่า ผู้ที่ได้รับลาภลอย (เช่น ถูกล็อตเตอรี่หรือได้รับมรดก) ที่มีมูลค่า 8,000 ดอลลาร์สหรัฐขึ้นไป มีแนวโน้มที่จะลงทุนเริ่มต้นอาชีพอิสระมากกว่าคนทั่วไป 2 เท่า ในทศวรรษหน้า ประชากรยุค baby boom จะได้รับมรดกมากกว่า 10 ล้านล้านดอลลาร์จากบิดามารดา ทำให้พวกเขามีเงินทุนที่สามารถจะเริ่มต้นอาชีพอิสระได้

5. ประชากรสูงอายุอเมริกันกำลังกระโจนเข้าร่วมวง Internet เชื่อหรือไม่ว่า ประชากรอายุมากกว่า 50 ปี เป็นกลุ่มที่มีอัตราการใช้ Internet เติบโตเร็วที่สุดเป็นอันดับสองในสหรัฐฯ เห็นได้จากการเกิดและเติบโตของบริษัทให้บริการ Internet อย่าง Third Age และ Seniors. com ซึ่งมีสมาชิกเป็นผู้สูงอายุเป็นจำนวนมาก

แม้ว่าผู้เกษียณอายุชาวอเมริกันคงจะไม่กลับเข้าสู่ตลาดแรงงานกันทุกคน แต่คุณสามารถคาดหวังได้เลยว่า จะเห็นผู้สูงอายุนับล้านๆ คน ไม่ยอมอยู่เฉยๆ หลังเกษียณอย่างแน่นอน

หุ้ น ข อ ง
ผู้ ป ร ะ ก อ บ อ า ชี พ อิ ส ร ะ

เมื่ออำนาจยังคงกระจายจากบริษัทมาสู่บุคคล เราก็จะได้เห็นประชา ธิปไตยในการเข้าถึงเงินทุนมากขึ้น โดยในขั้นแรกคือการเพิ่มจำนวนคนที่จะเข้ามาลงทุนในหุ้นและหุ้นกู้ก่อน ซึ่งขั้นตอนนี้ได้ผ่านไปแล้ว ส่วนขั้นต่อไป ซึ่งผู้ประพันธ์คาดว่าจะได้เห็นกันในอีก 2-3 ปีข้างหน้า คือการเพิ่มจำนวนคนที่เป็นผู้ออกหุ้นและหุ้นกู้ของตนเอง ซึ่งรวมถึงบรรดาผู้ประกอบอาชีพอิสระทั้งหลายและเจ้าของกิจการขนาดจิ๋วซึ่งทำงานที่บ้าน คนเหล่านี้จะเดินเข้าสู่ตลาดการเงินโดยตรง เพื่อแสวงหาเงินทุนที่เขาต้องการใช้เริ่มต้น ขยาย และปรับปรุงธุรกิจของเขา

เชื่อหรือไม่ว่าการระดมทุนจากตลาดการเงินโดยบุคคล เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในโลกของร็อคแอนด์โรล David Bowie สามารถระดมทุนได้ 55 ล้านดอลลาร์ในปี 1997 โดยการออกหุ้นกู้ Bowie Bonds อายุ 15 ปี ซึ่งมีลิขสิทธิ์เพลงและอัลบั้มของเขาเป็นหลักประกันหนี้ หุ้นกู้ของ Bowie ให้ผลตอบแทน 7.9% และได้รับการจัดเรต AAA จาก Moody's ผู้ที่ซื้อหุ้นกู้นี้จะได้รับผลตอบแทนที่สม่ำเสมอ ในขณะที่ Bowie ก็ได้รับเงินทุนก้อนโตที่เขาสามารถจะนำไปใช้ลงทุนหรือขยายธุรกิจใหม่

หุ้นกู้ FAN

นักร้องและนักแต่งเพลงหลายคนได้เลียนแบบการระดมทุนแบบ Bowie และเป็นไปได้ว่า คนธรรมดาทั่วไปก็สามารถจะทำเช่นนั้นได้ด้วย บางทีอาจอยู่ในรูปของหุ้นกู้ของผู้ประกอบอาชีพอิสระ (FAN Bonds) ก็ได้ ซึ่งจะเป็นเครื่องมือทางการเงินที่ผู้ประกอบอาชีพอิสระใช้ ในการระดมทุนมาใช้ในธุรกิจของตน หุ้นกู้นี้อาจจะให้อัตราดอกเบี้ยสูงกว่าตราสารหนี้อื่นๆ ที่มีอยู่ในปัจจุบัน ไม่แน่ว่าอีกไม่นานนี้ คุณอาจจะได้เห็นการเสนอขายหุ้นกู้แก่ประชาชนทั่วไป ของบรรดาผู้ประกอบอาชีพอิสระ ส่วนบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ ก็จะทำการประเมินคุณภาพของหุ้นกู้ออกใหม่ของผู้ประกอบอาชีพอิสระ หุ้นกู้ที่ออกโดยปรมาจารย์การตลาดที่มีผลงานความสำเร็จเป็นที่ยอมรับ อาจได้รับ เรต AA ในขณะที่หุ้นกู้ของ graphic designer ที่เพิ่งเรียนจบอาจได้รับเรตเพียง BB ซึ่งแสดงว่ามีความเสี่ยงสูง แต่ผลตอบแทนก็สูงตาม

ประชาธิปไตยในการเข้าถึงเงินทุนนี้อาจจะก้าวหน้าต่อไปจนถึงขั้นที่ผู้ประกอบอาชีพอิสระ สามารถออกหุ้นสามัญเสนอขายต่อประชาชนทั่วไปได้ ซึ่งเป็นการเสนอขายหุ้นของตนต่อสาธารณชนโดยตรง โดยไม่จำเป็นต้องใช้ผู้จัดจำหน่ายหุ้น บริษัทขนาดย่อมได้ทำการระดมทุนโดยการเสนอขายหุ้นในลักษณะนี้อยู่แล้ว และสามารถระดมทุนได้หลายร้อยล้านดอลลาร์ (439 ล้านดอลลาร์ในปี 1998 เพียงปีเดียว) นักมวยอาชีพหลายคนก็กำลังเสนอขายหุ้นแก่นักลงทุน เพื่อระดมทุนมาใช้ในการฝึกซ้อมเก็บตัว โดยผู้ซื้อจะได้รับส่วนแบ่งจากยอดรายได้ของนักมวยนั้นๆ ในระยะเวลาหนึ่งตามที่ตกลงกัน

เมื่ออำนาจกำลังเปลี่ยนมือจากบริษัทมาสู่คนทำงานอิสระ เครื่องมือทางการเงินที่ใช้ระดมทุนที่บริษัทเคยผูกขาด ก็ย่อมสามารถเปลี่ยนมือมาสู่ผู้ประกอบอาชีพอิสระได้เช่นเดียวกัน



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.