กงกฤช หิรัญกิจ หนุ่มใหญ่วัย 42 ปี เพิ่งจัดงานฉลองในโอกาส ที่โรงแรมสีมาธานี
ได้รับใบรับรอง ISO 9002 เมื่อเดือนพฤษภา คม ที่ผ่านมา
กงกฤช เกิดเมื่อวันที่ 8 พ.ค. 2501 เป็นบุตรชายของพ.อ.สมชาย หิรัญกิจ อดีตผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
(ททท.) จบปริญญาตรีเศรษฐศาสตร์ จากรั้วจามจุรีในปี 2522 และปริญญาโท (เกียรตินิยม)
สาขาเดียวกันในปี 2529 จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ชีวิตการทำงานของเขาเริ่มต้นเป็นเจ้าหน้าที่เศรษฐกร สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย
ต่อมาปี 2524 ก็ได้ใช้ชีวิตเป็นข้าราชการแบบเต็มตัว ในตำแหน่งเจ้าหน้าที่วิเคราะห์นโยบาย
และแผน สภาพัฒนาการเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติ ก่อน ที่จะลาออกมาดูแล สถาบันวิชาการโรงแรม
และการท่องเที่ยวนานาชาติ-ไอทิม ที่ตั้งขึ้นเมื่อ ปี 2531
ความจริงแล้ว ในระหว่างทำงานกับสภาพัฒน์ กงกฤชได้รับข้อเสนอทุนศึกษาต่อระดับปริญญาเอก
ที่ประเทศแคนาดา แต่มีเงื่อนไขว่าจบออกมาแล้วต้อง ทำงานใช้ทุนเป็น 3 เท่าของค่าใช้จ่าย
เมื่อชั่งใจดูแล้วว่าหากเดินหน้าเป็นข้าราชการต่อไปหน้าที่การงานคงไม่รุ่ง
และเชื่อว่าคงไม่สามารถทำงานได้เต็มที่นัก เพราะโอกาส ที่ข้าราชการประจำจะถูกครอบงำจากการเมืองมีสูง
จึงปฏิเสธการรับทุน และยื่นใบลาออกเมื่อปี 2530
หลังจากลาออกแล้ว ได้ปรึกษากับครอบครัว และผู้ใหญ่ ที่นับถือในสภาพัฒน์
ประจวบเหมาะกับพ.อ.สมชาย หิรัญกิจ ได้เกษียนราชการจากตำแหน่งผู้ว่าการ ททท.
จึงนำประสบการณ์หน้าที่การงานของพ่อ ที่ได้รับความน่าเชื่อถือจากวงการธุรกิจท่องเที่ยวอยู่แล้ว
มาเปิดโครงการเปิดสถาบันวิชาการโรงแรม และการท่องเที่ยวนานาชาติไอทิม (ITIM)
ITIM จดทะเบียนครั้งแรกปี 2531 วงเงิน 2 ล้านบาท จ้างผู้เชี่ยวชาญด้านการท่องเที่ยวจากสวิตเซอร์แลนด์มาช่วยจัดทำหลักสูตร
ส่วนตัวเขารับผิดชอบดูแลงานด้านธุรการเป็นหลัก เมื่อเปิดสอนแล้ว ปรากฏว่ามีคนสนใจสมัครเรียนเกินเป้า
ต่อมา เมื่อตระกูลหิรัญกิจเปิดโรงแรมสีมาธานี ในปี 2535 โดยจ้างเครือเชอราตันบริหารอยู่ระยะหนึ่ง
และหลังจากเชอราตันได้ถอนตัวออกไป กงกฤชได้เข้ามารับหน้าที่ดูแล กิจการโรงแรมอย่างเต็มตัว
ในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ
เขายอมรับว่าในช่วงเปิดบริการสีมาธานีระยะแรกนั้น ต้องทำงานอย่างหนัก เพราะต้องปรับการทำงานให้เข้าถึงคนในพื้นที่ให้มากที่สุด
ขณะเดียวกันก็ต้องสร้างพฤติกรรมให้คนท้องถิ่นกล้า ที่จะมาใช้บริการโรงแรมให้ได้
โดยเฉพาะในส่วนของห้องอาหาร และจุดบันเทิงประเภทต่างๆ เพราะคนต่างจังหวัดส่วนใหญ่ยังคิดว่าการเข้าไปใช้บริการในโรงแรมต้องใช้เงินค่อนข้างมาก
ยิ่งในห้วงกว่า 3 ปีที่เศรษฐกิจตกอยู่ในสถานการณ์ย่ำแย่ โรงแรมสีมาธานีประสบปัญหาในเรื่องรายได้ไม่ต่างจากผู้ประกอบการรายอื่น
เขาแก้ปัญหาด้วยการบริหารต้นทุน ตามการผันแปรของรายได้ กล้า ที่จะลดค่าการจัดการภายในทุกจุด
ขณะเดียวกันก็ลดค่าบริการใน Outlet ต่างๆ ลง และหันมามุ่งขายปริมาณเป็นหลัก
เพื่อสร้างกระแสเงินสดหมุนเวียนประคองกิจการให้ผ่านพ้นช่วงวิกฤติไปก่อน
อย่างไรก็ตาม ในช่วง ที่กำลังซื้อของตลาดบริการหดตัวอย่างหนักนั้น กงกฤชเล่าว่า
โรงแรมสีมาธานียังถือความได้เปรียบเจ้าของกิจการรายอื่นในภาคอีสานอยู่ไม่น้อย
เพราะเขาได้วางแผนกระจายความเสี่ยงไว้ก่อนหน้าหลายปี โดยไม่มุ่งเน้นการขายไว้
ที่ตลาดหน่วยงานราชการหรือเอกชนเท่านั้น แต่ได้พยายามสร้างฐานตลาดจับลูกค้านักท่องเที่ยวชาวต่างชาติควบคู่มาด้วยกัน
ด้วยการใช้จุดขายของจังหวัดนครราชสีมา และกลุ่มจังหวัดอีสานใต้ ที่โดดเด่นในด้านแหล่งท่องเที่ยวโบราณสถาน
ร่องรอยดั้งเดิมแห่งอารยธรรมขอม ซึ่งตลาดกลุ่มนี้เป็นแหล่งรายได้ ที่เข้ามาทดแทนกำลังซื้อของลูกค้าหน่วยงานราชการที่งดการใช้โรงแรมเป็นสถานที่ประชุมสัมมนา
ขณะที่บริษัทเอกชนเองก็ลดงบประมาณ เพื่อการนี้ไปจำนวนไม่น้อยเช่นกัน
กงกฤชกล่าวว่า เป็นความโชคดีของเขาเช่นกัน ที่ได้มีโอกาสทำงานในหน่วยงานวางแผนเศรษฐกิจของชาติอย่างสภาพัฒน์นานถึง
7 ปี ประสบการณ์ ที่ถูกฝึกให้คิด และทำงานแบบมีการวิเคราะห์วางแผนล่วงหน้านั้น
ทำให้เขานำมาประยุกต์ใช้ในการทำธุรกิจมาโดยตลอด โรงแรมสีมาธานีมีการวางแผน
เพื่อให้ถึงเป้าหมายแต่ละระดับทุกๆ 3 ปี