ดบ.แบงก์เพิ่ม50สต.ปีหน้าธุรกิจโตอีก6%


ผู้จัดการรายวัน(21 ธันวาคม 2547)



กลับสู่หน้าหลัก

เจ้าสัวชาตรี พอใจจีดีพีปี 2548 โต 5-6% เพราะยังมีปัจจัยลบจากราคาน้ำมัน และเหตุการณ์ภาคใต้ ขณะที่ทิศทางดอกเบี้ย อยู่ในช่วงขาขึ้น คาดระยะปานกลาง ธปท. อาจปรับเพิ่มขึ้นอีก 0.50-1.00% เพื่อรักษาอัตราเงินเฟ้อ-เงินทุนไหลเข้า แต่ดอกเบี้ยธนาคารพาณิชย์จะขึ้นไม่เกิน 0.50% เหตุสภาพคล่องยังสูง ด้าน "ชาติศิริ-คุณหญิงชฎา" ชี้ธุรกิจแบงก์ยังเติบโตต่อเนื่องถึง 5-6% แต่การแข่งขันดุเดือด

นายชาตรี โสภณพนิช ประธานกรรมการ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ภาวะเศรษฐกิจของไทยยังคงขยายตัวต่อเนื่อง โดยคาดว่าในปี 2548 จะมีอัตราการขยายตัวประมาณ 5-6% ซึ่งถือเป็นเกณฑ์ที่น่าพอใจ เมื่อเทียบกับประเทศรัสเซียที่มีอัตราการเติบโตประมาณ 7% แต่มีปัจจัยจากการค้าขายน้ำมัน ขณะที่ประเทศไทย เป็นประเทศเกษตรกรรมที่มีรายได้เล็กน้อย ขณะเดียวกันยังได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรงในภาคใต้ และราคาน้ำมันที่สูงขึ้นด้วย

สำหรับทิศทางอัตราดอกเบี้ยนั้น อยู่ในช่วงขาขึ้น โดยอัตราดอกเบี้ยทั่วโลกได้ปรับเพิ่มขึ้นตามการปรับดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟด) ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ปรับดอกเบี้ยขึ้นเพื่อดูแลภาวะเงินเฟ้อและเงินทุนไหลเข้า ในขณะนี้เงินเฟ้อของไทยอยู่ที่ระดับ 2-3% อัตราดอกเบี้ยในระดับ 2-3% เช่นกัน ดังนั้นในระยะปานกลางอัตราดอกเบี้ยของไทยอาจมีการปรับขึ้นบ้างประมาณ 0.5-1%

ขณะที่ในส่วนของธนาคารพาณิชย์ คงจะต้องขึ้นอยู่กับสภาพคล่อง ซึ่งปัจจุบันยังคงมีสภาพคล่องเหลืออยู่ หากยังไม่มีโครงการขนาดใหญ่ที่จะปล่อยสินเชื่อมากนัก อัตราดอกเบี้ยคาดว่ายังคงทรงตัวอยู่ในระดับเดิม หรือหากจะปรับขึ้นก็เป็นการทยอยปรับขึ้นเล็กน้อย คาดว่าไม่น่าจะเกินระดับ 0.5%

ด้านนายชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ กล่าวถึง แนวโน้มธนาคารพาณิชย์ปี 2548 ว่า ธนาคารพาณิชย์จะมีการขยายตัวเติบโตอย่างต่อเนื่อง จากพื้นฐานเศรษฐกิจของประเทศที่โตในระดับ 5-6% โดยการแข่งขันที่เพิ่มสูงขึ้นจะเป็นการผลักดันให้ธุรกิจธนาคารขับเคลื่อนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

"ธนาคารจะใช้จุดแข็งด้านเครือข่ายและความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้าแข่งขันกับแบงก์อื่น รวมถึงการปรับปรุงความสามารถในการให้บริการ เพื่อตอบสนองความต้องการของกลุ่มลูกค้า"

พร้อมกันนี้ ในปีหน้าธุรกิจธนาคารพาณิชย์จะต้องมีการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับกับการเปิดเขตการค้าเสรี (FTA) ปัญหาหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ที่ต้องมีการควบคุมอย่างจริงจัง ส่วนอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกรุงเทพ จะมีการปรับขึ้นหรือไม่นั้น ต้องประเมินสถานการณ์จาก ธปท. เป็นหลัก

ด้านคุณหญิงชฎา วัฒนศิริธรรม กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การที่มูดี้ส์ฯ ปรับเพิ่มเครดิตธนาคารพาณิชย์ 3 แห่ง คือ ธนาคารนครหลวงไทย ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ เป็น การสะท้อนภาวะการเงินและความน่าเชื่อถือซึ่งดูจากความเพียงพอของเงินทุนการสำรองหนี้เสีย เพราะมีการควบคุมความเสี่ยงที่ดี รวมถึงการสร้างรายได้และการมีกำไรมีการเติบโตต่อเนื่อง

"นอกจากความแข็งแรงด้านผลการดำเนินงานแล้ว ธนาคารเองยังมีความแข็งแกร่งด้านทุนด้วย ทำให้ประชาชนทั่วไปมั่นใจได้ว่า ไม่ว่าจะฝากเงินกับธนาคารพาณิชย์แห่งใด หรือขอสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์ไหน ก็จะส่งผลดีทั้งฝ่ายผู้กู้และผู้ให้กู้ รวมถึงจะส่งผลดีต่อธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบด้วย"

คุณหญิงชฎา กล่าวเพิ่มเติมว่า แม้ว่าธนาคารพาณิชย์จะได้รับความไว้วางใจจากสถาบันการจัดอันดับเครดิต ธนาคารพาณิชย์เองจะต้องพิจารณาระบบการทำงานที่มีอยู่ว่าดีพร้อมหรือยัง หากมีข้อบกพร่องก็จะต้องมีการแก้ไขให้มีประสิทธิภาพ เพื่อรองรับการแข่งขัน สำหรับธนาคารไทยพาณิชย์พยายามสร้างในส่วนนี้มาตลอด ทั้งระบบคอมพิวเตอร์ ระบบบริหาร ทรัพยากรบุคคล เพื่อให้การบริการลูกค้าดีและอยู่ในเกณฑ์ที่ลูกค้าพอใจ และสร้างโอกาสการทำธุรกิจต้องว่องไวคล่องแคล่ว

สำหรับภาพรวมธุรกิจธนาคารพาณิชย์ในปี 2548 โดยรวมอยู่ในเกณฑ์ดี แม้ว่าอาจจะไม่ดีมากเท่ากับปีนี้แต่ว่าเครื่องจักรใหญ่ 2 แห่ง คือ สหรัฐฯ และจีน ยังเป็นประเทศที่ต้องจับตามอง ส่วนประเทศไทย การคาดการณ์ยังอยู่ที่การเติบโตร้อยละ 5-6 ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ดี ขณะที่ภาครัฐบาลจะมีการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ การส่งออกยังดี แต่การบริโภคส่วนบุคคลอาจลดลงจากปัจจุบัน และปัจจัยเสี่ยงเรื่องราคาน้ำมัน อัตราเงินเฟ้อแต่คงไม่มีผลกระทบมากและถือว่าอยู่ในเกณฑ์ใช้ได้ ขณะที่ระบบธนาคารพาณิชย์ก็ยังมีโอกาสที่จะเติบโตได้ อย่างน้อยร้อยละ 5-6 เช่นเดียวกับจีดีพี

ส่วนสภาพคล่องระบบนั้น คาดว่าประมาณครึ่งปีหน้าน่าจะลดลงในภาวะปกติ แต่สภาพคล่องนั้นจะมีการเปลี่ยนแปลงเร็วเพราะปัจจัยหลายอย่าง เช่น หากการส่งออกดี มีการไหลเข้าของเงินตราต่างประเทศเช่นเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาก็จะทำให้สภาพคล่องเพิ่มขึ้นอีก ส่วนเรื่องอัตราดอกเบี้ยไม่ใช่เรื่องสภาพคล่องอย่างเดียวแต่ มีการชี้นำจากทางการและคู่แข่งด้วย ถ้าธนาคารใหญ่ขยับดอกเบี้ยขึ้นก็อาจทำให้ธนาคารอื่นขยับตามด้วย

ส่วนการปรับลดสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) นั้น เป็นเรื่องต้องใช้เวลาเพราะสินทรัพย์ที่เหลืออยู่ส่วนใหญ่เป็นสินทรัพย์ที่แก้ไขลำบากต้องขายทอดตลาด สิ่งที่น่าระวังคือ ธนาคารมีการสำรองเพียงพอหรือยังเพื่อไม่ให้กระทบฐานะการเงิน ดังนั้นเอ็นพีแอลอาจยังมีอยู่ และอาจไปอยู่ที่บรรษัทบริหารสินทรัพย์ (บบส.) หากให้สามารถซื้อหนี้จากเอกชนได้ หรืออาจมีการตัดออกจากบัญชีก็อาจทำให้เอ็นพีแอลในระบบแบงก์เหลือน้อย

"ปัจจัยเสี่ยงสำหรับระบบแบงก์ปีหน้า คือเรื่องของราคาน้ำมัน เรื่องอัตราแลกเปลี่ยนหากไม่หวือหวามากก็ทำให้ทุกฝ่ายคาดการณ์ได้ เป็นเรื่องท้าทายธนาคารแห่งประเทศไทยเช่นกันรวมถึงจีนที่ไทยมีการค้ากับจีนมากขึ้น จึงต้องติดตามอย่างใกล้ชิด"

ส่วนประเด็นการเลือกตั้งนั้นจะมีผลให้มีการจับจ่ายใช้สอยมีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบมากขึ้นในต้นปีหน้า และมีความไม่แน่นอนไม่ต่อเนื่องระหว่างการเปลี่ยนผ่านของรัฐบาลไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลที่มีนายกรัฐมนตรีคนเดิมหรือคนใหม่ก็ตาม ระบบราชการก็จะชะงักไปช่วงหนึ่ง ซึ่งต้องระวังไม่ให้เกิดสถานการณ์ดังกล่าว


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.