ความรู้สึกกับการกระทำ

โดย ธีรภาพ วัฒนวิจารณ์
นิตยสารผู้จัดการ( เมษายน 2545)



กลับสู่หน้าหลัก

ผมเชื่อว่าคุณผู้อ่านแต่ละท่านคงเคยมีประสบการณ์เกี่ยวกับความคิด ความกังวลล่วงหน้าในปัญหาด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์แบบส่วนตัวอย่างใกล้ชิด เช่น แฟน หรือเพื่อนสนิท ไปจนถึงคนที่อยู่ห่างออกไป เช่น เพื่อนร่วมงาน หรือเจ้านาย บางครั้งความกังวลหรือการคาดการณ์ล่วงหน้าอาจจะเป็นเรื่องการทำงาน หรือชีวิตประจำวันทั่วๆ ไป ไปจนถึงเรื่องในเชิงธุรกิจการลงทุน หรือกระทั่งการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ไปจนถึงเรื่องเล็กๆ น้อยๆ เช่น การซื้อล็อตเตอรี่ แน่นอนว่าความกังวลหรือการคาดการณ์ล่วงหน้าในเรื่องต่างๆ นั้นเกิดขึ้นบ่อยและตลอดเวลาในชีวิตคนเรา บ่อยจนกระทั่งเมื่อเหตุการณ์นั้นผ่านไป ไม่ว่าจะตรงกับที่เราคิดไว้หรือไม่ก็ตาม เราก็เลิกคิด เลิกสนใจไม่ให้ความสำคัญกับมันและปล่อยมันผ่านไป และเริ่มตั้งต้นคิดใหม่กับเรื่องอื่นๆ ต่อไป

แน่นอนว่าการเลิกคิดถึงสิ่งเหล่านี้ หรือสิ่งที่บางคนเรียกว่าปล่อยวางเป็นเรื่องดีสำหรับคนเรา เพราะหากเราต้องคอยมานั่งคิดว่าทำไมไม่ทำอย่างที่คิดแต่แรก หรือทำไมไม่เป็นอย่างนั้น ทำไมไม่เหมือนอย่างที่เราคิดไว้ เราคงกลายเป็นคนป่วยประเภทวิตกกังวล และใช้ชีวิตอยู่บนกังวลถึงความไม่แน่นอนของชีวิตวันรุ่งขึ้น

แต่หากเราลองมาพิจารณาเรื่องของความคิดคาดการณ์ล่วงหน้า เราก็จะพบสิ่งน่าสนใจบางอย่างที่เรามักจะมองข้ามกันไป คุณผู้อ่านลองฟังคำถามนี้ดูใหม่แล้วพิจารณาว่าเหตุการณ์ที่ผ่านมา คุณเคยมีประสบการณ์แบบนี้ไหม

เคยมีบ้างไหมที่คุณเคยคิดล่วงหน้าเกี่ยวกับการกระทำ หรืองานของคุณในอนาคตว่ามันจะต้องออกมาแย่ หรือแย่เอามากๆ และเมื่อเหตุการณ์มาถึง คุณลงมือกระทำไปแล้ว คุณก็พบว่าผลที่ปรากฏออกมาแย่อย่างที่คิดไว้จริงๆ

หรือตรงกันข้าม ในบางครั้งคุณไม่พร้อมที่จะจัดการกับอะไรบางอย่าง แต่ความรู้สึกในตัวคุณบอกกับตัวคุณว่าต้องลองดู และความคิดของคุณบอกให้คุณสู้ และคิดคาดการณ์ไปว่าถ้าพยายามทำอย่างดีที่สุดแล้ว ผลคงออกมาเสมอตัวหรือดีกว่าที่เป็นอยู่ และเมื่อได้ลงมือกระทำแล้ว ผลก็ปรากฏออกมาว่า คุณสามารถทำได้ดีอย่างที่คุณรู้สึก หรือเรียกได้ว่าดีไม่แพ้ใคร ตัวอย่างแบบนี้เห็นกันได้บ่อยในภาพยนตร์ฮอลลีวู้ดทั้งหลาย โดยเฉพาะภาพยนตร์ประเภทกีฬาที่ฝ่ายพระเอก หรือตัวเอกของเรื่องเป็นนักกีฬาทีมรอง หรือประเภทไร้อันดับ ถูกปรามาสว่ามีดีอะไรจึงอาจหาญมาสู้กับทีมแชมป์ ซึ่งเมื่อชมภาพยนตร์ผ่านไปเราก็จะพบว่าพระเอก หรือทีมรองบ่อนนั้นมีดีตรงที่คนในทีม หรือพระเอกมีกำลังใจและความรู้สึกที่ดีกับทีมตัวเอง และมีความมุ่งมั่นที่จะพิสูจน์ตนเอง จนทำให้สุดท้ายทีมรองบ่อนนั้นก็เอาชนะทีมแกร่งได้ในที่สุด จนเกิดรายการพลิกล็อก หรือแฮปปี้เอนดิ้งในตอนจบให้เห็นกันอยู่บ่อยๆ

บางคนฟังดูแล้วอาจจะบอกว่า นั่นมันภาพยนตร์ชีวิตจริงใครว่าจะเป็นอย่างนั้น จะมีสักกี่คนที่เป็นแบบจูเลีย โรเบิร์ต ในผู้หญิงบานฉ่ำได้

แต่ในทางจิตวิทยาพบว่า ความคิดหรือความคาดหวังนั้นสามารถส่งผลกระทบต่อการแสดงออกของบุคคล และอาจทำให้เราทำสิ่งต่างๆ ออกมาแย่อย่างที่เราคิด ทั้งๆ ที่ไม่น่าจะเกิดขึ้น หรือความเชื่อมั่นว่าจะประสบความสำเร็จสามารถทำให้เราประสบความสำเร็จได้ทั้งๆ ที่พิจารณาจากปัจจัยรอบด้านแล้ว โอกาสที่จะพบกับความสำเร็จนั้นแทบไม่มีให้เห็นเลย

ทำไมความคิดจึงส่งผลต่อความสำเร็จหรือความล้มเหลวของพฤติกรรมคนเราได้ มีตัวอย่างการทดลองที่น่าสนใจชิ้นหนึ่งของนักจิตวิทยาคนหนึ่งใน California เขาทำการทดลองเกี่ยวกับผลของความคิดความเชื่อดังนี้คือ ในปีการศึกษาใหม่ เขากำหนดให้ครูใหญ่เรียกครู 3 คน มาพบที่ห้องพักและบอกกับครูทั้ง 3 คนว่า ครูทั้ง 3 คนเป็นคนที่สอนเก่งมากที่สุด รางวัลที่ครูทั้ง 3 จะได้รับก็คือ จะให้ไปสอนนักเรียนที่ฉลาดมาก หลังจากเวลาผ่าน ไป เมื่อทำการทดสอบวัดผลการเรียนของนักเรียน ปรากฏว่า คะแนนสอบไล่ของนักเรียนทั้ง 3 ห้องดีกว่านักเรียนในห้องอื่นๆ

ซึ่งแท้ที่จริงแล้วครูทั้ง 3 คนไม่ได้มีประวัติว่าสอนเก่งกว่าครูคนอื่นๆ หรือนักเรียนในห้องที่ครูทั้ง 3 ไปสอนนั้น ก็ไม่ได้เก่งกว่านักเรียนห้องอื่นๆ แต่ประการใด โดยนักจิตวิทยาใช้วิธีการสุ่มทั้งครูและนักเรียนเข้ารับการทดสอบ และบอกให้ครูทั้งสามคนเชื่อว่าเขาสอนเก่ง และทำให้ทั้งสามคนเชื่อว่านักเรียนในห้องที่แต่ละคนสอน เป็นเด็กที่ฉลาดกว่าเด็กในห้องอื่นๆ เท่านั้นเอง

ผลการทดลองนี้ชี้ให้เห็นว่า ครูทั้ง 3 มีความเชื่อมั่นรวมทั้งมีความภาคภูมิใจในตนเองว่า เป็นครูที่สอนเก่งมาก ผลของความเชื่อมั่นของครู รวมทั้งมีความรู้สึกที่ดีต่อลูกศิษย์ของตนว่าเป็นเด็กเก่ง เป็นองค์ประกอบสำคัญที่ส่งผลให้คะแนนสอบของเด็กออกมาดีตามความคาดหวัง โดยครูเอาจริงเอาจังและทุ่มเทกับการสอน

จากงานศึกษาชิ้นนี้นักจิตวิทยาสรุปว่า ความคาดหวังต่อตัวเองและความคาดหวังต่อคนอื่น ย่อมส่งผลถึงพฤติกรรมที่แสดงออก กล่าวคือ ถ้าเรามีความคาดหวังในทางลบ พฤติกรรมที่แสดงออกมีแนวโน้มที่จะเป็นลบ ตรงกันข้ามถ้าเรามีความคาดหวังในทางบวก พฤติกรรมที่แสดงออกก็มีแนวโน้มจะเป็นบวก

นอกจากนี้นักจิตวิทยาพบว่า การคาดหวังในแง่บวกเป็นสิ่งที่ฝึกฝนกันได้ นั่นก็คือ ถ้าเราพยายามฝึกให้เป็นคนที่มองโลกในแง่ดีทั้งต่อตนเองและผู้อื่น ผลตามมาก็คือ เราสามารถดึงศักยภาพใน ทางบวกของเราและของผู้อื่นออกมาได้ พร้อมๆ กันนั้นความรู้สึกที่ดีของเราที่มีต่อคนอื่นซึ่งนำไปสู่การปฏิบัติที่ดีกับเขา ก็ย่อมส่งผลให้คนอื่นมีความรู้สึกที่ดีกับเราและมีพฤติกรรมที่ดีตอบสนองกลับมา

การมองโลกในแง่ดี และการมีความคาดหวังหรือความรู้สึกที่ดีต่อคนรอบข้าง ย่อมให้ผลดีกับการดำเนินชีวิตประจำวันของเรา ว่าไปแล้วเรื่องนี้ในแง่พุทธศาสนาของเราก็กล่าวไว้นานแล้วในเรื่องของการคิดดี การพูดดี และการประพฤติดีย่อมก่อให้เกิด ความสงบและความเจริญกับชีวิต



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.