เก็บมาฝากจาก Conde Nast Traveller


นิตยสารผู้จัดการ( เมษายน 2545)



กลับสู่หน้าหลัก

ผมเขียนหนังสือเล่มใหม่มาเล่มหนึ่ง ถือโอกาสแนะนำให้ท่านผู้อ่าน

"ภาพยุทธศาสตร์ใหญ่การศึกษาในต่างประเทศของสังคมไทย จะต้องเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่" นี่คือบทสรุปทางความคิดของหนังสือเล่มนี้ ที่มุ่งมองไปสู่การสร้างบุคลากรที่มีความสามารถ ในการเสริมความสามารถแข่งขันระดับโลกของสังคมไทย

- เราจะต้องสร้างคนที่สามารถทำงานกับชนเผ่าอื่นๆ ในโลกได้ โดยไม่จำกัดพื้นที่ว่าจะอยู่ในประเทศไทย Globalization ในปรากฏการณ์หนึ่งที่สำคัญคือ พื้นที่ โอกาส และการทำงานในประเทศของคนไทยแคบลง

- บุคคลที่จะส่งบุตรหลานไปเรียนต่างประเทศตั้งแต่ระดับมัธยม ควรจะเชื่อมโยงเข้ากับยุทธศาสตร์สร้างคนของสังคม มิใช่เพื่อสร้างโอกาสตนเองมากกว่าคนอื่นๆ ในสังคม หากจะต้องสร้างทรัพยากรบุคคลของสังคมไทย ในกระบวนการสร้างชาติไทย ให้มีความสามารถแข่งขันในระดับโลก เพื่อดำรงในโลกในฐานะสำคัญและคงบุคลิกของตนเอง

เนื้อหาต่อจากนี้ เป็นส่วนหนึ่งในหนังสือเล่มนี้

กระแสชาวเอเชียศึกษาตะวันตกแรงมาก

ภาพที่ชัดเจนเมื่อ 100 กว่าปีที่ผ่านมา กับการรุกเข้ามาของระบบอาณานิคม โดยเฉพาะอังกฤษ ในย่านนี้ ในช่วงรัชกาลที่ 4 มานั้น ในที่สุดระบบเศรษฐกิจสมัยใหม่ของราชสำนักไทยก็เกิดขึ้น เป็นระบบเศรษฐกิจการค้าครั้งแรก พร้อมๆ กับการเข้ามาครอบงำอย่างสิ้นเชิงของบรรดากิจการในระบบอาณานิคม

นี่คือสถานการณ์ครั้งแรกของเมืองไทยที่สำคัญ ก่อให้เกิดการตื่นตัวอย่างสำคัญในการเรียนรู้ตะวันตก หรือระบบอาณานิคมสมัยนั้น รัชกาลที่ 5 ดำริให้พระราชโอรส ข้าราชบริพาร และขุนนาง ไปศึกษาต่อต่างประเทศเป็นระลอกๆ

การศึกษาในตะวันตกครั้งนั้น มีผลหลายประการต่อสังคมไทยที่พัฒนาต่อเนื่องมา ไม่ว่าการดำรงฐานะประเทศอย่างอิสระพอสมควร การพัฒนาประเทศเข้าสู่การผลิตและเศรษฐกิจสมัยใหม่มากขึ้น รวมทั้งการเมือง การปกครอง และการต่างประเทศ

ขณะนั้นประเทศในย่านนี้ ที่อยู่ภายใต้อาณานิคมเป็นเช่นไรในเรื่องนี้ ผมไม่มีข้อมูลแน่ชัด แต่ก็คงคาดไม่ยากว่า มีผู้คนจำนวนไม่น้อยจากประเทศเหล่านั้น หลั่งไหลเข้าศึกษาหาความรู้จากระบบอาณานิคม เพื่อเป็นเครื่องมือของระบบในการปกครองประเทศอาณานิคมต่อไป

ภาพสะท้อนเหล่านี้กำลังหวนกลับมาอีกครั้งหนึ่ง ในศตวรรษ 21 ที่ดูตื่นตาตื่นใจอย่างมากทีเดียว

นั่นคือขบวนอันยิ่งใหญ่ของชาวเอเชีย กำลังเข้าสู่ระบบการศึกษาของตะวันตกอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน

เกาหลีใต้ มีกระแสการตื่นตัวไปศึกษาต่อต่างประเทศกันมากตั้งแต่มัธยม ไม่ว่าเศรษฐกิจของประเทศจะผ่านวิกฤติการณ์มามากเพียง ใด BusinessWeek เดือนสิงหาคม 2544 รายงานว่าตัวเลขการเรียนต่างประเทศเพิ่มขึ้นจากปี 1998 (2541) จากระดับไม่ถึง 70,000 คน ขึ้นสู่ระดับ 200,000 คน ในปี 2000 (2543)

ชาวเกาหลีใต้ระดับชนชั้นกลาง ทุ่มเทเงินทองประมาณ 70% ของรายได้ทั้งหมด เพื่อการศึกษาของบุตรหลานในต่างประเทศ นิตยสารฝรั่งเล่มนี้ เชื่อว่า เป็นแรงบันดาลใจอย่างสูง กับการต้องการเรียนมหาวิทยาลัยที่ดีระดับโลก เพื่อเพิ่มโอกาสที่ดีของพวกเขาในโลกยุคใหม่

ในปี 2000 ชาวเกาหลีใต้ได้ข้ามน้ำข้ามทะเลมาเรียนที่ประเทศออสเตรเลีย ซึ่งถือเป็นระบบการศึกษาแบบตะวันตกเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าประมาณ 20% สำหรับนิวซีแลนด์ ชาวเกาหลีใต้ เป็นกลุ่มคนที่ใหญ่ที่สุดที่สนใจเรียนตั้งแต่ระดับประถมศึกษา

นี่คือประเทศที่เผชิญวิกฤติการณ์จาก Globali-zation อย่างจัง มิตินี้มีความหมายมากกว่าที่กล่าวกันว่าต้องการเข้ามหาวิทยาลัยที่ดีของตะวันตก หากผมเชื่อว่า จิตสำนึกของพวกเขากำลังต่อสู้กับการคุกคามของโลกยุคใหม่ที่เข้มข้นและดุเดือดมากขึ้น

จีนเป็นประเทศที่กระโจนเข้าสู่การศึกษาแบบตะวันตกอย่างรวดเร็ว รุนแรงที่สุดในขณะนี้ ซึ่งสอดคล้องกับสถานการณ์ใหม่ที่กำลังเผชิญหน้ากับระบบใหญ่ของประเทศจีน ไม่ว่าจะเป็นการเข้าเป็นสมาชิกองค์กรการค้าโลก หรือมีโอกาสได้เป็นเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิก จีนส่งนักเรียนเข้าเรียนระดับมัธยมที่นิวซีแลนด์เพิ่มขึ้นหลายร้อยเปอร์เซ็นต์ จนกลายเป็นชนชาติที่มีนักเรียนระดับมัธยมมากที่สุดในประเทศนั้น เป็นครั้งแรกในปี 2000 นี้เอง ส่วนประเทศออสเตรเลีย การเข้าเรียนของชาวจีนก็พุ่งพรวดพราดเพิ่มขึ้นถึง 69% เป็นประมาณ 15,000 คนแล้ว

สำหรับโรงเรียนประจำหรือโรงเรียนที่มิใช่ของรัฐบาลอังกฤษ จำนวนนักเรียนจากจีนก็เพิ่มขึ้นเท่าตัวเช่นเดียวกัน จากประมาณ 500 คนในปี 1999 ทะลุ 1,000 คนในปี 2000 (รายงานของ Independent School Council)

ข้อมูลโดยรวมของผู้ศึกษาในสหราชอาณาจักรในปี 1998 พบว่ามาเลเซียครองอันดับสอง มากถึงเกือบ 20,000 คน ในขณะที่ประเทศอื่นๆ ในเอเชีย รวมๆ กันแล้วมากกว่า 5 หมื่นคน

สำหรับสหรัฐอเมริกา ผมไม่สามารถหาตัวเลขที่ชัดเจน แต่เท่าที่ศึกษา Profile โรงเรียนเอกชนส่วนใหญ่ จะพบว่ารับนักเรียนต่างชาติในระดับเดียวกับอังกฤษประมาณ 10% ของนักเรียนทั้งหมด ในส่วนของความหลากหลายของนักเรียน โรงเรียนในสหรัฐฯ มักจะระบุว่านักเรียนผิวสีโดยเฉลี่ยเกือบๆ 30% โดยในจำนวนนี้จะมีสิ่งที่เขาเรียกว่า Asian/Asian-American ในสัดส่วนที่มากที่สุด หรือประมาณ 1 ใน 3 ของบรรดาผิวสี

ส่วนในแคนาดา เป็นอีกประเทศหนึ่งที่ชาวเอเชียมีสัดส่วนเข้าเรียนตั้งแต่มัธยมมากที่สุด ทั้งนี้ ตัวเลขโรงเรียนชั้นนำ โดยเฉพาะเอกชนในประเทศนี้รับนักเรียนต่างชาติในสัดส่วนที่สูงกว่าประเทศต่างๆ ที่กล่าวมาแล้ว บางโรงเรียนสูงถึง 30% เลยทีเดียว

โดยภาพรวมแล้วทั้งอังกฤษ แคนาดา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ จนถึงสหรัฐอเมริกา นักเรียนจากเอเชียครองที่นั่งนักเรียนต่างชาติมากที่สุด ในอังกฤษมากกว่า 40% ในออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ทุกระดับมีมากกว่า 70% (ในออสเตรเลียเพิ่มขึ้นจาก 110,000 ในปี 1998 มาเป็น 140,000 ในปี 2000) ในสหรัฐฯ และแคนาดา ผมไม่สามารถหาตัวเลขได้แน่นอน แต่เข้าใจว่ามากกว่า 50% มาจากชาวเอเชีย โดยเฉพาะแคนาดาน่าจะมีตัวเลขสูงกว่านี้ เพราะโรงเรียนมัธยมในแคนาดา สัดส่วนรับนักเรียนต่างชาติในจำนวนที่สูงที่สุดประเทศหนึ่งในโลก

ปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นในช่วงไม่ถึง 5 ปีมานี้เอง



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.