ยันขึ้นดบ.ไม่กระทบศก. ธปท.ชี้จีดีพีปีหน้าโต6.5%


ผู้จัดการรายวัน(20 ธันวาคม 2547)



กลับสู่หน้าหลัก

ผู้ว่าฯแบงก์ชาติย้ำการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายไม่กระทบเศรษฐกิจ เหตุประเทศไทยไม่จำเป็นต้องใช้อัตราดอกเบี้ยต่ำเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจอีกต่อไป ชี้ปีนี้ยังโตระดับ 6% ขณะที่ปีหน้าโตระดับ 5.5 - 6.5% ตามที่คาดการณ์ ด้านแบงก์เฉพาะกิจของรัฐรอจังหวะขึ้นอัตราดอกเบี้ย เตรียมพิจารณาต้นปีหน้า แต่คาดปรับไม่มาก

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยถึงกรณีที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายตลาดพันธบัตรซื้อคืนระยะ 14 วัน (อาร์/พี) เป็น 2% ว่า แม้ว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะปรับขึ้นแล้ว แต่ ธปท.ประเมินว่าภาวะเศรษฐกิจไทย ในปี 2547 จะขยายตัวได้ในระดับ 6% ขณะที่ในปี 2548 ประมาณการว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวในอัตรา 5.5-6.5%

"ขณะนี้เศรษฐกิจของไทยไม่จำเป็นต้องใช้อัตราดอกเบี้ยต่ำเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจอีกแล้ว และในระยะต่อไปเศรษฐกิจไทยยังมีแรงขับเคลื่อนต่อไปได้ดี"

ส่วนนโยบายอัตราดอกเบี้ยในอนาคตนั้น ธปท.จะพิจารณาจากการขยายตัวของภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศเป็นหลัก หากเศรษฐกิจไทยยังคงขยายตัวได้ดี ธปท.สามารถขยับอัตราดอกเบี้ยขึ้นได้ เพื่อดูแลด้านเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ แต่หากจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนั้น ธปท.จะดำเนินการอย่างค่อยเป็นค่อยไปเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจที่กำลังขยายตัว

"จังหวะไหนที่ ธปท.เห็นว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทย ก็จะยังไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย เนื่องจากไม่ต้องการให้การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยถูกผลกระทบ แต่ถ้าเป็นช่วงที่ขึ้นแล้วไม่กระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจจะทยอยปรับขึ้น เพราะธปท.ให้ความสำคัญของการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(จีดีพี)" ผู้ว่าการธปท. กล่าว

สำหรับกรณีที่หลายฝ่ายเป็นห่วงว่าการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอาจส่งผลให้มีเงินลงทุนจากต่างประเทศไหลเข้ามาลงทุนภายในประเทศเพิ่มขึ้น และจะก่อให้เกิดภาวะอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทปรับตัวแข็งค่าขึ้นนั้น ผู้ว่าการธปท.กล่าวว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งนี้ ธปท.ได้พิจารณาในหลายปัจจัยแล้ว รวมถึงเรื่องของเงินทุนเคลื่อนย้ายด้วย ซึ่งไม่เป็นห่วงว่าจะทำให้ค่าเงินบาทแข็งขึ้นอีก เนื่องจาก ธปท.ได้เข้าไปดูแลตลาดเงิน และอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทอย่างใกล้ชิดอยู่แล้ว

ในส่วนของธนาคารพาณิชย์นั้น การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยตามการส่งสัญญาณอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นของธปท.จะเกิดขึ้นเมื่อใดนั้น จะต้องเป็นไปตามกลไกตลาด และสภาพคล่องของแต่ละธนาคาร แต่อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาสภาพคล่องในระบบธนาคารพาณิชย์ขณะนี้จะพบว่าจำนวนสภาพคล่องสุทธิในระบบได้ลดลงมาก โดยจากการตรวจสอบของธปท. พบว่า ในปัจจุบันมีสภาพคล่องเหลือไม่ถึง 300,000 ล้านบาท ซึ่งลดลงเป็นจำนวนมากเมื่อเทียบกับ 700,000 ล้านบาทในช่วงก่อนหน้า

ด้านนายขรรค์ ประจวบเหมาะ กรรมการผู้จัดการธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) กล่าวว่า ในปี 2547 นี้ ธนาคารได้ตรึงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของธนาคาร โดยที่ผ่านมายังไม่มีการปรับขึ้นตามการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธปท. เนื่องจากธนาคารพาณิชย์ส่วนใหญ่ยังไม่มีการปรับอัตราดอกเบี้ย แม้ว่า ธปท.จะมีการปรับอัตราดอกเบี้ยถึง 3 ครั้งในรอบปีนี้

อย่างไรก็ตาม ในปี 2548 เชื่อว่าจะมีการปรับขึ้นตามสถานการณ์อัตราดอกเบี้ยตลาดอย่างแน่นอน โดยคาดว่าจะเริ่มพิจารณาความเหมาะสม ประมาณช่วงไตรมาสที่ 1 พาณิชย์ด้วย แต่คงปรับไม่สูงมาก เชื่อว่าตลอดทั้งปีคงขยับขึ้นไม่เกิน 1% และจะขึ้นก็จะปรับทั้ง 2 ขา คือ ทั้งดอกเบี้ยเงินกู้และเงินฝาก ซึ่งธนาคารต้องรอดูทิศทางการปรับอัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ด้วย

ทั้งนี้ การปรับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลอยตัวของธนาคาร จากระดับ 6% เป็น 7% นั้นจะกระทบต่อลูกค้าธนาคารประมาณ 60% ของทั้งหมดจำนวน 800,000 ราย ซึ่งจะทำให้ค่างวดในการผ่อนที่อยู่อาศัยอายุ 20 ปีกับธนาคาร เพิ่มขึ้นประมาณ 500 บาทต่องวด หรือคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 8% ของค่างวด ขณะที่อีก 40% จะไม่ได้รับผลกระทบเพราะใช้อัตราดอกเบี้ยแบบคงที่ตลอดอายุ 3 ปีกับธนาคารอยู่แล้ว ส่วนอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำอายุ 3ปี ของธนาคาร ปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 3.25% ซึ่งถือว่าเป็นอัตราที่ค่อนข้างสูงและมีการจ่ายดอกเบี้ยทุกๆ 6 เดือน

ด้านนายกรพจน์ อัศวินวิจิตร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวว่า ในเรื่องของอัตราดอกเบี้ยนั้นจะต้องดูถึงสถานการณ์โดยรวมเสียก่อน โดยหากมองจากสภาพคล่องของธนาคารที่มีอยู่ประมาณ 6% ของเงินฝากทั้งหมด ถือว่ายังมีเพียงพอที่จะบริหารจัดการได้อยู่จึงจะยังคงตรึงอัตราดอกเบี้ยไว้ในระดับเดิมก่อน แต่ในช่วงต้นปีหน้าประมาณเดือนกุมภาพันธ์ น่าจะได้เห็นความชัดเจนในการพิจารณาปรับอัตราดอกเบี้ยของธนาคาร

"การปรับอัตราดอกเบี้ยนั้น สิ่งที่สำคัญคือสถานการณ์ทางด้านการเมืองหลังเลือกตั้ง ซึ่งหากรัฐบาลยังเป็นชุดเดิมอยู่ ทางออมสินก็สามารถที่จะดำเนินงานได้อย่างต่อเนื่อง และจะสามารถพิจารณาเรื่องอัตราดอกเบี้ยได้ถูกต้อง เพราะในการพิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยตามสถานการณ์ ดอกเบี้ยในตลาดนั้นจะมีผลต่อการลงทุนโดยรวมได้ด้วย"

นายโชติศักดิ์ อาสภวิริยะ กรรมการผู้จัดการธนาคารเพื่อการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย(เอสเอ็มอีแบงก์) เปิดเผยว่าในปี 2547 นี้ เอสเอ็มอีแบงก์ได้พยายามประคองอัตราดอกเบี้ยให้อยู่ในระดับเดิม โดยตลอดทั้งปียังไม่มีการปรับอัตราดอกเบี้ยเลย อย่างไรก็ตาม ในปี 2548 เชื่อว่าจะมีการปรับขึ้นตามสถานการณ์อัตราดอกเบี้ยตลาด โดยคาดว่าจะเริ่มพิจารณาความเหมาะสมประมาณช่วงไตรมาสที่ 1 แต่คงปรับในอัตราไม่มากนักเพราะเชื่อว่าธปท.คงจะไม่ปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นอีกมากนักในปีหน้า

สำหรับเหตุผลที่เอสเอ็มอีแบงก์ไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในช่วงนี้ เป็นเพราะสภาพคล่องมีอยู่ยังถือสามารถจะดำเนินงานบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประกอบกับหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(เอ็นพีแอล)ของธนาคารได้ลดลงจากเดิม 25% ในเดือนกันยายน 2547 เหลือเพียงประมาณ 23%ในเดือนตุลาคม 2547 เท่านั้นจึงทำให้สามารถยังคงรักษาอัตราดอกเบี้ยได้ในระดับเดิมอยู่ และเชื่อว่าสถานการณ์ความไม่สงบต่างๆ อาทิ ความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ สถานการณ์ไข้หวัดนก และการสูงขึ้นของราคาน้ำมันที่เกิดขึ้นในปีนี้จะยุติลงไปไม่ส่งผลกระทบถึงปีหน้าอย่างแน่นอน


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.