|
แบงก์สำรองเกินเกณฑ์34%
ผู้จัดการรายวัน(17 ธันวาคม 2547)
กลับสู่หน้าหลัก
ธปท.คุยฐานะของธนาคารพาณิชย์แข็งแกร่งขึ้นมาก กันสำรองเกินเกณฑ์แบงก์ชาติกว่า 34.4% ทำให้ไม่ต้องกันสำรองเพิ่มเติม พร้อมให้ความมั่นใจปี 48 แบงก์กำไรดีต่อเนื่อง ขณะที่ปัญหาหนี้เอ็นพีแอลยังเป็นปัญหาใหญ่ที่ธปท.ต้องเร่งแก้ไขในปีหน้า แม้สิ้นไตรมาสที่ 3 ลดเหลือเพียง 11.6% ส่วนคลังอนุมัติบง.เอไอจีไฟแนนซ์ และเกียรตินาคิน ยกฐานะเป็นแบงก์ภายใน 1-2 วันนี้
นางธาริษา วัฒนเกส รองผู้ว่าการสายเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงฐานะทางการเงินของธนาคารพาณิชย์ไทย ณ สิ้นไตรมาส 3 ว่า ธนาคารพาณิชย์มีความแข็งแกร่งมากขึ้น โดยอัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์(ROA) ในไตรมาส 3 ปีนี้อยู่ที่ 1.6 เทียบกับไตรมาส 2 อยู่ที่ 1.3 หากเทียบกับไตรมาส 3 ปี 46 อยู่ที่ 0 ขณะที่ผลการดำเนินงานมีกำไรเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก โดยกำไรทั้งระบบอยู่ที่ 27,000 ล้านบาท
โดยเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS) ของธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบอยู่ที่ 12.9% ซึ่งเป็นสัดส่วนที่น่าพอใจเพราะเกินกว่าที่ ธปท.กำหนดไว้ที่ 8.5% ส่วนสินเชื่อในไตรมาส 3 ที่พิจารณาจากงบดุลของธนาคารพาณิชย์จะโตประมาณ 9.5% หรือหากพิจารณาสินเชื่อมีการปรับมูลค่าการสำรองหนี้จัดชั้นแล้วขยายตัว 14.4%
สำหรับผลกำไรที่เพิ่มขึ้นนั้น เกิดจากผลการดำเนินงานที่ปรับตัวดีขึ้น และภาระการกันสำรองของธนาคารพาณิชย์ลดลง ซึ่งจะทำให้ความสามารถในการทำกำไรของธนาคารพาณิชย์ในปี 2548 น่าจะอยู่ในเกณฑ์ที่ดีแม้ว่าเศรษฐกิจจะชะลอตัวก็ตาม แต่ก็ยังอยู่ในระดับที่น่าพอใจ ทั้งในแง่ของการขยายสินเชื่อยังสามารถขยายตัวได้ดี ส่วนภาระในการกันสำรองหนี้มีน้อยลง และในแง่ต้นทุนด้านอื่นๆ ธนาคารพาณิชย์เองได้มีการรัดเข็มขัดมานานแล้ว เชื่อว่ายังจะดำเนินการเช่นนี้ต่อไป
"ขณะนี้ธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบมีการกันสำรองเกินกว่าที่ ธปท. กำหนดถึงร้อยละ 34.4 ทำให้ธนาคารพาณิชย์ไม่มีความจำเป็นที่ต้องกันสำรองเพิ่มเติม และที่ผ่านมาธนาคารพาณิชย์ได้มีการปรับปรุงการบริหารความเสี่ยงและมีระบบการตรวจสอบภายในที่ดีขึ้น"
อย่างไรก็ตาม ธปท.มองว่า ในปี 2548 ธนาคารพาณิชย์จะมีการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้น ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อกำไร เพราะภาวะการแข่งขันที่รุนแรง คืออาจมีการแข่งขันด้านราคา ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความสามารถของแต่ละธนาคาร
นางธาริษา กล่าวต่อถึงตัวเลขหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ณ สิ้นไตรมาสที่ 3 ของปี 2547 ล่าสุดว่าอยู่ที่ 6 แสนกว่าล้านบาท หรือ 11.6% ถือว่าเอ็นพีแอลลดลงไปมาก เห็นได้ว่าเอ็นพีแอลมีคุณภาพดีขึ้น โดยเอ็นพีแอลที่ไหลย้อนกลับ(re-entry) ในไตรมาส 3 อยู่ที่ 19,000 ล้านบาท ลดลงจากไตรมาส 2 ที่ 41,000 ล้านบาท และเอ็นพีแอลที่เกิดใหม่ (New NPL) อยู่ที่ 22,000 ล้านบาท ซึ่งไตรมาส 2 อยู่ที่ 48,000 ล้านบาท สาเหตุที่เอ็นพีแอลมีแนวโน้มลดลง เนื่องจากผู้กู้มีความสามารถชำระหนี้มากขึ้น และธนาคารพาณิชย์มีการบริหารจัดการที่ดีขึ้น และมีความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อ
อย่างไรก็ตาม ธปท.เห็นว่าธนาคารพาณิชย์ต้องเร่งปรับปรุงให้ดีขึ้นในปีหน้า คือปัญหาหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ซึ่งเชื่อว่าการรอร่างกฎหมายแก้ไขให้บรรษัทบริหารสินทรัพย์ (บบส.) จะเป็นเครื่องมือที่ออกมาช่วยลดหนี้เอ็นพีแอลของธนาคารพาณิชย์ได้
นายศุภรัตน์ ควัฒน์กุล ปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานคณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องการยกระดับบริษัทเงินทุน (บง.) และบริษัทเครดิตฟองซิเอร์(บค.) ขึ้นเป็นธนาคารพาณิชย์ เปิดเผยว่า ขณะนี้ทางคณะกรรมการฯ ได้พิจารณาการยกระดับของ บง. 2 แห่ง คือ บง.เอไอจีไฟแนนซ์ และบง.เกียรตินาคิน เรียบร้อยแล้ว ซึ่งคาดว่าจะได้รับการอนุมัติจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังภายใน 1-2 วันนี้อย่างแน่นอน ส่วนรายอื่น ๆ ที่ยื่นขอยกระดับมานั้นกำลังทยอยส่งเรื่องให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังพิจารณาต่อไป
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|