หมู่บ้านสามขา ชุมชนเข้มแข็งด้วยการเรียนรู้

โดย สมศักดิ์ ดำรงสุนทรชัย
นิตยสารผู้จัดการ( เมษายน 2545)



กลับสู่หน้าหลัก

บนเส้นทางที่กันดาร ซึ่งเป็นที่ตั้งของหมู่บ้านขนาด 152 ครอบครัวในตำบลหัวเสือ อำเภอแม่ทะ ชุมชนที่แบกหนี้สินรวมกว่า 18 ล้านบาท กำลังแสวงหาหนทางอยู่รอดใหม่ ด้วยกระบวนการเรียนรู้ ที่อาจจะเป็นตัวอย่างสำหรับชุมชนแห่งอื่นในอนาคต

หากพิจารณาจากบริบททางกายภาพของหมู่บ้านสามขา ซึ่งเป็นที่ราบต่างระดับเชิงเขา ที่แวดล้อมด้วยภูเขาสูงต่ำลดหลั่น และผืนป่าที่บางส่วนยังได้รับการอนุรักษ์ไว้ ชุมชนหมู่บ้านสามขา ก็คงเป็นเพียงหมู่บ้านในชนบทเล็กๆ ที่ไม่ได้มีความพิเศษไปกว่าชุมชนแห่งอื่นๆ อีกทั้งยังอาจจะเป็นชุมชนที่มีความสำคัญน้อยกว่าด้วยซ้ำ เพราะมิได้มีสถานะเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ขึ้นชื่อ หรือแม้แหล่งเพาะปลูกที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจใดๆ

แต่ชุมชนนี้กลับมีความน่าสนใจในระดับที่มูลนิธิไทยคม และมูลนิธิศึกษาพัฒน์ รวมถึงหน่วยงานอื่นๆ ทั้งศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน ภาคเหนือ, ปูนซิเมนต์ ไทย ลำปาง หรือแม้กระทั่ง NECTEC ต่างหยิบยื่นความช่วยเหลือร่วมมือเข้าสู่ชุมชนแห่งนี้อย่างต่อเนื่อง ภายใต้ความมุ่งหมายที่จะทำให้ชุมชนบ้านสามขา เป็นตัวอย่างหนึ่งของการแก้ไขปัญหาระดับรากหญ้า

คงไม่เกินเลยไปนักที่จะกล่าวว่า ผลพวงจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้ชุมชนบ้านสามขาถูกดูดซับให้เป็นส่วนหนึ่งในกระแสบริโภคนิยม ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าชุมชนอื่นๆ ในสังคมไทย และต้องเผชิญกับวิบากกรรมร่วมกัน เมื่อฟองสบู่ที่พองโตในช่วงก่อนหน้านี้ได้แตกออก

"เราเริ่มจัดประชุมสมาชิกในหมู่บ้าน เพื่อหาทางแก้ไขปัญหา เพราะแต่ละครัวเรือนมีหนี้สินท่วมตัว และยังไม่มีวี่แววว่าจะสามารถปลดหนี้สินเหล่านี้ได้" จำนงค์ จันทร์หอม ผู้ใหญ่บ้าน ย้อนอดีตหมาดๆ ของชุมชนให้ฟัง

สภาพโดยทั่วไปของชุมชนบ้านสามขา ก่อนหน้านี้ ดูจะเป็นภาพสะท้อนที่ย่อส่วนสังคมไทยไว้ได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อปรากฏข้อเท็จจริงที่ว่า ชาวหมู่บ้านสามขา ต่างพยายามแสวงหาเครื่องอำนวยความสะดวกทั้งวิทยุ โทรทัศน์ ตู้เย็น รวมถึงรถกระบะ และจักรยานยนต์ ซึ่งล้วนแต่มีเข็มมุ่งไปในทางที่ต้องการแสดงสถานะทางสังคม มากกว่าจะใช้ประโยชน์ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของการผลิต

"เวลานั้น ทุกคนพยายามที่จะมีของฟุ่มเฟือย เหมือนกับการแข่งกัน ถ้าบ้านนี้มีรถมอเตอร์ไซค์ พรุ่งนี้อีกบ้านหนึ่งต้องมีรถกระบะ ซึ่งทั้งหมดเป็นการกู้ยืมเงินคนอื่นมาซื้อทั้งนั้น"

ปัญหาใหญ่ของชุมชนอยู่ที่การกู้ยืมเงินนอกระบบเพื่อมาใช้หนี้สินเดิม ทำให้มูลหนี้ซึ่งแต่เดิมมีอยู่น้อย เริ่มพอกพูนทับถม พร้อมกับภาระดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นเป็นเงา และกลายเป็นมูลหนี้ก้อนใหญ่ในที่สุด โดยจากการสำรวจเมื่อปี 2543 หนี้สินเฉลี่ยต่อครัวเรือนมีมากถึง 122,248 บาท และเป็นหนี้เสียถึง 591,543 บาท

"จากหนี้สินก้อนแรกประมาณ 1 หมื่นบาท ชาวบ้านต้องไปกู้เงินจำนวนมากขึ้นมาจ่ายเงินต้นและดอกเบี้ย เป็นอย่างนี้ไม่มีที่สิ้นสุด กระทั่งบางคนมีหนี้สินรวมกว่าแสนบาท ขณะที่รายได้ที่แท้จริงของชาวบ้านมีเฉลี่ยไม่ถึง 6 พันบาทต่อครอบครัว"

เมื่อปัญหาเริ่มพอกพูนและขยายตัวกว้างขวางขึ้นในปี 2541 แกนนำของชุมชนที่ประกอบด้วยจำนงค์ จันทร์หอม ผู้ใหญ่บ้าน, ชาญ อุทธิยะ และ จสอ.ชัย พร้อมด้วยครูศรีนวล วงศ์ตระกูล จึงคิดริเริ่มที่จะจัดตั้งกลุ่มสัจจะออมทรัพย์ เพื่อเป็นธุรกิจชุมชน โดยมีเงินออมในแต่ละเดือนกว่า 23,000 บาท มีทุนหมุนเวียน 700,000 บาท โดยส่วนหนึ่งของเงินปันผล นำไปเป็นสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลและสมาชิกที่เสียชีวิต

ความร่วมมือร่วมใจของชาวบ้านหมู่บ้านสามขา ในความพยายามที่จะแก้ไขปัญหาหนี้เสียของสมาชิกหมู่บ้าน ส่งผลให้ในปี 2542 สมาชิกของชุมชนได้ร่วมกันตั้งคณะกรรมการเพื่อบริหารจัดการหนี้เสีย โดยสามารถเรียกคืนหนี้เสียได้รวม 102,580 บาท แต่นั่นอาจจะยังห่างไกลจากเป้าหมาย ที่สมาชิกหมู่บ้านคาดหวังไว้ โดยในปี 2543 สมาชิกหมู่บ้านได้ร่วมกันทบทวนวิธีใหม่เพื่อหารูปแบบที่เหมาะสมในการพัฒนาชุมชน โดยจัดกระบวนการเรียนรู้และลงมือปฏิบัติจริง โดยอาศัยการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน

"เราพยายามเริ่มต้นจากการศึกษาประวัติศาสตร์ชุมชนของเราเอง ว่ามีลักษณะความสัมพันธ์ต่อกันอย่างไร มีภูมิประเทศเหมาะสมกับการประกอบกิจกรรมอะไรได้บ้าง เพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐาน ก่อนการวางแผนดำเนินงาน" จสอ.ชัย วงศ์ตระกูล แกนนำของชุมชน เล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟัง

ในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน ครูศรีนวล วงศ์ตระกูล ภรรยาของชัย ซึ่งรับราชการเป็นครูอยู่ในโรงเรียนบ้านสามขา ได้มีโอกาสเข้าร่วมฝึกอบรมในโครงการ Lighthouse ที่ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนภาคเหนือ ซึ่งที่นี่ทำให้เธอได้รับแนวความคิดว่าด้วยการเรียนรู้ใหม่ๆ ตามแนวทาง Constructionism เข้ามา ซึ่งไม่เพียงแต่จะก่อให้เกิดการปรับเปลี่ยนในกระบวนการเรียนการสอนในโรงเรียนบ้านสามขา ที่เธอรับผิดชอบอยู่เท่านั้น หากแต่เธอยังนำเอาความคิดความรู้ที่ได้จากการอบรมดังกล่าว ขยายผลให้สมาชิกชุมชนคนอื่นได้ร่วมรับรู้ด้วย

การประชุมเพื่อวิเคราะห์ปัญหาหนี้เสียของชุมชน ซึ่งดูจะเป็นเรื่องใหญ่ที่สร้างความกังวลใจมาอย่างต่อเนื่องถูกหยิบยกขึ้นมาหารือกัน ภายใต้บรรยากาศที่ไม่แตกต่างจากกระบวนการเรียนรู้ตามแนว Constructionism ที่ส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง (immersion learning) เท่าใดนัก

ชาญ อุทธิยะ แกนนำชุมชนอีกคนหนึ่ง เล่าให้ฟังว่า ในการประชุมสมาชิกหมู่บ้านเพื่อหามูลเหตุของปัญหาหนี้เสีย ทำให้พบว่าชาวบ้านใช้จ่ายเงินไปกับสินค้าฟุ่มเฟือย และกิจกรรมที่ไม่จำเป็นอย่างมากมาย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นหนี้สินจากการบริโภคที่ล้นเกินความจำเป็น ที่ประชุมจึงมีความเห็นที่จะต้องปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต โดยเน้นไปที่การลดละเลิกค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นเหล่านี้เสีย

"เมื่อก่อนเวลาบ้านไหนมีงานบุญ ไม่ว่าจะเป็นงานบวช งานศพ จะต้องจัดหาสุรา หรือบุหรี่มาจ่ายแจก ซึ่งล้วนแต่เป็นรายจ่ายที่ไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์เพิ่มพูนอะไร จึงมีการตกลงกันว่านับจากนี้ เจ้าภาพไม่จำเป็นต้องเสียเงินใช้จ่ายไปกับสิ่งเหล่านี้ ขณะที่ในชีวิตประจำวันชาวบ้านก็เลิกสูบบุหรี่ กินเหล้า ทำให้เริ่มจะมีเงินออมเงินเก็บมากขึ้น" ชาญ อุทธิยะ ซึ่งครั้งหนึ่งก็เสียเงินจำนวนมากไปกับการดื่มกิน แต่วันนี้เขาเป็นหัวแรงสำคัญในการพัฒนาชุมชน กล่าวในอารมณ์ที่อยากย้อนเวลาได้

ขณะเดียวกันโรงเรียน ซึ่งแต่เดิมเป็นเพียงสถานที่ในการให้ความรู้แก่เยาวชน ที่ล้วนแต่เป็นลูกหลานของสมาชิกในชุมชน ก็ปรับเปลี่ยนบทบาท และเพิ่มสถานะของการเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ของชุมชนไปโดยปริยาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อแกนนำชุมชนได้หารือกับ สุชิน เพ็ชรักษ์ หัวหน้าฝ่ายพัฒนาคุณภาพการศึกษาของ กศน.ภาคเหนือ ในฐานะผู้จัดการโครงการ Lighthouse และ Constructionism Lab จังหวัดลำปาง ในการสร้างกระบวนการเรียนรู้ระดับชุมชน ภายใต้กิจกรรมฝึกอบรมและแนะนำการใช้คอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ต ร่วมกับสมาชิกเครือข่ายชุมชนเข้มแข็งติ๊บจ้าง ใน 10 ตำบลของจังหวัดลำปาง ที่ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน ภาคเหนือ ในช่วงต้นปี 2544 ที่ผ่านมา

กิจกรรมร่วมระหว่างชุมชนบ้านสามขา และ Constructionism Lab ดำเนินไปอย่างต่อเนื่องโดยครูและเยาวชน รวมถึงผู้แทนชุมชนต่างมีโอกาสหมุนเวียนเข้าร่วมกิจกรรมของ กศน.ภาคเหนือ ก่อนที่มูลนิธิศึกษาพัฒน์ โดยพารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา จะให้ความสนใจการพัฒนาของหมู่บ้านสามขา ในฐานะที่เป็นกรณีตัวอย่างของ village that learn โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสนับสนุนในกระบวนการแก้ไขปัญหาหนี้เสียของชุมชน และความจำเป็นในการใช้เทคโนโลยี พร้อมกับการรับเป็นธุระในการจัดหาอุปกรณ์ และจัดอบรมเพื่อพัฒนาสมาชิกของชุมชนมาอย่างต่อเนื่อง

ภายใต้เครือข่ายความสัมพันธ์ระหว่าง กศน.ภาคเหนือ และมูลนิธิศึกษาพัฒน์ รวมถึงมูลนิธิไทยคม ส่งผลให้ความช่วยเหลือร่วมมือที่หมู่บ้านสามขาได้รับจากองค์กรภายนอก ดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการฝึกอบรมเยาวชนและผู้แทนชุมชนจากหมู่บ้านสามขา เพื่อเพิ่มทักษะในการใช้คอมพิวเตอร์และการสร้างกระบวนการคิด ผ่านโปรแกรม Micro Worlds และ LEGO-Logo รวมถึงการส่งเจ้าหน้าที่ฝ่ายบัญชีของปูนซิเมนต์ไทย ลำปาง เข้ามาเป็นวิทยากรในการจัดทำระบบบัญชีกองทุนหมู่บ้านและบัญชีครัวเรือนด้วย

กระบวนการสร้างเสริมชุมชนให้เข้มแข็งและเรียนรู้ร่วมกัน อีกประการหนึ่งอยู่ที่การพัฒนาให้เกิดแหล่งบริการสารสนเทศของโรงเรียนและชุมชน โดยนอกจากจะมีสนับสนุนคอมพิวเตอร์ เครื่องพิมพ์ และอุปกรณ์เกี่ยวเนื่องอื่นๆ ในจำนวนที่มากพอจะตั้งเป็นศูนย์คอมพิวเตอร์ของชุมชนที่โรงเรียนบ้านสามขาแล้ว ยังมีการสนับสนุนติดตั้งจานดาวเทียมเพื่อเป็นช่องทางในการติดต่อสื่อสารทางอินเทอร์เน็ต ซึ่งเป็นการข้ามพ้นข้อจำกัดของชุมชนที่เครือข่ายสายโทรศัพท์ยังเข้ามาไม่ถึงอีกด้วย

แม้ว่าชุมชนบ้านสามขาจะได้รับการสนับสนุนจากองค์กรต่างๆ และผู้แทนของชุมชนมีโอกาสจะนำเสนอแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของชุมชน ให้สังคมในวงกว้างได้รับรู้ตามคำเชิญของหน่วยงานมากมาย รวมทั้งการที่ครูจากโรงเรียนบ้านสามขา อย่างครูศรีนวล วงศ์ตระกูล จะมีโอกาสนำเสนอรายละเอียดโครงการวิจัยเพื่อการปฏิรูปการศึกษาทั้งโรงเรียน แต่ดูเหมือนว่าวิบากกรรมของชุมชนหมู่บ้านสามขายังมิได้สิ้นสุดลง โดยเฉพาะในประเด็นว่าด้วยอนาคตของโรงเรียนบ้านสามขา ซึ่งมีจำนวนนักเรียนประมาณ 50 คน

"จริงๆ แล้วความสัมพันธ์ระหว่างโรงเรียนและชุมชนเกิดมีขึ้นนานมาแล้ว เพราะครูใหญ่ของโรงเรียนบ้านสามขาในอดีต ก็ล้วนแต่เป็นสมาชิกของหมู่บ้านและเป็นผู้นำทางความคิด ที่สมาชิกส่วนใหญ่ให้การเคารพ วัด โรงเรียน และชุมชน เป็นเรื่องที่แยกกันไม่ออก ซึ่งในวันนี้เราหวังว่าชุมชนจะมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาของชุมชนมากขึ้นเท่านั้น"

เป็นเพียงเสียงสะท้อนของแกนนำชุมชนบ้านสามขา ซึ่งกำลังกังวลใจเกี่ยวกับการยุบโรงเรียนบ้านสามขา ตามนโยบายของสำนักงานการประถมศึกษาแห่งชาติ ที่มีฐานของสมการในการจัดการศึกษาอยู่ที่จำนวนนักเรียนในแต่ละโรงเรียน ว่ามีมากน้อยเพียงใด และคุ้มค่าต่อการลงทุนในการจัดจ้างครูหรือไม่ โดยมีเกณฑ์ขั้นต่ำของนักเรียนในโรงเรียนอยู่ ที่ 80 คนต่อ 1 โรงเรียน

"การคิดคำนวณตัวเลขจำนวนนักเรียนอย่างที่ทำอยู่ เป็นเรื่องที่แสดงให้เห็นถึงความไม่เข้าใจของหน่วยงานรัฐ จากส่วนกลางต่อสภาพที่เป็นอยู่จริงของพื้นที่ ทำไมไม่คิดว่าสมาชิกของชุมชนกว่า 600 คนได้ร่วมเรียนรู้กับโรงเรียน ความสำคัญของโรงเรียนต่อชุมชนอยู่ตรงนี้มากกว่า" ชาญ อุทธิยะ ย้ำความสัมพันธ์ของโรงเรียนบ้านสามขาที่มีต่อชุมชนแห่งนี้

เรื่องราวมากมายของชุมชนหมู่บ้านสามขา อาจบ่งบอกได้อย่างชัดเจนว่า ชนบทมิใช่ที่อยู่ของคนด้อยปัญญา หากแต่เพียงพวกเขาขาดโอกาสเท่านั้น ซึ่งบทเรียนของหมู่บ้านสามขาอาจเป็นแบบอย่างในการสร้างชุมชนเข้มแข็ง ที่หลายฝ่ายมุ่งหมายอยากให้เกิดขึ้น

แต่สำหรับแกนนำชุมชนหมู่บ้านสามขา พวกเขามิได้ยึดติดกับคำว่าชุมชนเข้มแข็งมากนัก ในทัศนะของพวกเขา สิ่งที่พวกเขากำลังทำเป็นเพียงการรู้จักคิด รู้จักวิเคราะห์ปัญหาเก่า และเรียนรู้เพื่อแสวงหาหนทางในการยืนขึ้นอีกครั้ง ซึ่งนั่นอาจเป็นนิยามที่มีความหมายมากยิ่งขึ้นอีก



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.