ปรับดอกเบี้ยR/P.25%แบงก์พาณิชย์ขึ้นต้นปี


ผู้จัดการรายวัน(16 ธันวาคม 2547)



กลับสู่หน้าหลัก

แบงก์ชาติ ขึ้นดอกเบี้ยอาร์/พีอีก 0.25% เป็น 2% ระบุไม่ได้ขึ้นตามเฟดแต่ต้องการคุมเงินเฟ้อ ชี้หมดยุคดอกเบี้ยต่ำแล้ว ผู้กู้ต้องปรับตัว ดูกำลังตัวเอง เชื่อการปรับขึ้นไม่กระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวม ด้านผู้บริหารแบงก์พาณิชย์ยันไม่ปรับดอกเบี้ยภายในสิ้นปีนี้ แต่จะขึ้นในช่วงครึ่งแรกปีหน้า 3 สลึงถึง 1 บาท ด้านตลาดหุ้นไทยขานรับบวกเพิ่ม 11.10 จุด มูลค่าการซื้อขายเฉียด 2 หมื่นล้าน

นางอัจนา ไวความดี ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ว่า คณะกรรมการมีมติให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยตลาดซื้อคืนพันธบัตร (อาร์/พี) ระยะ 14 วันอีก 0.25% ต่อปี จาก 1.75% ต่อปี เป็น 2.0% ซึ่งเป็นการปรับขึ้นเป็นครั้งที่ 3 ในรอบปีนี้ เนื่องจากคณะกรรมการเห็นว่าอัตราดอกเบี้ยในประเทศควรปรับเข้าสู่ระดับที่สูงขึ้น เพื่อดูแลเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในระยะต่อไป

ประกอบกับเศรษฐกิจไทย 9 เดือนแรกของปีขยายตัวอยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจ เฉลี่ยอยู่ที่ 6.4% ทั้งจากการส่งออก และการใช้จ่ายในประเทศ รวมทั้งการขยายตัวของอัตราเงินเฟ้อล่าสุดในเดือนพฤศจิกายนเริ่มชะลอตัวลง โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ 3.0% แต่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังอยู่ในระดับที่สูง ขณะที่อัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่แท้จริงของไทยติดลบมาประมาณ 2 ปี ตั้งแต่ต้นปี 2546 และขณะนี้อัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่แท้จริง ติดลบอยู่ 2.33%

"การที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.25% เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม ไม่ได้เป็นปัจจัยหลักที่ธปท.ต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยตาม แต่การปรับขึ้นในครั้งนี้บอร์ดกนง.ได้พิจารณาถึงความเหมาะสมที่มีต่อภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศเป็นสำคัญ"

นางอัจนากล่าวว่า การขึ้นดอกเบี้ยอาร์/พีครั้งนี้ คงไม่กระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวม เพราะการขยายตัวของเศรษฐกิจโดยรวมจะเกิดขึ้นได้ต่อเนื่องแม้ดอกเบี้ยจะขยับขึ้น เนื่องจากเศรษฐกิจไทยหมดยุคอัตราดอกเบี้ยต่ำอย่างผิดปกติแล้ว ขณะที่ธนาคารพาณิชย์เองเริ่มมีการปรับดอกเบี้ยเงินฝากระยะยาวบ้างแล้วตั้งแต่การปรับขึ้นดอกเบี้ยอาร์/พีครั้งก่อน แต่ในครั้งนี้คงจะมีผลต่อเนื่องกับสภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์แต่ละแห่ง

"การที่ค่าเงินบาทแข็ง ราคาน้ำมันลดลง จะช่วยลดแรงกดดันที่มีต่อเงินเฟ้อได้ แต่อาจเป็นเพียงภาวะชั่วคราว ดังนั้น ธปท.จึงยึดนโยบายอัตราดอกเบี้ย ในการคุมเงินเฟ้อไว้มากกว่าจะใช้อัตราดอกเบี้ยกระตุ้นเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว เพราะถ้าคุมเงินเฟ้อไม่อยู่ เศรษฐกิจก็จะขยายตัวอย่างยั่งยืนไม่ได้"

ส่วนเสถียรภาพด้านต่างประเทศนั้น ในปีหน้าเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัวลงบ้าง แต่ไม่รุนแรงเหมือนครั้งที่ผ่านมา เนื่องจากราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มลดลง เงินทุนระยะสั้นยังไหลเข้าประเทศอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัดในปีนี้จะเกินดุล และน่าจะเกินดุลอย่างต่อเนื่องไปจนถึงปี 2548 แต่สิ่งที่น่าจับตาดูคือเงินทุนเคลื่อนย้ายที่ไหลเข้ามาลงทุนจากต่างประเทศ ซึ่งธปท.จะติดตามอย่างใกล้ชิดเพื่อดูแลไม่ให้อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทผันผวนเกินไปนัก

ขณะเดียวกัน ในการประชุมครั้งนี้ได้มีการปรับลดสมมติฐานราคาน้ำมันในไตรมาสที่ 4 ใหม่ให้ สอดคล้องกับราคาที่เกิดขึ้นจริง จากก่อนเดิมที่ได้ประมาณไว้ที่ 40 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล เป็น 35 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล

"จากการพิจารณาอัตราแลกเปลี่ยน และการขยายตัวทางเศรษฐกิจตามตัวเลขจริงที่เกิดขึ้นด้วย ทำให้พบว่าในปีนี้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจจะยังอยู่ในระดับเดิมคือ 5.5-6.5% และยังอยู่ในระดับ ดังกล่าวต่อเนื่องไปจนถึงปี 2548 ขณะที่อัตราเงิน เฟ้อทั่วไปช่วงนี้อาจจะขยับลดลง แต่ประมาณการยังคงเป็นตัวเลขเดิมคือ เฉลี่ย 2.5-3% และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 0-1% ในขณะที่เงินเฟ้อทั่วไปปี 48 อยู่ที่ 3-4% และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 1.5-2.5%"

สำหรับประเด็นเรื่องความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจที่ลดลงต่อเนื่องนั้น นางอัจนากล่าวว่า เป็นเรื่องที่หลายฝ่ายกังวล แต่ความเชื่อมั่นกับผลของการใช้จ่ายจริงมีความเกี่ยวเนื่องกันไม่มาก โดยจากการประเมินของ ธปท.พบว่าความเชื่อมั่นมีผลต่อการลดการใช้จ่าย 0.78 และความเชื่อมั่นของนักธุรกิจมีผลต่อการลงทุนที่แท้จริง 0.6

นางธาริษา วัฒนเกส รองผู้ว่าการสายเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธปท. กล่าวว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในครั้งนี้จะส่งผลกระทบกับธนาคารพาณิชย์และผู้กู้หรือไม่นั้น เป็นเรื่องที่ทั้งสองฝ่ายจะต้องปรับตัว ธปท.คงจะไม่แนะนำอะไร ซึ่งผู้ที่ให้กู้จะต้องรู้ว่า ต่อไปนี้อัตราดอกเบี้ยจะไม่อยู่ในระดับต่ำอีกแล้ว ส่วนผู้กู้ก็จะต้องพิจารณาถึงความสามารถในการผ่อนชำระเงินกู้ด้วย

ด้านนายบัณฑิต นิจถาวร รองผู้ว่าการสายเสถียรภาพการเงิน ธปท. กล่าวว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ ธปท.ดังกล่าวจะไม่กระทบต่อเศรษฐกิจ เนื่องจากเชื่อว่าเศรษฐกิจยังมีแรงขับเคลื่อนให้สามารถขยายตัวต่อไปได้อย่างมีเสถียรภาพ ซึ่งจากพิจารณาการขยายตัวของเศรษฐกิจและการใช้จ่ายภาครัฐ ทำให้เชื่อว่าทำให้เศรษฐกิจยังขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งคาดว่าแรงกดดันเงินเฟ้อ ในระยะต่อไปคงจะลดลง เนื่องจากหากอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นจะสามารถลดแรงกดดันเงินเฟ้อได้

ขึ้นดอกเบี้ยลดแรงกดดันเงินเฟ้อ

นายสมชัย สัจจพงษ์ รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กล่าวว่า การปรับอัตราดอกเบี้ยอาร์/พี จะไม่ส่งผลกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ โดยในปี 2548 สศค.คาดการณ์จีดีพีขยายตัวอยู่ที่ระดับ 6% อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 4% ขณะที่ในปีนี้อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 2.8-3% ซึ่งในช่วงเวลาที่เหลือของปีนี้คงจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงจากระดับดังกล่าว

"การขึ้นดอกเบี้ยครั้งนี้ อาจเป็นไปได้ที่ธปท. กังวลต่อภาวะเงินเฟ้อในอนาคต และคำนึงถึงเสถียรภาพทางเศรษฐกิจเป็นหลัก และมีความเป็นไปได้ที่อัตราเงินเฟ้อจะลดลง หลังจากที่อัตราดอกเบี้ยได้ปรับเพิ่มขึ้น ขณะที่ธนาคารพาณิชย์แห่งใดจะปรับขึ้นก็ขึ้นอยู่กับสภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์เอง" นายสมชัย กล่าว

แบงก์ขึ้นดอกเบี้ยปีหน้าแน่

นายชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่า การขึ้นดอกเบี้ยอาร์/พีของ ธปท.ถือเป็นการส่งสัญญาณจาก ธปท. ที่ธนาคารพาณิชย์จะต้องนำมาประกอบการพิจารณาปรับอัตราดอกเบี้ยของธนาคารแต่ละแห่ง แต่ในส่วนของธนาคารกรุงเทพเองจะยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้และฝากภายในสิ้นปีนี้ และจะมีการทบทวนอีกครั้งในช่วงต้นปี 2548 โดยต้องขึ้นอยู่กับสภาพคล่องและสถานการณ์ในตลาดการเงินเป็นหลัก

"ปีหน้าอัตราดอกเบี้ยจะต้องปรับเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน เหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจที่แข็งแรง และไม่ควรเป็นปัญหาต่อการทำธุรกิจ แต่การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต้องดูจังหวะและเวลาที่เหมาะสม"

นางสาวอังคณา สวัสดิ์พูน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารนครหลวงไทย กล่าวว่า ธนาคารจะพิจารณาปรับอัตราดอกเบี้ยตามธนาคารขนาดใหญ่และสภาพคล่องในระบบเป็นหลัก แต่คงจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงจนถึงสิ้นปีนี้ โดยคาดว่าอัตราดอกเบี้ยจะปรับขึ้นในอย่างปลายไตรมาส 1 หรือต้นไตรมาส 2 ปีหน้า ซึ่งสัดส่วนการปรับเพิ่มน่าจะอยู่ที่ 0.75-1.00%

จากการปรับอัตราดอกเบี้ยของธปท. ได้ส่งผลกระทบต่อตลาดการเงินและตลาดทุนของไทย โดยมีแรงซื้อเงินบาทเข้ามาทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นก่อน จะปิดตลาดที่ระดับ 39.43-39.45 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ตลาดหุ้นได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยปิดการซื้อขายที่ 657.18 จุด เพิ่มขึ้น 11.10 จุด มูลค่าการซื้อขาย 19,350.93 ล้านบาท นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิ 1,787.73 ล้านบาท นักลงทุนสถาบันในประเทศซื้อสุทธิ 6.56 ล้านบาท ในขณะที่นักลงทุนรายย่อยขายสุทธิ 1,794.29 ล้านบาท

เฟดขึ้นดอกเบี้ยอีกสลึงตามคาด

สำนักข่าวรอยเตอร์และเอเอฟพีรายงานว่า คณะกรรมการกำหนดนโยบาย (เอฟโอเอ็มซี) ของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ซึ่งประชุมกันเมื่อวันอังคาร (15) มีมติขยับอัตราดอกเบี้ยขึ้นไปอีก 0.25% นอกจากนั้นในคำแถลงภายหลังการประชุม ยังมีน้ำเสียงเชื่อมั่นว่าสามารถคุมเงินเฟ้อได้อยู่หมัด ทำให้นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่มองว่าเฟดยังจะขึ้นดอกเบี้ยต่อไปอีกในการประชุมครั้งต่อไปต้นปีหน้า

อัตราดอกเบี้ยที่เอฟโอเอ็มซีลงมติกัน คือ เฟดฟันด์เรต หรืออัตราดอกเบี้ยการกู้ยืมระหว่างธนาคารในชั่วข้ามคืน ทั้งนี้เฟดฟันด์เรตจะมีผลชี้นำ ภาวะดอกเบี้ยในตลาดสหรัฐฯ โดยเฉพาะดอกเบี้ยระยะสั้นทั้งหลาย

เนื่องจากการขึ้นดอกเบี้ยคราวนี้ ซึ่งเป็นการขยับคราวละสลึงเป็นครั้งที่ 5 ต่อเนื่องกันแล้วนั้น เหล่านักเศรษฐศาสตร์และตลาดการเงินต่างคาดหมายกันอยู่ทั่วไปแล้ว ดังนั้นจึงแทบไม่ส่งผลอะไรต่อตลาดนัก ราคาหุ้นวอลล์สตรีทไต่เพิ่มขึ้นเล็กน้อย ขณะที่เงินดอลลาร์ตกลงมา ส่วนราคาของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯก็สูงขึ้นบ้างจากการที่เฟดแสดงท่าทีไม่อนาทรเรื่องภาวะเงินเฟ้อ

คำแถลงของเอฟโอเอ็มซีบอกว่า เนื่องจากคาดหมายว่าอัตราเงินเฟ้อจะอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำ คณะกรรมการจึงเชื่อว่าสามารถผละออกจากนโยบายอันเอื้ออำนวย (ซึ่งก็คืออัตราดอกเบี้ยต่ำ) ด้วยฝีก้าวที่ผ่านการไตร่ตรองอย่างรอบคอบ

อย่างไรก็ตาม เฟดยังคงตอกย้ำคำมั่นสัญญาที่จะแสดงปฏิกิริยาตอบโต้ ถ้าหากข้อมูลเศรษฐกิจปรากฏออกมาว่าจำเป็นต้องลงมือสกัดกั้นเงินเฟ้อแล้ว

ก่อนการประชุมคราวนี้ มีนักเศรษฐศาสตร์บางคนแสดงความสงสัยว่า เฟดอาจจะแถลงเตือนว่ามีความเสี่ยงในเรื่องอัตราเงินเฟ้อเพิ่มมากขึ้น ตลอดจนส่งสัญญาณแสดงว่าพร้อมลงมือขึ้นดอกเบี้ย กันคราวละมากกว่าที่เป็นอยู่ ทว่าคำแถลงที่ออกมาไม่มีน้ำเสียงเช่นนั้นเลย โดยยังย้ำว่า เอฟโอเอ็มซีเห็นว่าความเสี่ยงที่มีต่อเศรษฐกิจจากด้านของเงินเฟ้อ และจากด้านความอ่อนตัวรอบใหม่ ยังคงอยู่ในภาวะสมดุล

สำนักข่าวรอยเตอร์ได้สำรวจความเห็นของบรรดานักเศรษฐศาสตร์ระดับท็อปของวอลล์สตรีท ปรากฏว่าแทบทั้งหมดมีความเห็นว่าเฟดคงจะขยับดอกเบี้ยขึ้นไปอีกรอบในการประชุมนัดต่อไปเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้า ขณะที่ 16 รายจาก 22 รายซึ่งสำรวจในคราวนี้มองว่า การประชุมครั้งถัดไปในเดือน มีนาคม เฟดก็จะขึ้นดอกเบี้ยไปอีกเช่นกัน

อนึ่ง จากการที่เฟดขึ้นดอกเบี้ยเฟดฟันด์เรตขึ้นไปเป็น 2.25% คราวนี้ ทำให้เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ต้นปี 2544 เป็นต้นมา ที่อัตราดอกเบี้ยระยะสั้นของสหรัฐฯสูงกว่าในเขตประเทศที่ใช้สกุลเงินยูโร (ยูโรโซน) โดยในยูโรโซนนั้นดอกเบี้ยระยะสั้นยังยืนที่ 2.0% ดังนั้น จึงเป็นที่คาดหมายกันว่าจะทำให้เงินยูโรแข็งขึ้นอีกเมื่อเทียบกับดอลลาร์


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.