|

TICONตั้งกองทุนปีหน้า
ผู้จัดการรายวัน(15 ธันวาคม 2547)
กลับสู่หน้าหลัก
TICON เตรียมตั้งกองทุนอสังหาริมทรัพย์หลังศึกษามานาน คาดดำเนินการได้ในครึ่งปีแรก เพื่อหนุนการลงทุนตามแผนที่จะสร้างโรงงานให้เช่าอีก 50 แห่งในปี 48 พร้อมเล็งปรับค่าเช่าหากราคาน้ำมัน ดอกเบี้ย และวัสดุก่อสร้างยังพุ่ง ตั้งเป้ารายได้ปี 48 โตไม่ต่ำกว่า 30% ขณะที่ลูกค้า 2-3 ราย ต้องการซื้อโรงงาน ยันไม่อยากขายเพราะเน้นที่การให้เช่า
นายชาตรี เหล่าเหมวงศ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการทั่วไป บริษัท ไทยคอน อินดัสเทรียล คอนเน็คชั่น จำกัด (มหาชน) (TICON) เปิดเผยว่าปี 48 บริษัทตั้งเป้าที่จะทำรายได้โตจากปี 47 ประมาณ 30% คิดเป็นเม็ดเงินประมาณ 2 พันล้านบาท เนื่องจากโรงงานที่เปิดให้เช่าจะมีมากขึ้น โดยปีนี้บริษัทฯก่อสร้างโรงงานทั้งหมด 40 ไร่ และทยอยให้เช่าโรงงานไปแล้วเกือบทั้งหมด เหลือเพียง 10 โรงงานเท่านั้นที่เพิ่งแล้วเสร็จ แต่ก็มีลูกค้าที่ให้ความสนใจที่จะเข้าลงเช่าแล้ว
ซึ่งยังไม่ได้ลงรายละเอียดในสัญญาเช่า เพราะอยู่ในระหว่างการตัดสินใจของลูกค้า แต่มั่นใจว่าโรงงานสร้างเสร็จที่ยังว่างอยู่จะเปิดให้เช่าได้ต้นปี48 และผลจากการเช่าโรงงานทั้งหมดจะทำให้งบการเงินในแต่ละไตรมาสของ TICON โตขึ้นประมาณ 10% จากไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากโรงงานเช่าก่อสร้างเสร็จและมีลูกค้าเช่าเพิ่มขึ้น
ปัจจุบัน TICON มีที่ดินซื้อใหม่เก็บไว้เพื่อพัฒนาอีก 2 แปลง คือ นิคมอุตสาหกรรมปิ่นทอง 90 ไร่ มูลค่า 180 ล้านบาท และนวนคร 70 ไร่ มูลค่า 200 ล้านบาท เพราะการลงทุนในโซนนี้จะได้รับความนิยมสูงจากแต่ก่อนมาก เนื่องจากเริ่มจากปี 48 เป็นต้นไป การลงทุนที่เคยได้รับการส่งเสริมจากบีโอไอจะเริ่มปรับเปลี่ยนไปจากเดิมที่เคยแบ่งเป็นเขตการค้า (โซน) และได้รับการสนับสนุนต่างกันตามความใกล้และไกล ซึ่งปีหน้าจะพิจารณาสนับสนุนในแต่ละประเภทอุตสาหกรรม ซึ่งจะศึกษาเป็นกรณีไป โดยไม่มีการแบ่งโซนเหมือนในอดีต เพราะรัฐต้องการให้มีนักลงทุนเข้ามาลงทุน โดยนำเอาเทคโนโลยีเข้ามาด้วย ไม่ใช่เข้ามาเพียงเพราะค่าจ้างแรงงานถูก
จากเหตุผลดังกล่าว TICON จึงมั่นใจว่า ผู้ประกอบการต่างชาติที่เข้าลงทุนในไทยจะต้องเล็งการเช่าโรงงานในพื้นที่ใกล้กับกรุงเทพฯ จะได้รับการสนใจมากกว่า ซึ่งการสร้างโรงงานที่นวนครและปิ่นทองเป็นเป้าหมายหลักที่จะดึงนักลงทุนเหล่านั้นให้เข้ามาเช่าโรงงานของ TICON
นายชาตรีกล่าวถึงการลงทุนว่า ปีหน้าจะต้องใช้เงินทุนหมุนเวียนในการสร้างโรงงานและกู้บางส่วนเพิ่มอีก โดยคิดเป็นอัตราส่วนเงินกู้ 70% และเงินทุน 30% และบริษัทอยู่ในระหว่างการพิจารณาว่าต้องระดมทุนแบบใด ซึ่งการออกหุ้นกู้ก็เป็นทางเลือกอย่างหนึ่ง แต่ TICON ต้องการที่จะตั้งกองทุนพร็อพเพอร์ตี้ฟันด์ ซึ่งจะหนุนการลงทุนได้ เพื่อลดภาระการกู้เงิน โดยคาดว่าจะดำเนินการได้ครึ่งแรกปี 48 หลังจากที่บริษัทศึกษารายละเอียดในเรื่องดังกล่าวนี้มานานแล้ว
ปัจจุบัน TICON มีหนี้สินอยู่ประมาณ 1,800 ล้านบาท โดยมีการจ่ายดอกเบี้ยเดือนละประมาณ 4 ล้านบาท และมีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน(D/E RATIO) ที่ 1.1-1.2 เท่า ซึ่งถือว่าน้อยสำหรับอุตสาหกรรมนี้
นอกจากนี้ TICON ยังจับตาดูภาวะราคาสินค้าโดยเฉพาะวัสดุก่อสร้างและอัตราดอกเบี้ยที่หากปีหน้าราคายังคงปรับเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เกินกว่าเป้าหมายที่ประมาณการไว้ บริษัทก็เล็งที่จะปรับเพิ่มค่าเช่าโรงงานตามไปด้วย เนื่องจากต้นทุนในการลงทุนของบริษัทสูงขึ้น เหมือนกับปี 47 ที่บริษัท ปรับค่าเช่าไปแล้วครั้งหนึ่งประมาณ 10% ซึ่งลูกค้าที่เข้ามาเช่าโรงงานต่างยอมรับได้
นายชาตรีกล่าวว่า ขณะนี้มีลูกค้า 3 รายที่เช่าอยู่ มีความประสงค์จะซื้อโรงงาน แต่ TICON ยังไม่อาจให้คำตอบได้ เพราะเป้าหมายหลักในการ บริหารงานไม่ใช่การสร้างโรงงานเพื่อขาย แต่ต้องการเปิดให้เช่าเพื่อรอเก็บเกี่ยวรายได้จากค่าเช่าไปได้ยาวนาน และที่สำคัญมาร์จิ้นในการให้เช่าโรงงานมีถึง 80% ดีกว่าการขายโรงงานออกไปเป็นของลูกค้า ซึ่งนอกจากจะเสียทรัพย์สินแล้ว รายได้จาก ค่าเช่าอันเป็นเป้าหมายหลักก็จะหดหายไป แม้ว่าจะได้กำไรจากการขายโรงงานก็ตาม
"แม้เราจะบันทึกรายได้เป็นกำไรจากการขายโรงงาน แต่เราต้องการเก็บค่าเช่าโรงงานให้ได้ตลอดไป ซึ่งเป็นเหมือนน้ำซึมบ่อทรายเข้ามาสู่บริษัท ดีกว่าการที่เราขายทีเดียวแล้วหลังจากนั้นก็ไม่มีรายได้อะไรเข้ามาเลย เพราะเมื่อเกิดวิกฤตบริษัทที่มีรายได้จากค่าเช่าจะไม่ต้องกังวลเรื่องรายได้เหมือนกับที่ทำธุรกิจอื่น"
จากคำพูดดังกล่าว หมายถึง TICON จะไม่แตกไลน์ธุรกิจหรือแม้แต่การที่จะหันไปทำพวกเรียลเอสเตทแนวสูงซึ่งเป็นการสร้างเพื่อขาย แต่บริษัทเน้นที่การสร้างเพื่อให้เช่าโดยทรัพย์สินยังเป็นของตนเองเหมือนเดิม
ดังนั้น ในปี 48 บริษัทตั้งเป้าที่จะสร้างโรงงานให้เช่าเพิ่มขึ้นอีก 50 แห่ง โดยกระจายไปในพื้นที่แต่ละนิคมฯที่บริษัทมีที่ดินอยู่อย่างทั่วถึง คิดเป็นมูลค่าการลงทุนประมาณ 1,500 ล้านบาท โดยเฉลี่ยโรงงานละ 30 ล้านบาท
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|