Life photo

โดย ไพเราะ เลิศวิราม
นิตยสารผู้จัดการ( เมษายน 2545)



กลับสู่หน้าหลัก

บริการเนื้อหาที่มาพร้อมกับการมาของโทรศัพท์มือถือจอสี จะเป็นเรื่องของบริการดาวน์โหลดรูปภาพ (PHOTO) ที่เวลานี้เริ่มมีเว็บไซต์หลายแห่งเริ่มเปิดให้บริการแล้ว

การเปิดให้บริการของเว็บไซต์ทั้ง 6 แห่งนี้ เป็นการทำงานร่วมกันกับเอไอเอส และอีริคสันดังนั้นบริการดาวน์โหลดรูปภาพจะให้บริการกับอีริคสัน T68 และ T65 ก่อนเป็นยี่ห้อแรก ส่วนยี่ห้ออื่นๆ คาดว่าจะมีตามมา

แต่ดูเหมือนว่า โอกาสในการทำเงินจากเทคโนโลยีใหม่นี้ จะเป็นเรื่องของบันเทิงเป็นส่วนใหญ่ ตามแนวโน้มของความนิยมใช้บริการมัลติมีเดียบนโทรศัพท์มือถือ จะเป็นเรื่องของความบันเทิงเป็นอันดับต้นๆ

ผู้ใช้โทรศัพท์มือถือ จอสี ในเวลานี้ จะมีทางเลือกในการดาวน์โหลดรูปภาพจากเว็บไซต์ ที่เป็นเจ้าของสถานีโทรทัศน์ช่อง 3 ที่เปิดเว็บไซต์ tv3mobile.com สำหรับให้บริการดาวน์โหลดรูปดาราที่แสดงในละครที่กำลังออกอากาศ โดยรูปภาพเหล่านี้จะใช้กับโทรศัพท์มือถือ อีริคสัน T68 และ T65 เนื่องจากเป็นยี่ห้อแรกที่วางจำหน่าย ส่วนยี่ห้ออื่นๆ คาดว่าคงจะดาวน์โหลดได้เช่นกัน

ส่วนค่ายเพลงอย่าง บริษัทจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จะเปิดให้ดาวน์โหลดรูปนักร้องในสังกัด ซึ่งก่อนหน้านี้แกรมมี่ได้ขายลิขสิทธิ์รูปภาพศิลปินให้กับอีริคสัน ไปใช้บรรจุอยู่ในโทรศัพท์มือถือ T65 และ T68 เพื่อใช้เป็นจุดขาย โดยผู้ที่ซื้อโทรศัพท์มือถือทั้งสองรุ่น จะมีรูปศิลปินสังกัดแกรมมี่ให้เลือก ไม่ต้องไปดาวน์โหลดให้เสียเงิน แต่หากต้องการมากกว่านั้นที่ให้มาก็ต้องไปดาวน์โหลดต่างหาก

นอกเหนือจากเจ้าของค่ายผู้ประกอบธุรกิจบันเทิงรายใหญ่ทั้งสองรายแล้ว จะเป็นเจ้าของเนื้อหา อย่าง มายาชาแนล เจ้าของสิ่งพิมพ์ด้านบันเทิง ของต้อยแอคเนอร์ เปิดให้บริการดาวน์โหลด รูปศิลปิน ดารา และนักร้องในสังกัด

ในขณะที่บริษัท Movieseer จำกัด เจ้าของเว็บไซต์ภาพยนตร์ จะให้บริการตรวจสอบรอบของการฉายภาพยนตร์ หรือการดาวน์โหลด background ของภาพยนตร์ให้กับลูกค้าที่ใช้โทรศัพท์มือถือ

ส่วนบริการของบริษัท Rampage รายนี้แม้ไม่ใช่ค่ายเพลง หรือเจ้าของสถานีโทรทัศน์ แต่อาศัยประสบ การณ์จากการทำภาพแอนิเมชั่นป้อนให้กับวงการโฆษณา ฌอน แซคแมน ชาวต่างชาติ ที่หันมาเปิดบริษัทเพื่อให้บริการดาวน์โหลดภาพการ์ตูนที่คิดขึ้นเอง ให้กับผู้ใช้โทรศัพท์มือถือ

ทางด้านชินนี่.คอม ธุรกิจอินเทอร์เน็ตของกลุ่มชินคอร์ป ที่มาในช่วงหลังหันมาทำตัวเป็นผู้พัฒนาแอพพลิเคชั่น และเนื้อหา ป้อนตลาดโทรศัพท์มือถือโดยเฉพาะมาคราวนี้ ชินนี่.คอม สร้างความต่าง แทนที่จะเป็นศิลปิน นักร้อง เหมือนกับคนอื่นๆ แต่ชินนี่หันมาใช้วิธีให้บริการดาวน์โหลดรูปภาพบุคคล ไม่ว่าจะเป็นเจ้าของโทรศัพท์มือถือ คนสนิท หรือเพื่อนฝูง

รูปภาพเหล่านี้จะทำเป็น wall paper คือ เป็นภาพที่ปรากฏบนหน้าจอเวลาไม่ใช้งาน หรือจะเป็น Picture phonebook คือ แทนที่จะบันทึกเป็นหมายเลขโทรศัพท์ก็บันทึกเป็นรูปภาพ เมื่อบุคคลในภาพโทรมา ก็จะปรากฏเป็นภาพหน้าคนเหล่านั้น แทนที่จะเป็นหมายเลขโทรศัพท์

พัฒนาการของเทคโนโลยี ได้สร้างโอกาสในการแสวงหารายได้ ให้กับผู้ที่เป็นเจ้าของเนื้อหา เพราะหากเรียนรู้กับการใช้ประโยชน์จากเนื้อหาที่มีอยู่กับกติกาของธุรกิจ ที่ไม่แตกต่างไปจากธุรกิจอินเทอร์เน็ต แม้เทคโนโลยีจะดี แต่ไม่มีเนื้อหาก็ไม่มีประโยชน์

อัตราค่าบริการจากบริการดาวน์โหลดรูปภาพจะใกล้เคียงกัน คือ ภาพละ 10 บาทสำหรับรูปขาวดำ แต่หากเป็นรูปสีจะคิดในอัตรารูปละ 20 บาท สำหรับผู้ใช้แล้ว นอกจากการดาวน์โหลดรูปภาพแล้ว พวกเขาต้องดาวน์โหลดผ่านบริการ WAP นั่นหมายความว่า ในการดาวน์โหลดแต่ละครั้งจะจ่ายค่าดาวน์โหลดรูปภาพให้กับเจ้าของเนื้อหา และค่าแอร์ไทม์ของบริการ WAP ซึ่งคิดเป็นนาทีละ3 บาท

การเป็นค่ายเพลงที่เริ่มต้นบุกเบิกธุรกิจอินเทอร์เน็ตก่อนใคร ทำให้แกรมมี่มีรายได้จากธุรกิจอินเทอร์เน็ต และการเป็นผู้ให้บริการเนื้อหาบนโทรศัพท์มือถือ ปีละ 100 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นรายได้จากบริการ SMS 40 ล้านบาท

"หลังจากที่เพลงถูกผลิตออกมาขายในตลาดแล้ว หน้าที่ของผมคือเอาเพลง หรือศิลปินเหล่านี้ไปทำประโยชน์ต่อ" วราวิทย์ กำภู ณ อยุธยา ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการอาวุโส สายงานธุรกิจอินเทอร์เน็ต บริษัทจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่บอก "ผมเหมือนกับคนขายกากมะพร้าว เอาของที่มีอยู่แล้วไปทำประโยชน์ต่อ"

ในขณะที่เจ้าของสถานีโทรทัศน์ช่อง 3 เคยตั้งความหวังกับการมาของธุรกิจอินเทอร์เน็ต ที่พวกเขาจะได้ใช้ประโยชน์จาก content ที่มีอยู่ในมือมากขึ้น ถึงแม้ว่าการตกต่ำของธุรกิจดอทคอม จะทำให้บริษัทที่ก่อตั้งใหม่ ด้วยทุนจดทะเบียนบริษัทละ 100 ล้านบาท ต้องชะลอโครงการออกไป แต่การเติบโตของโทรศัพท์มือถือ ทำให้โอกาสของธุรกิจเกิดขึ้นอีกครั้ง แม้ว่าจะเป็นแค่โครงการนำร่องก็ตาม

"บริการนี้ คงเป็นแค่การศึกษาทดลอง" ดร.แคทลีน มาลีนนท์ ผู้ช่วยกรรมการรองผู้อำนวยการใหญ่ บริษัทบีอีซี เวิลด์ จำกัดบอก "เราเชื่อว่า นี่คือ ช่องทางหนึ่งในการขยายฐานผู้ชมละครได้มากขึ้น"



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.