ปรับแผนซื้อคืนรถไฟฟ้าตั้งหลักรอหลังต่อขยาย


ผู้จัดการรายวัน(13 ธันวาคม 2547)



กลับสู่หน้าหลัก

"สุริยะ" ปรับแผนซื้อคืนหุ้นรถไฟฟ้า ประเมินสถานการณ์หลังมีกระแสข่าวคน ในรัฐบาลไม่เห็นด้วย เพิ่มทางเลือก ตัดสินใจซื้อ 100% ซื้อบางส่วน หรือไม่ซื้อเลย 14 ธ.ค.หารือเรื่องเงินกับคลังก่อนให้คำตอบ คาดสรุปไม่ได้อาจต้องชะลอการซื้อหุ้นออก ไปจนกว่าจะสร้างรถไฟฟ้า 294 กม.เสร็จ

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว. คมนาคม เปิดเผยถึงกรณีที่มีกระแสข่าวว่าอาจจะชะลอการซื้อหุ้นรถไฟฟ้าใต้ดินของบริษัทรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ บีเอ็มซีแอล ในสัดส่วน 25% ในราคาพาร์ 1 บาท ออกไปก่อน เนื่องจากราคาหุ้นของบีเอ็มซีแอลตามมูลค่าทางบัญชีขณะนี้ไม่ถึง 1 บาท ว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาข้อมูลผลดี-ผลเสียทั้งหมดของการซื้อคืนหุ้นรถไฟฟ้า ทั้งในส่วนของรถไฟฟ้าใต้ดิน บริษัท รถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีเอ็มซีแอล และรถไฟฟ้าบีทีเอส จากบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอส

โดยขณะนี้ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)ได้ทำหนังสือมายังกระทรวงคมนาคมแล้วว่า ต้องการดำเนินการซื้อหุ้นตามสิทธิ์ในสัดส่วน 25% ก่อน โดยในวันที่ 14 ธ.ค.นี้คาดว่าจะได้ข้อสรุปเรื่องการซื้อหุ้น 25% ได้ ทั้งนี้ยังยืนยันว่าแนวทางการซื้อสัมปทานเดินรถไฟฟ้าคืนทั้งหมด ทั้งจากบีเอ็มซีแอลและจากบีทีเอส เป็นแนวทางที่ดีที่สุดในการบริหารระบบขนส่งมวลชน แต่ทั้งนี้จะต้องพิจารณาเรื่องอื่นประกอบด้วย โดยเฉพาะราคาและแหล่งเงิน ซึ่งจะหารือกับกระทรวงการคลัง และผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เพื่อให้เกิดความรอบคอบมากที่สุด ซึ่งหุ้น 25% นั้น เป็นสิทธิ์ที่รัฐสามารถซื้อได้ในราคาพาร์อยู่แล้ว และรฟม.ได้แจ้งมาว่า รฟม.สามารถที่จะกู้เงินจากธนาคาร พาณิชย์ โดยใช้หุ้นดังกล่าวเป็นหลักค้ำประกันได้ โดยไม่ต้องให้ทางกระทรวงการคลังเข้ามาค้ำประกันแต่อย่างใด

นายสุริยะ กล่าวยอมรับว่า การซื้อหุ้นจากบีเอ็มซีแอล มีหลายเงื่อนไขที่ต้องนำมาพิจารณา และขณะนี้มีหลายทางเลือกเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ตั้งแต่แนวทางการซื้อคืนทั้งหมด 100% หรือการซื้อหุ้นเพียงบางส่วน หรือไม่ซื้อเลย แต่อย่างไรก็ตาม หากจะซื้อหุ้น 25% ตามสิทธิ์ก่อนนั้น ก็จะต้องเสนอขออนุมัติจากคณะรัฐมนตรี(ครม.) ภายในเดือนธันวาคมนี้

ส่วนการซื้อสัมปทานเดินรถไฟฟ้าบีทีเอส จากบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด(มหาชน) หรือบีทีเอส นั้น ได้มีการพิจารณาคู่ไปด้วยโดยคณะ กรรมการในการเจรจาซื้อคืนที่มี นายอุทิศ ธรรมวาทิน อธิบดีกรมสรรพสามิต เป็นประธานคาดว่าจะได้ข้อสรุปเร็วๆ นี้เช่นกัน

แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า คาดว่าในการหารือในวันที่ 14 ธ.ค.นี้ จะมีการหารือในภาพรวมของระบบการขนส่งมวลชนระบบราง ที่รัฐบาลมีนโยบายที่จะก่อสร้างระบบรางเพิ่มเติมอีกประมาณ 294 กม.ในระยะเวลา 6 ปี ซึ่งหากการเจรจาซื้อคืนบีเอ็มซีแอล และบีทีเอส ยังไม่ได้ข้อยุติ รัฐบาลก็จะมาดำเนินการในโครงการที่เหลือให้เรียบ ร้อยก่อน แล้วค่อยมีการเจรจาซื้ออีกครั้ง เพื่อให้เกิดความสะดวกในการจัดระบบการใช้ตั๋วร่วมได้

อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้ นายสุริยะ ระบุว่า การซื้อคืนรถไฟฟ้าเป็นของรัฐทั้ง 100% เพื่อให้สามารถบริหารจัดการระบบรางได้คล่องตัวยิ่งขึ้น เช่น การกำหนดอัตราค่าโดยสาร การใช้ระบบตั๋วร่วมและการทำส่วนต่อขยายและต่อเชื่อมเส้นทาง โดยเห็นว่าการให้สัมปทานเอกชนเดินรถเอกชนจะคำนึง ถึงผลตอบแทนการลงทุนเป็นหลัก ขณะที่หลักการลง ทุนระบบรางต้องคำนึงผลประโยชน์ของประชาชนการ ประหยัดด้านพลังงานเป็นหลัก ซึ่งเมื่อคิดแต่ความคุ้มทุนก็ต้องกำหนดค่าโดยสารแพง

สำหรับข้อสัญญาระหว่างรฟม.และบีเอ็มซีแอลนั้น มีข้อความแนบท้ายระบุว่า รัฐจะต้องซื้อหุ้นคืนภายใน 12 เดือน นับจากลงนามในสัญญาในปัจจุบัน ถือว่าได้ล่วงเลยกำหนดไปแล้ว หากรัฐจะซื้อคืนทางบีเอ็มซีแอล จะเจรจาในราคาที่เป็นจริง ซึ่งนาย ประภัสร์ จงสงวน ผู้ว่าการรฟม. กล่าวยืนยันว่า รัฐยังมีสิทธิซื้อหุ้นสัดส่วน 25% จากราคาพาร์ จากบีเอ็มซีแอลอย่างแน่นอนเพราะรฟม.ได้ทำหนังสือสงวนสิทธิดังกล่าวไปยังบีเอ็มซีแอล ภายในเวลา 12 เดือน หลังลงนามในสัญญาตามเงื่อนไขและในสัญญายังระบุว่าให้ชำระค่าหุ้น 25% ดังกล่าวในช่วงที่บริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์

ส่วนหุ้นอีก 75% นั้นบีเอ็มซีแอล เสนอขายในราคา 3 บาทต่อหุ้น ซึ่งเฉลี่ยแล้วจะทำให้รัฐซื้อในราคา เพียงหุ้นละ 2 บาทเศษเท่านั้น โดยหากคิดเฉลี่ยจากหุ้นทั้งหมด 100% คือ 25% ในราคา 1 บาท 75% ในราคา 3 บาท อย่างไรก็ตามบีเอ็มซีแอลระบุว่า การซื้อหุ้น 25% จะต้องจบก่อนที่บีเอ็มซีแอลจะเข้าตลาด


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.