อนาคตยูบีซี ยังไงก็ยังต้องพึ่งการมีโฆษณา

โดย ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์
นิตยสารผู้จัดการ( เมษายน 2545)



กลับสู่หน้าหลัก

5 ปัจจัยที่จะมีผลต่อราคาหุ้นของยูบีซีในตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นหัวข้อหลักที่วาสิลี สกูร์ดอส ผู้ช่วยรองประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายการเงินของยูบีซี นำมาใช้เป็นฐานในการแถลงข่าวผลการดำเนินงานประจำปี 2544 เมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

5 ปัจจัยดังกล่าว ประกอบด้วย

1. การขยายฐานสมาชิก
2. การถึงจุดคุ้มทุนของกระแสเงินสดหมุนเวียน
3. การที่รัฐอนุญาตให้มีโฆษณาได้ในรายการ
4. การมีช่องรายการใหม่ ซึ่งเป็นการผลิตภายในประเทศ
5. การมีบริการแบบ Interactive

สกูร์ดอสยอมรับว่าสถานการณ์ปัจจุบันของยูบีซี สามารถทำได้ดีที่สุดเพียงปัจจัยแรก คือ ความพยายามในการขยายฐานสมาชิกเท่านั้น

ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2544 ยอดสมาชิกของยูบีซีมีจำนวน ทั้งสิ้น 406,589 ราย เพิ่มขึ้น 25,633 ราย หรือ 6.73% เมื่อเทียบกับยอดสมาชิกในปี 2543

การเพิ่มขึ้นของยอดสมาชิกครั้งนี้ เป็นที่พอใจของฝ่ายบริหาร เพราะในปีที่ผ่านมา ยูบีซีได้มีการปรับค่าประกันอุปกรณ์สำหรับสมาชิกแรกเข้า และอัตราค่าสมาชิกรายเดือนใหม่ให้เพิ่มสูงขึ้นในช่วงเดือนสิงหาคม แต่ยอดการสมัครเข้ามาเป็นสมาชิกใหม่กลับยังเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะในไตรมาส 4 มียอดสมาชิกเพิ่มสูงขึ้นถึง 16,904 ราย หรือเท่ากับ 69.95% ของยอดสมาชิกที่เพิ่มขึ้นตลอดทั้งปี

การเพิ่มขึ้นของยอดสมาชิก มีผลให้ผลประกอบการของยูบีซี ในปี 2544 มียอดขาดทุนสุทธิเหลือเพียง 1,419.6 ล้านบาท ลดลงเมื่อเทียบกับผลขาดทุนในปี 2543 ถึง 661.7 ล้านบาท

ตามขั้นตอน ยูบีซีจะใช้การขยายฐานสมาชิกเพื่อเพิ่มรายได้เข้ามาในบริษัท จนสามารถทำให้กระแสเงินสดหมุนเวียนในแต่ละเดือนปรับเข้าสู่จุดสมดุล ซึ่งเป็นปัจจัยที่ 2 โดยตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะต้องทำให้ได้ภายในปีนี้

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยทั้ง 2 ประการ เป็นเพียงสิ่งที่จะทำให้ ฐานะการเงินของยูบีซีกลับมาดีขึ้น จากที่มีผลขาดทุนสะสมสูงถึง 12,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากการประกาศลอยตัวค่าเงินบาทในปี 2540 เท่านั้น

ทั้งสกูร์ดอส และสมพันธ์ จารุมิลินท ประธานเจ้าหน้าที่บริหารยูบีซี ยืนยันตรงกันว่าปัจจัยที่จะส่งผลให้สถานีเคเบิลทีวีรายใหญ่ของไทยรายนี้ สามารถขยายตัวต่อไปได้ในอนาคต ก็คือ การที่รัฐต้องอนุญาตให้มีการโฆษณา

เพราะการอนุญาตให้ยูบีซีสามารถหาโฆษณาเข้ามาได้ ซึ่งเป็นปัจจัยที่ 3 จะเป็นจุดเริ่มต้นที่จะก่อให้เกิดปัจจัยที่ 4 และ 5 ตามมา และหากรัฐยังห้ามการมีโฆษณา โอกาสที่จะมีการเพิ่มช่องรายการใหม่ๆ ซึ่งเป็นช่องรายการเฉพาะกลุ่มตลอดจนการให้บริการแบบ Interactive ก็ไม่สามารถเกิดขึ้นได้

และเป็นเรื่องที่ค่อนข้างโชคร้ายสำหรับยูบีซีอยู่ไม่น้อย ที่การพิจารณาเรื่องการให้มีโฆษณาในเคเบิลทีวี ซึ่งดำเนินมาเป็นเวลาประมาณ 1 ปี จนใกล้จะได้ข้อสรุป กลับต้องมีอันล่าช้าออกไปอีก เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงตัวบุคคลที่มีส่วนสำคัญในการ พิจารณาเรื่องนี้ถึง 2 คนด้วยกัน

คนแรก ดร.สรจักร เกษมสุวรรณ ที่ขอลาออกจากผู้อำนวย การ อ.ส.ม.ท. เพื่อไปเป็นที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

คนที่ 2 พ.ต.ท.ยงยุทธ สาระสมบัติ ที่ขอย้ายตัวเองจากตำแหน่งปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ไปช่วยราชการสำนักนายกรัฐมนตรี และขอลาออกจากตำแหน่งประธานกรรมการ อ.ส.ม.ท. เนื่องจากมีชื่อเข้าไปเกี่ยวข้องกับกรณีค่าโง่ทางด่วน 6,200 ล้านบาท

โอกาสที่ยูบีซีจะสามารถมีโฆษณาเข้ามาในรายการ ซึ่งจะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของธุรกิจเคเบิลทีวีของไทยรายนี้ คงต้องรอไปอีกระยะ



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.