"Complex Adaptive Systems" เทคโนโลยีใหม่...เพื่อการทำนายอนาคตธุรกิจ


นิตยสารผู้จัดการ( เมษายน 2545)



กลับสู่หน้าหลัก

ระบบ "Complex adaptive systems" เป็นโปรแกรมซอฟต์แวร์ตัวใหม่ ที่ธุรกิจขนาดใหญ่ๆ อาทิ บริษัท P&G (Procter & Gamble) และบริษัท Marsh and McLennen เริ่มนำมาใช้ในการทำนายและวางแผนอนาคตของธุรกิจ

โดย P&G ได้ใช้โปรแกรมนี้ในการเพิ่มประสิทธิภาพของระบบ supply chain ในขณะที่บริษัท Marsh and McLennen ซึ่งประกอบการธุรกิจประกันภัยได้ใช้โปรแกรมนี้ ในการคาดคะเนมูลค่าความเสียหายที่จะเกิดขึ้นจากภัยธรรมชาติก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์จริง... จินตนาการ...ถ้าเราสามารถมองเห็นอนาคตว่านโยบายที่เราริเริ่มคิดใช้ขึ้นในปัจจุบัน จะส่งผลกระทบต่อผลกำไรและการแข่งขันในอนาคต 10 ปีข้างหน้าอย่างไร...

จากการระดมความคิดของกลุ่มนักวิทยาศาสตร์จากห้องวิจัย Alamos National Laboratory และสถาบัน Santa Fe ได้ริเริ่มทดลองนำ "supercomputers" ซึ่งมีระบบปฏิบัติการซอฟต์แวร์ "Complex adaptive systems" ตัวใหม่นี้กับบริษัทต่างๆ 20 กว่าบริษัท

เป็นที่ทราบกันทั่วไปว่า ธุรกิจต่างๆ ใช้ระบบคอมพิวเตอร์มาช่วยในการวางแผนอนาคตของธุรกิจมาเป็นเวลานาน ซึ่งระบบซอฟต์แวร์ดั้งเดิมนั้นใช้ฐานข้อมูลในอดีต เพื่อทำนายอนาคต แต่สำหรับ "Complex adaptive systems" เป็นระบบปฏิบัติการใหม่ ที่ใช้สถานะของธุรกิจในปัจจุบัน เพื่อทำนายอนาคต

Alexander Linden นักวิเคราะห์จาก Gartner Inc. ประจำสำนักงาน Frankfurt ให้ความเห็นว่า ระบบปฏิบัติการใหม่นี้ใช้ได้กับหลากหลายธุรกิจ อาทิ บริษัทให้บริการด้านการเงินต่างๆ สามารถใช้โปรแกรมนี้ในการทำนายแนวโน้มของตลาดทุน แม้กระทั่งบริษัทเภสัชกรรมและเคมีภัณฑ์สามารถใช้ในการทำนายผลกระทบต่างๆ ที่เกิดจากเคมีภัณฑ์ต่อผู้ใช้ อุตสาหกรรมเทคโนโลยีการบิน สามารถใช้โปรแกรมนี้ในการคิดค้นวัสดุที่ต้านทานแรงกดได้อย่างมีประสิทธิภาพ สายการบินต่างๆ สามารถใช้โปรแกรมนี้ในการวางแผนขนสินค้าในปริมาณที่สมดุลกับผู้โดยสาร อันทำให้การบินนั้นๆ ราบเรียบที่สุด และล่าสุดมีบางธุรกิจที่เริ่มเห็นผลในทางบวกหลังจากที่ใช้ระบบปฏิบัติการใหม่นี้

เริ่มต้นจากธุรกิจประกันภัย

ความหายนะหลังจากที่เฮอร์ริเคน Andrew ได้ถล่มสหรัฐอเมริกาเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว บริษัทประกันภัยต่างๆ ต้องจ่ายค่าชดเชยเป็นมูลค่าทั้งสิ้นประมาณ 25 พันล้านเหรียญสหรัฐ จากเหตุการณ์นี้ทำให้บริษัทประกันต่างๆ เริ่มหาวิธีการในการบริหารความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นอีกในอนาคต ด้วยสาเหตุนี้เองเป็นจุดเริ่มต้นของการทำงานร่วมกันระหว่างนักวิจัยจากสถาบัน Santa Fe ผ่านบริษัท Assuratech ซึ่งเป็นบริษัทร่วมของสถาบันที่ทำหน้าที่ในการบริการ ทำนายความเสี่ยงให้แก่บริษัทประกันภัยต่างๆ กับบริษัทยักษ์ในวงการประกันภัยอื่น อาทิ บริษัท Swiss Reinsurance แห่ง Zurich ประเทศเยอรมนี และบริษัท Marsh and McLennen แห่งนิวยอร์ก เพื่อพยายามหาวิธีการที่แม่นยำที่สุดในการทำนายพายุรุนแรงที่อาจจะเกิดขึ้นอีก นอกจากนั้น ยังพยายามหาหนทางที่เหมาะสมที่สุดในการวางแผนธุรกิจว่า บริษัทจะอยู่รอดอย่างไรหลังเกิดภัยวิบัติ หรืออีกนัยหนึ่งคือ บริษัทควรจะมีทิศทางในการลงทุนและบริหารเงินทุนหมุนเวียนอย่างไร เมื่อเกิดภัยวิบัติขึ้นอีก

Assuratech ได้คิดค้นรูปแบบจำลองธุรกิจซึ่งที่มีลักษณะแบ่งเป็น 2 ฝ่ายคือ ฝ่าย "playing field" และฝ่าย "agents" ซึ่งฝ่าย "playing field" ความหายนะทางธรรมชาติที่ส่งผลกระทบต่อการหมุนเวียนทางการเงินของธุรกิจ ในขณะที่ "agents" คือ กลุ่มลูกค้า ตลาดเงินตลาดทุน บริษัทประกันภัย บริษัทลูกของบริษัทประกันภัย บริษัทคู่แข่ง และรวมถึงผู้ควบคุมกฎระเบียบด้วย เป็นต้น ซึ่งทุกฝ่ายมีความเกี่ยวเนื่องกันในทางธุรกิจทั้งทางตรงและทางอ้อม

รูปแบบจำลองนี้ได้รวบรวมข้อมูลทุกส่วนที่เกี่ยวข้องในการ ดำเนินธุรกิจมาพัฒนาเป็นโปรแกรมสำเร็จรูป ที่ปัจจุบันสามารถใช้ได้เฉพาะในเครื่องคอมพิวเตอร์ Laptop ระดับ highend เท่านั้น โดยผู้ใช้สามารถใส่ข้อมูลมูลค่าความเสียหายทางการเงิน และรายงานสถานะทางการเงินในรอบไตรมาส เพื่อเปรียบเทียบผลการดำเนินงานกับคู่แข่งในอนาคต 10 ปีข้างหน้าว่าจะเป็นอย่างไร ซึ่งจะช่วยให้บริษัทสามารถวางแผนปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ และสามารถมองเห็นว่าการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์นั้นจะส่งผลกระทบอย่างไร ก่อนที่จะทำการลงทุนจริง ตัวอย่างเช่น ถ้าแบบจำลองแสดงให้เห็นว่าการลงทุนในทองคำในปัจจุบันจะส่งผลกำไรที่งดงามในอนาคต มากกว่าการลงทุนในตลาดหุ้นในปัจจุบัน เมื่อสามารถมองเห็นอนาคตของผลตอบแทนที่ดีกว่า บริษัทสามารถวางแผนย้ายเงินลงทุนจากตลาดหุ้นไปสู่ตลาดทองคำแทน ซึ่ง Terry Dunn ประธานบริษัท Assuratech กล่าวว่า "กุญแจของโปรแกรมจำลองนี้คือ การมองเห็นอนาคตของผลการดำเนินธุรกิจ ก่อนที่จะมีการลงทุนในปัจจุบัน"

นอกจากนั้น John Schienle ผู้บริหาร California Housing Loan Insurance Fund ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐที่ให้ความช่วยเหลือทางเงินทุนแก่ผู้มีรายได้ต่ำถึงปานกลาง ได้กล่าวหลังจากที่ใช้โปรแกรมนี้มาเกือบ 3 ปีแล้วว่า "รูปแบบดั้งเดิมของการวางแผน อนาคตธุรกิจจะขึ้นอยู่กับข้อมูลประสบการณ์ในอดีต แต่หลังจากที่เราใช้โมเดลของ Assuratech ทำให้เรามองเห็นผลลัพธ์จากแบบจำลองเหตุการณ์ก่อนที่เราจะกำหนดแผนกลยุทธ์ ซึ่งหากไม่มีโปรแกรมนี้มาช่วยก็เป็นการยากที่จะวางแผนอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะการทำธุรกิจนั้นซับซ้อนเกินกว่าที่คนทั่วไปจะจินตนาการได้"

รูปแบบธุรกิจ Supply Chain

บริษัทระดับแนวหน้าอย่าง Procter & Gamble ที่มีสำนักงานใหญ่อยู่กลางเมือง Cincinnati มลรัฐ Ohio แห่งสหรัฐอเมริกาก็ได้ทดลองใช้โปรแกรม "complex adaptive systems theory" เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารระบบ supply chain มานานกว่า 2 ปีแล้ว โดย Larry Kellam ผู้บริหาร ฝ่ายพัฒนาธุรกิจ Supply chain ของ P&G ได้กล่าวว่า "เราพยายามจะลดค่าใช้จ่ายและเวลาจากการบริหาร supply chain มาเพิ่มผลประโยชน์ให้แก่ผู้บริโภค" โดยทาง P&G ร่วมมือกับ BiosGroup Inc. ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของสถาบัน Santa Fe เช่นเดียวกับ Assuratech BiosGroup ได้ทดสอบการใช้ซอฟต์ แวร์ในการกำหนดนโยบายใหม่ในการบริหารระบบ supply chain ให้แก่ P&G ตัวอย่างเช่น

* อะไรจะเกิดขึ้น ถ้า... ให้ P&G ผ่อนผันนโยบายในกรณี ที่รถบรรทุกของทุกคันต้องบรรจุสินค้าเต็มคันรถ และสินค้าที่วางซ้อนกันนั้นจะต้องเป็นสินค้าชนิดเดียวกันเท่านั้น
* อะไรจะเกิดขึ้น ถ้า... มีการตรวจสอบข้อมูลคำสั่งสินค้าและเปลี่ยนแปลงในวินาทีสุดท้าย ดีกว่ายืนยันรายการสินค้าตาม projections
* อะไรจะเกิดขึ้น ถ้า... ซูเปอร์มาร์เก็ตและลูกค้าอื่นมีการแชร์ข้อมูลเกี่ยวกับแคมเปญสินค้าโปรโมชั่น ซึ่งอาจจะส่งผลต่อการสั่งสต็อกสินค้า

หลังจากที่ BiosGroup ได้ทำการทดสอบข้อสมมติฐานดังกล่าวข้างต้นแล้ว โดยการเปลี่ยนใช้กลยุทธ์เหมาะสม ผลปรากฏ ว่า P&G สามารถประหยัดค่าใช้จ่ายได้ประมาณ 2-3 ล้านเหรียญฯ และหลังจากนำแบบจำลองนี้ไปใช้ในธุรกิจจริง ก็ได้รับคำยืนยันว่า สามารถประหยัดค่าใช้จ่ายได้จริง "สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพียงแต่ว่า ธุรกิจส่วนใหญ่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับสิ่งเหล่านี้" เป็นคำกล่าวของ Stuart Kauffman ประธานบริหาร BiosGroup

จากผลการทดลองดังกล่าว นำไปสู่การร่วมมือกันระหว่าง P&G, BiosGroup, software developer i2 Technology Inc. แห่ง MIT's Auto-ID Center และองค์กรอื่นอีกหลายองค์กรในการค้นหาแนวทางที่เป็นไปได้สำหรับการใช้ adaptive theory โดยการริเริ่มนี้ครอบคลุมถึง

- การพัฒนา "smart" ซอฟต์แวร์ตัวใหม่ สำหรับระบบวางแผนทรัพยากรของ P&G
- ใช้ electronic smart tags แทนรหัสสินค้า (universal product codes)
- เปลี่ยนระบบการบริหารภายในให้มีเครือข่ายโดยตรงระหว่างร้านค้ากับโรงงานผู้ผลิต ซึ่งจะทำให้มีการผลิตสินค้าได้ทันตามความต้องการของลูกค้าได้อย่างแน่นอน และรวดเร็ว
- ใช้ complex adaptive theory ในการวางแผนการขายสินค้า เพื่อให้ได้ข้อมูลความต้องการสินค้าที่แท้จริง มากกว่าพนักงานสั่งสินค้าเป็นผู้กำหนดตัวเลข

"นี่เป็นแนวทางใหม่ในการปฏิรูปการทำธุรกิจ Supply chain ขนานใหญ่ ซึ่งอาจใช้เวลานานถึง 5 ปี แต่ถ้าเราทำให้ถูกวิธี เราจะสามารถประหยัดเงินและเวลาได้อย่างน้อย 20%" Kellam แห่ง P&G กล่าว

แต่กระนั้น Linden แห่ง Gartner Inc. กล่าวทิ้งท้ายว่า มีอยู่สิ่งหนึ่งที่โปรแกรมนี้ไม่สามารถใช้ได้กับธุรกิจขนาดกลาง-เล็ก เนื่องจากโปรแกรมนี้ต้องใช้เงินลงทุนที่สูงมาก ธุรกิจรายใหญ่อย่าง P&G หรือ บริษัทประกันภัยรายยักษ์สามารถนำโปรแกรมนี้มาใช้ได้อย่างประสบความสำเร็จ เมื่อเทียบกับมูลค่าของธุรกิจที่มีขนาด นับพันๆ ล้านเหรียญฯ แต่ในขณะที่ธุรกิจรายเล็กๆ อาจจะไม่มีเงินลงทุนเพียงพอสำหรับเทคโนโลยีนี้ ถึงแม้ว่าผลการทดลองจะออกมาในทางบวก แต่บริษัทอาจจะไม่มีเงินทุนเพียงพอในการนำเทคโนโลยีมาใช้จริง และนี่เองเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ธุรกิจซอฟต์ แวร์ตัวใหม่นี้ไม่เจริญเติบโตเหมือนอย่างที่บางคนคาดหวัง

เรียบเรียงจาก นิตยสาร Computer World
(Feb 4, 2002: Vol.36 No.6)
โดย มานิตา เข็มทอง
(atinam@hotmail.com)


กลับสู่หน้าหลัก


Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.